งานวิจัยมากมายพูดถึงความสำคัญของรอยยิ้มว่าช่วยก่อให้เกิดการสานสัมพันธ์ระหว่างคนสองคนได้อย่างดี เขายิ้มมา เรายิ้มไป รับส่งความรู้สึกที่ดีระหว่างกัน
แต่จากนี้อาจจะไม่มีอีกแล้วค่ะรอยยิ้มนั้น อย่างน้อยก็ตราบเท่าที่เชื้อโควิด 19 ยังอยู่ ซึ่งทำให้เราต้องปรับแนวทางการใช้ชีวิต และยกให้ “หน้ากากอนามัย” เป็นเพื่อนคู่กายขาดกันไม่ได้ ไปเรื่อย ๆ
แล้วอย่างนี้เราจะสร้างความสัมพันธ์กันอย่างไรในเมื่อแต่ละคนโผล่พ้นหน้ากากมาแต่ตากับหน้าผาก! พนักงานขายทั้งหลายก็ไม่สามารถโปรยยิ้มพิมพ์ใจมัดใจลูกค้าได้อีก ต่อให้ท่านสวยหล่อน่าคุยด้วยขนาดไหน คนอื่นก็แทบจะมองไม่ออก หรือเราจะส่งยิ้มทักทายเพื่อนใหม่ในรั้วมหาวิทยาลัย เพื่อนร่วมงาน หรือคนที่เราแอบชอบได้อย่างไร ในเมื่อรอยยิ้มถูกหน้ากากอนามัยยึดอำนาจไปแล้ว
ไม่เป็นไรค่ะ เรายังเหลือ “ดวงตา” ที่ว่ากันว่าเป็นหน้าต่างของหัวใจ และเรายังเหลือภาษากายอีกหลายอย่างที่สามารถใช้เพื่อสานสัมพันธ์กับผู้อื่นในยุค new normal ลองมาดูแนวทางสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่นแม้ต้องใส่หน้ากากอนามัยกันค่ะ
1. ยิ้มต่อไปแม้จะอยู่ใต้หน้ากาก
เพราะรอยยิ้มโดยเฉพาะยิ้มที่จริงใจ จะถูกกระตุ้นโดยสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ และยิ้มที่มาจากความรู้สึกดีที่แท้จริงนั้น ไม่ได้ยิ้มเฉพาะที่ปาก แต่ยิ้มที่ตาด้วยค่ะ (และทำให้เกิดตีนกานั่นเอง) นั่นคือเมื่อเรายิ้มด้วยความจริงใจดวงตาของเราจะยิ้มด้วย ซึ่งเป็นส่วนที่สื่อสารไปยังผู้อื่นได้ นอกจากนี้ การสบตายังมีความหมายอื่น ๆ สรุปสั้น ๆ ได้ดังนี้ค่ะ
- ตาสบตา คือการเปิดประตูสู่การสานสัมพันธ์ทั้งแบบเพื่อน หรือคู่รัก ไม่สบตาก็คือไม่สนใจ
- แค่สบตาก็สะท้านใจ งานวิจัยชี้ว่าการสบตากันก่อให้เกิดการกระตุ้นเร้าทางร่างกาย เช่น ใจเต้นตึกตัก
- สายตาสื่อหลายความหมาย จ้องนิ่ง จ้องนาน ในต่างสถานการณ์ก็ต่างความหมาย
- หลบตาแปลว่าเขากำลังพูดโกหก? งานวิจัยชี้ตรงกันข้ามกับความเชื่อนี้ว่า คนโกหกมักจะสบตาผู้ฟังมากกว่าปกติ เพื่อกลบเกลื่อน เพื่อพยายามโน้มน้าวให้เชื่อว่าเป็นเรื่องจริง หรืออาจจะเพื่อดูว่าเขาเชื่อคำโกหกของเราหรือเปล่า
ดังนั้น เนื่องจากเราต้องสวมหน้ากากอนามัย เราก็คงต้องพึ่งดวงตาของเราเยอะหน่อยในการสื่อความสนใจ ใส่ใจ และความเป็นมิตรไปยังคนอื่นๆ นะคะ อย่าเผลอปล่อยให้โอกาสผ่านไปโดยการก้มหน้าดูแต่จอโทรศัพท์มือถือนะคะ
