การใช้ชีวิตในทุกวันนี้ของเราดูจะเป็นการมุ่งไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว มองไปยังเป้าหมายอนาคต ใช้ชีวิตอยู่กับเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง จนบางครั้งเราเองก็มองแต่ข้างหน้า มองแต่เพียง “ตัวเอง”จนลืมที่จะมองข้างหลัง มองสิ่งที่อยู่ข้าง ๆ มองที่ผู้อื่นหรือสิ่งอื่น
นานแค่ไหนแล้วที่เราไม่ได้นึกขอบคุณใครสักคนอย่างล้นใจ ขอบคุณอย่างซาบซึ้ง ขอบคุณแบบที่ไม่ใช่เพียงแค่การเอ่ยว่าขอบคุณตามมารยาทสังคม
หากเป็นการเอ่ยคำว่าขอบคุณที่มาจากใจที่น้อมระลึกขึ้นมาได้ว่าคน ๆ นั้น หรือสิ่งนั้นช่างมีส่วนที่ทำคุณต่อเรา ซาบซึ้งในใจว่าการที่มีตัวเราในทุกวันนี้ เพราะมีคนที่เกื้อกูลเรา มีธรรมชาติที่เกื้อหนุน มีประสบการณ์ที่ผ่านมาที่เราได้เรียนรู้และเติบโต
ความรู้สึกขอบคุณอย่างลึกซึ้งดังกล่าวเป็นสิ่งที่นักจิตวิทยาเรียกว่า ความรู้สึกซาบซึ้งขอบคุณ (Gratitude) เป็นความรู้สึกที่ยินดี ซาบซึ้ง เป็นความรู้สึกที่งดงามที่เรามีต่อผู้อื่น หรือแม้ต่อสิ่งที่ไม่ใช่บุคคล เช่น ธรรมชาติ ประสบการณ์ที่ผ่านมาในชีวิตของเรา
นักจิตวิทยาในกลุ่มจิตวิทยาเชิงบวกได้มีการศึกษาเรื่องความรู้สึกซาบซึ้งขอบคุณนี้ไว้มากมาย จนสามารถกล่าวได้ว่าการขอบคุณอย่างลึกซึ้งเช่นนี้มีผลทางบวกต่อตัวเรามากกว่าที่เราอาจจะเคยนึกถึง โดยผู้นำในการศึกษาเรื่องความรู้สึกซาบซึ้งขอบคุณคือนักจิตวิทยาชาวอเมริกันชื่อ Robert Emmons ได้กล่าวว่า ความรู้สึกซาบซึ้งขอบคุณว่ามีสองสิ่งร่วมอยู่
สิ่งแรก คือ ความรู้สึกว่าความดีงามในโลกนี้มีอยู่จริง ๆ และเรามั่นใจได้จากสิ่งต่าง ๆ ที่เราได้รับ
สิ่งที่สอง คือ การที่เราเห็นได้ว่าความดีงามที่มันเกิดขึ้นนั้น เกิดมาจากแหล่งนอกตัวเรา เรามองเห็นการมีส่วนของผู้อื่นที่เข้ามามีต่อเรา
ความรู้สึกซาบซึ้งขอบคุณนี้มีผลทางบวกไม่ใช่เพียงแต่กับคนที่เราเอ่ยคำว่าขอบคุณต่อเขา แล้วเขาจะรู้สึกว่าเราเห็นค่าเขาเท่านั้น หากนักจิตวิทยาได้ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับความรู้สึกซาบซึ้งขอบคุณ และพบถึงผลทางบวกของความความบุคคล และต่อสัมพันธภาพ เช่น งานวิจัยของ Emmons และ McCullough ในปี ค.ศ. 2003 ได้พบว่าความรู้สึกซาบซึ้งขอบคุณมีส่วนช่วยเพิ่มสุขภาวะ
งานวิจัยของ Gordon, Impett, Kogan, Oveis, และ Keltner ในปี ค.ศ. 2012 พบว่าความรู้สึกซาบซึ้งขอบคุณเป็นความรู้สึกที่ช่วยเสริมสร้างสัมพันธภาพที่มีดีขึ้น เนื่องจากเราได้ตระหนักว่าเราได้รับความช่วยเหลือและกำลังใจจากคนเหล่านั้นอย่างไรบ้าง และยังส่งผลสืบเนื่องถึงการรับรู้ว่าสิ่งที่ทำลงไปได้รับการเห็นถึงคุณค่าอีกด้วย
