ปรับวิธีคิดการเลี้ยงลูกให้ทันกับโลกยุคดิจิตอล

08 Jan 2018

อาจารย์ ดร.นิปัทม์ พิชญโยธิน

 

ในช่วงปี 2560 ที่ผ่านมา ดิฉันมักได้อ่านผ่านตาบทความจำนวนหนึ่งที่พูดถึงอาชีพต่าง ๆ ที่กำลังจะแทนที่แรงงานคนด้วยเครื่องกลอัจฉริยะ ในยุคที่เทคโนโลยีมีความรุดหน้ารวดเร็วเพียงชั่วข้ามคืน ไอเดียธุรกิจ หรือกิจกรรมอะไรก็ตามที่เราคิดได้วันนี้ พรุ่งนี้เราอาจจะพบว่ามีคนที่คิดเหมือนเราและทำผลงานออกมาก่อนเราเสียแล้ว

 

ในยุค internet of things มีผู้ที่ใช้นามว่า Dr.PsY แห่งเว็บ Propertytoday ได้แปลไว้อย่างเหมาะเจาะว่า “อินเทอร์เน็ตในทุกสิ่ง” นั้น เราสามารถสื่อสาร ค้าขาย โพส ไลค์ เมนท์ แชร์ หรือทำธุรกรรมใดๆ ได้รวดเร็วเพียงปลายนิ้วสัมผัส

 

ในฐานะที่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยที่ทำหน้าที่หนึ่งคือการผลิตบุคลากรทางจิตวิทยาพัฒนาการ (Developmental Psychology) ที่ศึกษาพัฒนาการมนุษย์ตั้งแต่แรกปฏิสนธิไปจนถึงลมหายใจสุดท้ายของชีวิต เพื่อออกไปปรับใช้ในชีวิตและรับใช้สังคม ดิฉันเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่า แล้วอาชีพเรา วิชาการในศาสตร์ของเราที่เราถ่ายทอดไปให้นิสิตนั้น จะไปต่อไปในทิศทางใดในยุคนี้ จึงเริ่มสนใจอยากจะค้นและหาคำตอบ

กลุ่มคนที่มีบทบาทสำคัญที่ทำให้ฉันได้ตระหนักถึงประเด็นนี้คือ ผู้ที่เรียกตนเองว่าเป็น นักอนาคตศาสตร์ (Futurist) ในปัจจุบันมีการรวมกลุ่มคนที่ใช้กระบวนการคิดวิเคราะห์ ประมวลข้อมูล อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ เพื่อทำนายความเป็นไปของโลก ไม่ว่าจะในภาพกว้างอย่างสิ่งแวดล้อม การศึกษา เศรษฐกิจ สังคม ไปจนถึงภาพที่แคบลงมาในระดับองค์การและชุมชน คนกลุ่มนี้มักได้เชิญไปพูดในเวทีต่าง ๆ ซึ่งถ้าค้นใน TED.com ก็จะพบการพูดที่น่าสนใจอยู่หลายประเด็นเลยทีเดียว

 

นักอนาคตศาสตร์ที่สนใจประเด็นทางการศึกษา จึงเริ่มออกมาพูดถึง การที่เราต้องคิดใหม่ทำใหม่ในการจัดการเรียนรู้ให้นักเรียนมีทักษะแห่งอนาคตใหม่ (21st Century Skills; Rotherham & Willingham, 2010) ที่ต้องสามารถเรียนรู้ด้วยกันนำตนเองได้ อยากรู้เรื่องใดต้องค้นได้ วิเคราะห์ได้ว่าข้อมูลใดเป็นข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ต้องมีความสามารถในการทำงานเป็นทีม มีความรับผิดชอบต่อตัวเองและสังคม และมีใจเปิดกว้าง เปิดรับความต่าง เพราะเราสื่อสารกันทั้งโลก ไม่ได้จำกัดเฉพาะคนในชาติในภาษาเดียวกับเราเท่านั้น

 

พูดง่าย ๆ คือ ถ้าจะอยู่รอดในยุคใหม่ได้ ความเก่งที่ทำข้อสอบได้เกรด A อาจจะไม่สำคัญเท่ากับ การมีทักษะปรับตัว มีความคล่องตัวในการทำงาน ไม่ยึดติดกับกรอบเดิมๆ รู้เท่าทัน คิดวิเคราะห์ สังเคราะห์เป็น และที่สำคัญคือทำงานเป็น คนที่เก่งแบบท่องจำ เรียนรู้แบบผิวเผิน (surface learning; Hay, 2007) แต่ไม่ได้ให้ความสำคัญต่อการเรียนรู้เพื่อพัฒนาความเชี่ยวชาญของตนเอง ในอนาคตอาจจะอยู่ยากขึ้น เพราะงานแบบที่ใช้ทักษะเบื้องต้น หรืองานที่ทำตามรูปแบบซ้ำๆ เครื่องจักรอัจฉริยะสามารถทำแทนเราได้ แต่ความเป็นมนุษย์มีการเรียนรู้ เติบโต และมีชีวิตจิตใจ เป็นเรื่องที่เราต้องผลักดันศักยภาพในการพัฒนาตนเองให้เหนือกว่าสมองกลให้ได้

 

ดิฉันจึงอยากเชิญชวนให้ทุกคนลองคิดให้ได้แบบ Futurist วิเคราะห์งานอาชีพ ความชอบ ตัวตน และความสามารถของเราที่มีอยู่ ลองคิดวิเคราะห์ รวบรวมข้อมูลเชิงประจักษ์ (เอาที่ไม่บิดเบือนเข้าข้างตนเองนะคะ) อย่างเป็นระบบและเป็นวิทยาศาสตร์ และถามตัวเองว่า เรามีทักษะและมีการปรับตัวเพื่อให้ทันกับยุคใหม่นี้แล้วหรือยัง

 

ถ้าคุณเป็นพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย ที่กำลังมีบุตรหลาน ถ้าคุณคิดตามแบบ Futurist คุณจะรู้เลยว่า วิธีการเลี้ยงดูแบบที่เราเคยได้รับมา เติบโตมานั้น อาจจะใช้ไม่ได้แล้วกับการเลี้ยงเด็กยุคนี้ เนื่องจากเด็กยุคใหม่เกิดมาพร้อมกับยุคอินเทอร์เน็ตในทุกสิ่ง มีสิ่งยั่วยุที่ควบคุมได้ยากจากออนไลน์ พ่อแม่ ผู้เลี้ยงดูยุคใหม่ ต้องปูพื้นฐานให้เด็กเกิดความเชื่อมั่นว่าเราเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตเขาตั้งแต่แรกเริ่ม (trust) ตามแนวคิดของ Erikson (1950) และต้องสร้างสายใยความผูกพันธ์ (attachment) ที่ทำให้ลูกรู้ว่าเราเป็นที่พึ่งให้เขาได้ ให้เขาได้รู้จัก ได้รับ และได้ให้ความรัก และรักคนอื่นเป็นตั้งแต่ในบ้าน ตามแนวคิดของ Bowlby (1979) เหล่านี้จะเป็นปัจจัยตั้งต้นที่ดีที่จะทำให้บุตรหลานของเราออกไปรับมือกับโลกยุคใหม่ได้ เพราะมีภูมิคุ้มกันทางสังคมที่ดีจากที่บ้าน

 

ลองนึกถึงว่าหากลูกของเราโพสข้อความออนไลน์ หรือได้ออกสื่อออนไลน์ แล้วมีผู้คนมากมายที่ไม่ได้รู้จักกันมาพิมพ์ในเชิงต่อว่า ใช้คำพูดรุนแรงให้เสียหาย เด็กที่มีภูมิคุ้มกันทางสังคมที่ดีจากที่บ้านจะรับรู้ว่าตนมีครอบครัวที่รัก เข้าใจ และพร้อมจะเป็นที่พักใจ เป็นที่ปรึกษาได้ ผิดกับเด็กที่เติบโตมาโดยได้รับความรักไม่สม่ำเสมอ จึงไม่แน่ใจนักถึงความอบอุ่นจากคนในครอบครัว เมื่อมีความทุกข์ ก็อาจจะไม่เข้าหาครอบครัว อาจโกหก ปิดบัง และอาจเข้าหาเพื่อนหรือเด็กที่โตกว่ายามมีปัญหา

 

นอกจากนี้ เราจึงควรต้องมาคิดต่อว่าการเรียนหรือรูปแบบการศึกษาแบบที่เราเติบโตมา จะยังใช้ได้กับการสร้างคนรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพในศตวรรษที่ 21 นี้อยู่หรือไม่ ที่เป็นห่วงอย่างมากคือ การจัดการเรียนการสอนทางวิชาการที่เร็วเกินกว่าพัฒนาการและความพร้อมของเด็กเล็ก (Gallant, 2009) เด็กวัยนี้ควรได้เรียนรู้ผ่านการเล่นมากกว่าการนั่งเรียนนะคะ

 

พ่อแม่ปู่ย่าตายายเติบโตมากับชุดความคิดที่ว่าเรียนดี เรียนเก่ง เรียนจบ ได้งานที่ดีที่มั่นคง จึงเน้นเรื่องการเรียนและผลการเรียน จนอาจลืมพัฒนาองค์ประกอบด้านอื่นของชีวิตที่บุคคลในยุคใหม่จำเป็นต้องมีอย่างยิ่ง ซึ่งก็คือ การรู้จักตัวเอง การพัฒนาทักษะในกิจกรรมที่ตนเองชื่นชอบหลงใหล เพราะต้องไม่ลืมว่า ต่อไปจะมีอาชีพที่เกิดใหม่ที่คนยุคก่อนไม่คาดคิดมาก่อน เช่น การเป็นนักประกอบโมเดลหุ่นยนต์ที่มีกลุ่มผู้ติดตามออนไลน์ เป็นต้น และอาชีพที่มีอยู่บางอาชีพจะลดความสำคัญลงไป ที่เห็นได้ชัดเจนในปัจจุบันคือ อาชีพทางด้านสิ่งพิมพ์ที่เห็นได้ว่ามีนิตยสารหลายฉบับปิดตัวไป เนื่องจากยุคสมัยที่เปลี่ยน ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลผ่านทางสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วไม่ต้องรอเป็นรายเดือนหรือรายสัปดาห์

 

ดังนั้น แนวทางของคนยุคใหม่คือ การเป็นตัวจริง และรู้จริง ในเรื่องที่ตนสนใจ ถ้าขายสินค้าก็ต้องรู้จักคิดให้สินค้าและบริการมีความน่าสนใจ สร้างความพึงพอใจแก่ผู้ใช้ จึงต้องเป็นผู้ที่ใฝ่รู้ ค้นหาความรู้อย่างลึกซึ้ง (deep learning) และมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีร่วมมือทำงานกับผู้อื่นได้ ไม่ใช่เพื่อเกรด หรือเพื่อใบปริญญา แต่เพื่อสร้างมูลค่าให้กับตนเอง เพื่อพัฒนาศักยภาพให้แข่งขันกับคนทั้งโลกได้

 

สิ่งหนึ่งที่อาจารย์มหาวิทยาลัยอย่างดิฉันพอจะมีส่วนร่วมในยุคของการเปลี่ยนผ่านนี้ คือการปรับวิธีการสอนที่ส่งเสริมให้นิสิตได้คิด วิเคราะห์ สังเคราะห์ให้มากขึ้น ให้นิสิตได้ฝึกการค้นคว้าด้วยตนเอง และในฐานะของนักจิตวิทยาพัฒนาการ ดิฉันขอเชิญชวนให้คุณมาลองมองในเลนส์ของนัก Futurist และต้องกล้าที่จะออกจากกรอบ และปรับตัวให้ทัน ในทุก ๆ มุมมองของการใช้ชีวิต

 

บางคนอาจมองว่าสิ่งที่ดิฉันคิดเป็นเพียงนิยายเพ้อฝัน คิดว่ายังอีกนานกว่าโลกจะเปลี่ยนไปถึงจุดนั้น ถ้าเช่นนั้น ดิฉันขอเดินนำทางไปก่อนนะคะ เพราะมีอีกหลายคนที่เดินล่วงหน้าไปก่อนเร็วกว่าดิฉันอีกค่ะ

 

 

 

รายการอ้างอิง

 

Bowlby, J. (2002). The making & breaking of affectional bonds. New York: Brunner-Routledge.

 

Erikson, E. H. (1950). Childhood and Society. New York: Norton.

 

Gallant, P. A. (2009). Kindergarten teachers speak out: “Too much, too soon, too fast!”. Reading Horizons, 49(3), 201-220.

 

Hay, D. B. (2007). Using concept maps to measure deep, surface, and non-learning outcomes. Studies in Higher Education, 32(1), 39-57.

 

Rotherham, A. J., & Willingham, D. T. (2010). “21st century” skills: Not new, but a worthy challenge. American Educator, Spring 2010, 17-20.

 

ภาพประกอบจาก https://anmysite.com/top/looking-through-telescope.html

 

 


 

 

บทความโดย

อาจารย์ ดร.นิปัทม์ พิชญโยธิน

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

แชร์คอนเท็นต์นี้