เมื่อไรที่จะมาหานักจิตวิทยาการปรึกษา

09 Nov 2019

วรกัญ รัตนพันธ์

 

“เอาจริงๆ พี่ก็ไม่แน่ใจว่าตัวเองรู้สึกอะไร เป็นแบบนี้มาหลายเดือนแล้ว ไปทานข้าวกับเพื่อนก็ไม่สนุก กลับบ้านก็เหงา รบกวนสอบถามได้ไหมคะ พี่เหมาะกับการมาหานักจิตวิทยาไหมคะ เขาจะว่าพี่เป็นอะไรหรือเปล่า”

 

“ไม่รู้ว่าเป็นอะไร อะไรๆ ก็ดูแย่ไปหมด ทำไปก็มีแต่จะพัง ไม่อยากทำอะไรเลยค่ะ แบบนี้คุยกับนักจิตวิทยาได้ไหมคะ”

 

“มีแต่คนบอกว่าเรื่องเล็ก แต่เราไม่รู้จะทำยังไง เราคุยกับนักจิตวิทยาได้ไหม”

 

เสียงจากปลายทางสายโทรศัพท์ มักโทรมาถามด้วยความกังวล และไม่แน่ใจ หากแต่ต้องการได้รับการยืนยันจากปลายสายอีกฝั่ง ว่ามีคนรับฟังฉัน ก็คงเพียงพอที่จะให้ตัดสินใจมาพูดคุยได้

 

คำถามที่เขียนไว้ข้างต้น เป็นเพียงตัวอย่างของความกังวลใจ ลังเล สงสัยและไม่แน่ใจในการตัดสินใจเข้ามารับบริการการปรึกษาเขิงจิตวิทยาหรือเข้ามาพูดคุยทางด้านสุขภาพจิต บางครั้งอาจจะคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว บางครั้งอาจจะคิดว่าไม่ควรมาเพราะเป็นเรื่องทั่วๆ ไป ที่ใครก็เจอ แต่ในฐานะผู้เขียนอยากจะชวนผู้อ่านลองสำรวจตัวเราเองในแต่ละวัน ว่าเรากำลังเผชิญกับเรื่องราวและความรู้สึกใดบ้าง เพื่อจะเป็นแนวทางให้ผู้อ่านตัดสินใจได้ว่าเมื่อไรที่เราน่าจะมาหานักจิตวิทยาการปรึกษา

 

 

1. เมื่อเราเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่ยากลำบากในชีวิต

 

การเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลให้การดำเนินชีวิตบางอย่างเปลี่ยนไปด้วย เกิดความรู้สึกผิดหวัง เครียด สับสน หรือยากต่อการจัดการชีวิตประจำวัน

 

2. เมื่อเราเริ่มรับรู้ว่ามีพฤติกรรมหรือความคิดบางอย่างที่ขัดขวางการดำเนินชีวิต

 

สามารถสังเกตได้จากการคิดหรือวิธีการที่เรามักใช้ในการแก้ปัญหา ทั้งปัญหาการทำงาน ความสัมพันธ์ในครอบครัวหรือคนรอบข้างที่ไม่เอื้อต่อการจัดการปัญหาให้มีประสิทธิภาพเท่าที่เราตั้งใจไว้ มิหนำซ้ำอาจจะส่งผลให้เกิดความซับซ้อนในการแก้ปัญหามากขึ้น เช่น การดื่มสุรา การทำร้ายร่างกายตนเอง พฤติกรรมการรับประทานอาหารที่มากหรือน้อยกว่าปกติ เป็นต้น

 

3. เมื่อเราเริ่มรู้สึกว่าประสบการณ์ในอดีตรบกวนจิตใจ

 

แม้เหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นจะจบไปแล้ว แต่ผลของเหตุการณ์หรือความรู้สึกที่มีต่อเหตุการณ์ยังคงส่งผลต่อการดำเนินชีวิตในทุกวันนี้ ทำให้รู้สึกกังวลใจ กลัวหรือแม้แต่เบื่อหน่ายต่อการดำเนินชีวิต

 

4. เมื่อต้องการตัดสินใจเรื่องใหญ่ ๆ ในชีวิต

 

การตัดสินใจเรื่องสำคัญเป็นส่งที่ก่อให้เกิดความรู้สึกสับสนและกังวลได้ เพราะเป็นการเลือกโดยที่เราไม่ทราบแน่ชัดว่าผลของการเลือกนั้นจะสมหวังหรือไม่ การพูดคุยจะช่วยทำความเข้าใจสิ่งที่เรียกว่า “ความกังวล” หรือ “ความคาดหวัง” ได้ชัดเจนมากขึ้น

