เด็กกับสื่อ

17 Feb 2017

ผศ. ดร.สุภลัคน์ ลวดลาย

 

วันนี้เป็นวันที่น่าตื่นเต้นและสนุกสนานอีกครั้งหนึ่งในชีวิต เพราะเป็นวันที่จะได้ลงไปสนทนากลุ่ม (Focus group) กับเด็กๆ ณ โรงเรียนระดับประถมศึกษาแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร การสนทนากลุ่มเต็มไปด้วยบรรยากาศที่เป็นมิตร เด็กๆ ที่มาพร้อมให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี เพราะเด็กๆ รับทราบว่าพวกเขาถือเป็นตัวแทนของเด็กไทยในช่วงอายุ 10-12 ปีที่จะมาให้ข้อมูลว่าในวัยของพวกเขานั้น เขาเสพสื่ออะไรบ้าง? สื่อมีเนื้อหาอย่างไรบ้าง? และถ้าเป็นรายการสำหรับคนในวัยของพวกเขาแล้ว เขาอยากได้รายการแบบใด?

 

คำตอบที่ได้หลายเรื่องน่าสนใจ เช่น เด็กวัยนี้ชอบรายการที่เป็นรายการเสมือนจริง (Reality Shows) มากกว่ารายการแบบเด็กเล็กที่เป็นการ์ตูนและดำเนินเรื่องราวช้าๆ ซ้ำๆ เพราะเด็กเรียนรู้แล้วว่าอะไรคือโลกแห่งความจริง และอะไรคือโลกสมมติ เด็กอยากได้เนื้อหาสาระที่สามารถไปช่วยพวกเขาแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน สิ่งที่พวกเขาสนใจยังเป็นเรื่องราวต่างๆ ที่เกี่ยวของกับพัฒนาการตามวัยของพวกเขา การแก้ปัญหาเวลาอยู่กับเพื่อน การมีสัมพันธภาพในครอบครัว พวกเขาบอกว่า “พวกผมก็เครียดเรื่องเรียน เรื่องครอบครัวและเรื่องเพื่อนได้นะครับ” วัยนี้เป็นวัยที่จะก้าวเข้าสู่วัยรุ่นในไม่ช้า ฉะนั้นเรื่องเครียดก็คงมากขึ้นจริง ๆ

 

พวกเด็กๆ ยังชอบหาความบันเทิงใส่ชีวิต ดังนั้นการดูละคร รายการที่มีเนื้อหาสนุกสนาน และภาพยนตร์ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ทว่าพวกเขายังสนใจเกมโชว์ เกมตอบปัญหา และสารคดีด้วย เพราะพวกเขาอยากได้สาระและความรู้เช่นกัน แม้ว่าจะสนใจน้อยกว่าละครและภาพยนตร์ก็ตามเถอะ

 

ที่น่าสนใจมากคือ เด็กๆ เหล่านี้เสพสื่อแทบทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์ วิทยุ อินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดีย (เช่น Facebook, Youtube, Instragram เป็นต้น) เด็กส่วนใหญ่บอกว่าพวกเขาชอบดูรายการต่างๆ ละคร หนัง และสารคดี ผ่านช่องทาง Youtube ที่เป็นเช่นนี้เพราะทุกคนตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า “ต้องการความต่อเนื่องและเบื่อโฆษณา” (สิ่งนี้คงไม่ต่างจากผู้ใหญ่อย่างเรา ๆ เช่นกัน) เด็ก ๆ ยังใช้เวลาในการเล่นเกมทางอินเทอร์เน็ต และที่หลายคนชอบมากคือ ดู Cast Game จาก Youtube

 

เมื่อถามว่าพวกเขาใช้เวลาโดยเฉลี่ยกี่ชั่วโมงต่อวันในการเสพสื่อ แน่นอนว่าไม่ต่ำกว่า 6 ชั่วโมงต่อวัน เพราะเดี๋ยวนี้ใครๆ ก็ใช้สมาร์ทโฟน รอรถ อยู่ใน BTS นั่งรถเมล์ รอพ่อแม่มารับกลับจากโรงเรียนก็ดูได้ กลับมาถึงบ้านก็ดูได้ ผู้ปกครองบางท่านอาจจะไม่เห็นด้วย เพราะทางบ้านมีการกำหนดเวลาในการดูสื่อและเล่นอินเทอร์เน็ต คำถามคือ ท่านทำได้จริงหรือ? เพราะเด็กๆ บอกว่า พวกเขาแอบดูและส่วนใหญ่แอบดูหนัง ละคร และรายการที่มีเนื้อหาที่ไม่อยู่ในขอบเขตที่ผู้ปกครองกำหนดทั้งสิ้น!

