ถ้าไม่ได้อยู่ที่จุดนั้นก็คงไม่มีวันที่จะเข้าใจกันได้ hot-cold empathy gap ช่องว่างระหว่างสภาวะที่เราเป็น

03 Oct 2023

คุณวีระยุทธ กุลสุวิพลชัย

 

หลาย ๆ ครั้งเราคงอดแปลกใจไม่ได้ที่เห็นตัวเราเอง เพื่อนเราหรือคนอื่น ที่มีพฤติกรรมที่เราต้องถามว่า “ทำไปได้อย่างไร” ยกตัวอย่างเช่น บางครั้งเราสั่งอาหารมาจำนวนมากเวลาที่เราหิวเพราะอยากกินไปหมด พอกินไปได้สักพักเราต้องมานั่งมองว่าจะกินหมดนี่ได้อย่างไร หรือบางครั้งเราก็ซื้อเสื้อผ้ามาทั้ง ๆ ที่ชุดที่มีอยู่ในตู้ยังใส่ไม่หมดด้วยซ้ำ เผลอ ๆ ซื้อมาจะไม่มีที่เก็บซะด้วยสิ และเรื่องเหล่านี้ก็มักจะเกิดซ้ำ ๆ กับเราอยู่ตลอด

 

นั่นเป็นเพราะว่าเราประเมินอิทธิพลของแรงกระตุ้นภายใน (visceral drives) ของเราต่ำเกินไปหรือเราปล่อยให้ตัวเองถูกแรงกระตุ้นนี้เข้าไปอยู่พาเราเข้าไปอยู่ในสภาวะ (state) นั้น โดยที่เมื่อเรารู้สึก “หิว” มากนั่นเองจึงสั่งอาหารมาเกินกว่าปกติหรือกินแบบไม่ยั้งแล้วมารู้สึกผิดทีหลัง หรือกำลังเห็นโฆษณาชุดสวย มีโปรโมชั่นดี ของมีจำกัด และกลัวคนอื่นจะมาแย่งเราซื้อเลยตัดสินใจซื้อมาโดยที่ไม่รู้ว่าจะได้ใส่หรือเปล่า

 

สิ่งเรานี้เกิดขึ้นเพราะว่าช่วงเวลาที่เราตัดสินใจนั้นอยู่ในสภาวะที่มีความอยาก (Hot State) ซึ่งหลังจากนั้นเมื่อเราหลุดพ้นจากแรงกระตุ้นแล้วกลับมาอยู่ในสภาวะปกติ (Cold State) เราก็อดหงุดหงิดตัวเองไม่ได้เหมือนกัน ที่สำคัญคือเมื่อเราอยู่ในช่วง Cold State นั้นเราก็คงไม่สามารถประเมินได้หรอกว่าเวลาที่เราอยู่ในช่วง Hot State เราจะมีพฤติกรรมหรือการตัดสินใจอย่างไร สิ่งนี้คือ hot-cold empathy gap นั่นเอง

 

อธิบาย hot-cold empathy gap ง่าย ๆ ก็คือ มันเป็นเรื่องที่ยากมากที่เราจินตนาการได้ว่าเมื่อเราอยู่ในอีกสภาวะนึง เราจะตัดสินใจหรือมีพฤติกรรมอย่างไร เพราะการตัดสินใจทำอะไรหรือมีพฤติกรรมอะไรของเรานั้นขึ้นอยู่กับสภาวะที่เราเป็นอยู่นั่นเอง (แต่บางคนอาจเจอสิ่งที่ตัวเองเป็นบ่อยจนเริ่มควบคุมตัวเองไม่ให้ไปอยู่ในสภาวะ Hot State หรือเข้าใจสิ่งที่ตัวเองเป็นในสภาวะ Hot State ได้บ้าง)

 

 

George Loewenstein และ Dan Ariely ได้ทำงานวิจัยเกี่ยวกับ hot-cold empathy gap เกี่ยวกับความคิดและพฤติกรรมทางเพศ โดยให้อาสาสมัครชาย 35 คน อายุ 18 – 21 ปี ตอบคำถามเกี่ยวกับความคิดและพฤติกรรมทางเพศหลายข้อในช่วงที่ใช้ชีวิตประจำวันตามปกติ (Cold State) และตอบคำถามเดิมอีกครั้งในช่วงที่มีความตื่นตัวทางเพศมาก (Hot State) นั่นคือช่วงที่กำลังช่วยตัวเองอยู่นั่นเอง โดยตอบผ่านแลปท็อปทั้งสองครั้งโดยให้คะแนนจาก 0 -100 ตัวอย่างของคำถาม (จริงถามหลายข้อแต่ขอยกตัวอย่างมาแค่นี้นะครับ) เช่น

 

คุณจะมีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิงอายุ 60 ไหม
คุณจะมีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิงที่คุณเกลียดไหม
หากคู่ของคุณชวนมีเพศสัมพันธ์แบบสามคนกับผู้ชายอีกคนคุณจะยอมไหม

 

ในช่วง Cold State ได้คำตอบว่า

 

คุณจะมีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิงอายุ 60 ไหม “ตอบว่าได้ 7 %”
คุณจะมีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิงที่คุณเกลียดไหม “ตอบว่าได้ 53%”
หากคู่ของคุณชวนมีเพศสัมพันธ์แบบสามคนกับผู้ชายอีกคนคุณจะยอมไหม “ตอบว่าได้ 19%”

 

ในช่วง Hot State ได้คำตอบว่า

 

คุณจะมีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิงอายุ 60 ไหม “ตอบว่าได้ 23 %”
คุณจะมีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิงที่คุณเกลียดไหม “ตอบว่าได้ 77%”
หากคู่ของคุณชวนมีเพศสัมพันธ์แบบสามคนกับผู้ชายอีกคนคุณจะยอมไหม “ตอบว่าได้ 34%”

 

การวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่าเวลาที่เราอยู่ในภาวะ Hot State นั้น เรามีความคิด การตัดสินใจ และพฤติกรรมที่ต่างจากช่วง Cold State ไม่น้อยเลย

 

 

ความเข้าใจเรื่อง hot-cold empathy gap นี้ยังช่วยให้เราเข้าใจคนที่อยู่ในสภาวะที่ไม่ได้อยู่ในสภาวะปกติทั่วไปเช่น หิว เหงา กลัว หรือเจ็บป่วยได้ นอกจากนี้ยังช่วยให้เราเข้าใจอีกว่าทำไมหลายครั้งที่เราวางแผนจะทำอะไรไว้เช่นแผนการควบคุมการกินอาหารเพื่อสุขภาพ แผนการนั้นถึงล้มไม่เป็นท่า เพราะเราวางแผนในช่วง Cold State ไม่ได้รู้สึกหิวอะไรหรือนึกไม่ออกด้วยซ้ำว่าอยากกินอะไร แต่เมื่อเราเองไปอยู่ในช่วง Hot State การตัดสินใจเลือกกินอาหารถึงไปคนละทางกับที่วางแผนไว้

 

ความเข้าใจในเรื่องนี้ยังนำไปสู่การปรับปรุงหรือพัฒนาโปรแกรมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้านสุขภาพต่างที่ช่วยในการดูแลสุขภาพให้ดีขึ้น หรือตัวโปรแกรมเองก็จะออกแบบให้ป้องกันผู้เข้าร่วมไปถึงสภาวะ Hot State เช่น การปรับลดอาหารอย่างค่อยเป็นค่อยไป รวมถึงมี Cheat Period บ้างเพื่อป้องกันไม่ให้ไปถึง Hot State แล้วทำให้แผนที่วางไว้พังหมดจนเสียกำลังใจและเลิกล้มไปในที่สุด

 

 

 

อ้างอิง

 

Ariely, D., & Loewenstein, G. (2006). The heat of the moment: The effect of sexual arousal on sexual decision making. Journal of Behavioral Decision Making, 19(2), 87-98.

Loewenstein, G. (2005). Hot-cold empathy gaps and medical decision-making. Health Psychology, 24(Suppl. 4), S49-S56.

 

 


 

 

 

บทความโดย

คุณวีระยุทธ กุลสุวิพลชัย

ผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

แชร์คอนเท็นต์นี้