Dr.John Ng ผู้เชี่ยวชาญในด้านการจัดการความขัดแย้ง ของ Eagles Mediation and Counseling Center ประเทศสิงคโปร์ ได้เขียนไว้ในหนังสือของท่าน และได้ให้มุมมองเกี่ยวกับธรรมชาติของความขัดแย้งไว้ 4 ประเด็น ดังนี้
ความขัดแย้งเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิต
เนื่องด้วยคนเรามีความแตกต่างกัน เช่น มีบุคลิกภาพต่างกัน มีความคิดเห็นต่างกัน มีค่านิยมต่างกัน และมีความต้องการต่างกัน เราจึงมีความขัดแย้งกัน ดังนั้นตราบเท่าที่เรายังมีชีวิตอยู่ เราก็สามารถมีความขัดแย้งกับผู้อื่นได้ การมีความขัดแย้งไม่ได้ก่อให้เกิดความแตกหักในความสัมพันธ์ แต่วิธีจัดการกับความขัดแย้งต่างหากที่มีผลต่อความสัมพันธ์
ความขัดแย้งมีค่าเป็นกลาง
คนส่วนมากกลัวความขัดแย้ง เพราะคิดว่าความขัดแย้งเป็นสิ่งที่ไม่ดี เรามักจะเชื่อมโยงความขัดแย้งกับคำที่มีความหมายในทางลบ เช่น ความโกรธ ความก้าวร้าว การต่อสู้ การโต้เถียง ความคับข้องใจ ความขมขื่น และความเกลียดชัง อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งก็มีข้อดีได้ เพราะทำให้เราเข้าใจกันมากขึ้น เกิดความคิดใหม่ ๆ ในการแก้ปัญหา มีความสัมพันธ์ที่ดีขึ้น เกิดการยอมรับนับถือซึ่งกันและกัน และมีมุมมองชีวิตที่แตกต่างไปจากเดิม
ครอบครัวที่ไม่มีความขัดแย้งไม่จำเป็นต้องเป็นครอบครัวที่มีความสุขเสมอไป
พ่อแม่ที่คิดว่าครอบครัวของตนไม่มีความขัดแย้งอาจจะไม่รู้ตัวว่าได้สร้างบรรยากาศของความหวาดกลัวแก่ลูก ๆ จนไม่มีใครกล้าพูดถึงความต้องการที่แท้จริงของตนออกมา พ่อแม่ที่เข้มงวดเกินไป ไม่เปิดโอกาสให้ลูกได้แสดงความคิดเห็นเท่ากับได้กวาดความขัดแย้งไปซ่อนไว้ใต้พรมซึ่งรอเวลาที่จะระเบิดออกมา แต่ครอบครัวที่มีความเป็นประชาธิปไตย แม้มีความขัดแย้งก็สามารถจัดการกับมันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ความขัดแย้งระหว่างพ่อแม่กับวัยรุ่นเป็นเรื่องที่ไม่มีวันจบ
ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมักจะเป็นเรื่องเดิม ๆ ที่มีการโต้เถียงกันซ้ำแล้วซ้ำอีก เช่น เรื่องผลการเรียน ความเป็นระเบียบเรียบร้อยของห้องนอน การเล่นเกมส์คอมพิวเตอร์ การนอนตื่นสาย การพูดโทรศัพท์นานเกินไป และการออกไปเที่ยวเตร่นอกบ้านกับเพื่อน เป็นต้น ทั้งนี้ พ่อแม่ต้องยอมรับว่าจะต้องมีความขัดแย้งในเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้ครั้งแล้วครั้งเล่าจนกว่าลูกจะเติบโตผ่านช่วงวัยรุ่นนี้ไป ดังนั้นแทนที่จะหลีกหนีหรือเก็บซ่อนความขัดแย้งไว้ สิ่งที่ควรทำก็คือ การหาวิธีจัดการกับความขัดแย้งเหล่านี้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ ดร.จอนห์น อึ้ง ได้กล่าวถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างพ่อแม่กับลูกวัยรุ่นไว้ดังนี้
