การเหยียดเพศแบบปกป้องเทิดทูน

01 Feb 2024

อาจารย์จรุงกุล บูรพวงศ์

 

การเหยียดเพศที่เป็นปัญหาที่รู้จักและกล่าวถึงกันโดยทั่วไปมักหมายถึงความเป็นปฏิปักษ์ต่อผู้หญิง ความโกรธและรังเกียจเดียดฉันท์ผู้หญิง (hostile sexism) ซึ่งสะท้อนให้เห็นได้ในเกือบจะทุกยุคและทุกวัฒนธรรมที่ผู้หญิงถูกจำกัดให้มีบทบาททางสังคมที่ด้อยกว่าผู้ชาย หลักฐานที่ปรากฏในโลกปัจจุบันก็มีเป็นต้นว่าผู้หญิงยังคงเผชิญกับอคติในการรับเข้าทำงาน ตลอดจนการเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง และยังคงถูกราวีทางเพศในที่ทำงาน รวมทั้งถูกรับรู้ว่าเป็นผู้นำที่ด้อยกว่าผู้นำเพศชายในโลกการเมืองและธุรกิจ นอกจากนี้ยังมีหลักฐานมากมายเกี่ยวกับความก้าวร้าวรุนแรงทางเพศต่อผู้หญิงที่เกิดขึ้นบ่อยอย่างน่าเป็นห่วง

 

วงการจิตวิทยาเชื่อกันว่าการเหยียดเพศมิได้สะท้อนถึงความเป็นปรปักษ์ต่อผู้หญิงเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีการเหยียดเพศที่สำคัญอีกด้านหนึ่งด้วย ได้แก่ ความรู้สึกทางบวกต่อผู้หญิงที่มักเกิดควบคู่กับความชิงชัง ท่านคงสงสัยว่าความรู้สึกทางบวก ความปรารถนาจะปกป้องและเทิดทูนถือเป็นการเหยียดเพศได้อย่างไร คำอธิบายก็คือเป็นการมองผู้หญิงอย่างเหมารวม เป็นภาพในความคิดเกี่ยวกับผู้หญิงทั้งปวงว่าสมควรมีบทบาทที่จำกัดเฉพาะในบ้านในครอบครัว เพื่อเป็นคู่รัก เป็นภรรยา เป็นแม่ เป็นเพศที่น่าเคารพบูชา เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งความบริสุทธิ์ผุดผ่อง และต้องได้รับการปกป้องคุ้มครองโดยผู้ชาย

 

การยกผู้หญิงไว้บนหิ้งให้เทิดทูนและปกป้องไม่ใช่ว่าจะเป็นสิ่งดี เพราะแม้ว่าจะทำให้ถูกมองด้วยความรู้สึกทางบวก แต่ก็ยังคงเป็นการตอกย้ำให้ผู้หญิงอยู่ในบทบาทที่จำกัดเฉพาะบริบทในครัวเรือน และภายใต้อำนาจเหนือกว่าของความเป็นชาย เช่น ผู้ชายคือผู้ทำมาหาเลี้ยงและผู้หญิงต้องอาศัยผู้ชาย ซึ่งผลที่ติดตามมาคือสถานภาพที่ต่ำต้อยย่อมก่อให้เกิดความเสียหาย ยิ่งไปกว่านี้ผู้ที่ถูกเหยียดทางเพศมักไม่รับรู้ว่าเป็นการเหยียดเพศด้วยซ้ำ ตัวอย่างเช่น ชายคนหนึ่งอาจกล่าวชมเพื่อนร่วมงานของเขาที่เป็นผู้หญิงว่า “วันนี้คุณดูน่ารักจัง” ซึ่งไม่ว่าจะพูดด้วยเจตนาดีเพียงใดก็ตาม ก็อาจกลายเป็นการกัดกร่อนและทำลายความรู้สึกของเธอในการเป็นที่ยอมรับอย่างจริงจังในเชิงอาชีพได้

 

