เมื่อปัญหาเกิดขึ้น และไม่ว่าจะได้รับการประเมินว่าเป็นความท้าทาย ความเจ็บปวด การสูญเสีย หรือการคุกคาม บุคคลก็ต้องจัดการกับปัญหาไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง การที่บุคคลดำเนินการกับสถานการณ์มักถูกเรียกว่าการเผชิญปัญหา (coping) โดย Lazarus และ Folkman (1984) ได้แบ่งรูปแบบของการเผชิญปัญหาออกเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่
การเผชิญปัญหาแบบมุ่งเน้นที่ปัญหา (problem-focused coping)
เป็นกลวิธีการเผชิญปัญหาที่ใช้เพื่อพยายามแก้ปัญหา อย่างการทำความเข้าใจปัญหาให้ชัดเจน พิจารณาว่าปัญหาคืออะไร สาเหตุอยู่ที่ไหน การมองหาทางแก้ปัญหาต่างๆ พิจารณาน้ำหนักของข้อดีข้อเสียของแต่ละทางเลือก และเลือกสิ่งที่จะทำไปปฏิบัติในการแก้ปัญหา โดยกลวิธีที่ใช้การมุ่งแก้ไขปรับเปลี่ยนที่สถานการณ์ หรือพฤติกรรมของผู้อื่น หรือมุ่งแก้ที่ตนเอง เช่น พิจารณาทบทวน ปรับเปลี่ยนทัศนคติและความต้องการของตนใหม่ พัฒนาทักษะที่ใช้ในการเผชิญปัญหา เป็นต้น นอกจากนี้ยังรวมถึงการแสวงหาการสนับสนุนทางสังคม การขอความช่วยเหลือจากพ่อแม่ ครู เพื่อน ผู้ใหญ่ ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆ และการทำกิจกรรมที่ทำให้รู้สึกผ่อนคลายจากความเครียดโดยวิธีที่ไม่เป็นโทษด้วย เช่น การฟังเพลง เล่นดนตรี พักผ่อน ออกกำลังกาย (เพิ่มทรัพยากรให้กับตัวเองในการแก้ปัญหา)
การเผชิญปัญหาแบบมุ่งเน้นที่อารมณ์ (emotion-focused coping)
เกี่ยวข้องกับกระบวนการทางความคิดเพื่อจัดการกับอารมณ์ทางลบทั้งหลายที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความกลัว ความโกรธ ความเศร้า ความสงสัยไม่แน่ใจ คับข้องใจ ความวิตกกังวล ความไม่สบายใจต่างๆ กลวิธีที่ใช้อาจเป็นการระบายออกทางอารมณ์ การแสวงหาการสนับสนุนทางสังคมเพื่อได้รับกำลังใจ การนำเอาความเชื่อทางศาสนามาจัดการกับปัญหา อย่างการสวดมนต์ขอพรพระ การคิดหวังว่าเหตุการณ์จะกลับร้ายกลายดี จะมีปาฏิหาริย์เกิดขึ้น รวมถึงกลวิธีอย่างการหลีกเลี่ยง การลด การหนีห่าง การเลือกสนใจรับรู้ การเปรียบเทียบเชิงบวกหรือคิดถึงคนที่โชคร้ายกว่าตนเองเพื่อให้รู้สึกดีขึ้น และการยึดคุณค่าด้านบวกจากเหตุการณ์ด้านลบ
โดยทั่วไปบุคคลจะใช้การเผชิญปัญหาแบบมุ่งจัดการกับปัญหาในกรณีที่เห็นว่าตนสามารถจะจัดการกับปัญหาได้ และมักจะใช้การเผชิญปัญหาแบบมุ่งจัดการกับอารมณ์เมื่อเห็นว่าปัญหานั้นเกินกว่าจะแก้ไขได้ ซึ่งการเผชิญปัญหาที่ให้ผลอย่างดีที่สุด คือการใช้กลวิธีทั้ง 2 แบบให้ช่วยส่งเสริมซึ่งกันและกัน จะนำไปสู่การจัดการกับปัญหาได้อย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพ
ปัจจัยที่ส่งผลต่อการประสบความสำเร็จในการเผชิญปัญหา
อย่างไรก็ดี วิธีการเผชิญปัญหาของแต่ละบุคคลก็มีความแตกต่างกันออกไป และจะประสบความสำเร็จในการเผชิญปัญหามากน้อยเพียงใด ซึ่งอยู่กับแหล่งสนับสนุนของบุคคลนั้น ซึ่งมีทั้งที่เป็นแหล่งภายในของบุคคลและแหล่งภายนอกของบุคคล ได้แก่
1. ภาวะสุขภาพและพละกำลัง
บุคคลที่มีสุขภาพดี มีพละกำลังแข็งแรง ย่อมมีความเข้มแข็งและทนต่อภาวะความเครียดได้มากกว่าบุคคลที่เจ็บป่วย เหนื่อยล้า หรืออยู่ในภาวะอ่อนเพลีย
2. ความเชื่อในทางบวก
มุมมองต่อตนเองในทางบวกเป็นแหล่งทรัพยากรทางจิตใจที่สำคัญอย่างมากในการเผชิญปัญหา โดยเป็นรากฐานของความหวังและการสนับสนุนความสามารถในการเผชิญปัญหา ทั้งนี้ บุคคลที่มีความเชื่อในความสามารถของตน หรือเชื่ออำนาจภายในตน มักจะใช้กลวิธีการเผชิญปัญหาแบบมุ่งเน้นที่ปัญหา ส่วนบุคคลที่เชื่ออำนาจภายนอกตนมักจะใช้วิธีเผชิญปัญหาแบบมุ่งเน้นอารมณ์
3. ทักษะในการแก้ปัญหา
ประกอบด้วยความสามารถในการต้นหาข้อมูล การวิเคราะห์สถานการณ์เพื่อระบุปัญหาสำหรับการสร้างทางเลือกในการลงมือจัดการปัญหา การชั่งน้ำหนักของแต่ละทางเลือกในการจัดการปัญหา และการเลือกดำเนินการตามแผนการที่เหมาะสม
4. ทักษะด้านสังคม
ความสามารถที่จะติดต่อสื่อสารและการปฏิบัติตนกับผู้อื่นอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ ทักษะทางสังคมนั้นช่วยการแก้ไขปัญหาในการร่วมมือกับผู้อื่น เพิ่มแนวโน้มของการเข้ามาร่วมมือหรือสนับสนุน และทำให้สามารถควบคุมการปฏิสัมพันธ์ทางสังคมได้มากยิ่งขึ้น
5. การสนับสนุนทางสังคม
การมีบุคคลที่ให้การสนับสนุนทางอารมณ์ ให้ข้อมูลความรู้ หรือให้การสนับสนุนที่เป็นรูปธรรม
6. แหล่งทรัพยากรทางด้านวัตถุ
การมีเงินทอง สิ่งของ และสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ รวมถึงความสามารถที่จะใช้สิ่งเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถช่วยให้เข้าถึงความช่วยเหลือทางกฎหมาย การรักษาพยาบาล การเงิน และตัวผู้เชี่ยวชาญได้มากขึ้น
ข้อมูลจาก
แววนภา โกศลดิลก. (2556). ประสบการณ์ทางจิตใจของวัยรุ่นที่ปรับตัวได้จากครอบครัวที่มีความขัดแย้งสูง [วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย]. คลังปัญญาจุฬาฯ. http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/42681
เปรมพร มั่นเสมอ. (2545). การปรับตัว กลวิธีการเผชิญปัญหา และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักศึกษาชั้นปีที่ 1 [วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย]. คลังปัญญาจุฬาฯ. http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/10263