 

การศึกษาวิจัยแสดงให้เห็นอยู่แล้วว่า การปล่อยให้เด็กเสพสื่อต่างๆ ตามลำพังก่อให้เกิดความเสี่ยงต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็น การถูกชักจูงไปในทางเสื่อมเสีย เช่น การมีแฟน (ที่ไม่ดี) การถูกล่วงละเมิดทางเพศ และการถูกล่อลวงให้กระทำพฤติกรรมใดๆ ก็ตามที่เป็นอันตรายต่อตัวเด็ก การเสพสื่อที่มีเนื้อหาก้าวร้าวรุนแรง ก็เป็นส่วนหนึ่งที่สร้างเสริมพฤติกรรมก้าวร้าวในเด็ก นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อสภาวะจิตใจของเด็กด้วย ในเด็กบางคนอาจมีภาวะซึมเศร้าจากการเสพสื่อได้เช่นกัน

 

 

คงต้องมาตั้งคำถามกันว่า เราในฐานะผู้ปกครองและเป็นบุคคลใกล้ชิดกับเด็กมากที่สุดควรทำอย่างไร?

 

แน่นอนว่าเราไม่สามารถควบคุมและป้องกันเด็กได้ตลอดเวลา หน้าที่ของเราที่สำคัญที่สุดน่าจะเป็น การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ สร้างภูมิคุ้มกันให้แก่เด็ก และเป็นแบบอย่างของการเสพสื่อแก่เด็ก

 

การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ คือ การที่เราพยายามอยู่กับเด็กอย่างเข้าใจ ทำให้เด็กมีความรู้สึกว่าการเป็นพ่อแม่ไม่ได้มีช่องว่างที่ห่างจนเกินไปกับลูก พ่อแม่ไม่ได้มีหน้าที่เลี้ยงดู ให้เงิน หรือบังคับให้เรียนพิเศษเพียงเท่านี้ แต่พ่อแม่ยังสามารถเป็นเพื่อนที่คอยให้กำลังใจ ให้คำปรึกษาและเติบโตไปพร้อมกับพวกเขาได้ การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจเป็นก้าวแรกที่จะช่วยให้เด็กๆ เปิดใจบอกเล่าและสื่อสารเรื่องราวต่างๆ ในชีวิตของพวกเขาสู่ผู้ใหญ่อย่างเราได้รับฟัง สิ่งที่จำเป็นต่อจากนั้นคงเป็นการใช้เวลาเสพสื่อบางอย่างร่วมกันเพื่อสร้างโอกาสที่จะสอนและแสดงความคิดเห็นในฐานะผู้มีประสบการณ์มากกว่า ตรงนี้เองจะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่เด็กได้

 

นอกจากนี้ผู้ใหญ่อย่างเราคงต้องเป็นแบบอย่างในการเสพสื่อและเลือกสรรกิจกรรมที่เหมาะสมต่อการใช้ชีวิต ผู้ใหญ่อย่างเราเองก็น่าจะใช้สมาร์ทโฟนลดลง หากิจกรรมสนุกๆ ทำร่วมกับครอบครัวมากขึ้น แน่นอนสิ่งเหล่านี้ต้องใช้เวลาและความเอาใจใส่จากผู้ปกครองเป็นอย่างมาก หลายท่านอาจคิดว่าไม่มีเวลามากพอที่จะทำได้ เพราะภาระหน้าที่ของเราต่างกัน ใช่…ทุกคนมีภาระต่างกันมากมาย คนมีเวลามากก็พูดได้ แต่สิ่งที่น่าคิดและอยากถามต่อมาคือ ท่านอยากให้ลูกๆ ของท่านเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่แบบไหน? อยากให้เขามีชีวิตอย่างไร? สังคมต่อไปในอนาคตจะเป็นอย่างไร? เพราะลูกของเราก็คือส่วนหนึ่งของสังคมและเขาก็จะเป็นบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากสังคมด้วยเช่นกัน ดังนั้นมันถึงเวลาแล้วใช่หรือไม่ที่เราควรใส่ใจเรื่องเหล่านี้?

 

 

รายการอ้างอิง

 

O’Keeffe, G.S., &Clarke-Pearson, K. (2011). Clinical report: The impact of Social Media on children, adolescents, and families. Pediatrics, 799-805. DOI:10.1542/peds.2011-0054.

 

Strasburger, V. C., & Hogan, M. J. (2013). Children, adolescents, and the media. Pediatrics, 958-953. DOI: 10.1542/peds.2013-2656.

 

Winpenny, E. M., Marteau, T. M., & Nolte, E. (2014). Exposure of children and adolescents to alcohol marketing on social media websites. Alcohol and Alcoholism, 49(2), 154-159.

 

 

 


 

 

บทความโดย

อาจารย์ ดร.สุภลัคน์ ลวดลาย

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

แชร์คอนเท็นต์นี้