 

5. เมื่อความสัมพันธ์ในชีวิตเริ่มสะดุดหรือมีการยุติ

 

การเปลี่ยนแปลงทางด้านความสัมพันธ์ เช่น การหย่าร้าง การเลิกรา ความสัมพันธ์ระยะไกล การมีความสัมพันธ์ที่ไม่เป็นไปตามความคาดหวัง ส่งผลต่อความรู้สึกทั้งความรู้สึกทุกข์ใจ เจ็บปวด ทรมาน สิ้นหวัง ซึ่งย่อมมีผลต่อการรรับรู้ตนเองในแง่ลบ และความเชื่อมั่นในตนเอง

 

6. เมื่อสุขภาพกายหรือโรคภัยไข้เจ็บมีผลต่อสุขภาพจิต

 

โรคหรืออาการทางกายบางอย่างที่รบกวนการดำเนินชีวิตส่งผลให้เกิดความเครียดในการใช้ชีวิต การทำงาน หรืออาจจะทำให้มีความรู้สึกกังวลใจต่อการรักษา

 

7. เมื่อมีความรู้สึกวิตกกังวลเกี่ยวกับสุขภาพจิตหรือได้รับการวินิจฉัยจากจิตแพทย์

 

บางครั้งเราอาจจะสังเกตว่าตนเองมีลักษณะหรือพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป จากเคยเป็นคนชอบเที่ยวกับเพื่อนๆ แต่ก็เริ่มเก็บตัว ไม่อยากไปไหน รับรู้ได้ว่าตนเองมีอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงได้ง่าย ลักษณะที่เปลี่ยนไปดังกล่าว ทำให้เกิดความไม่สบายใจ และต้องการแนวทางในการดูแลสุขภาพจิต หรือในกรณีที่ได้รับการวินิจฉัยจากจิตแพทย์และมีคำแนะนำให้มีการปรึกษาเชิงจิตวิทยาควบคู่กับการรักษากับจิตแพทย์ เพื่อช่วยให้เกิดการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

 

8. เมื่อต้องการสำรวจความสามารถของตนเอง

 

การมาคุยกับนักจิตวิทยาการปรึกษานอกจากจะเป็นการพูดคุยเกี่ยวกับประเด็นปัญหา ความไม่สบายใจแล้ว หลายครั้งสิ่งที่เราหยิบยกขึ้นมาพูดคุยกัน คือ ศักยภาพของผู้รับบริการ เป็นการชวนให้ผู้รับบริการได้สำรวจว่าอะไรที่เอื้อให้เราสามารถก้าวผ่านปัญหาไปได้

 

 

อย่างไรก็ตาม แนวทางการสำรวจดังกล่าว เป็นแนวทางเบื้องต้นในการช่วยตัดสินใจ หากสิ่งสำคัญของการตัดสินใจนั้น คือ การให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพจิตของเรา ซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐานเหมือนการดูแลสุขภาพกาย หากมีสิ่งที่เราเริ่มรู้สึกเปลี่ยนแปลง ยากต่อการรับมือ มีภาวะความรู้สึกที่ไม่สามารถรับมือได้ การมาคุยกับนักจิตวิทยาการปรึกษาจึงเป็นทางเลือกพื้นฐานของการดูแลสุขภาพจิตอย่างหนึ่งค่ะ

 

 


 

 

รายการอ้างอิง

 

Oud, M., de Winter, L., Vermeulen-Smit, E., Bodden, D., Nauta, M., Stone, L., … & Engels, R. (2019). Effectiveness of CBT for children and adolescents with depression: a systematic review and meta-regression analysis. European Psychiatry, 57, 33-45.

 

Sohrabi, R., Mohammadi, A., & Aghdam, G. A. (2013). Effectiveness of group counseling with problem solving approach on educational self-efficacy improving. Procedia-Social and Behavioral Sciences, 84, 1782-1784.

 

Seth Meyers Psy.D. Benefits of Pre-Marital Counseling: Successful Marriage. www.psychologytoday.com. (Online). 2011. Available from : https://www.psychologytoday.com/us/blog/insight-is-2020/201109/benefits-pre-marital-counseling-successful-marriage

 

 


 

 

บทความวิชาการ

โดย คุณวรกัญ รัตนพันธ์

นักจิตวิทยาการปรึกษา ศูนย์สุขภาวะทางจิต คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

แชร์คอนเท็นต์นี้