คงปฏิเสธไม่ได้นะคะว่าในระยะหลัง ๆ สื่อต่าง ๆ ทั้งสื่อโทรทัศน์ สิ่งพิมพ์ วิทยุ และอินเทอร์เน็ต มักมุ่งนำเสนอเนื้อหาที่เน้นให้ความบันเทิง หรือมุ่งเน้นอารมณ์มากขึ้น จนบางครั้งอาจจะให้น้ำหนักของข่าวสารอยู่ที่อารมณ์ของบุคคลในข่าว มากกว่าเนื้อหาสาระที่เป็นแก่นแท้ของเหตุการณ์นั้นๆ เสียอีก
หลายคนมองว่าผู้ที่ติดตามสื่อบันเทิงนั้น เสมือนหนึ่งผู้ที่ต้องการเพียงความเพลิดเพลินใจ ซึ่งแท้จริงแล้ว ความเชื่อดังกล่าวก็อาจไม่เป็นจริงเสมอไป
นักวิจัยชาวเยอรมันกลุ่มหนึ่ง พยายามศึกษาแรงจูงใจที่อยู่เบื้องหลังการรับสารจากสื่อบันเทิงของบุคคล และพบว่า นอกเหนือจากความสนุกสนานในการรับสารแล้ว สื่อบันเทิงยังเกี่ยวข้องกับการเพิ่มระดับจริยธรรมของบุคคลอีกด้วย
ลองนึกถึงละคร ภาพยนตร์ นวนิยาย หรือนิทานที่ชื่นชอบเป็นพิเศษ แล้วลองพิจารณาดูว่าตอนจบของละคร ภาพยนตร์ นวนิยาย หรือนิทานที่คุณชื่นชอบนั้นลงเอยอย่างไร คนทำดีได้รับผลดี ส่วนคนที่ทำสิ่งไม่ดีได้รับผลไม่ดีหรือเปล่า
แนวคิดพื้นนิสัยทางอารมณ์ หรือ Affective disposition theory เสนอว่า บุคคลมักชื่นชอบเรื่องราวที่พระเอกนางเอกซึ่งเป็นคนดี ได้รับสิ่งดี ๆ ตอบแทน ขณะที่ตัวร้ายซึ่งเป็นคนไม่ดี ได้รับสิ่งไม่ดีเป็นการตอบแทน เนื่องจากเชื่อว่าลักษณะดังกล่าวเป็นสิ่งที่ยุติธรรมและสมเหตุสมผล สอดคล้องกับแนวคิดของ Rubin และ Peplau ที่กล่าวว่า การนำเสนอสารในลักษณะ “ทำดีได้ดี” โดยเฉพาะในนิทานสำหรับเด็กด้วยนั้น จะช่วยพัฒนาความเข้าใจ และความเชื่อเกี่ยวกับความยุติธรรม รวมทั้งจริยธรรมของเด็กได้อีกทางหนึ่งด้วย
แล้วคุณเป็นอีกคนหนึ่งหรือเปล่าที่มักติดตามข่าวสารทางสื่อมวลชนเป็นประจำ และมักพยายามหาคำตอบว่าทำไมบุคคลในข่าวจึงมีพฤติกรรมเช่นนั้น แล้วเคยสังเกตมั้ยคะว่า ส่วนใหญ่ คุณมักคิดว่าบุคคลในข่าวทำพฤติกรรมนั้น ๆ เพราะสาเหตุใด
นักจิตวิทยาหลายคนพยายามศึกษาเรื่องการอนุมานสาเหตุหรือเหตุผลที่บุคคลทำพฤติกรรมต่าง ๆ และจำแนกการอนุมานสาเหตุออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ พฤติกรรมที่เป็นผลมาจากปัจจัยภายใน เช่น บุคลิกลักษณะหรือคุณสมบัติส่วนตัวของบุคคลนั้น และพฤติกรรมที่เป็นผลมาจากปัจจัยภายนอก เช่น สถานการณ์หรือสภาพแวดล้อมที่บุคคลนั้นประสบ
