ชีวิตคนเราหลีกเลี่ยงไม่ได้กับบางเวลาที่ฟ้าหม่น มีบางครั้งต้องพบเจอกับความโศกเศร้าเสียใจ ไม่ว่าจะเป็นจากการสูญเสียหรือความผิดหวัง แต่ในบางครั้ง ความเศร้าเหล่านี้ทวีความรุนแรงขึ้นจนกลายไปเป็นความซึมเศร้า เราลองมาดูกันนะคะว่า “เศร้าแค่ไหนถึงเรียกว่าซึมเศร้า”
ประเด็นหลักที่ควรพิจารณา คือ ระยะเวลาและความต่อเนื่องของความเศร้า โดยส่วนใหญ่แล้ว หากความเศร้านี้เกิดขึ้นติดต่อกันถึงสองสัปดาห์ มองไปทางไหนก็เหมือนใส่แว่นดำ ทุกอย่างดูมืดมนหดหู่ใจไปหมด อันนี้น่าระวังค่ะ สำหรับเรื่องความเศร้าต่อเนื่องนี้ ยากที่จะมีอะไรมาเปลี่ยนใจให้สดใสได้ ต่อให้เป็นงานอดิเรก ดนตรี หรือกีฬาที่เคยชื่นชอบก็ไม่ช่วย เรียกว่าเอาช้างมาฉุด ก็หยุดเศร้าไม่ได้ค่ะ
ประเด็นอื่น ๆ ที่มักเป็นสัญญาณความซึมเศร้า คือ มีการเปลี่ยนแปลงของการกินหรือการนอน ไม่ว่าจะกินมากหรือนอนมากผิดปกติ หรือกินไม่ได้นอนไม่หลับ จนน้ำหนักตัวเปลี่ยนแปลงไป รู้สึกเหนื่อยล้าหมดพลัง หยิบจับอะไรก็ไม่เข้าที่เข้าทาง ติดๆ ขัดๆ หรือลุก ๆ ลน ๆ เกินเหตุ นึกคิดไม่คล่องตัว ใช้ชีวิตประจำวันทำงานทำการด้อยลง พลอยทำให้รู้สึกผิด รู้สึกแย่ ไม่พอใจตัวเอง จนบางครั้งอาจคิดอยากทำร้ายตัวเองหรือจบชีวิตลงก็เป็นได้ค่ะ
ความซึมเศร้านั้นมาจากสาเหตุหลายอย่างร่วมกัน อาจเป็นเหตุการณ์ร้าย ๆ ในชีวิต สารเคมีในสมองที่ผิดปกติ มุมมองความคิดที่ไม่ช่วยให้แจ่มใสนัก ในปัจจุบันมีแนวทางที่ช่วยลดความซึมเศร้าได้ค่ะ ทั้งจากยา การปรึกษาเชิงจิตวิทยาและจิตบำบัด แต่ก่อนที่จะใช้บริการเหล่านี้ จำเป็นที่ผู้ที่สงสัยว่าตัวเองซึมเศร้าอยู่จะต้องได้รับการประเมินและวินิจฉัยอย่างละเอียดจากบุคลากรทางการแพทย์ ว่าความเศร้าที่มีจัดเป็นความซึมเศร้าควรได้รับการดูแลเร่งด่วนแล้วหรือยังนะคะ
สำหรับคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเองก็มีบริการในส่วนนี้ ผ่านศูนย์สุขภาวะทางจิต
ท่านสามารถติดต่อมาได้ที่ 02-218-1171
และติดตามรับทราบข่าวสารและเรื่องราวดี ๆ ที่ศูนย์สุขภาวะทางจิตนำมาแบ่งปันได้ทางเพจเฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/WellnessPsyCU/ ค่ะ
ภาพจาก https://www.bustle.com/articles/121550-7-ways-to-differentiate-depression-from-sadness
บทความโดย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กุลยา พิสิษฐ์สังฆการ
คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย