การให้อภัย (Forgiving) การไม่ให้อภัย (Unforgiving) และการแก้แค้น (Revenge)

17 Jul 2017

คำศัพท์จิตวิทยา

 

 

 

 

การให้อภัยมักถูกศึกษาควบคู่กับการไม่ให้อภัยและการแก้แค้น โดยมองว่าเป็นการแสดงออกที่อยู่ในทางตรงข้ามกัน หรืออาจกล่าวได้ว่า การให้อภัยคือการปราศจากความขุ่นเคืองใจ การประณาม และการแก้แค้น ซึ่งโดยแท้จริงแล้ว การให้อภัยและการแก้แค้นเป็นกลไกที่ใช้ในการปรับตัวและปกป้องตนเอง ซึ่งบ่อยครั้งไม่สามารถแยกออกจากกันได้อย่างเด็ดขาด ขึ้นอยู่ศักยภาพด้านการรู้คิด อารมณ์ และแรงจูงใจของบุคคลว่าจะแสดงออกในด้านใด ในสถานการณ์หนึ่ง

 

อย่างไรก็ตาม กระบวนการของการให้อภัยและการแก้แค้นนั้นไม่ได้เกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน การแก้แค้นมักจะมีบทบาทในการทำให้เกิดความเป็นธรรม และป้องกันการคุกคามที่จะเกิดในอนาคต ส่วนการให้อภัยมักมีบทบาทในการเสริมสร้างความสัมพันธ์และการรวมตัวกันของบุคคลและกลุ่ม

 

Tripp, Bies, และ Aquino (2002) ได้นิยาม การแก้แค้นไว้ว่าเป็นการกระทำของบุคคลที่ตอบสนองต่อสิ่งที่เป็นอันตราย หรือตอบสนองต่อผู้อื่นที่มีแนวโน้มจะก่อให้เกิดความเสียหายหรือความรู้สึกไม่สบายทั้งทางร่างกายและจิตใจ ส่งผลให้บุคคลเกิดแรงจูงใจ และตัดสินใจว่าจะต้องกระทำพฤติกรรมแสดงออกอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งทางตรงและทางอ้อม ผ่านทางวาจาหรือการกระทำทางกายก็ได้ เพื่อเป็นการตอบโต้กลับไป เพื่อให้ลดความเสียหายหรือความรู้สึกทางลบ

 

Fox, Spector, และ Miles (2001) กล่าวว่าการไม่ให้อภัยและการแก้แค้นนั้นเป็นแรงจูงใจหรือพลังภายในบุคคล ซึ่งเกิดจากการที่บุคคลถูกละเมินความเชื่อ ละเมิดต่อสิ่งที่เป็นอุดมคติที่บุคคลยึดถือ หรือรู้สึกว่าตนเองกำลังไม่ได้รับความเป็นธรรม ไม่มั่นคงปลอดภัย โดยอาจเกิดขึ้นจริงหรือเป็นการคาดการณ์ในอนาคตของบุคคลก็ได้ ส่งผลให้บุคคลแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวไม่ที่เจาะจงรูปแบบที่แน่นอน โดยอาจเป็นการกระทำโดยตรงทางกาย หรือทางอ้อมทางวัจนภาษาและอวัจนภาษาก็ได้ เพื่อเป็นการตอบโต้หรือป้องปรามไม่ให้สิ่งที่ตนไม่พึงประสงค์เกิดขึ้น ในบางสถานการณ์ การที่บุคคลนิ่งเฉยไม่ยอมทำพฤติกรรมใด ๆ ก็อาจเป็นส่วนหนึ่งของการแก้แค้น ตราบใดที่การนิ่งเฉยนั้นก่อให้เกิดผลทางลบต่อผู้อื่นหรือกลุ่มบุคคลอื่น เนื่องจากในบางกรณีบุคคลอาจรับทราบข้อมูลหรือรับรู้ว่ากำลังจะเกิดอันตรายต่อผู้อื่นหรือกลุ่มบุคคลอื่น แต่กลับไม่แสดงท่าทีในการช่วยเหลือ ห้ามปรามหรือตักเตือนให้ระมัดระวัง จนทำให้เกิดสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ขึ้น ซึ่งการแก้แค้นดังกล่าวถือเป็นการแสดงความก้าวร้าวแบบวางเฉย (passive aggressive)

 

