Early และ Ang (2003) ได้พัฒนาแนวคิดเรื่องความฉลาดทางวัฒนธรรม (cultural intelligence) ขึ้นจากแนวคิดเรื่อง Loci of intelligence ของ Sternberg และ Detterman (1986) ว่าความฉลาดของบุคคลมี 4 แบบ ได้แก่ ความฉลาดทางการคิดวิเคราะห์ (metacognitive intelligence) ความฉลาดทางการรู้คิด (cognitive intelligence) ความฉลาดทางแรงจูงใจ (motivational intelligence) และความฉลาดทางพฤติกรรม (behavioral intelligence) โดยได้ให้ความหมายของความฉลาดทางวัฒนธรรมไว้ว่า เป็นประสิทธิภาพ (capability) ของบุคคลในการจัดการกับสถานการณ์ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม กล่าวคือ ในสภาพแวดล้อมที่มีความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรม ความฉลาดทางวัฒนธรรมได้ช่วยให้บุคคลดำเนินชีวิตและปฏิบัติตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
องค์ประกอบของความฉลาดทางวัฒนธรรม
1. อภิปัญญาทางวัฒนธรรม (metacognitive CQ)
คือ กระบวนการทางปัญญาที่บุคคลใช้เพื่อทำความเข้าใจและรับรู้ความรู้ทางวัฒนธรรม เป็นจิตสำนึกและการตระหนักรู้ของบุคคลทั้งก่อนและในระหว่างที่มีการปฏิสัมพันธ์กับบุคคลที่มีที่มาจากวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ตลอดจนสามารถประเมินความรู้ทางวัฒนธรรม รวมถึงทำให้บุคคลสามารถปรับตัวและวางตัวในสถานการณ์ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมได้อย่างเหมาะสม
ผู้มีอภิปัญญาทางวัฒนธรรมสูงจะช่างสังเกตและระมัดระวังเวลาปฏิสัมพันธ์กับบุคคลที่มาจากต่างวัฒนธรรม และจะปรับใช้ความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมที่ตนมีเข้ากับสถานการณ์ที่มีความแตกต่างทางวัฒนธรรมนั้น ๆ
2. ความรู้ทางวัฒนธรรม (cognitive CQ)
คือ ความรู้พื้นฐานของบุคคลเกี่ยวกับวัฒนธรรม บรรทัดฐาน การประพฤติปฏิบัติ รวมถึงธรรมเนียมที่แตกต่างกันในแต่ละวัฒนธรรม ความรู้เหล่านั้นเป็นสิ่งที่ได้มาจากการศึกษาและประสบการณ์ของแต่ละบุคคล และส่งผลกระทบต่อมุมมองและพฤติกรรมของบุคคล ความรู้ที่บุคคลมีจะทำให้บุคคลสามารถประเมินความเหมือนและความแตกต่างระหว่างตนเองกับบุคคลที่มาจากต่างวัฒนธรรมได้
ผู้มีความรู้ทางวัฒนธรรมสูงจะสับสนน้อยลงเมื่อต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่มีความแตกต่างทางวัฒนธรรม
3. แรงจูงใจทางวัฒนธรรม (motivational CQ)
คือ ความสามารถทางจิตใจของบุคคลที่จะมุ่งความสนใจและทุ่มเทกับการเรียนรู้และการทำงานในสถานการณ์ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม โดยแรงจูงใจทางวัฒนธรรมเป็นแรงขับเคลื่อนที่ช่วยกระตุ้นความพยายามและแรงที่จะมุ่งไปสู่ความตั้งใจทำงานในสภาพแวดล้อมที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม
ผู้ที่มีแรงจูงใจทางวัฒนธรรมสูงจะไม่ลังเลที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลที่มาจากต่างวัฒนธรรม
4. พฤติกรรมทางวัฒนธรรม (behavioral CQ)
คือ ความสามารถในการแสดงออกทางวาจาและภาษาท่าทางที่เหมาะสมในขณะมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลที่มาจากต่างวัฒนธรรม สะท้อนถึงความสามารถในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในเข้ากับบริบททางวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ในสถานการณ์ที่ต้องเผชิญความหลากหลายทางวัฒนธรรม ความยืดหยุ่นต่อสถานการณ์เหล่านั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญ สรุปได้ว่า พฤติกรรมทางวัฒนธรรมอธิบายถึงทักษะด้านมนุษยสัมพันธ์และความสามารถในการมีปฏิสัมพันธ์
ผลของความฉลาดทางวัฒนธรรม
เนื่องจากความฉลาดทางวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่ทำให้บุคคลสามารถปรับตัวให้เข้ากับบริบทที่มีความแตกต่างทางวัฒนธรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงมีการศึกษาความฉลาดทางวัฒนธรรมกับตัวแปรผลลัพธ์เชิงบวก เช่น ความพึงพอใจในงาน (job satisfaction) การปรับตัวข้ามวัฒนธรรม (cross-cultural adjustment) จากงานวิจัยจำนวนมากสรุปได้ว่าความฉลาดทางวัฒนธรรมแต่ละองค์ประกอบมีความสัมพันธ์ทางบวกต่อความพึงพอใจในงาน ประสิทธิภาพในการทำงาน และการปรับตัวของบุคคลในด้านต่าง ๆ โดยงานวิจัยที่ศึกษามีทั้งการศึกษาในกลุ่มชาวต่างชาติที่เข้าไปทำงานในต่างประเทศ นักศึกษาแลกเปลี่ยน การทำงานในสายอาชีพที่ต้องมีการปฏิสัมพันธ์กับชาวต่างชาติ เช่น พยาบาล พนักงานโรงแรม รวมถึงการทำงานในองค์การต่างชาติในประเทศของตนเอง ที่ต้องทำงานร่วมกับผู้บังคับบัญชาและเพื่อนร่วมงานชาวต่างชาติ
ข้อมูลจาก
“ความสัมพันธ์ระหว่างความเพียรกับการรับรู้ความสอดคล้องระหว่างบุคคลกับองค์การ โดยมีรูปแบบองค์การและความฉลาดทางวัฒนธรรมเป็นตัวแปรกำกับ” โดย นลิน มนัสไพบูลย์ (2564) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/79354