- การมีค่านิยมที่แตกต่างและขัดแย้งกัน ค่านิยมของวัยรุ่นมักแตกต่างจากพ่อแม่ ในขณะที่วัยรุ่นให้คุณค่าแก่เสรีภาพ การมีเพื่อน และความสนุกสนาน พ่อแม่จะให้คุณค่าแก่ความขยันหมั่นเพียร ความซื่อสัตย์สุจริต และการมีเกียรติยศชื่อเสียง เมื่อ 2ฝ่ายมีค่านิยมที่แตกต่างกัน ความขัดแย้งจึงเกิดขึ้น
- การมีอุปนิสัยที่ไม่ถูกใจพ่อแม่ สิ่งที่พ่อแม่มักจะบ่นเกี่ยวกับอุปนิสัยของวัยรุ่นก็คือ ความไม่เป็นระเบียบ การขาดความรับผิดชอบ และการไม่เอาใจใส่ต่อการเรียนและการสอบ ในขณะที่วัยรุ่นจะมองพ่อแม่ว่าควบคุมชีวิตของเขามากเกินไป เจ้าระเบียบเกินไป และจ้องจับผิดมากเกินไป
- การมีความคาดหวังที่ซ่อนเร้นและไม่เป็นจริง พ่อแม่อาจมีความคาดหวังที่สูงเกินไป เช่น คิดว่าลูกยังเรียนได้ไม่ดีเท่าที่ควร ห้องนอนยังไม่สะอาดเรียบร้อยเท่าที่ควร และใช้เวลากับเพื่อนมากเกินไป พ่อแม่บางคนคาดหวังให้ลูกทำบางสิ่งบางอย่างให้แต่ไม่เคยบอกลูกตรงๆ ในขณะที่ลูกก็มีความคาดหวังต่อพ่อแม่ที่ซ่อนเร้นอยู่ เช่น อยากให้พ่ออยู่กับครอบครัวมากขึ้น เพราะพ่อเดินทางบ่อยเกินไป แต่ลูกไม่เคยบอกให้พ่อรู้
- การมีรูปแบบการสื่อสารในด้านลบและไม่มีประสิทธิภาพ การใช้ถ้อยคำที่รุนแรงหรือการกระทำที่ก้าวร้าวทำให้เกิดความโกรธ ทั้งในพ่อแม่และวัยรุ่น พ่อแม่ที่ควบคุมอารมณ์ไม่ได้อาจดุด่าว่ากล่าวลูกต่อหน้าคนอื่น ทำให้เด็กรู้สึกอับอาย และเมื่อวัยรุ่นตอบโต้ด้วยถ้อยคำที่รุนแรงบ้าง การสื่อสารของทั้ง 2 ฝ่ายจะกลายเป็นการตะโกนใส่กัน แต่จะไม่สามารถจัดการกับความขัดแย้งได้
- การเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน มนุษย์ทุกคนมีความเห็นแก่ตัวในระดับหนึ่ง บางครั้งพ่อแม่ก็เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนมากกว่าจะคิดถึงวัยรุ่น เช่น พ่อแม่อยากจะดูดีในสายตาของคนอื่น และรู้สึกอับอายเมื่อลูกเรียนไม่ดี หรือสอบเข้าเรียนในสาขาวิชาที่ต้องการไม่ได้ จึงพยายามกดดันให้ลูกเรียนดีเพื่อพ่อแม่จะได้มีหน้ามีตา วัยรุ่นเองก็เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนเช่นกัน เขามักจะไม่สนใจเป้าหมายระยะยาว หรือผลที่เกิดขึ้นจากการกระทำในปัจจุบันที่มีต่ออนาคต วัยรุ่นมักทำอะไรตามใจตนเอง และบางครั้งก็เข้าไปเกี่ยวข้องกับกิจกรรมที่ส่งผลเสียต่อชีวิตของตน เช่น การมีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงาน การใช้ยาเสพติด เป็นต้น
- การมีความสนใจที่ต่างกันและขัดแย้งกัน วัยรุ่นกับพ่อแม่มักมีความสนใจต่างกัน เช่น วัยรุ่นชอบฟังดนตรีประเภทร็อก หรือเร็คเก ในขณะที่พ่อแม่รู้สึกว่าเสียงดังเกินไปและดนตรีแนวนี้มีอิทธิพลในด้านลบต่อเด็ก นอกจากนี้วัยรุ่นยังชอบไปงานปาร์ตี้และเที่ยวกลางคืน ในขณะที่พ่อแม่คิดว่าสถานที่เหล่านี้จะทำให้ลูกถูกชักจูงไปในทางที่เสื่อมเสียได้ง่ายวัยรุ่นบางคนคิดว่า เกมส์คอมพิวเตอร์สนุกสนานและตื่นเต้น แต่พ่อแม่รู้สึกว่าลูกติดเกมส์มากเกินไป
- การมีอคติในทางลบที่นำไปสู่การติเตียน มนุษย์มีความลำเอียง และเราควรจะตระหนักว่าเราลำเอียงในด้านใดบ้าง เราสามารถแบ่งความลำเอียงออกเป็น 3 แบบ คือ
- เรามีแนวโน้มที่จะอนุมานสาเหตุของพฤติกรรมแบบเข้าข้างตนเอง กล่าวคือ ถ้าเราทำผิด เรามักจะโทษสถานการณ์แต่ถ้าคนอื่นทำผิด เราจะโทษว่ามาจากลักษณะนิสัยหรือความตั้งใจที่ไม่ดีของเขา เช่น ถ้าเรามาสายเราจะโทษว่ารถติด แต่ถ้าลูกของเรามาสาย เราจะกล่าวหาว่าเขาเป็นคนเกียจคร้านหรือไม่รับผิดชอบ
- เรามีแนวโน้มที่จะยึดตนเองเป็นมาตรฐาน กล่าวคือ เราเชื่อว่าวิถีชีวิต เจตคติ และพฤติกรรมของเราเป็นเรื่องปกติ และคนอื่นก็จะเป็นเหมือนเรา ถ้าเราเป็นคนที่มีระเบียบ เราก็คิดว่าลูกของเราก็จะเป็นเหมือนเราด้วย และถ้าลูกของเราแตกต่างจากเรา เราจะยอมรับไม่ได้ ที่แย่ไปกว่านั้นก็คือ เรายังคิดว่าเราเป็นพวกที่ปกติ และถ้าคนไหนไม่เหมือนเรา เขาก็เป็นคนที่ผิดปกติ
- เรามีแนวโน้มที่จะเน้นลักษณะทางลบของคนอื่นมากกว่าลักษณะทางบวกของเขาและจะใช้ลักษณะทางลบนั้นตัดสินพฤติกรรมที่ตามมา เช่น ถ้ามีใครมาถามถึงลูกวัยรุ่นของเรา เราก็มีแนวโน้มที่จะพูดถึงอุปนิสัยที่ไม่ดีของลูกมากกว่า ทั้งที่ลูกก็มีส่วนที่ดีหลายอย่าง เช่น เราอาจจะพูดว่า “ลูกสาวฉันพูดโทรศัพท์ตลอดเวลา” แต่กลับไม่พูดถึงความขยันและความตั้งใจเรียนของลูก วัยรุ่นก็เช่นกัน เขามักจะบ่นว่า “พ่อแม่ผมเป็นคนขี้บ่น และไม่เข้าใจผม” แต่จะมีวัยรุ่นน้อยคนที่จะบอกว่า “พ่อแม่ผมทำงานหนักเพื่อส่งผมเรียน” นักจิตวิทยาเชื่อกันว่าหากเราเน้นที่คุณลักษณะด้านลบของคนมากเกินไป คนนั้นก็มีแนวโน้มที่จะเป็นไปตามคำทำนายของเราโดยกลายเป็นคนที่มีลักษณะที่ไม่พึงปรารถนานั้นในที่สุด
- การมีอารมณ์ที่อ่อนไหว ควบคุมไม่ได้วัยรุ่นหลายคนมีอารมณ์ที่อ่อนไหวในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อระหว่างวัยเด็กกับวัยรุ่น บางคนโกรธง่าย และไม่สบายใจกับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ บางครั้งก็ระเบิดอารมณ์ออกมาอย่างรุนแรงเมื่อได้รับการกระตุ้นเพียงเล็กน้อย บางคนก็หงุดหงิด เจ้าคิดเจ้าแค้นเมื่อมีใครมาทำให้ไม่พอใจ เด็กเหล่านี้ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตน และมักต้องได้รับการปลอบให้ใจเย็นลง ตลอดเวลา พ่อแม่ก็สามารถระเบิดอารมณ์ใส่ลูกๆ ได้เช่นกัน เมื่อรู้สึกว่าอำนาจของตนกำลังถูกท้าทาย
- การมีชีวิตภายใต้ความกดดันและข้อเรียกร้องที่มากเกินไป ทั้งพ่อแม่และวัยรุ่นอยู่ภายใต้ความกดดันที่จะต้องประสบความสำเร็จ พ่อแม่มีแรงกดดันจากที่ทำงาน และเมื่ออยู่ที่บ้านก็ถูกคาดหวังว่าจะต้องเป็นพ่อแม่ที่ดีและเข้าใจลูก ส่วนวัยรุ่นเองก็มีแรงกดดันจากข้อเรียกร้องของพ่อแม่ในเรื่องการเรียน ครูก็เรียกร้องให้เขาเป็นนักเรียนที่ดี และเพื่อนๆ ก็เรียกร้องให้เขาเป็นคนที่ให้ความร่วมมือ แรงกดดันเหล่านี้ทำให้พ่อแม่และวัยรุ่นหงุดหงิดง่ายและมักจะขาดการควบคุมอารมณ์เมื่ออยู่ที่บ้าน
- ประสิทธิภาพของการเป็นพ่อแม่ที่ดี พ่อแม่หลายคนเป็นพ่อแม่ด้วยวิธีลองผิดลองถูก บางคนก็ยังมีปัญหากับคู่สมรสและมีปัญหาในที่ทำงานด้วย วัยรุ่นเองก็ไม่รู้ว่าจะเป็นวัยรุ่นที่ดีได้อย่างไร เขาอาจจะเรียนหนังสือไม่เก่ง และไม่รู้วิธีที่จะสื่อสารกับพ่อแม่และเพื่อน งานวิจัยด้านสมองแสดงให้เห็นว่า วัยรุ่นบางคนวางแผนไม่เป็น ไม่รู้จักจัดลำดับความสำคัญ ไม่สามารถควบคุมความต้องการและไม่สามารถคิดถึงผลที่ตามมาจากการกระทำของตน
จากปัจจัยทั้งหมดที่ได้กล่าวมาทั้ง 10 ข้อนี้ทำให้เราเห็นว่าทั้งพ่อแม่และวัยรุ่นอยู่ภายใต้แรงกดดันมหาศาล ดังนั้นการมีความขัดแย้งจึงไม่ใช่เรื่องที่น่าประหลาดใจ
Dr.John Ng ได้เสนอแนะแนวคิดกว้าง ๆ เกี่ยวกับการจัดการความขัดแย้งไว้ 3 ข้อด้วยกันคือ
- การเห็นคุณค่าของกันและกัน พ่อแม่และวัยรุ่นต้องเห็นคุณค่าของกันและกันและมีความยอมรับนับถือซึ่งกันและกัน พ่อแม่ต้องยอมรับความแตกต่างที่ไม่เหมือนใครของวัยรุ่น และไม่ควรคิดว่าวัยรุ่นเป็นส่วนหนึ่งในการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ของตน
- พ่อแม่และวัยรุ่นควรใช้เวลาอยู่ด้วยกันเพื่อสร้างความสัมพันธ์ทางบวก เช่น ไปท่องเที่ยวเพื่อความสนุกสนานร่วมกัน เฉลิมฉลองโอกาสแห่งความสำเร็จร่วมกัน ตลอดจนการให้ความช่วยเหลือและการสนับสนุนทางอารมณ์ซึ่งกันและกัน ความสัมพันธ์ทางบวกเหล่านี้จะช่วยลบล้างผลที่เกิดจากความสัมพันธ์ทางลบที่อาจจะเกิดขึ้นจากความขัดแย้ง พ่อแม่ควรจะใช้เวลาในการสร้างความสัมพันธ์ทางบวกอย่างน้อยห้าเท่าของเวลาที่มีความสัมพันธ์ทางลบกับวัยรุ่น
- พ่อแม่และวัยรุ่นควรเรียนรู้จากความขัดแย้งพ่อแม่อาจจะต้องยอมให้ลูกล้มเหลวหรือทำผิดเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ แล้วเราจะได้หายจากความขัดแย้ง มิฉะนั้นทั้งพ่อแม่ละวัยรุ่นก็จะเก็บความไม่พอใจและความขมขื่นไว้ซึ่งจะมีผลเสียต่อความสัมพันธ์ในอนาคต
นอกจากนั้น Dr.John Ng ยังได้ให้กฎ 8 ข้อ ในการจัดการกับความขัดแย้งไว้ดังนี้
- เมื่อมีความคิดเห็นไม่ตรงกัน อย่าโจมตีในเรื่องส่วนตัวของกันและกันและไม่ควรตำหนิหรือกล่าวหาลูกด้วยถ้อยคำที่รุนแรง
- พ่อแม่ต้องรับผิดชอบในสิ่งที่ได้ทำลงไป ถ้าทำผิดต่อลูกต้องรู้จักขอโทษ ไม่ใช่แก้ตัว หรือโทษผู้อื่น
- เมื่อเกิดความขัดแย้งให้ตั้งใจรับฟังคำพูดของลูก ด้วยการถามคำถามเพื่อตรวจสอบความเข้าใจ หรืออาจจะพูดทวนสิ่งที่ลูกพูดเพื่อตรวจสอบว่าเราเข้าใจลูกถูกต้องหรือไม่ และเปิดโอกาสให้ลูกให้ข้อมูลป้อนกลับเกี่ยวกับการกระทำของเรา
- การควบคุมอารมณ์ด้านลบไม่ให้มาบดบังประเด็นของความขัดแย้ง การมีอารมณ์ในด้านลบมักเกิดขึ้นเมื่อเรารู้สึกโกรธหรือคับข้องใจ ทำให้การสื่อสารขาดประสิทธิภาพ
- การพิจารณาความสำคัญของประเด็นความขัดแย้ง เรื่องบางเรื่องไม่สำคัญมากพอที่จะมาโต้เถียงกัน ดังนั้น การหลีกเลี่ยงหรือยอมตามอีกฝ่ายหนึ่งอาจคุ้มค่ากว่า
- แก้ไขความขัดแย้งทีละประเด็น อย่านำปัญหาเก่า ๆ ที่เกิดขึ้นนานแล้วมาปะปนกับปัญหาปัจจุบัน ทำให้เกิดความสับสนและแก้ปัญหาได้ยากขึ้น
- เลือกโอกาสในการพูดคุยให้เหมาะสมดูอารมณ์ของตนเองและของลูก ถ้าอยู่ในอารมณ์โกรธ ควรรอให้อารมณ์เย็นลงก่อนแล้วจึงค่อยพูดคุยกัน
- เชื่อมโยงประเด็นปัจจุบันกับเป้าหมายที่ใหญ่ขึ้น หรือเป้าหมายระยะยาว แทนที่จะเห็นแต่ความสนใจหรือผลประโยชน์ปัจจุบัน การมองปัญหาในมุมกว้างจะช่วยให้การแก้ไขความขัดแย้งง่ายขึ้น เพราะทั้งพ่อแม่และวัยรุ่นต่างก็มีเป้าหมายอันเดียวกัน คือความสุขและความสัมพันธ์ที่ดีของครอบครัว
ภาพประกอบจาก : http://www.freepik.com
บทความจากสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz
โดย รองศาสตราจารย์ ดร. เพ็ญพิไล ฤทธาคณานนท์
คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย