การรับมือกับข่าวร้าย

28 Feb 2022

ผศ. ดร.กรรณิการ์ นลราชสุวัจน์

ในชีวิตของเรานั้นคงไม่มีใครสักคนที่สามารถเลือกได้ทุกประการที่จะพบแต่เรื่องที่เป็นที่สบอารมณ์ของตน เราล้วนแต่เผชิญทั้งเรื่องดีและเรื่องร้าย ทั้งประสบการณ์ที่น่าพึงปรารถนาและไม่น่าพึงปรารถนามากบ้างน้อยบ้าง ต่างกรรมต่างวาระ เป็นธรรมดาของชีวิตมนุษย์เรา

 

ข่าวร้าย หรือ เรื่องร้าย คือ สถานการณ์ภายนอกที่ส่งผลต่อบุคคลที่ได้รับหรือประสบ เป็นปัจจัยภายนอกที่รบกวนความเป็นปกติหรือความสมดุลในชีวิตของบุคคลนั้น ทั้งด้านจิตใจและด้านร่างกาย ข่าวร้ายหรือเรื่องร้ายรวมถึง ความสูญเสีย ความเจ็บปวด เหตุการณ์ท้าทายต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น เรื่อง กระทบใจอย่างรุนแรง (Trauma) เหตุการณ์ในชีวิตประจำวันที่รบกวนจิตใจ สภาพแวดล้อมที่ไม่พึงประสงค์ลักษณะต่าง ๆ ตลอดจนเรื่องจุกจิกรบกวนในชีวิตประจำวัน

 

ตัวอย่างของข่าวร้าย ได้แก่ การตายของบุคคลผู้เป็นที่รัก การพลัดพรากจากผู้เป็นที่รักหรือคนสนิทใกล้ชิด การเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรงที่รักษาไม่หายหรือรักษายาก ฯลฯ

 

 

เมื่อได้รับข่าวร้าย เกิดอะไรขึ้น

เมื่อได้รับข่าวร้าย บุคคลนั้นจะประเมินด้วยความคิดว่า ข่าวร้ายหรือเรื่องร้ายนั้นมีอันตรายเพียงใด มีความน่ากลัว มีความเจ็บปวดมากน้อยประการใด เกิดการสูญเสียมากน้อยเพียงใด เป็นเรื่องที่ก่อให้เกิดความรู้สึกน่าเห็นอกเห็นใจ น่าห่วงใย น่ารำคาญ น่าโกรธ มากน้อยเพียงใด จากนั้นอารมณ์ความรู้สึกก็จะเกิดขึ้น อารมณ์ความรู้สึกของบุคคลจะถูกรบกวนมากน้อย มีความสั่นคลอน หรือเสียความสมดุลย์ไปมากน้อยแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับสิ่งต่อไปนี้

 

  • ข่าวร้าย เรื่องร้ายนั้นมีความเข้มข้น รุนแรง เกิดขึ้นซ้ำ ๆ บ่อย ๆ มาเป็นระยะเวลายาวนานเพียงใด
  • ข่าวร้าย เรื่องร้ายดังกล่าวเป็นเรื่องที่เกินความคาดเดาหรือเหนือความคาดหมายหรือไม่
  • ข่าวร้าย เรื่องร้ายดังกล่าวมีความหมายเป็นการส่วนตัวต่อบุคคลที่รับข่าวนั้นหรือประสบเรื่องร้ายนั้นหรือไม่
    .

ผลที่เกิดขึ้นจากการรับรู้ข่าวร้าย

 

  1. ผลทางด้านร่างกายและสุขภาพ เช่น กินไม่ได้ นอนไม่หลับ อาหารไม่ย่อย ปวดท้อง ปวดศีรษะ เป็นต้น
  2. ผลทางด้านจิตใจ หากรับมือกับข่าวร้ายไม่เหมาะสม บุคคลนั้นอาจเกิดอารมณ์ทางลบขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความโกรธ ความเศร้า ความละอาย ความรู้สึกผิด ความเบื่อหน่าย ความท้อแท้ ความสิ้นหวัง ความหดหู่ใจ ความวิตกกังวลใจ ความสับสนวุ่นวายใจ ฯลฯ ทำให้สภาวะจิตใจเสียความสมดุลย์ เสียความเป็นปกติสุขได้

อนึ่ง ในบางกรณีอาจเกิดความรู้สึกมึนชาต่อสถานการณ์ เสมือนกับว่าไม่รับรู้เรื่องราวว่าเกิดอะไรขึ้น ดูเหมือนกับว่าไม่มีความรู้สึกใด ๆ ต่อข่าวร้ายที่ได้รับ

 

 

เมื่อได้รับข่าวร้ายเรารับมืออย่างไรได้บ้าง

เมื่อรับทราบข่าวร้าย หรือเรื่องร้าย มีแนวคิดที่ควรคำนึงดังนี้

 

  1. ต้องมีสติ รู้ตัว และรับรู้ว่าข่าวนั้นส่งผลต่อตนเอง
  2. ประเมินด้วยความคิด ด้วยสติสัมปชัญญะว่า เรื่องนั้นมีความรุนแรงเพียงใด มีผลกระทบมากน้อยเพียงใด ผู้เกี่ยวข้องกับข่าวนั้นมีแหล่งสนับสนุนช่วยเหลือใดบ้าง
  3. การรับมือกับข่าวร้าย อาจทำได้โดยการสร้างภูมิคุ้มกันแก่ตนก่อนที่จะเผชิญกับข่าวร้าย หรือทำได้โดยการจัดการกับตนเองเมื่อรับรู้ข่าวร้ายนั้น

 

การสร้างภูมิคุ้มกันแก่ตนเองเพื่อรับมือกับข่าวร้าย เป็นหนทางที่ยั่งยืนมากกว่า

 

 

แนวทางในการรับมือกับข่าวร้ายที่กำลังรับรู้

เมื่อคนเราได้รับข่าวร้าย มีแนวทางในการรับมือกับข่าวร้ายอยู่หลายประการ ซึ่งคนแต่ละคนอาจจะมีแบบแผน หรือวิธีการในการรับมือกับข่าวร้ายที่แตกต่างกัน หรืออาจจะใช้หลายวิธีการประกอบกันไปก็ได้ ทั้งนี้อาจจะไม่มีคำตอบตายตัวว่าวิธีใดเหมาะสมที่สุด เราแต่ละคนล้วนมีเอกลักษณ์เฉพาะตน จึงควรสำรวจตนเอง และหาจุดที่พอดีหรือลงตัวสำหรับตนเอง

 

แนวทางเบื้องต้นในการรับมือกับข่าวร้าย มีดังนี้

 

  1. เผชิญโดยตรง ด้วยการมองบวก มีความรักและเมตตาตนเอง
  2. ระบายความรู้สึกกับบุคคลที่ไว้ใจได้ และมีความเข้าใจเรา
  3. หาแหล่งสนับสนุนทางสังคม เช่น เพื่อน ชมรม กลุ่ม ฯ ที่ช่วยให้เราคลายความทุกข์จากข่าวร้าย
  4. หาแหล่งช่วยเหลืออื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์หรือที่มาของข่าวร้าย เช่น โรงพยาบาล ตำรวจ นักกฎหมาย ธนาคาร ฯลฯ
  5. หากิจกรรมผ่อนคลายลักษณะต่างๆที่ไม่เป็นโทษ ได้แก่ การ ออกกำลังกาย การเล่นกีฬา การฟังดนตรี การปลูกต้นไม้ การทำงานอดิเรกต่างๆ การเล่นกับสัตว์เลี้ยง เป็นต้น
  6. การหลบเลี่ยงจากสถานการณ์ชั่วคราว

นอกจากนี้ เรายังมีแนวทางในการฝึกฝนตนเองเพื่อรับมือกับข่าวร้าย ซึ่งเป็นหนทางที่ยั่งยืนมากกว่า ดังนี้

 

การสร้างภูมิป้องกันตนเองก่อนที่จะมีข่าวร้าย เป็นการรับมือกับข่าวร้ายที่มุ่งพัฒนาคุณลักษณะในตนของบุคคลให้มีความเข้มแข็งมั่นคง และมีแนวทางในการคิด ในการอยู่กับสถานการณ์อย่างสุขุมรอบคอบ มีสติ และมีทักษะในการดำเนินชีวิตที่มีหลักการ มาจากกระบวนการเรียนรู้ จึงเป็นแนวทางที่ยั่งยืน มิใช่วิธีการที่มุ่งจะแก้ไขปัญหาเป็นครั้งเป็นคราวเท่านั้น

 

การสร้างภูมิป้องกันตนเอง ทำได้ดังนี้

 

1. รู้จักตนเอง เข้าใจตนเอง และให้ความรักความเมตตาต่อตนเอง

 

ทำได้โดยการฝึกจิตฝนใจตนให้รู้จักพิจารณาตนเองอยู่เสมอ ใคร่ครวญ ทบทวนการคิดการพูดการกระทำของตนเอง ให้เกิดความรู้เท่าทัน เกิดการยับยั้งชั่งใจไม่ถลำไปในทางที่ทำร้ายตนเอง ทำร้ายผู้อื่นทั้งในทางความคิด คำพูด และการกระทำ นอกจากนี้จะต้องใคร่ครวญให้เข้าใจตนถึงสาเหตุการกระทำของตน โดยวิเคราะห์หาเหตุหาผลอย่างตรงไปตรงมา การฝึกสติและสมาธิในการดำเนินชีวิต เป็นสิ่งที่ควรกระทำอยู่เสมอโดยไม่ผัดผ่อน เพราะเป็นเสมือนเสาหลักที่มั่นคงทางใจ แม้ชีวิตจะมีเหตุจากภายนอกมากระทบเช่นไรก็ย่อมไม่กระทบกระเทือนจนถอนรากถอนโคน สามารถคืนสู่ความสมดุลได้ง่าย

2. ฝึกวิธีคิดที่เป็นเหตุเป็นผล และลดการคิดที่ขาดเหตุผล เช่น

  • คนเราต้องมีความสมบูรณ์แบบ ความล้มเหลวเป็นสิ่งชั่วร้าย
  • การมีชีวิตที่ดี เราจะต้องไม่มีปัญหาใด ๆ
  • เมื่อเราเป็นคนดี ทุกคนควรจะรักเรา
  • ทุกสิ่งควรจะเป็นไปตามความคาดหวังของเรา
  • สิ่งทั้งหลายย่อมไม่มีการเปลี่ยนแปลง
  • คนเราสามารถจัดการทุกสิ่งได้

 

3. ฝึกทักษะที่จำเป็นในการสื่อสาร

 

ได้แก่ การฝึกปฏิเสธ การฝึกพฤติกรรมยืนยันสิทธิของตน การฝึกฟังและพูดอย่างมีประสิทธิภาพ

 

4. ฝึกทักษะการดำเนินชีวิต และการแก้ปัญหาต่าง ๆ

 

ได้แก่ การรู้จักและเข้าใจตนเอง การวางแผนชีวิต การตั้งเป้าหมายชีวิตทั้งระยะสั้น และระยะยาว การคิด การตัดสินใจ การใช้วิจารณญาณ

 

สิ่งสำคัญที่อยากจะสรุปไว้เพื่อรับมือกับข่าวร้ายก็คือ

 

สติสัมปชัญญะ การอยู่กับปัจจุบัน ตามความเป็นจริง และยอมรับความเป็นจริง การรู้จักวางใจให้เป็นอุเบกขา ให้เป็นกลาง ให้มีความสมดุลย์ รู้เท่าทันตามความเป็นจริงของชีวิต ตามหลักธรรมชาติซึ่งมาจากการมีปัญญาเข้าถึงกฎแห่งความเป็นจริงของชีวิตตามหลักของเหตุของปัจจัยตามธรรมชาติ

 

 

สุดท้ายนี้ ขอเสนอแนวคิดแนวปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมในการฝึกจิตใจเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันแก่ตนเอง เนื่องจากร่างกายกับจิตใจมีความสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ได้ เมื่อเกิดความคิดหรืออารมณ์ความรู้สึกใด ๆ ก็ตามก็มักจะส่งผลต่อร่างกาย สิ่งใกล้ตัวที่เราสังเกตได้ง่ายคือการหายใจของเราเอง เมื่อใดก็ตามที่เราเกิดความเครียด เราจะหายใจไม่ได้เต็มที่ เช่น เมื่อเกิดความตื่นเต้น เกิดความกลัว เราอาจหายใจไม่ทั่วท้อง เมื่อเราโกรธ เราอาจหายใจแรงขึ้น สั้นลง เป็นต้น

 

หากเราฝึกสังเกตลมหายใจเข้าและออกของเราอยู่เสมอ โดยสังเกตตามธรรมชาติ ไม่มีการบังคับควบคุมใด ๆ เราจะมีสติรู้เท่าทันในตนเอง เมื่อใดก็ตามเราได้รับเรื่องราวข่าวร้าย (แม้แต่ข่าวดีก็ตาม) และเกิดความรู้สึกนึกคิดใดขึ้น เราจะสังเกตปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับการหายใจของเรา การสังเกตลมหายใจทางกายนี้ก็เป็นการสังเกตสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในจิตใจของเราตามความเป็นจริง ตัวอย่างเช่นเมื่อเราเกิดความโกรธ เมื่อรับข่าวร้าย เราไม่จำเป็นต้องปฏิเสธตนเองว่าเราไม่ได้โกรธ เราไม่ต้องผลักไสความรู้สึกของตนเอง ซึ่งอาจจะยิ่งทำให้เราเกิดความขุ่นเคืองมากขึ้นกว่าเดิมเมื่อความรู้สึกโกรธยังไม่จางหายไป แทนที่เราจะปฏิเสธ ไม่ยอมรับความจริงที่เกิดขึ้นในจิตใจ เราสังเกตการหายใจของเราตามความเป็นจริง เท่ากับว่าเรากำลังเผชิญความจริงนั้นโดยไม่หลบเลี่ยง ไม่เก็บกดอารมณ์

 

การฝึกสังเกตลมหายใจจะทำให้เรามีสติ รับรู้ความเป็นจริงทั้งภายนอกที่เกิดกับร่างกายของเรา และรับรู้ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในจิตใจของเรา

 

หากเราฝึกที่จะสังเกตลมหายใจตามธรรมชาติโดยไม่เพิ่มพูนความรู้สึกชอบหรือไม่ชอบ ไม่ตอบโต้โดยเสริมเติมความรู้สึกพอใจหรือไม่พอใจ เราเรียนรู้ที่จะวางใจให้เป็นกลางต่อปรากฏการณ์ที่เราสังเกตได้ จิตใจของเราจะคืนสู่สภาวะสมดุลย์ได้เร็วขึ้น เราจะสามารถมีความสงบได้ไม่ว่าจะมีข่าวร้ายหรือข่าวดี ชีวิตก็จะสงบสุขมากขึ้น

 

 


 

 

 

บทความจากสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz

โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กรรณิการ์ นลราชสุวัจน์

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

แชร์คอนเท็นต์นี้