เมื่อเรารู้ถึง “คุณ”ของการขอบคุณว่ามีทั้งต่อเรา และต่อผู้อื่นแล้ว ดังนั้น วันนี้เราน่าจะเริ่มมองสิ่งต่าง ๆ ผู้คนรอบตัวเราอย่างเห็นใน “คุณ” ที่เขามีต่อเรา ใน “ค่า” ที่เขามีสำหรับเรากันเถิดนะคะ
ผู้เขียนขอนำเสนอวิธีง่าย ๆ 2 วิธีที่สามารถนำมาใช้ได้กับตัวเองหรือจะใช้ฝึกให้ลูกหลานของเราก็ได้
วิธีแรกเป็นวิธีในการพัฒนาความรู้สึกซาบซึ้งขอบคุณ ที่นักวิจัยมักใช้ในการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับความรู้สึกซาบซึ้งขอบคุณ คือ การเขียนบันทึกถึงความรู้สึกซาบซึ้งขอบคุณ โดยเป็นการเขียนถึง 5 สิ่งที่เรารู้สึกขอบคุณในแต่ละสัปดาห์ การทำเช่นนี้จะทำให้เราพัฒนาการคิดที่มองสิ่งต่างๆ อย่างยินดี และลดความคิดที่มองสิ่งต่างๆอย่างไม่ยินดีค่ะ
อีกวิธีที่อยากจะนำเสนอคือวิธีที่ผู้เขียนเองเห็นว่าง่ายและใช้ได้เป็นประจำ คือ การทบทวนก่อนนอนว่าวันที่กำลังจะผ่านไปวันนี้ เรามีอะไรที่เรารู้สึกขอบคุณบ้าง ลองนึกทบทวนนะคะ ถ้าเราทำเช่นนี้สม่ำเสมอทุกคืนก็จะเป็นการค่อย ๆ ฝึกตัวเราเองให้มองสิ่งต่าง ๆ ด้วยความรู้สึกซาบซึ้งขอบคุณได้ค่ะ
…ขอบคุณพ่อแม่ที่เลี้ยงดูฟูมฟักจนเติบโต
…ขอบคุณสามีที่เอื้ออาทรเปิดโอกาสให้ทำในสิ่งที่รัก
…ขอบคุณลูกที่เกิดมาเป็นลูกแม่ให้แม่รู้จักกับความรักที่แสนยิ่งใหญ่
…ขอบคุณครูที่สั่งสอนจนมีวิชา
…ขอบคุณเพื่อนที่อยู่เคียงข้างฝ่าฟันอุปสรรค
…ขอบคุณโอกาสในการเขียนบทความทำให้ผู้เขียนมีโอกาสทบทวนถึงความรู้สึกดี ๆ เช่นนี้
…ขอบคุณผู้อ่านที่อ่านมาถึงตรงนี้ค่ะ
รายการอ้างอิง
Bono, G., Emmons, R. A., & McCullough, M. E. (2004). Gratitude in practice and the practice of gratitude. Positive psychology in practice, 464-481.
Emmons, R. A., & McCullough, M. E. (2003). Counting blessings versus burdens: an experimental investigation of gratitude and subjective well-being in daily life. Journal of personality and social psychology, 84(2), 377.
Froh, J. J., Sefick, W. J., & Emmons, R. A. (2008). Counting blessings in early adolescents: An experimental study of gratitude and subjective well-being. Journal of school psychology, 46(2), 213-233.
Gordon, A. M., Impett, E. A., Kogan, A., Oveis, C., & Keltner, D. (2012). To have and to hold: gratitude promotes relationship maintenance in intimate bonds. Journal of personality and social psychology, 103(2), 257.
ภาพจาก https://www.pexels.com/search/gratitude/
บทความโดย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์
คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย