Emotional crisis – วิกฤตทางอารมณ์

22 Nov 2022

คำศัพท์จิตวิทยา

 

 

 

 

ภาวะวิกฤตทางอารมณ์ คือ สภาวะจิตใจที่เป็นทุกข์อันเนื่องมาจากสภาพแวดล้อม สถานการณ์ที่ยากลำบาก หรือภาวะจิตใจที่ไม่เป็นสุข ไม่อาจจัดการรับมือด้วยวิธีที่เคยใช้เป็นปกติ เป็นผลให้บุคคลรู้สึกไม่มั่นคงปลอดภัย สูญเสียสภาวะของความสมดุล มีความเครียดและความรู้สึกอารมณ์รุนแรง

 

สภาพอารมณ์และความรู้สึกในระดับรุนแรง เช่น ความกลัว ความวิตกกังวลอย่างสูง ความโกรธ ความเศร้า อาจทำให้เกิดการตอบสนองอย่างรุนแรงในลักษณะการทำร้ายตนเองหรือทำร้ายผู้อื่น สภาพอารมณ์ความรู้สึกที่รุนแรงนี้เป็นผลสืบเนื่องเมื่อบุคคลเผชิญกับสถานการณ์ที่รับรู้ว่าเป็นปัญหาสำคัญ แต่ไม่สามารถแก้ไขได้ หรือไม่สามารถใช้วิธีการจัดการปัญหาที่เคยใช้มายุติปัญหานั้น ๆ ได้ สภาพอารมณ์ความรู้สึกรุนแรงอาจเพิ่มมากขึ้นจนส่งผลให้เกิดการเบี่ยงเบนพฤติกรรม ก่อให้เกิดผลเสียทั้งต่อตัวบุคคลที่กำลังเผชิญปัญหาและครอบครัว

 

ทั้งนี้ ภาวะวิกฤตทางอารมณ์จะเข้าสู่ภาวะสมดุลในระยะเวลา 4-8 สัปดาห์ อย่างไรก็ดี มีแนวคิดที่เสนอว่าผลกระทบของภาวะวิกฤตอาจส่งผลนานกว่ากรอบเวลานั้น และอาจส่งถึงตลอดช่วงชีวิต โดยสิ่งที่ตามมาเมื่อเหตุการณ์วิกฤตผ่านพ้นไปจะเป็นตัวตัดสินว่าภาวะวิกฤตนั้นจะเป็นสิ่งที่ส่งผลในระยะยาวหรือไม่

 

 

ประเภทวิกฤตทางอารมณ์


 

Baldwin (1978) แบ่งวิกฤตทางอารมณ์ที่มักพบบ่อยในการใช้ความช่วยเหลือผู้ปะสบภาวะวิกฤตออกเป็น 6 ประเภท คือ

 

1. ภาวะวิกฤตตามลักษณะปัญหา (Dispositional Crises) คือ ความรู้สึกไม่เป็นสุขอันเป็นผลจากสถานการณ์ที่เป็นปัญหา

การให้ความช่วยเหลือหลักเป็นลักษณะที่ผู้ให้บริการให้การสนับสนุนและช่วยให้ผู้รับบริการเกิดความเข้าใจในปัญหาชัดเจนขึ้น หรือให้ความช่วยเหลือเท่าที่จำเป็นหรือตามที่ผู้รับบริการต้องการ เช่น การให้ข้อมูล การให้ความรู้ การสนับสนุนหรือการส่งต่อผู้รับบริการ การช่วยเหลือภาวะวิกฤตลักษณะนี้จะไม่ได้ลงลึกไปถึงระดับอารมณ์ความรู้สึก แต่ผู้ให้บริการควรตระหนักถึงสถานการณ์วิกฤตที่ผู้รับบริการเผชิญ รวมทั้งตระหนักถึงสถานะทางอารมณ์ของผู้รับบริการ

 

2. ภาวะวิกฤตจากการเปลี่ยนแปลงตามช่วงชีวิตที่คาดการณ์ได้ (Crises of Anticipated Life Transitions) คือภาวะวิกฤตทั่วไป (Generic Crisis) อันเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงตามปกติในแต่ละช่วงชีวิต หรือการเปลี่ยนแปลงที่คาดการณ์ได้ ซึ่งผู้รับบริการอาจสามารถหรือไม่สามารถควบคุมสถานการณ์หรือผลลัพธ์ได้

ในภาวะวิกฤตประเภทนี้ผู้รับบริการอาจเข้ามารับบริการก่อน หลัง หรือในขณะที่กำลังอยู่ในช่วงการเปลี่ยนแปลง การให้ความช่วยเหลือวิกฤตประเภทนี้ ผู้ให้บริการควรช่วยให้ผู้รับบริการเกิดความเข้าใจในการเปลี่ยนแปลงอย่างถ่องแท้ และช่วยให้ผู้รับบริการสำรวจผลทางจิตใจที่อาจเกิดขึ้นตามมา หรือช่วยให้ผู้รับบริการพร้อมรับมือกับผลที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลง

 

3. ภาวะวิกฤตซึ่งเป็นผลจากความเครียดจากการถูกกระทบกระเทือนจิตใจ (Crises Resulting from Traumatic Stress) คือ ภาวะวิกฤตทางอารมณ์ที่เกิดขึ้นฉับพลันเมื่อบุคคลถูกกระตุ้นในเกิดความเครียดจากปัจจัยภายนอกหรือจากสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดและไม่อาจควบคุมได้ นำไปสู่ผลกระทบทางความรู้สึกที่ท่วมทันรุนแรง การเผชิญกับสิ่งไม่คาดคิดอาจทำให้บุคคลมีความสามารถในการจัดการรับมือลดลงไปชั่วขณะ และบุคคลมักต้องเรียนรู้วิธีจัดการอื่น ๆ เพื่อรับมือกับสถาการณ์ที่ไม่เคยเจอมาก่อน สิ่งที่กระตุ้นความเครียดในตัวบุคคลจนเกิดเป็นภาวะวิกฤตทางอารมณ์นั้นอาจเป็นได้ทั้งเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งที่กระทบกระเทือนจิตใจมาก หรือเกิดจากการรวมกันของหลาย ๆ เหตุการณ์ในระยะเวลาใกล้เคียงกัน ผลกระทบทางจิตใจอาจทำให้ผู้รับบริการเกิดการรับมือปัญหาที่ไม่เหมาะสม

ดังนั้นงานหลักของผู้ให้บริการในกรณีภาวะวิกฤตประเภทนี้คือ การให้การสนับสนุนช่วยเหลือและเอื้อให้ผู้รับบริการตระหนักและเข้าใจถึงผลกระทบของสถานการณ์ รวมทั้งช่วยให้ผู้รับบริการหยิบเอาวิธีการจัดการการรับมือปัญหาที่มีอยู่มาใช้อย่างเหมาะสมหรือเอื้อให้เกิดการเรียนรู้การจัดการใหม่ ๆ

 

4. ภาวะวิกฤตจากพัฒนาการ (Maturational/Developmental Crises) คือ ภาวะวิกฤตทางอารมณ์ที่เป็นผลจากความพยายามจัดการสถานการณ์ปัญหาเชิงความสัมพันธ์ ซึ่งสามารถสะท้อนกลับไปยังปัญหาในอดีตที่ไม่ได้รับการจัดการสะสางอย่างเหมาะสม และภาวะวิกฤตประเภทนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของบุคคลที่ต้องการพัฒนาเติบโตทางด้านอารมณ์ความรู้สึก ลักษณะของภาวะวิกฤตประเภทนี้ เช่น การไม่สามารถพึ่งพาตนเอง ความขัดแย้งทางค่านิยม ความสามารถในการผูกพันกับผู้อื่นในเชิงอารมณ์ความรู้สึก

แนวในความช่วยเหลือคือ การทำความเข้าใจปัญหาเบื้องลึกที่เป็นต้นเหตุให้เกิดปัญหาเชิงความสัมพันธ์ในปัจจุบัน และการหาวิธีการตอบสนองต่อผู้อื่นอย่างเหมาะสมเมื่อต้องเผชิญกับความขัดแย้ง

 