แม้คนเราจะเกี่ยวข้องกับการอนุมานสาเหตุอยู่บ่อยครั้ง แต่การอนุมานสาเหตุของคนเรา ก็ไม่ได้ถูกต้องเสมอไปทุกกรณีค่ะ
งานวิจัยต่างประเทศจำนวนมากพบว่า คนเรามักมีการอนุมานสาเหตุที่ผิดพลาด เช่น ถ้าเพื่อนเราทำงานไม่เรียบร้อย หรือเกิดข้อบกพร่อง เราก็มักคิดว่าเป็นเพราะเขาไม่รอบคอบ แต่หากเราเป็นคนทำงานทำงานไม่เรียบร้อย หรือทำงานบกพร่องเอง เรากลับมักมองว่าเป็นเพราะสถานการณ์บีบบังคับ
การอนุมานสาเหตุข้างต้นตรงกับแนวคิดอคติของผู้กระทำ-ผู้สังเกต หรือ “Actor-Observer Bias” ซึ่งเสนอว่า เมื่อเราอนุมานสาเหตุพฤติกรรมของผู้อื่น เรามักมองไปที่ปัจจัยภายในของผู้นั้น ที่เป็นเช่นนั้นส่วนหนึ่งก็เพราะเราอาจมีข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ ณ เวลานั้นไม่มากพอ รวมทั้งการมองไปที่ปัจจัยภายในของผู้อื่น ยังช่วยให้กระบวนการหาสาเหตุของการกระทำของผู้อื่นนั้นเป็นไปได้โดยง่าย มากกว่าการที่เราต้องนั่งพิจารณาถึงปัจจัยภายนอกทั้งหลาย
เมื่อเรานำแนวคิดเรื่องการอนุมานสาเหตุมาอธิบายพฤติกรรมการบริโภคสื่อของคนไทย โดยเฉพาะสื่อโทรทัศน์ประเภทบันเทิง เช่น ละคร ภาพยนตร์ เราก็จะพบปรากฎการณ์ที่น่าสนใจว่า นักแสดงที่เล่นบทร้ายในละครเรื่องใดก็ตาม มักถูกรับรู้ว่า มีลักษณะนิสัยที่ร้ายเหมือนอย่างในละครที่เล่นจริง ๆ นั่นก็เพราะ เรามักระบุสาเหตุของพฤติกรรมของนักแสดงในละครหรือภาพยนตร์เรื่องต่าง ๆ ตามบทบาทที่นักแสดงผู้นั้นได้รับ หรือมองว่าบุคคลอื่นกระทำสิ่งต่าง ๆ เพราะเขามีลักษณะนิสัยที่สอดคล้องกับพฤติกรรมนั้น เช่นเดียวกับโลกในจอ
นี่จึงเป็นที่มาว่า ทำไมนางร้ายต้องหลีกเลี่ยงการไปเดินตลาดในช่วงหน้าทุเรียน หรือทำไมเราถึงมักเชื่อว่าพระเอกและนางเอกจะต้องเป็นคนดีทั้งในจอและนอกจอ
จึงไม่น่าแปลกใจที่ว่า หลายต่อหลายคนรู้สึกเชื่อในบทบาทของนักแสดงในจอมากจนนำมาอนุมานสาเหตุในโลกแห่งความเป็นจริง และในบางครั้ง ถึงแม้นักแสดงคนโปรดหรือศิลปินในดวงใจจะไม่ประพฤติปฏิบัติตามที่คาดหวังไว้ บุคคลก็ยังคงมีแนวโน้มที่จะหาเหตุผลสนับสนุนบุคคลในดวงใจเหล่านั้น ให้สอดคล้องกับความเชื่อหรือความคาดหวังของตนนั่นเอง
ภาพจาก http://www.amemagnet.org/programs.html
บทความโดย
อาจารย์ ดร.หยกฟ้า อิศรานนท์
คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย