ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา เราแต่ละคนล้วนต้องมีการปรับตัวไม่มากก็น้อย บ้างก็ต้องเรียนจากที่บ้าน บ้างก็ต้องทำงานจากที่บ้าน บ้านจึงกลายเป็นสถานที่ที่ไม่ได้ไว้สำหรับการพักผ่อนหลังจากการทำกิจกรรมในแต่ละวันอีกต่อไป การได้ใช้เวลาอยู่ในบ้านร่วมกันมากขึ้นก็อาจยิ่งทำให้แต่ละคนจำเป็นต้องปรับตัวเข้าหากันมากขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเรามีความเครียดหรือความคับข้องใจ บทสนทนาธรรมดาทั่ว ๆ ไปก็สามารถสร้างความขัดแย้งขึ้นได้โดยง่าย การพยายามรักษาบทสนทนาต่อจึงอาจแปรเปลี่ยนไปเป็นการยื้อให้เกิดการโต้เถียงแทน และในหลายครั้งการโต้เถียงก็นำไปสู่การเกิดความรุนแรงในความสัมพันธ์ ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ เช่น การใช้ความรุนแรงทางคำพูด การใช้ความรุนแรงทางอารมณ์ การใช้ความรุนแรงทางกาย ฯลฯ
ความแตกต่างระหว่างบทสนทนาที่สร้างสรรค์และการโต้เถียงที่ทำให้เกิดความขัดแย้ง
บทสนทนาที่สร้างสรรค์ คือ
- การแลกเปลี่ยนข้อมูลอย่างให้เกียรติซึ่งกันและกันบนพื้นฐานของความเข้าใจและประนีประนอมต่อความแตกต่างระหว่างบุคคล
- มีการเห็นคุณค่าของความรู้สึกของตนเองและผู้อื่น
- เกิดการขยายมุมมองด้วยกันทั้งสองฝ่าย
การโต้เถียงที่ทำให้เกิดความขัดแย้ง คือ
- ความพยายามเชิงบีบบังคับให้คู่สนทนารับรู้ว่าเราเป็นฝ่ายที่ถูกต้องด้วยการหักล้างข้อมูล
- การลดทอนคุณค่าของความรู้สึกของอีกฝ่าย
- การพยายามทำลายมุมมองของอีกฝ่าย
อะไรทำให้บทสนทนากลายไปเป็นการโต้เถียง?
การโต้เถียงเกิดขึ้นเมื่อความขัดแย้งในบทสนทนานั้นไปคุกคามตัวตนและสถานะ หรือไปลดทอนอำนาจในความสัมพันธ์ของคู่สนทนา จึงทำให้เป้าหมายของการโต้เถียงนั้นเป็นไปเพื่อการพิสูจน์ว่าตนเองมีความเหนือกว่า ไม่ใช่การค้นหาความจริง ซึ่งอำนาจในความสัมพันธ์นั้นเกี่ยวข้องกับการรับรู้คุณค่าของตนเองด้วย เมื่อการรับรู้คุณค่าของตนเองถูกกระทบและบุคคลนั้นรับรู้ได้ว่าตนมีคุณค่าต่ำ แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ต้องการแสดงออกว่าตนเปราะบาง จึงนำไปสู่ความพยายามที่จะแสดงออกถึงอำนาจเหนืออีกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นการแสดงออกอย่างชัดเจน เช่น การใช้ภาษาที่ลดทอนคุณค่าของอีกฝ่าย หรือการแสดงออกอย่างแอบแฝงซ่อนเร้น เช่น การพูดเสียดสี การใช้น้ำเสียง ภาษากาย และการแสดงออกทางสีหน้า
วิธีที่ช่วยลดโอกาสไม่ให้บทสนทนากลายเป็นการโต้เถียง
(1) พูดคุยกันใหม่เมื่อพร้อม ความรู้สึกไม่สบายอย่างฉับพลันเป็นสัญญาณเตือนว่าเราไม่พร้อมที่จะใช้เหตุผลในการพูดคุย ณ ตอนนี้ และเนื่องจากบทสนทนาที่ดีควรมีพื้นฐานจากความพร้อมของทั้งสองฝ่าย ดังนั้น เราจึงควรหาวิธียุติบทสนทนาเมื่อรับรู้ว่าเกิดอารมณ์เข้มข้นในบทสนทนานั้น และมีการตกลงกันเพื่อพูดคุยประเด็นดังกล่าวอีกครั้งในเวลาที่พร้อมทั้งสองฝ่าย (เช่น อาจเป็นการพูดว่า “เอาไว้ค่อยมาคุยกันใหม่ในประเด็นนี้ตอนที่เราทั้ง 2 คนใจเย็นลงกว่านี้นะ”)
(2) หาสถานที่ที่สงบเพื่อใช้เวลาในการปรับสภาพจิตใจหรือสร้างกิจวัตรประจำวันในการผ่อนคลายตัวเอง เช่น การออกไปเดินเล่น ชื่นชมธรรมชาติ การฟังเพลงบรรเลง การเล่นกับสัตว์เลี้ยง
(3) ตระหนักเสมอว่าการกล่าวโทษไปที่ตัวตนของใครคนหนึ่งนั้นเกิดขึ้นเมื่อเราไม่รู้ว่าจะรับมือกับปัญหานี้ได้อย่างไร หลายครั้งบทสนทนาจะหลุดไปที่ประเด็นอื่น กลายเป็นการกล่าวโทษไปที่ตัวตนของใครคนหนึ่งว่าเป็นสาเหตุของปัญหา ซึ่งในความเป็นจริง แนวทางการแก้ปัญหาจะเกิดจากการที่ต่างฝ่ายต่างตระหนักว่าปัญหาที่แท้จริงไม่ได้เกิดจากความขัดแย้ง แต่เกิดจากความหมายที่แต่ละฝ่ายเข้าใจที่ไม่เหมือนกันต่อประเด็นปัญหานั้น ๆ ดังนั้น การที่แต่ละฝ่ายสามารถสื่อสารถึงความคิดของตนเองจึงเป็นจุดเริ่มต้นในการทำความเข้าใจมุมมองของอีกฝ่ายและปรับมุมมองของแต่ละฝ่ายเข้าหากันด้วยเหตุและผล ซึ่งนำไปสู่การพยายามปรับความคิดเข้าหากันและนำไปสู่ความขัดแย้งที่ลดลง
(4) เป็นผู้ฟังที่ดี การโต้เถียงเป็นการที่ทั้งสองฝ่ายพยายามพูดในเวลาเดียวกันจึงทำให้ไม่มีผู้ฟัง ดังนั้น จึงควรมีการตั้งเงื่อนไขในการแสดงออกถึงความรู้สึกของแต่ละคนโดยที่มีการเลือกให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นผู้พูดก่อน เมื่อพูดจบก็จะให้อีกฝ่ายได้พูด ความรู้สึกขัดแย้งที่เกิดขึ้นเป็นผลจากการตีความของแต่ละบุคคลต่อสถานการณ์นั้น ๆ และหลายครั้งก็ยากที่จะทำความเข้าใจต่อมุมมองของบุคคลอื่น ซึ่งหากเราสามารถทำความเข้าใจบนมุมมองของบุคคลอื่น ความรู้สึกของบุคคลนั้นก็จะสมเหตุสมผลขึ้นมา ดังนั้น เป้าหมายของการเป็นผู้ฟังคือการพยายามเข้าใจมุมมองของอีกฝ่ายโดยไม่ได้มีความรู้สึกว่าตนเองถูกลดทอนคุณค่า
(5) เข้าอกเข้าใจ ในความเป็นจริง เราทุกคนอยากรับรู้ว่าอีกฝ่ายกำลังฟังและเข้าใจว่าเรารู้สึกอย่างไรอยู่ มากกว่าการพยายามพิสูจน์ว่าเราเป็นฝ่ายที่ถูกต้อง
โดยสรุป การโต้เถียงที่ไม่สร้างสรรค์ไม่ได้นำไปสู่การพัฒนาความสัมพันธ์ในทางบวก เพราะการโต้เถียงที่ไม่สร้างสรรค์ย่อมทำให้มีฝ่ายหนึ่งกลายเป็นผู้ชนะและอีกฝ่ายหนึ่งกลายเป็นผู้แพ้ ซึ่งในความสัมพันธ์ที่ดีนั้นควรตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเท่าเทียมกันทั้งสองฝ่าย หรือพูดในอีกทางหนึ่ง คือ ทั้งสองฝ่ายชนะปัญหาในความสัมพันธ์ไปด้วยกันและไม่มีใครถูกทิ้งไว้ให้เป็นผู้แพ้ในการรับผิดชอบปัญหาเพียงฝ่ายเดียวนั่นเอง
รายการอ้างอิง
https://www.psychologytoday.com/au/blog/anger-in-the-age-entitlement/202204/how-discuss-and-disagree-without-arguing
https://psychcentral.com/lib/shifting-from-conversation-to-argument-and-what-to-do-about-it#1
https://www.thecouplescenter.org/how-to-turn-arguments-into-conversations/
บทความโดย
กาญจนณัฐ คุณากรโอภาส และ ผศ.ดร.อภิชญา ไชยวุฒิกรณ์วานิช
แขนงวิชาจิตวิทยาสังคม