การรู้สึกถึงความรู้สึกของผู้อื่น หรือ Empathy ได้รับการศึกษามานานนับร้อยปีตลอดช่วงคริสตศตวรรษที่ 20 แต่การให้คำจำกัดความยังเต็มไปด้วยความสับสน เนื่องจากนักจิตวิทยาแต่ละคนได้ให้คำนิยามแตกต่างกันไปตามแนวคิดของตน
ส่วนหนึ่งให้คำนิยามในเชิง “ความสามารถทางปัญญา” และอีกส่วนหนึ่งพูดถึงว่าเป็น “การตอบสนองทางอารมณ์”
อย่างไรก็ดี ท่ามกลางมุมมองที่แตกต่างกันนี้ก็มีจุดร่วมในใจความสำคัญของการรู้ซึ้งถึงความรู้สึกของผู้อื่นว่าเป็นคุณลักษณะที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมเอื้อสังคม และเป็นคุณสมบัติที่สำคัญในตัวมนุษย์
Goleman นักจิตวิทยาและนักสื่อสารมวลชน ยกย่องการรู้ซึ้งถึงความรู้สึกของผู้อื่นเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในความเฉลียวฉลาดทางอารมณ์ นักจิตวิทยาพัฒนาการเห็นว่าการรู้ซึ้งถึงความรู้สึกของผู้อื่นเป็นส่วนหนึ่งในแรงจูงใจทางจริยธรรม นักจิตวิทยาการปรึกษาก็ระบุว่าการรู้ซึ้งถึงความรู้สึกของผู้อื่นเป็นคุณลักษณะที่นักจิตวิทยาการปรึกษาพึงมี
เมื่อแรกเริ่ม Empathy ได้รับคำนิยามว่าเป็น “ความเข้าใจในความคิดและความรู้สึกของผู้อื่น” เคียงคู่กับ “ความเห็นอกเห็นใจ” หรือ Sympathy ซึ่งหมายถึง การตระหนักถึงความรู้สึกความทุกข์ทนของผู้อื่นอย่างรุนแรง จนเกิดแรงจูงใจที่จะเข้าใจช่วยบรรเทาความทุกข์ทนนั้น
ในขณะที่การศึกษาเรื่องการรู้ซึ้งถึงความรู้สึกของผู้อื่นเติบโตขึ้น การศึกษาเรื่องความเห็นอกเห็นใจกลับลดลง และดูเหมือนว่า การรู้ซึ้งถึงความรู้สึกของผู้อื่นได้มีนิยามครอบคลุมถึงความเห็นอกเห็นใจด้วย จากการให้ความหมายในการศึกษาของนักวิจัยที่มุ่งเน้นถึงมุมมองด้านอารมณ์ความรู้สึก
คำจำกัดความในมุมมองทางปัญญา
นักวิจัยในมุมมองนี้ระบุว่าการรู้ซึ้งถึงความรู้สึกของผู้อื่นเกี่ยวข้องกับ “การเข้าใจมุมมอง” หรือความเข้าใจในตัวผู้อื่น ด้วยการใช้ความคิดและเหตุผล หรือด้วยจินตนาการถึงเงื่อนไขหรือสภาพจิตใจของผู้อื่น โดยไม่จำเป็นต้องประสพกับความรู้สึกเหล่านั้นเองจริงๆ (Hogan, 1969)
คำจำกัดความในมุมมองทางปัญญาได้เน้นย้ำถึงการเปลี่ยนบทบาทหรือมุมมองจากแง่มุมของตนเอง ไปสนใจหรือใส่ใจในแง่มุมของคนอื่น Piaget (1932) นักจิตวิทยาพัฒนาการ เรียกว่าเป็นการตอบสนองแบบ “ไม่รับรู้เพียงด้านเดียว” หรือ “ไม่ยึดตนเองเป็นศูนย์กลาง” และในยุคหนึ่ง การรู้ซึ้งถึงความรู้สึกของผู้อื่นถูกจัดเป็นความเฉลียวฉลาดทางสังคม
คำจำกัดความในมุมมองทางอารมณ์ความรู้สึก
มุมมองนี้อธิบายว่าการรู้ซึ้งถึงความรู้สึกของผู้อื่นเกี่ยวข้องถึงความตื่นตัวทางอารมณ์ หรือการตอบสนองในเชิงเห็นอกเห็นใจต่อความรู้สึกหรือสิ่งที่ผู้อื่นพบ ไม่ว่าจะเป็น
- รู้สึกตรงกันกับความรู้สึกของผู้อื่น เช่น รู้สึกหวาดกลัวเมื่อเห็นผู้อื่นกำลังกลัว
- รู้สึกอย่างเหมาะสมสอดคล้องกับความรู้สึกของผู้อื่น เช่น รู้สึกสงสารเมื่อเห็นผู้อื่นกำลังเศร้า หรือ
- รู้สึกเป็นกังวลหรือเกิดความเมตตาต่อความทุกข์ของผู้อื่น (Baron-Cohen & Wheelright, 2004)
ทั้งนี้ การรู้ซึ้งถึงความรู้สึกของผู้อื่นต้องเป็นอารมณ์ความรู้สึกที่เป็นผลจากอารมณ์ของผู้อื่นเท่านั้น เช่น หากเราได้ยินข่าวการเสียชีวิตของเพื่อนภายหลังทุกข์ทรมานจากโรคร้าย ความเจ็บป่วยถึงตายนั้นอาจสร้างความรู้สึกผ่อนคลายที่ความทรมานได้จบสิ้นลง หรือความเศร้าที่เสียดายในอายุขัยอันสั้น ความรู้สึกสองแบบนี้เรียกได้ว่าเป็นการรู้ซึ้งถึงความรู้สึกของผู้อื่น แต่ทว่า ความรู้สึกเศร้าเสียใจจากการที่เราสูญเสียเพื่อนไป ความรู้สึกนี้ไม่นับเป็นการรู้ซึ้งถึงความรู้สึกของผู้อื่นเพราะเป็นความรู้สึกของเราเอง แม้จะเป็นความรู้สึกที่เหมาะควรก็ตาม
คำนิยามที่ผสานมโนทัศน์ทางปัญญาและอารมณ์
Davis (1980) ได้ให้คำนิยามการรู้ซึ้งถึงความรู้สึกของผู้อื่น ว่าเป็นการนำตนเองเข้าไปในสถานการณ์ที่ผู้อื่นประสพ (หยั่งรู้ในสิ่งที่ผู้อื่นรู้สึก) ด้วยความสอดคล้องทางอารมณ์ (รู้สึกในสิ่งที่ผู้อื่นรู้สึก) และการตระหนักถึงอย่างเห็นอกเห็นใจ (เอาใจใส่และตอบสนองต่อสิ่งที่ผู้อื่นรู้สึก)
Davis เชื่อว่าเป็นการดีที่สุดหากพิจารณาว่าการรู้ซึ้งถึงความรู้สึกของผู้อื่นเป็นการตอบสนองทั้งด้านปัญญาและอารมณ์ ซึ่งสามารถจำแนกออกจากกันได้ชัดเจน ขณะที่ Baron-Cohen และ Wheelright (2004) ซึ่งเห็นด้วยกับคำนิยามนี้แต่ระบุว่าเป็นการยากและไม่มีความจำเป็นต้องแยกส่วนประกอบทั้งสองออกจากกัน
ทั้งนี้ งานวิจัยในประเทศไทยที่ตรวจสอบความสัมพันธ์ระหว่างการรู้ซึ้งถึงความรู้สึกของผู้อื่น กับบุคลิกภาพด้านอื่นๆ และพฤติกรรมทางบวกและทางลบ พบว่า บุคคลที่มีลักษณะรู้ซึ้งถึงความรู้สึกของผู้อื่นสูง มีแนวโน้มให้อภัยสูงกว่า มีลักษณะแสดงอำนาจเหนือผู้อื่นน้อยกว่า มีพฤติกรรมช่วยเหลือมากกว่า ก้าวร้าวน้อยกว่า และแสดงการเหยียดเพศแบบปฏิปักษ์น้อยกว่าอีกด้วย
รายการอ้างอิง
“อิทธิพลของรูปแบบความผูกพันต่อลักษณะนิสัยการให้อภัย : ทวิโมเดลแข่งขันโดยมีตัวแปรการรู้ซึ้งถึงความรู้สึกของผู้อื่นและการหมกมุ่นครุ่นคิดเป็นตัวแปรส่งผ่าน” รวิตา ระย้านิล (2553) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/30697
“อิทธิพลตัวแปรส่งผ่านของการรู้ซึ้งถึงความรู้สึกของผู้อื่น และอิทธิพลตัวแปรกำกับของเพศต่ออิทธิพลการสนับสนุนจากครอบครัวและสภาพการแข่งขันทางการเรียนต่อความก้าวร้าวและการช่วยเหลือ” สรียา โชติธรรม (2553) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/20706
“อิทธิพลของบุคลิกภาพแบบแสดงอำนาจเหนือผู้อื่น และบุคลิกภาพแบบใช้อำนาจฝ่ายขวาต่อการเหยียดเพศโดยมีการรู้ซึ้งถึงความรู้สึกของผู้อื่น และความรู้สึกแปลกแยกจากสังคมเป็นตัวแปรส่งผ่าน” นัทธมน อินทร, ประภาศรี กระจ่างวุฒิชัย และ อารียา การุณกร (2556) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/44147