2. ใช้ภาษากายส่งความปรารถนาดี
แม้เราจะต้องรักษาระยะห่างเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด แต่เราก็ยังสามารถแสดงออกด้วยภาษากายในการสื่อสารความปรารถนาดีและความเป็นมิตรไปยังผู้อื่นได้หลายทาง สรุปง่ายๆ ดังนี้ค่ะ
- ยืน/นั่งแบบเปิดตัว อย่าไขว้ขา อย่ากอดอก จะแสดงความเป็นมิตรและพร้อมสานสัมพันธ์มากกว่า
- โน้มตัวเข้าหา (แต่ไม่ต้องแนบชิด) แสดงความสนใจและใส่ใจ
- สัญลักษณ์มือที่สื่อสารทางบวก เช่น สู้ๆ ยอดเยี่ยม ส่งหัวใจ หรือโอเค ได้เวลางัดออกมาใช้บ่อย ๆ แล้วค่ะ
3. ส่งเสียงแห่งความเป็นมิตร
จากที่เดินผ่านก็ส่งยิ้มทักทายเพื่อนร่วมงาน พอรอยยิ้มใช้การไม่ได้ เราก็อาจจะต้องเพิ่มความพยายามสื่อสารความปรารถนาดีโดยการใช้คำพูดทักทายแทน “สวัสดี เป็นไงบ้าง” อย่าลืมว่าเมื่อท่านใส่หน้ากาก เสียงของท่านอาจจะเบาลงได้ ก็อาจต้องเพิ่มความพยายามกระจายเสียงกันนิดนะคะ
4. พูดไม่ถนัดอาจช่วยให้ได้หัดฟัง
ใครจะไปรู้ว่าในยุคที่คนเราไม่อยากพูดคุยยาวๆ ภายใต้หน้ากากอนามัยซึ่งหายใจไม่ค่อยสะดวกนั้น อาจจะกลายเป็นโอกาสให้เราได้พูดน้อยลง ได้เงียบเสียงจากตัวเราเอง และได้ฟังคนอื่นๆ พูดหรือแสดงออกมากขึ้นได้ การฟังอย่างตั้งใจ พยักหน้าว่ารับฟัง ถามคำถามกระตุ้นให้เขาได้พูดต่อโดยไม่ตัดสินเขาว่าถูกหรือผิด เป็นสิ่งที่เราสามารถทำได้ดีแม้จะมีหน้ากากอนามัยแผ่นโตแปะอยู่บนใบหน้าก็ตาม
5. การใส่หน้ากาก = ฉันเป็นห่วงเธอนะ
แม้จะมีงานวิจัยที่บอกว่า คนไข้รู้สึกว่าหมอที่ใส่หน้ากากนั่งคุยด้วย ดูเข้าอกเข้าใจความรู้สึกคนไข้น้อยกว่าหมอที่คุยกับคนไข้โดยไม่ใส่หน้ากาก หรือหน้ากากเป็นตัวปิดกั้นการสานสัมพันธ์ระหว่างกัน แต่ตอนนี้สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปแล้วค่ะเนื่องจากการระบาดของเชื้อโควิด 19 ดังนั้น ไม่ต้องกังวลว่าท่านจะดูลึกลับ ดูไม่รับแขก หรือดูห่างเหินจากคนอื่นเมื่อใส่หน้ากากอนามัย เพราะเป็นไปได้ว่า หน้ากากอนามัยจากที่แสดงการปิดบังตัวตนของผู้ใส่ กำลังกลายเป็นสัญลักษณ์ของความปลอดภัย การใส่ใจต่อผู้อื่น การปฏิบัติตัวที่ดีในยุคโควิด การมีความเป็นมืออาชีพในการทำงานหรือติอต่อกับผู้เกี่ยวข้อง หรือความปลอดภัยในการสร้างความสัมพันธ์ด้วยก็เป็นได้ค่ะ
บทความวิชาการ
โดย ผศ. ดร.วัชราภรณ์ บุญญศิริวัฒน์
ประธานแขนงวิชาจิตวิทยาสังคมพื้นฐานและประยุกต์
คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย