ทำไมฉันถึงไม่ Fit & Firm สักที?

24 Aug 2018

ผศ. ดร.เรวดี วัฒฑกโกศล

 

เป้าหมายปี 2016 ฉันจะมีหุ่นที่ Fit & Firm !

เป้าหมายปี 2017 ฉันจะต้องมีหุ่นที่ Fit & Firm ให้ได้ !!!

เป้าหมายปี 2018 ฉันจะต้องเป็นคนที่มีหุ่น Fit & Firm ให้จนได้ !!!!!!

 

ปีแล้วปีเล่ากับเป้าหมายเดิม ๆ ที่…เห้อออออ ไม่สำเร็จสักที

 

วันนี้มีแนวคิดทางจิตวิทยาที่มาช่วยอธิบายสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เรายังมีหุ่นที่ไม่ Fit & Firm กันค่ะ

 

แนวที่ว่านี้คือแนวคิด Locus of control หรือ ความเชื่อเกี่ยวกับความสามารถในการควบคุมตนเอง ซึ่งพัฒนาโดย Julian Rotter (1966) โดยมีนิยามว่าเป็นความเชื่อของบุคคลเกี่ยวกับอำนาจหรือความสามารถของตนในการควบคุมการกระทำเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับตัวเอง

 

โดย Locus of control มี 2 ประเภท คือ

 

1. ความเชื่ออำนาจภายในตน (Internal locus of control) บุคคลเชื่อว่าตนนั้นสามารถควบคุมเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ด้วยตนเอง เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นเป็นผลมาจากความสามารถ ทักษะ หรือการกระทำของตนเอง

 

2. ความเชื่ออำนาจภายนอกตน (External locus of control) บุคคลเชื่อว่าเหตุการณ์หรือสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้น ขึ้นอยู่กับอิทธิพลและอำนาจภายนอกที่ตนเองไม่สามารถควบคุมได้ เช่น โชค ความบังเอิญ หรืออิทธิพลของผู้อื่น

 

ในหลักของการเปลี่ยนแปลงตัวเอง จากเดิมที่เรามีหุ่นที่น้ำหนักเกินมาตรฐาน อ้วน ลงพุง มีเนื้อส่วนแขนและขาห้อยย้อยไม่กระชับ แล้วเราอยากเปลี่ยนแปลงตัวเองซะใหม่ให้กลายเป็นคนที่มีหุ่น Fit & Firm ภายในปี 2018 นี้ให้ได้ โอกาสที่จะประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงตัวเองนี้ขึ้นอยู่กับความเชื่อเกี่ยวกับความสามารถที่จะควบคุมตัวเอง 2 ประเภทกล่าวคือ ถ้าเราเป็นคนที่มีความเชื่อว่าการที่จะประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวในการทำสิ่งต่าง ๆ นั้นเกิดมาจากอำนาจภายในตน เราก็จะสามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ง่าย เช่น ถ้าเชื่อว่าตนสามารถควบคุมตัวเองให้ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เลือกรับประทานอาหารที่ดีและมีประโยชน์ เพื่อส่งเสริมให้มีหุ่นที่ Fit & Firm ของตนเองได้ กำหนดได้ว่า ในแต่ละวันนั้นตนเองจะออกกำลังกายอย่างไร จะเลือกรับประทานอาหารแบบไหน และจะเลี่ยงไม่รับประทานอาหารแบบไหน เช่น เลี่ยงของหวาน ขนมเค้ก ของมัน ของทอด หรืออาหารที่ไม่เป็นประโยชน์ อันเป็นอุปสรรคต่อการสร้างร่างกายให้ Fit & Firm

 

เมื่อเราเชื่อว่าเราสามารถควบคุมตนเองได้แล้ว เราก็จะทำพฤติกรรมข้างต้นที่นำไปสู่การที่ส่งเสริมให้เรามีหุ่น Fit & Firm ได้จนบรรลุผลสำเร็จจนได้

 

แต่ถ้าหากเราเชื่อว่า การออกกำลังกายและการเลือกรับประทานอาหารเพื่อให้มีหุ่น Fit & Firm เราทำเองไม่ได้ เราต้องพี่งพิงตัวช่วยต่าง ๆ ที่เป็นสถานการณ์หรือบุคคลอื่น ๆ ซึ่งเป็นปัจจัยหรือสิ่งแวดล้อมภายนอกที่ตนเองที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของเราได้ เช่น ตอนเย็น หลังเลิกงาน เราทำงานเสร็จเรียบร้อยแล้ว กำลังเก็บของเตรียมไปออกกำลังกาย แต่เพื่อนร่วมงานชวนไปทานมื้อเย็นเป็นอาหารบุฟเฟ่ต์ซะก่อน เราก็ไม่ปฏิเสธคำชวนแล้วก็ไปกินตามคำชวนของเพื่อน เมื่อกินเสร็จแล้วเราหุ่นก็ยังเหมือนเดิม เราก็จะได้แต่อ้างและโทษว่าที่เรายังมีหุ่นที่ Fit & Firm ไม่ได้เพราะเพื่อนร่วมงานชอบชวนไปทานมื้อเย็นทุกวันเลย (ก็เราดันไปกับเขาเองนี่นา…)

 

หรือในขณะที่เรากำลังจะไปออกกำลังกายแล้วเดินผ่านร้านขนมหวานที่กลิ่นหอมเตะจมูก แถมพนักงานหน้าร้านชักชวนให้เข้าไปทานขนมในร้านอีก แล้วเราก็เข้าไปทานตามคำเชิญชวนและกลิ่นอันยั่วยวนโดยไม่ปฏิเสธใด ๆ พอทานเสร็จแล้วจึงหาข้ออ้างที่หุ่นไม่ Fit & Firm สักทีก็เพราะพนักงานนี่แหละชวนเข้าไป

 

การที่บุคคลมีความเชื่อเช่นนี้ก็จะส่งผลให้บุคคลนั้นไม่สามารถที่จะควบคุมให้ตนเองออกกำลังกาย และการเลือกรับประทานอาหารที่ส่งเสริมให้ร่างกายมีหุ่นที่ Fit & Firm ได้เนื่องจากเชื่อว่าตนจะมีหุ่นที่ Fit & Firm ได้ก็ต่อเมื่อไม่มีเพื่อนร่วมงานชวนกิน หรือร้านขนมหวานนั้นได้ย้ายร้านออกไปแล้ว

 

จากหลักการข้างต้นพอจะอธิบายความแตกต่างระหว่างบุคคลได้บ้าง ระหว่างคนที่มีหุ่น Fit & Firm ภายในปี 2018 กับคนอยากจะมีหุ่น Fit & Firm แต่ทำไม่ได้สักปี!!! เราเลือกได้นะคะว่าเราอยากมีหุ่นแบบแบบไหน ถ้าเราเชื่อว่าการทำให้ตัวเองมีหุ่นดี ๆ เราต้องเริ่มต้นที่เราเองก่อนเลยค่ะ เราต้องเชื่อว่าเราสามารถทำได้ เราสามารถออกไปวิ่งหรือออกกำลังกายได้ด้วยตนเอง ชวนเพื่อนแล้วเพื่อนไม่ไปด้วย เราไปเองเลยค่ะ เราต้องมีความมั่นใจและเชื่อมั่น มุ่งมั่นว่าเราสามารถทำได้ เราสามารถเลือกได้ว่าเราจะรับประทานอาหารแบบไหน เราเลือกของเราได้โดยที่ไม่ไปโทษเพื่อน หรือ สื่อโฆษณาชวนเชื่อต่าง ๆ

 

หากทำเช่นนี้ได้ รับรองว่าปีนี้เราจะได้เป็นคนที่มีหุ่นดี Fit & Firm ภายในปี 2018 อย่างแน่นอนค่ะ

 

หุ่นดี Fit & Firm หาซื้อไม่ได้ ไม่มีขายค่ะ อยากได้ต้องลงมือ (ออกกำลังกายและรับประทานอาหารอย่างถูกหลักโภชนาการ) เองค่ะ

 

 

 

รายการอ้างอิง

 

Rotter, J. B. (1966). Generalized expectancies for internal versus external control of reinforcement. Psychological Monographs: General & Applied, 80(1), 1-28.

 

Hayden, J.A. (2013). Introduction to Health Behavior. Jones & Barlett Learning, MA.

 

ภาพประกอบจาก https://www.fuersie.de/gesundheit/fitness/artikel/po-uebungen-fuer-zuhause

 

 


 

บทความโดย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เรวดี วัฒฑกโกศล และ นางสาวสิริพร ทรัพยะประภา

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

แชร์คอนเท็นต์นี้