กลุ่มชนที่มีลักษณะทางกายภาพแตกต่างกันมักมีความเป็นปฏิปักษ์และมีอคติต่อกัน ความจริงข้อนี้เป็นที่ประจักษ์กันดีอยู่ แต่ความแตกต่างทางชีวภาพของชายหญิงเป็นสถานการณ์ที่พิเศษไม่เหมือนความผิดแผกระหว่างกลุ่มอื่น ๆ เนื่องจากผู้ชายต้องอาศัยผู้หญิงเพื่อมีทายาทสืบทอดเชื้อสาย และเพื่อสนองความต้องการทางเพศ อีกทั้งผู้ชายอาจแสวงหาการเติมเต็มให้กับความต้องการใกล้ชิดทางจิตใจจากผู้หญิงด้วย โดยอาจเป็นเพราะไม่สามารถสนองความต้องการนี้ได้ง่ายนักจากผู้ชายด้วยกันเองผู้ซึ่งมักเป็นคู่แข่งที่คอยแก่งแย่งฐานะและทรัพยากรตลอดเวลา ดังนั้นจึงอาจมองได้ว่าผู้หญิงเป็นฝ่ายมีอำนาจในความสัมพันธ์ระหว่างคนสองคนที่ต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน อำนาจของผู้หญิงในความสัมพันธ์ภายในคู่สะท้อนให้เห็นได้ในอุดมการณ์ของสังคม เป็นต้นว่าเจตคติปกป้องคุ้มครองผู้หญิง การให้เกียรติยกย่องบทบาทความเป็นแม่และภรรยา และการมีภาพของหญิงผู้เป็นคู่รักคู่เสน่หาในอุดมคติ ซึ่งทั้งหมดนี้ก็คือนิยามของลักษณะการเหยียดเพศในทางบวกนั่นเอง

 

แม้ว่าการเหยียดเพศแบบปกป้องเทิดทูน (benevolent sexism) นี้จะให้ความรู้สึกว่าเป็นการมองผู้หญิงในทางบวก แต่ก็เป็นการยึดถือสมมติฐานเดียวกับการเหยียดเพศแบบเป็นปฏิปักษ์ นั่นคือเชื่อว่าผู้หญิงยึดครองบทบาทที่จำกัดในครอบครัว และเป็นเพศที่ “อ่อนแอกว่า” ไร้ความสามารถที่จะใช้อำนาจในสถาบันทางเศรษฐกิจ กฎหมาย และการเมือง ดังนั้นทั้งการเหยียดเพศแบบเป็นปฏิปักษ์และแบบปกป้องเทิดทูนต่างก็ทำหน้าที่อธิบายให้ความชอบธรรมแก่ผู้ชาย ให้ข้ออ้างว่าผู้ชายต่างหากที่ต้องเป็นฝ่ายมีอำนาจควบคุมโครงสร้างทางสังคม

 

นักจิตวิทยาได้สร้างมาตรวัดการเหยียดเพศแบบปกป้องเทิดทูนขึ้นมาทำนองเดียวกับแบบเป็นปฏิปักษ์ ลองอ่านดูแล้วตอบว่าเห็นด้วยกับประโยคเหล่านี้บ้างไหมนะคะ

  1. เมื่อเกิดภัยพิบัติ ผู้หญิงควรจะได้รับความช่วยเหลือก่อนผู้ชาย
  2. ผู้หญิงจำนวนมากมีคุณสมบัติของความบริสุทธิ์ผุดผ่องที่ผู้ชายน้อยคนมี
  3. ผู้ชายควรเต็มใจเสียสละความสุขส่วนตัวเพื่อดูแลรับผิดชอบทางการเงินให้ผู้หญิงในชีวิตของเขา
  4. ผู้ชายจะไม่สมบูรณ์หากปราศจากผู้หญิง
  5. เมื่อเทียบกับผู้ชายแล้ว ผู้หญิงมักมีสำนึกในวัฒนธรรมที่ละเมียดละไมกว่าและมีรสนิยมดีกว่า

 

เป็นอย่างไรบ้างคะ ท่านเห็นด้วยกับประโยคเหล่านี้มากน้อยแค่ไหน ยิ่งเห็นด้วยมากก็แปลว่ายิ่งเหยียดเพศสูงค่ะ

 

 

 

นักจิตวิทยาเสนอว่าการเหยียดเพศทั้งด้านลบและด้านบวกมีองค์ประกอบสามองค์ประกอบร่วมกัน

 

องค์ประกอบแรก คือ ลักษณะลัทธิความสัมพันธ์แบบพ่อปกครองลูก เพราะมีทั้งอำนาจเหนือกว่าและความรักความคุ้มครอง บรรดาผู้สนับสนุนการเหยียดเพศอ้างว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่ผู้หญิงมีความเป็นผู้ใหญ่ไม่เพียงพอ จึงต้องให้ผู้ชายมาควบคุม และผนวกกับการที่ผู้ชายต้องพึ่งพาผู้หญิงให้มามีความสัมพันธ์ในฐานะภรรยา แม่ หรือคู่รัก จึงต้องการทะนุถนอมปกป้องดูแลผู้หญิง

 

องค์ประกอบที่สอง คือ การจำแนกบทบาททางเพศ ซึ่งหมายถึงการมองว่าผู้ชายเท่านั้นที่มีคุณลักษณะที่จำเป็นสำหรับการบริหารสถาบันหลัก ๆ ในสังคม และนอกจากนี้ผู้เหยียดเพศก็เชื่อว่าผู้หญิงมีคุณลักษณะพิเศษที่ไม่เหมือนผู้ชายแต่เป็นส่วนประกอบที่เติมเต็มให้ผู้ชายสมบูรณ์พร้อมด้วย

 

องค์ประกอบที่สาม คือ ความลุ่มหลงเสน่หาระหว่างเพศ ซึ่งมีทั้งการที่ผู้ชายปรารถนาจะใกล้ชิดสนิทสนมกับผู้หญิงอย่างจริงใจ และความก้าวร้าวรุนแรงต่อผู้หญิง โดยการที่ผู้ชายซึ่งเป็นฝ่ายที่มีอำนาจมากกว่าต้องขึ้นอยู่กับผู้หญิงเพื่อสนองความต้องการทางเพศอาจเป็นสภาวะที่ทำให้ผู้ชายแค้นใจ ดังนั้นความดึงดูดใจต่อผู้หญิงอาจไม่สามารถแยกออกจากความปรารถนาจะมีอำนาจเหนือผู้หญิงได้

 

 

มีการวิจัยที่ให้ผู้คนจาก 19 ประเทศ จำนวนทั้งสิ้นกว่า 15,000 คนตอบมาตรวัดการเหยียดเพศทำนองเดียวกับที่ท่านได้ตอบไปก่อนหน้าในสัปดาห์นี้ พบว่าประเทศที่มีการเหยียดเพศแบบเป็นปฏิปักษ์สูงก็จะมีระดับการเหยียดเพศแบบปกป้องเทิดทูนสูงด้วย และบุคคลที่เหยียดเพศแบบหนึ่งแบบใดสูงก็มีแนวโน้มที่จะเหยียดเพศอีกแบบหนึ่งสูงด้วย

 

การเหยียดเพศทางด้านบวกหรือเรียกว่าแบบปกป้องเทิดทูนผู้หญิงนั้น แม้จะไม่เข้าข่ายเป็นอคติแต่ก็ไม่จัดว่าเป็นเรื่องน่าพึงปรารถนา แม้ว่าจะดูไม่มีพิษภัย ดูเป็นสุภาพบุรุษดี หรือแม้กระทั่งโรแมนติกด้วย แต่ก็อาจส่งผลเสียหายร้ายแรง เพราะเป็นอุดมการณ์ที่สนับสนุนความไม่เสมอภาคระหว่างเพศ และมักแอบแฝงซ่อนเร้น เช่นการอ้างว่า “ผู้หญิงควรละทิ้งอาชีพเพราะมีความเป็นเลิศในการดูแลเด็ก” อาจเป็นที่ยอมรับมากกว่าการกล่าวว่า “ผู้หญิงควรละทิ้งอาชีพเพราะขาดความสามารถ” การวิจัยพบว่าผู้หญิงโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่มีการเหยียดเพศแบบเป็นปรปักษ์สูงมักปฏิเสธการเหยียดเพศแบบเป็นปรปักษ์แต่มักเห็นด้วยกับการเหยียดเพศแบบปกป้องเทิดทูน

 

นอกจากนี้ยังพบว่าการเหยียดเพศแบบเป็นปรปักษ์สัมพันธ์กับการยอมรับความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับการข่มขืน เช่นเชื่อว่าผู้หญิงพอใจกับการถูกข่มขืน หรือเชื่อว่าหากผู้หญิงพยายามจริง ๆ แล้วจะสามารถสู้และต่อต้านการข่มขืนได้ เป็นต้น นอกจากนี้ผู้ที่เชื่อว่าผู้หญิงมีคุณลักษณะที่แตกต่างแต่เติมเต็มให้ผู้ชายก็มีความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับการข่มขืนเช่นกัน

 

การเหยียดเพศเป็นเรื่องที่สมควรได้รับความสนใจอย่างยิ่งเลยนะคะ

 

 


 

 

บทสารคดีทางวิทยุ รายการ “จิตวิทยาเพื่อคุณ”
โดย อาจารย์จรุงกุล บูรพวงศ์ (2548)
ออกอากาศ ณ สถานีวิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz

 

แชร์คอนเท็นต์นี้