Bies และ Tripp (2002) กล่าวว่าบางกรณีการแก้แค้นหรือการไม่ยอมยกโทษให้ ก็เป็นความก้าวร้าวที่เกิดขึ้นจากแรงจูงใจบางอย่าง ที่อาจก่อให้เกิดประโยชน์ต่อตัวผู้แก้แค้นเอง และอาจก่อให้เกิดผลทางบวกต่อผู้ที่ตกเป็นเป้าหมายหรือเป็นเหยื่อของการแก้แค้นด้วย เนื่องจากการแก้แค้นเป็นช่องทางหนึ่งของการเรียกร้องความยุติธรรม เป็นการสั่งสอนหรือปรับปรุงผู้ที่คอยเอารัดเอาเปรียบผู้อื่นให้เกิดความตระหนักรู้ตัว และแก้ไขพฤติกรรมทางลบของตน เพื่อให้เกิดการพัฒนาด้านจริยธรรมและคุณธรรมด้วย ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการแก้แค้นเป็นมุมมองมุมกลับของการให้อภัยซุ่งมีส่วนที่เกี่ยวข้องกันอยู่ทั้งในแง่ของกระบวนการคิด อารมณ์ และการแสดงออก

 

 

ให้อภัยหรือแก้แค้น


 

Bradfield และ Aquino (1999) ศึกษากลไกของการให้อภัยหรือแก้แค้นของบุคคล โดยเสนอว่า บุคคลจะทำการแก้แค้นหรือให้อภัยนั้น เริ่มต้นจากกระบวนการรับรู้ความรุนแรงของการคุกคามหรือละเมิดจากผู้ที่เป็นเป้าหมายเสียก่อน จากนั้นจะผ่านกระบวนการกล่าวโทษของบุคคล ว่าการมาคุกคามหรือละเมิดนั้นเป็นผู้ผิดหรือสมควรต้องได้รับการตอบโต้หรือไม่ และบุคคลจะประเมินถึงความรู้สึกชื่นชอบที่ตนมีต่อผู้ที่มีคุกคามหรือละเมิดว่าอยู่ในระดับใด เพียงพอหรือไม่ที่จะทำให้เกิดการให้อภัยหรือไม่ทำการตอบโต้ล้างแค้น ซึ่งส่งผลต่อกระบวนการรู้คิดและแรงจูงใจที่จะแก้แค้นหรือให้อภัย นำไปสู่พฤติกรรมแก้แค้นหรือให้อภัยในที่สุด

 

หากบุคคลรับรู้ว่าการคุกคามมีระดับรุนแรงมาก ก่อให้เกิดอารมณ์ทางลบสูง จำเป็นที่จะต้องให้ผู้ที่มาคุกคามรับผิดชอบ และบุคคลก็ไม่ได้รู้สึกชื่นชอบผู้ที่มาคุกคามเท่าใดนัก และเมื่อผ่านกระบวนการรู้คิดของบุคคลแล้ว บุคคลเห็นว่าจำเป็นที่จะต้องตอบโต้หรือแสดงออกเพื่อเป็นการเรียกร้องสิ่งที่ตนสมควรได้รับ หรือเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแล้ว บุคคลก็อาจแสดงพฤติกรรมแก้แค้น หรือหากบุคคลเห็นว่าผู้ที่มีคุกคามอาจมีเหตุจำเป็น และตนเองไม่อยากจะมีความรู้สึกทางลบอีก ต่อไปก็อาจแสดงพฤติกรรมให้อภัยได้

 

ต่อมา Zourrig (2010) ได้เพิ่มเติมการประเมินขั้นปฐมภูมิและทุติยภูมิและเสนอเป็นโมเดลของกลยุทธ์ในการเผชิญปัญหาไว้ว่า เมื่อบุคคลถูกคุกคามหรือละเมิด บุคคลจะมีการประเมินขั้นปฐมภูมิ โดยพิจารณาความรุนแรงของการเป็นภัยหรือการสูญเสีย หากรับรู้ว่าการคุกคามหรือละเมิดนั้นเป็นภัยหรือทำให้เกิดการสูญเสียมาก จะเกิดกลไกการประเมินขั้นทุติยภูมิขึ้น ว่าการคุกคามหรือการละเมิดนั้นมีสาเหตุมาจากภายนอกหรือภายในตัวบุคคล

 

ถ้าสาเหตุที่มีผู้มาคุกคามนั้นมีส่วนมาจากการด้อยความสามารถหรือขาดศักยภาพในการรับมือกับปัญหาของตัวบุคคลเอง บุคคลก็อาจโทษตนเองว่าเป็นต้นเหตุในการทำให้ผู้อื่นสูญเสียผลประโยชน์ จนจำเป็นที่จะต้องมาทำการคุกคามเพื่อทวงสิทธิ์ ดังนั้นตนเองก็มีส่วนที่จะต้องรับผิดชอบ จึงมีโอกาสที่จะให้อภัยได้มากกว่า

 

แต่ถ้าหากบุคคลประเมินการคุกคามหรือละเมิดว่ามีสาเหตุมาจากภายนอกตัวบุคคล คือบุคคลมีศักยภาพเพียงพอและรู้วิธีจัดการกับปัญหานั้น แต่ยังมีผู้คุกคาม แสดงว่าการละเมิดนั้นอาจขาดความชอบธรรม มีการเบียดเบียนผลประโยชน์ของตนเอง ดังนั้นบุคคลจึงมีการกล่าวโทษผู้อื่น และไม่เห็นว่าเป็นความรับผิดชอบของตน ซึ่งจะก่อให้เกิดการตอบโต้หรือแก้แค้นมากกว่า

 

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอีกหนึ่งอย่างทีควรคำนึงถึง คือ คนที่มาสร้างความไม่พึงพอใจหรือคุกคามเรานั้น เราถือว่าเขาเป็นสมาชิกภายในกลุ่มเดียวกัน (ingroup) หรือ เป็นคนนอกกลุ่ม (outgroup) ซึ่งโดยปกติแล้วเรามีแนวโน้มจะให้อภัยคนที่อยู่ภายในกลุ่มเดียวกันมากกว่า ยกเว้นในบางกรณีที่เรารู้สึกว่าการคุกคามนั้นมีความรุนแรง การให้อภัยจะน้อยลง และอาจมีการตอบโต้กลับไปเพื่อเป็นสัญญาณเตือนว่าเราอาจไม่สามารถยอมได้ตลอด

 

 

ปัจจัยที่ส่งผลต่อการให้อภัย


 

Fehr, Gelfand, และ Nag (2010) ได้รวบรวมงานวิจัยเกี่ยวกับพื้นนิสัยการให้อภัยและการให้อภัยเฉพาะเหตุการณ์ และสรุปได้ว่าปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการให้อภัยมี 3 ประการ คือ

 

1. ปัจจัยด้านการรู้คิด

ในสถานการณ์หนึ่งๆ บุคคลจะให้อภัยมากขึ้นเมื่อรับรู้ว่าผู้ที่มาคุกคามตนนั้นไม่มีเจตนาที่จะกระทำผิดต่อตัวบุคคล มีการแสดงความรับผิดชอบต่อผลของการคุกคาม มีการสำนึกผิดและขอโทษต่อผู้เสียหาย และผู้ถูกละเมิดรับรู้ว่าการคุกคามนั้นไม่มีความรุนแรงมากนัก นอกจากนี้หากบุคคลมีบุคลิกภาพแบบเปิดใจกว้าง (openness) เข้าใจมุมของผู้อื่น (empathy) สูง บุคคลก็จะมีแนวโน้มให้อภัยสูงเป็นพื้นนิสัย

 

2. ปัจจัยด้านอารมณ์ความรู้สึก

ในสถานการณ์หนึ่งๆ บุคคลจะให้อภัยมากขึ้นเมื่อมีอารมณ์เห็นอกเห็นใจ และมีอารมณ์ทางบวก แต่หากบุคคลมีอารมณ์ทางลบ โกรธ บุคคลจะให้อภัยน้อยลง นอกจากนี้หากบุคคลมีการเห็นคุณค่าแห่งตนสูง (high self-esteem) ชอบเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ไม่อ่อนไหวง่ายหรือไม่มีพื้นฐานฉุนเฉียว โกรธ หรือเศร้าง่าย บุคคลก็จะมีแนวโน้มให้อภัยสูงเป็นพื้นนิสัย

 

3. ปัจจัยด้านการระงับยับยั้งใจ

ในสถานการณ์หนึ่งๆ บุคคลจะให้อภัยมากขึ้นเมื่อมีความสัมพันธ์ใกล้ชิด มีความผูกพัน และมีความพึงพอใจในความสัมพันธ์กับบุคคลที่มาคุกคาม นอกจากนี้หากบุคคลมีความเคร่งครัดยึดมั่นตามหลักศาสนา และคำนึงถึงความน่าพึงปรารถนาทางสังคมสูง (social desirability) บุคคลก็จะมีแนวโน้มให้อภัยสูงเป็นพื้นนิสัย

 

ส่วนปัจจัยอื่น ๆ เช่น เพศ ไม่มีความสัมพันธ์กับการให้อภัยของบุคคล ส่วนอายุหรือช่วงเวลาที่ใช้ในการถอยห่างจากการคุกคามนั้น สัมพันธ์กับการให้อภัยในระดับต่ำมาก

 

 


 

 

ข้อมูลจาก

“อิทธิพลของการเห็นคุณค่าแห่งตนโดยชัดแจ้งและโดยนัย ต่อการให้อภัยโดยชัดแจ้งและโดยนัยโดยมีอคติโดยชัดแจ้งและโดยนัยเป็นตัวแปรส่งผ่าน : การวิเคราะห์กลุ่มพหุ เปรียบเทียบระหว่างการคุกคามจากภายในกลุ่มและภายนอกกลุ่ม” โดย ชาญ รัตนะพิสิฐ (2559) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/52133

 

ภาพจาก https://www.readersdigest.ca/health/relationships/how-forgive-four-step-plan/

 

 

แชร์คอนเท็นต์นี้