5. ภาวะวิกฤตที่สะท้อนถึงพยาธิสภาพทางจิตใจ (Crises Reflecting Psychopathology) คือ สภาวะที่พยาธิสภาพทางจิตใจเป็นตัวเร่งให้เกิดภาวะวิกฤต หรือมีส่วนสำคัญที่ทำให้บุคคลไม่สามารถจัดการรับมือปัญหาอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ เช่น การมีปัญหาทางจิตเวช กล่าวคือปัญหาทางพยาธิสภาพทางจิตใจของผู้รับบริการซึ่งทำให้เกิดการตอบสนองการจัดการรับมือปัญหาที่ไม่เหมาะสมเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดภาวะวิกฤตมากกว่าที่จะมีสาเหตุมาจากตัวเหตุการณ์ที่เข้ามากระตุ้น

เป้าหมายหลักในการให้ความช่วยเหลือผู้ที่เผชิญภาวะวิกฤตประเภทนี้คือ การลดความตึงเครียดในตัวผู้รับบริการให้อยู่ในระดับที่จัดการได้ และส่งเสริมให้เกิดการตอบสนองต่อสถานการณ์ตึงเครียดที่เหมาะสม

 

6. ภาวะฉุกเฉินทางจิตเวช (Psychiatric Emergencies) คือ ภาวะวิกฤตที่ทำให้การทำงานปกติทางร่างกายและจิตใจเกิดบกพร่องอย่างรุนแรง จนทำให้บุคคลไม่สามารถรับผิดชอบต่อตนเองได้ ลักษณะของวิกฤตประเภทนี้ เช่น ผู้ที่พยายามฆ่าตัวตาย หรือผู้ที่เสพยาเกินขนาด

การให้ความช่วยเหลือบุคคลที่ประสบภาวะวิกฤตประเภทนี้ต้องอาศัยความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ โดยเน้นการประเมินสภาวะจิตใจและสภาพร่างกายของผู้รับบริการ เน้นการทำความเข้าใจถึงเหตุการณ์ที่นำมาสู่ภาวะฉุกเฉินนี้ และเน้นให้ความช่วยเหลือที่จำเป็นตามอาการของผู้รับบริการอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ

 

 

แนวทางการปรึกษาเชิงจิตวิทยาเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภาวะวิกฤต


 

Kanel (2012) สรุปว่าการปรับเปลี่ยนมุมมองการรับรู้ที่มีต่อปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้บุคคลไม่ตกอยู่ในภาวะวิกฤตทางอารมณ์ เมื่อบุคคลสามารถปรับการรับรู้ปัญหาและมีทักษะการรับมือปัญหาเพิ่มขึ้น ก็จะส่งผลให้ความรู้สึกไม่เป็นสุขลดลง ซึ่งส่งผลต่อเนื่องให้มีระดับพฤติกรรมดีขึ้น

 

สอดคล้องกับ Hoff และคณะ (2009) ที่ระบุว่าวิธีการเข้าช่วยเหลือควรอาศัยพื้นฐานจากมุมมองความคิด ความรู้สึก และการกระทำของผู้ประสบภาวะวิกฤต และปรับให้เหมาะสมกับสาเหตุที่มาของภาวะวิกฤต โดยแนวทางการช่วยเหลือผู้รับบริการนั้นมุ่งไปยังการจัดการรับมือภาวะวิกฤตทั้งทางด้านอารมณ์ ความคิด และพฤติกรรม ประกอบด้วยแนวทางดังนี้

 

  1. ฟังอย่างตั้งใจและห่วงใย ผู้เผชิญภาวะวิกฤตมักมีความรู้สึกละอายใจที่ตนไม่สามารถจัดการรับมือปัญหาได้ การมีผู้ฟังที่ดีรับฟังจะช่วยให้บุคคลนั้นรู้สึกมีความสำคัญและรู้สึกว่าตนสมควรได้รับความช่วยเหลือแม้ว่าปัญหาที่เผชิญอาจจะดูไม่ใช่เรื่องใหญ่
  2. สนับสนุนการแสดงอารมณ์ความรู้สึกอย่างเปิดเผย ผู้ที่เผชิญภาวะวิกฤตบางรายจะเก็บความรู้สึก เช่น โกรธ เสียใจ หงุดหงิด ไม่พอใจ สิ้นหวัง การเชื่อมโยงอารมณ์แง่ลบที่มีต่อการแสดงอารมณ์ความรู้สึกในวัยเด็ก หรือเหตุผลทางวัฒนธรรม มีส่วนต่อการแสดงความรู้สึกเมื่อเกิดสถานการณ์ที่กระทบจิตใจ การที่ผู้ให้บริการยอมรับความรู้สึกเชิงลบนั้นจะช่วยให้ผู้รับบริการรู้สึกดีขึ้นได้ทันที ทั้งยังเป็นจุดเริ่มต้นของการรับมือปัญหาที่มีประสิทธิภาพในอนาคต
  3. ช่วยให้บุคคลเกิดความเข้าใจในภาวะวิกฤต ผู้ให้บริการสามารถช่วยให้บุคคลมองเห็นปัจจัยหลาย ๆ อย่างที่มีส่วนทำให้เกิดสถานการณ์วิกฤต และช่วยขจัดความรู้สึกโทษตัวเอง ผู้รับบริการควรได้สำรวจปัญหาในภาพรวม ซึ่งรวมทั้งผลทางกายภาพและพฤติกรรมซึ่งอาจเกี่ยวเนื่องกับภาวะวิกฤต
  4. ช่วยให้บุคคลยอมรับความเป็นจริง บุคคลที่เผชิญภาวะวิกฤตบางคนจะรู้สึกว่าตนตกเป็นผู้เคราะห์ร้ายและโทษคนอื่น โดยเฉพาะผู้ที่เผชิญภาวะวิกฤตที่สาเหตุมาจากสภาพสังคม ไม่เพียงเป็นแค่ความรู้สึก แต่บุคคลอยู่ในฐานะของผู้เคราะห์ร้ายจริง ๆ การช่วยเหลือทำได้โดยเอื้อให้บุคคลนั้นสื่อความโกรธออกมาเป็นการกระทำที่จะเปลี่ยนการกดขี่ทางสังคม
  5. ช่วยให้บุคคลได้สำรวจแนวทางใหม่ ๆ ที่จะจัดการรับมือปัญหา ในบางกรณีบุคคลจะไม่ใช้วิธีจัดการรับมือปัญหาแบบเดิมที่เคยใช้อีก ผู้ให้บริการสามารถชวนให้ผู้รับบริการสำรวจวิธีการรับมือที่เคยใช้แล้วประสบผลสำเร็จ และค้นหาว่าวิธีนี้น่าจะยังใช้ได้อยู่หรือไม่ หรือสามารถเรียนรู้การตอบสนองต่อปัญหาด้วยการรับมือรูปแบบใหม่
  6. เชื่อมโยงบุคคลเข้ากับเครือข่ายทางสังคม การสำรวจแนวทางการจัดการปัญหาใหม่ ๆ จะนำสู่การเชื่อมโยงสังคม เนื่องจากบุคคลที่เผชิญภาวะวิกฤตมักตัดขาดตนเองออกจากผู้อื่น การเยียวยารักษาจึงจำเป็นต้องเชื่อมความสัมพันธ์นั้นใหม่ หรือสร้างความสัมพันธ์ใหม่ ในทางเดียวกัน นอกจากเอื้อการเชื่อมสัมพันธภาพกับสังคม ผู้ให้บริการยังมีส่วนที่เอื้อให้ผู้รับบริการตัดความสัมพันธ์ที่ส่งผลลบต่อจิตใจ
  7. เน้นย้ำถึงวิธีการจัดการใหม่ที่ได้เรียนรู้ ประเมินผลที่ได้รับจากการปรึกษาและติดตามผลหลังผ่านพ้นภาวะวิกฤต บุคคลต้องการเวลาเพื่อที่จะใช้แนวทางที่เรียนรู้มาใช้กับปัญหา แนวทางที่ผลควรได้รับการสนับสนุน แนวทางที่ไม่ได้ผลก็ควรละทิ้ง และค้นหาแนวทางใหม่ๆ

 

 


 

 

ข้อมูลจาก

 

“ประสบการณ์ทางจิตใจในการเข้าร่วมกลุ่มการปรึกษาเชิงจิตวิทยาที่มีศิลปะเป็นสื่อของนิสิตนักศึกษาที่มีแนวโน้มภาวะวิกฤตทางอารมณ์” โดย อัจจิมา อาภานันท์ (2557) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/45468

 

ภาพประกอบ https://www.freepik.com/starline

 

 

แชร์คอนเท็นต์นี้