การคล้อยตาม (Conformity) คือ การที่บุคคลถูกแรงกดดันจากบุคคลหรือจากกลุ่มให้เปลี่ยนแปลงความเชื่อหรือพฤติกรรมให้สอดคล้องตามบรรทัดฐานของบุคคลหรือกลุ่มนั้น ๆ โดยความกดดันที่มี อาจเกิดขึ้นจริง หรืออาจเกิดจากการที่บุคคลคาดคิดไปเองก็ได้
การคล้อยตามไม่ใช่แค่เพียงการแสดงพฤติกรรมให้สอดคล้องกับผู้อื่นเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงการที่บุคคลถูกอิทธิพลทางใดทางหนึ่งจากสิ่งที่ผู้อื่นกระทำ นั่นคือเมื่ออยู่กับกลุ่ม บุคคลจะพยายามแสดงพฤติกรรมหรือความคิดให้สอดคล้องกับบรรทัดฐานของกลุ่ม ซึ่งแตกต่างจากเมื่อตนอยู่คนเดียว ดังนั้นการคล้อยตาม คือ การเปลี่ยนพฤติกรรรมหรือความเชื่อให้สอดคล้องกับผู้อื่น โดยที่พื้นฐานเดิมของตนนั้นไม่ได้คิดหรือเชื่ออย่างนั้น หรือเมื่ออยู่คนเดียวจะไม่ทำอย่างนั้น
Macdonal และ Levy (2000) แบ่งการคล้อยตามของบุคคลที่ถูกอิทธิพลทางสังคมออกเป็น 4 ประเภท ดังนี้
- การยอมตาม (compliance) คือ การที่บุคคลเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปตามอิทธิพลทางสังคม แต่ยังคงรักษาความคิดความเชื่อเดิมของตนไว้
- การแปรผัน (conversion) คือ การที่บุคคลเปลี่ยนแปลงทั้งพฤติกรรมและความคิด ค่านิยม รวมถึงเจตคติไปตามอิทธิพลทางสังคม
- การไม่ขึ้นกับผู้อื่น (independent) คือ การที่บุคคลไม่ได้รับอิทธิพลทางสังคม และมีการแสดงถึงการต่อต้านออกมาทางความคิด พฤติกรรม เนื่องจากการมีเจตคติที่คงเส้นคงวา
- การปฏิเสธการคล้อยตาม (anticonformity) คือ การที่บุคคลพยายามแสดงความคิดเห็น พฤติกรรม และการตัดสินใจให้เป็นไปในทิศทางตรงข้ามกับสังคม โดยมิได้มาจากเจตคติส่วนตนจริง ๆ
[ จากการจัดประเภทข้างต้น แม้การยอมตามจะเป็นส่วนหนึ่งของการคล้อยตาม แต่สองคำนี้มีความแตกต่างกันในเรื่องนิยามและบริบททางสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง กล่าวคือ การยอมตามเป็นการตอบสนองที่เกิดหลังกระบวนการสื่อสารระหว่างบุคคล โดยมีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด “ร้องขอ” ให้อีกฝ่ายช่วยแสดงพฤติกรรมตามที่ตนต้องการ ผู้ที่ยอมตามจะรับรู้ว่าตนเองกำลังได้รับการกระตุ้นให้ทำอะไรบางอย่างตามความปรารถนาของผู้อื่น และพฤติกรรมการยอมตามนั้นจะเกิดขึ้นภายหลังจากที่บุคคลถูกร้องขอให้ทำอะไรบางอย่างไม่ว่าจะเป็นโดยตรงหรือโดยนัย ]
Myers (2010) อธิบายถึงปัจจัยที่เพิ่มการคล้อยตามไว้ 7 ข้อหลัก ดังนี้
- เมื่อเรื่องที่ต้องตัดสินเป็นเรื่องยากหรือบุคคลรู้สึกว่าตนไม่มีความสามารถ บุคคลจะคล้อยตามผู้อื่นมากขึ้น เพราะตระหนักว่าตนไม่มีศักยภาพเพียงพอในการคิดเรื่องนั้นเอง จึงอาศัยเชื่อตามผู้อื่น
- เมื่อกลุ่มมีสมาชิกตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป ช่วยเพิ่มการคล้อยตามกลุ่มมากขึ้น เพราะอิทธิพลของเสียงข้างมาก
- กลุ่มกลมเกลียวสามัคคีกัน ความรักใคร่สนิทสนมกันภายในกลุ่มทำให้บุคคลมีความรู้สึกทางบวกต่อคนในกลุ่มมากขึ้น นำมาซึ่งความชอบพอและเห็นด้วยในสิ่งที่คนในกลุ่มคิดหรือกระทำ
- กลุ่มมีเสียงเป็นเอกฉันท์ การที่สมาชิกกลุ่มมีความเห็นพ้องต้องกันเป็นจำนวนที่มากเพียงพอที่จะทำให้บุคคลเชื่อตาม แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มที่จะตัดสินได้อย่างถูกต้อง ซึ่งมีน้ำหนักเพียงพอที่จะทำให้คนคล้อยตามกลุ่มได้
- กลุ่มมีสถานภาพสูง หากสมาชิกกลุ่มเป็นคนเก่ง ฉลาด หรือแต่งกายดีดูภูมิฐานน่าเชื่อถือ ก็ทำให้สมาชิกคนอื่น ๆ คล้อยตามมากขึ้นได้
- การตอบโดยเปิดเผยต่อสาธารณะ หากบรรทัดฐานกลุ่มมีปรากฏอยู่ชัด บุคคลย่อมรู้ดีว่าการแสดงความเห็นหรือกระทำพฤติกรรมที่แตกต่างไปจากบรรทัดฐานของกลุ่มตน เป็นเรื่องที่เสี่ยงมากที่จะทำให้สมาชิกกลุ่มคนอื่น ๆ ไม่ชอบตน หรืออาจนำไปสู่การไม่ได้รับการยอมรับจากกลุ่ม
- การไม่ได้ผูกมัดตนเองหรือประกาศจุดยืนย่างเปิดเผยมาก่อน หากบุคคลมีจุดยืนของตนที่ชัดเจนและได้แสดงให้คนอื่น ๆ รับรู้จุดยืนที่แน่วแน่นี้ เมื่อมีความเห็นมาแย้งกับจุดยืนตน จะทำให้บุคคลไม่คล้อยตามและยืนหยัดในจุดยืนของตน เพราะคนเราต้องการปกป้องเสรีภาพและอิสรภาพในการติดหรือกระทำใด ๆ ได้อย่างเสรี และไม่ต้องการถูกบีบบังคับ หากได้แสดงจุดยืนของตนไปชัดเจนแล้วแต่มีความเห็นอื่นมาค้านและพยายามโน้มน้าวให้เชื่อตาม ทำให้บุคคลรู้สึกว่าถูกริดรอนเสรีภาพในการคิดได้อย่างอิสระ จึงยึดมั่นในความคิดของตนมากกว่าเดิม ดังนั้น การที่บุคคลไม่ได้ผูกมัดความคิดตนหรือประกาศจุดยืนตนอย่างชัดเจนมาก่อน ทำให้บุคคลคล้อยตามผู้อื่นมากขึ้นได้
ข้อมูลจาก
“อิทธิพลของการถูกปฏิเสธจากกลุ่มต่อการคล้อยตามกลุ่ม : การศึกษาอิทธิพลกำกับของความอ่อนไหวต่อการถูกปฏิเสธต่ออิทธิพลส่งผ่านของ ความก้าวร้าว” โดย ธีร์กัญญา เขมะวิชานุรัตน์ (2557) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/46118
“ผลของเทคนิคการสอบสวน หลักฐานเท็จ การยอมตาม และการคล้อยตามสิ่งชี้นำในกระบวนการซักถามต่อการรับสารภาพเท็จ” โดย ภัทรา พิทักษานนท์กุล (2553) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/18153
ภาพจาก https://new.ppy.sh/forum/t/247613