ความคิดแวบแรกตามสัญชาตญาณถูกต้องเสมอ…จริงไหม?

22 Mar 2018

ผศ. ดร.ทิพย์นภา หวนสุริยา

 

เวลาทำข้อสอบ ตอบคำถามในการเล่นเกม เคยมีคนแนะนำคุณแบบนี้ไหมคะว่า “ตัวเลือกแรกที่ผุดขึ้นมาในความคิดนั้นคือคำตอบที่ถูกต้องแล้ว ให้เชื่อสัญชาตญาณแรก อย่าลังเล อย่าเปลี่ยนคำตอบ ถ้าเปลี่ยนแล้วจะผิด”

 

คนส่วนใหญ่เชื่อในคำแนะนำนี้ค่ะ จากผลการสำรวจหลาย ๆ งานในต่างประเทศ นักเรียนนักศึกษาส่วนใหญ่ 3 ใน 4 เชื่อว่าการเปลี่ยนคำตอบในการสอบมักจะทำให้เสียคะแนน เพราะมักเป็นการเปลี่ยนจากคำตอบที่ถูกเป็นผิด ผลการสำรวจความเห็นอาจารย์มหาวิทยาลัยขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกาก็พบว่า อาจารย์ส่วนใหญ่ (55%) ก็เชื่อเช่นเดียวกัน หนังสือเตรียมสอบของสถาบันกวดวิชาแห่งหนึ่งของอเมริกาก็ให้คำแนะนำไว้ว่า “ถ้าคิดจะเปลี่ยนคำตอบ ให้ระวังให้ดี ประสบการณ์สอนให้เรารู้ว่า นักเรียนที่เปลี่ยนคำตอบมักจะเปลี่ยนจากผิดเป็นถูก”

 

แล้วในความเป็นจริง เราควรเชื่อสัญชาตญาณแรก หรือเปลี่ยนคำตอบหากทบทวนแล้วมีตัวเลือกที่น่าจะถูกต้องเพิ่มขึ้นมา?

 

อันที่จริงมีคนตั้งคำถามนี้มาตั้ง 80 กว่าปีแล้วค่ะ นักจิตวิทยาช่างสงสัยหลายคนทำวิจัยโดยลงมือนับกันเลยว่า การเปลี่ยนคำตอบจากถูกเป็นผิด เทียบกับการเปลี่ยนคำตอบจากผิดเป็นถูก อะไรเกิดบ่อยกว่ากัน

 

ผลการวิจัยจำนวนมากตลอด 80 ปีที่ผ่านมายืนยันว่า การเปลี่ยนคำตอบจากผิดเป็นถูกเกิดขึ้นบ่อยกว่า และนักเรียนที่เปลี่ยนคำตอบก็ได้คะแนนสอบดีขึ้น ไม่ว่ารูปแบบการสอบจะเป็นแบบหลายตัวเลือกหรือถูกผิด จับเวลาหรือไม่จับเวลา บนกระดาษหรือในคอมพิวเตอร์ ข้อสอบวัดผลหรือวัดความสามารถ เช่น งานวิจัยของ Kruger, Wertz, & Miller (2005) นำกระดาษคำตอบแบบใช้ดินสอระบายของนักเรียนหนึ่งพันกว่าคนที่เรียนวิชาจิตวิทยาทั่วไป มานับรอยยางลบที่แสดงว่ามีการเปลี่ยนคำตอบ พบว่าจากจำนวนข้อที่มีการเปลี่ยนคำตอบทั้งหมด เป็นการเปลี่ยนคำตอบจากผิดเป็นถูก 51% เปลี่ยนจากถูกเป็นผิด 25% และจากข้อผิดไปเป็นอีกข้อที่ผิดเช่นกัน 23%

 

แต่เมื่อถามนักศึกษากลุ่มเดียวกัน ว่าการเปลี่ยนคำตอบลักษณะไหนเกิดบ่อยกว่า 75% ก็ยังเชื่อว่าการเปลี่ยนจากถูกเป็นผิดเกิดขึ้นมากกว่า ดังนั้นจึงไม่ควรเปลี่ยนคำตอบไปจากคำตอบแรกตามสัญชาตญาณ ทั้ง ๆ ที่ในความจริงแล้ว ส่วนใหญ่จะได้คะแนนดีขึ้นจากการเปลี่ยนคำตอบ

 

 

ทำไมคนส่วนใหญ่ยังเชื่อกันอยู่ว่าเราควรยึดมั่นในคำตอบตามสัญชาตญาณแรก?


 

Kruger และคณะ (2005) อธิบายว่า ความเชื่อที่ผิดว่าสัญชาตญาณแรกถูกเสมอ (first instinct fallacy) นี้ เกิดจากการที่เวลาเปลี่ยนคำตอบจากผิดเป็นถูก เราก็แค่ดีใจแล้วก็มักลืมไปอย่างรวดเร็ว แต่การเปลี่ยนคำตอบจากถูกเป็นผิดนั้นทำให้เรา “เจ็บใจ” มากกว่า ทำให้เราเกิดความคิดสวนทางกับความจริงที่เกิดขึ้น (counterfactual thinking) ว่า “รู้งี้ไม่เปลี่ยนก็ดี ถ้าไม่เปลี่ยนก็ตอบถูกได้คะแนนไปแล้ว” ซึ่งยิ่งคิดก็จะยิ่งเจ็บใจ ยิ่งเจ็บใจก็ยิ่งทำให้จำแม่น หรือเรียกว่า “เข็ด” จนเราเก็บเป็นบทเรียนฝังใจ บอกตัวเองและใคร ๆ ว่า ให้เชื่อในสัญชาตญาณแรก อย่าเปลี่ยนใจ

 

แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเมื่อไหร่ควรเปลี่ยนคำตอบหรือยึดมั่นกับคำตอบแรก? เพราะแม้ข้อมูลจะบอกว่าสัญชาตญาณแรกมักจะผิด แต่ก็มีบางครั้งที่การยึดมั่นคำตอบแรกก็เป็นคำตอบที่ถูกเหมือนกันนะคะ

 

Couchman, Miller, Zmuda, Feather, & Schwartzmeyer (2016) เสนอว่า เราจะเลือกใช้แนวทางไหน น่าจะขึ้นอยู่กับระดับความมั่นใจหรือความเชี่ยวชาญของเราในเรื่องนั้น ๆ นักวิจัยกลุ่มนี้พบว่า นักศึกษาที่รู้สึกมั่นใจว่ารู้คำตอบที่ถูกต้อง เช่น ได้อ่านหนังสือเรื่องนั้นมาละเอียด ตัวเลือกที่ผุดขึ้นมาในความคิดแวบแรกมักเป็นคำตอบที่ถูกมากกว่าตัวเลือกที่นึกถึงเป็นอันดับรองลงมา ส่วนนักศึกษาที่ไม่ค่อยมั่นใจว่าตัวเองรู้คำตอบที่ถูกต้อง คำตอบแรกที่ผุดขึ้นมาอาจจะไม่ถูกต้อง การคิดพิจารณาแล้วเปลี่ยนเป็นทางเลือกที่สองมักทำให้ตอบถูกและได้คะแนนดีกว่า

 

ดังนั้น นอกจากในห้องสอบ หรือการตอบคำถามเล่นเกมแล้ว หลักการนี้ก็น่าจะใช้ในชีวิตประจำวันและการทำงานที่ต้องมีการตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ได้เช่นกัน สัญชาตญาณแรกจะให้คำตอบที่ถูกต้องได้ ต้องเกิดจากการสั่งสมความรู้ความเชี่ยวชาญในเรื่องนั้น ๆ เมื่อเจอโจทย์ปัญหาที่ต้องตัดสินใจ คำตอบ หรือความคิดความรู้สึกแวบแรกที่ผุดขึ้นมาก็จะมีโอกาสถูกต้องสูง

 

แต่ถ้าเป็นมือใหม่ที่เพิ่งเรียนรู้เรื่องนั้น ยังไม่เชี่ยวชาญ ไม่มีประสบการณ์ หรือไม่ได้ศึกษาค้นคว้ามามากพอ ก็ไม่ควรเชื่อในสัญชาตญาณแรก หรือคำตอบแรกที่ผุดขึ้นมาในความคิดของตัวเองมากเกินไป การตรวจสอบ ทบทวน ปรึกษากับผู้มีประสบการณ์ และปรับเปลี่ยนความคิดแวบแรกไปตามข้อมูลที่ศึกษาและคิดไตร่ตรองเพิ่มขึ้น ก็จะช่วยให้ได้ผลที่ดีกว่าค่ะ

 

 

 

รายการอ้างอิง

 

Couchman, J. J., Miller, N. E., Zmuda, S. J., Feather, K., & Schwartzmeyer, T. (2016). The instinct fallacy: The metacognition of answering and revising during college exams. Metacognition and Learning, 11(2), 171-185. doi:10.1007/s11409-015-9140-8

 

Kruger, J., Wirtz, D., & Miller, D. T. (2005). Counterfactual thinking and the first instinct fallacy. Journal of Personality and Social Psychology, 88(5), 725–35.

 

 


 

 

บทความโดย

อาจารย์ ดร.ทิพย์นภา หวนสุริยา

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

แชร์คอนเท็นต์นี้