การเผชิญหน้ากับสถานการณ์ยากลำบาก ท้าทายและยาวนาน เป็นธรรมดาที่ทำให้หลายๆ คนรู้สึกสับสน ห่อเหี่ยว หรือหมดแรงใจ ด้วยบางครั้งอาจจะต้องเจอกับการสูญเสีย การจากลา ความผิดหวัง หรือยังไม่สามารถหาทางออกจากปัญหาได้ การเผชิญหน้ากับสถานการณ์เหล่านี้อาจนำไปสู่ภาวะจำยอมและอาจจะมีความคิดว่าตนเองไม่มีอำนาจในการจัดการชีวิตตนเองได้
ในทางกลับกัน ในช่วงเวลาเหล่านี้ พบว่ามีปัจจัยหลายด้านที่ะช่วยให้เราสามารถเผชิญหน้าและก้าวผ่านสถานการณ์ยากลำบากไปได้ หนึ่งในนั้น เรียกว่า “ความหวัง” (Hope) ความหวังเป็นคำที่ใช้อธิบายความรู้สึกที่สะท้อนให้เห็นถึงมุมมองต่อสถานการณ์ในภายภาคหน้า ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นความรู้สึกที่ผ่านมาเท่านั้น แต่ความหวังยังถูกเชื่อมต่อกับเป้าหมาย และความเชื่อมั่นในตนเองว่าจะสามารถก้าวผ่านอุปสรรคต่าง ๆ ในสถานการณ์ที่กำลังเผชิญอยู่ได้อย่างประสบความสำเร็จ (Edwards, 2009)
นักจิตวิทยาหลายแขนงได้ศึกษาตัวแปร “ความหวัง” ซึ่งเป็นตัวแปรที่มีความน่าสนใจ หนึ่งในนั้นคือ Snyder (2000) ได้นิยามความหมายของความหวังไว้ว่าหมายถึง ภาวะแรงจูงใจในด้านบวกที่เกี่ยวข้องกับความรู้สึกประกอบไปด้วยองค์ประกอบสำคัญ 3 ข้อ คือ
1. เป้าหมายที่ต้องการให้สำเร็จ (Goal)
2. แนวทางหรือวิธีการในการพิชิตเป้าหมาย (Pathways)
3. แรงจูงใจในการขับเคลื่อน (Agency)
บุคคลที่มีความหวังและประสบความสำเร็จในเป้าหมายที่วางไว้ จะมีความเชื่อมั่นและสามารถบอกกับตนเอง (Self-talk agency) ถึงความเชื่อมั่นนั้นได้ เช่น มักบอกกับตนเองว่า “ฉันทำได้” หรือ “ฉันสามารถจัดการปัญหานี้ได้”
ความหวังที่เรากำลังพูดกันนี้จึงเปรียบเสมือนสภาวะหนึ่งที่เกิดขึ้นภายในตนเองและเป็นสภาวะที่เป็นองค์รวมทางสังคมได้เช่นกัน โดยในงานวิจัยที่ศึกษาเรื่องความหวังพบว่า ระดับความหวังของปัจเจกบุคคลมักเกี่ยวข้องกับลักษณะบุคลิกภาพและได้รับอิทธิพลทางจิตสังคม (การบรรลุเป้าหมาย การเผชิญกับความเครียด การสนับสนุนทางสังคม การดูแลที่สอดคล้องกับเป้าหมาย) ปัจจัยทางสรีรวิทยา (ฮอร์โมนและสารสื่อประสาท) และปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ (Corn et al., 2020)
ความหวังในเชิงปัจเจกจึงมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นตามมุมมองของแต่ละบุคคล และสภาพแวดล้อมรอบตัวที่จะส่งเสริมให้บุคคลเหล่านั้นมีความหวังและแรงจูงใจในการตั้งเป้าหมายได้ถึงแม้จะอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากก็ตาม เช่นเดียวกับบทความของ Gallagher ตีพิมพ์ในปี 2013 ศึกษาว่าผู้คนมีความหวังให้ชีวิตของพวกเขาในอีก 5 ปีข้างหน้าจะดีเท่าหรือดีกว่าปัจจุบันหรือไม่ การศึกษานี้รวบรวมผู้คนมากกว่า 100,000 คนจากกว่า 100 ประเทศ และพบว่าผู้คนทั่วโลกมักมีความหวังในเชิงบวกสำหรับอนาคต และมักจะเชื่อว่าสิ่งนี้จะดีหรือเท่าเทียมกับปัจจุบัน สะท้อนให้เห็นว่า ความหวังเป็นเป็นทรัพยากรที่แม้แต่คนที่กำลังเผชิญกับอุปสรรคทุกประเภทก็สามารถรักษาไว้และสามารถพึ่งพาเพื่อรับมือกับความเครียดต่าง ๆ ได้
ในขณะที่การศึกษาความหวังในภาพใหญ่ เช่น สังคมหรือองค์กร พบว่าความหวังเป็นอารมณ์เชิงบวกที่ส่งเสริมความสามารถในการฟื้นพลังของพนักงาน (Employee resilience) (Froman 2010) และยังพบว่าการมีความหวังจะทำให้พนักงานมีความหมดแรงใจในการทำงาน (Burnout) น้อยลงและมองโลกในแง่ดี (Optimism) มากขึ้น มีความกระตือรือร้นในการค้นหาวิถีทางใหม่ ๆ ในการเอาชนะต่ออุปสรรคที่เกิดขึ้นในที่ทำงาน มีสุขภาวะที่ดี มีความพึงพอใจและความผูกพันต่อองค์กร และสามารถปฏิบัติงานในหน้าที่ที่รับผิดชอบได้อย่างมีประสิทธิภาพแม้กระทั่งในงานที่มีความท้าทายก็ตาม (Bailey et al. 2007; Froman, 2010)
การที่สังคมหรือองค์กรส่งเสริมให้บุคลากรหรือกลุ่มคนมีเป้าหมายร่วมกัน และเป็นเป้าหมายที่มีความหมาย มีแรงจูงใจในการขับเคลื่อนเป้าหมายนั้นให้ประสบความสำเร็จ เป็นการสร้างความหวังต่อคนในองค์กร อีกทั้งยังเป็นการสร้างวัฒนธรรมการทำงานที่มุ่งเน้นการจัดการปัญหาและการทำงานอย่างสร้างสรรค์ ช่วยให้บุคลากรในองค์กรมีสุขภาพจิตที่ดี ลดภาวะหมดแรงใจในการทำงานและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของบุคลากรในองค์กรได้มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นความหวังในเชิงปัจเจกหรือความหวังที่ถูกรับรู้ในเชิงสังคม สิ่งหนึ่งที่เห็นได้อย่างสอดคล้องคือ การที่เรามีความหวังนั้น นอกจากจะทำให้มีมุมมองต่อสถานการณ์ในอนาคตด้วยการมองโลกในแง่ดีแล้ว ยังเป็นการสะท้อนการรับรู้อำนาจในการจัดการชีวิตตนเอง (Internal locus of control) ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งในการก้าวผ่านอุปสรรค เมื่อเรารับรู้ว่าเราสามารถจัดการปัญหาได้ หรือเราเชื่อว่าเราสามารถแก้ไขได้ ความเชื่อมั่นในตนเองจึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามมา เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ไม่เพียงแต่เราจะจัดการปัญหาได้ แต่เราจะสามารถส่งต่อความเชื่อมั่นนี้ให้กับสังคมต่อไปได้ เมื่อสังคมมีความหวัง เราจะเห็นการร่วมแรงร่วมใจในการขับเคลื่อนสังคมเช่นกัน
ความหวังไม่ใช่เรื่องง่าย แต่คือการรับรู้ที่มีความหมายที่ทำให้เราต่างก้าวผ่านไปสู่สิ่งที่เรียกว่าดีขึ้นได้
รายการอ้างอิง
Colla R, Williams P, Oades LG and Camacho-Morles J (2022) “A New Hope” for Positive Psychology: A Dynamic Systems Reconceptualization of Hope Theory. Frontiers in Psychology, 13, 809053. http://doi.org/10.3389/fpsyg.2022.809053
Edwards, L. M. (2009). Hope. In S. J. Lopez (Ed.), Encyclopedia of Positive Psychology (Vol. 1, pp. 487-491). Hoboken, NJ: Wiley.
Froman, L. (2010). Positive psychology in the workplace. Journal of Adult Development, 17, 59–69. http://doi.org/10.1007/s10804-009-9080-0
Laranjeira, C. & Querido, A. (2022) Hope and Optimism as an Opportunity to Improve the “Positive Mental Health” Demand. Frontiers in Psychology, 13, 827320. https://doi.org/10.3389/fpsyg.2022.827320
Snyder, C. R. (Ed.). (2000). Handbook of hope: Theory, measures, and applications. Academic press.
Bailey, T. C., Eng, W., Frisch, M. B., & Snyder, C. R. (2007). Hope and optimism as related to life satisfaction. The Journal of Positive Psychology, 2(3), 168-175. https://doi.org/10.1080/17439760701409546
บทความวิชาการ
โดย คุณวรกัญ รัตนพันธ์
นักจิตวิทยาการปรึกษา ศูนย์สุขภาวะทางจิต คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย