คนไทยรวยอารมณ์ขัน
ผู้เขียนมีความคิดเช่นนี้ เพราะสังเกตเห็นว่าในทุกวิกฤตหนัก ๆ ที่คนไทยเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ในปัจจุบันนี้ สถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ประเทศไทย ปี พ.ศ. 2554 หรือสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมา (และยังไม่ผ่านไป หลายต่อหลายระลอก) ท่ามกลางความตึงเครียด ความโศกเศร้า ความวิตกกังวล ความโกรธ การโต้เถียง และคำวิพากษ์วิจารณ์ ก็มักจะมีมุกตลกมาแบ่งปันกันในสังคมเสมอ
มุกตลกนั้นมีทั้งในรูปคำคม การ์ตูน 4 ช่อง ภาพประกอบเรื่อง ภาพประกอบเพลง ภาพประกอบเนื้อเพลงคาราโอเกะ คลิปล้อเลียน เพลงแปลง รวมทั้งสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ ที่ใช้ประโยชน์ได้แล้วยังตลกด้วย
การศึกษาทางจิตวิทยานั้นพบว่า การใช้ความตลกขบขัน (humor) เป็นหนึ่งในวิธีการจัดการอารมณ์ทางลบที่มนุษย์เราใช้กัน โดยเป็นการเปลี่ยนแปลงวิธีคิด หรือมุมมองที่เรามีต่อปัญหาและมีต่อความสามารถในการแก้ปัญหา ให้สถานการณ์ที่คุกคามความรู้สึกของเรา (threat) กลายเป็นสถานการณ์ที่เป็นความท้าทาย (challenge) และเมื่อเรามีมุมมองต่อปัญหาเปลี่ยนไป อารมณ์ทางลบที่ทำให้เรารู้สึกตึงเครียด (หัวร้อน) ก็จะบรรเทาลงไปด้วย
นักจิตวิทยาอธิบายว่า การใช้ความตลกขบขันนั้นมีลักษณะคล้ายกับการเบี่ยงเบนความสนใจ (distraction) โดยเมื่อเราได้ผ่อนคลายอารมณ์จากการคิดถึงปัญหาในมุมอื่น หรือจากการพยายามสร้างสรรค์มุกต่าง ๆ ขึ้นมา อารมณ์ที่ผ่อนคลายลงนั้น จะช่วยให้เราสามารถโฟกัสกับปัญหาได้มากขึ้น และนำไปสู่การจัดการกับปัญหาได้ดีขึ้นด้วย
นอกจากนี้ นักจิตวิทยาพบว่า การใช้ความตลกขบขันนั้นมักเกิดขึ้นในสถานการณ์ที่เราไม่สามารถป้องกันได้ ไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือจัดการได้ในทันที ต้องรอเวลา อย่างเช่นในสถานการณ์ COVID-19 ที่เราไม่สามารถหยุดการแพร่ระบาดของเชื้อโรคได้ ไม่สามารถยุติมาตรการเคอร์ฟิวได้ ไม่สามารถเปิดกิจการหรือเปลี่ยนใจนายจ้างให้ไม่ลดเงินเดือนได้ อย่างไรก็ดี ความตลกขบขันจะใช้ได้ผลเมื่อเราไม่ได้อยู่ในสภาวะอารมณ์ที่เข้มข้นมาก (เพราะถ้าเราอารมณ์เข้มข้นมากก็คงจะตลกไม่ออก) กล่าวคือ ในระหว่างที่เราไม่สามารถจัดการปัญหาได้ทั้งหมด เราก็จัดการกับอารมณ์ของเรา ซึ่งจะส่งผลทางบวกให้เราอยู่ในสภาวะที่พร้อมต่อการแก้ปัญหาเมื่อเวลาที่เหมาะสมมาถึง
นักจิตวิทยายังเสนออีกว่า การใช้ความตลกขบขันมีความสัมพันธ์กับระดับความฉลาดทางอารมณ์ (emotional intelligence) ด้วย เพราะผู้ที่มีความฉลาดทางอารมณ์สูง คือผู้ที่มีความสามารถด้านการปรับตัวสูง โดยสามารถประเมินสถานการณ์ได้อย่างถูกต้อง ยอมรับและตระหนักในสิ่งที่เกิดขึ้น และรู้จักยืดหยุ่น ปรับเปลี่ยนวิธีคิด เพื่อการปรับอารมณ์โดยไม่ปฏิเสธปัญหา แต่ทั้งนี้ผู้ที่มีความฉลาดทางอารมณ์สูงจะใช้ความตลกขบขันในทางบวก (adaptive humor) หรือตลกในทางสร้างสรรค์ (ตลกแบบที่คนอื่นตลกด้วย) ขณะที่ผู้ที่มีความฉลาดอารมณ์ต่ำจะใช้ความตลกขบขันในทางลบ (maladaptive humor) หรือตลกไม่สร้างสรรค์ (ตลกดูถูกตนเอง ตลกทำร้ายคนอื่น ตลกแบบที่คนอื่นไม่ตลกด้วย)
สรุปแล้ว การสร้างความตลกขบขันในสถานการณ์ที่เลวร้าย ก็เป็นวิธีที่ดีวิธีหนึ่งในการรับมือกับปัญหา แต่มีข้อพึงระวังว่าการใช้มุกตลกของเรานั้นควรให้เป็นไปในทางสร้างสรรค์ มิเช่นนั้นแล้วอาจจะนำพาปัญหาอื่นเข้ามาแทรกได้
และถ้าเราเป็นผู้มีหน้าที่แก้ไขปัญหานั้น ก็อย่ามามัวแต่ตลกอย่างเดียว เพราะจะเป็นการเพิกเฉยต่อปัญหา ต้องลงมือทำด้วย แล้วจะตลกด้วยก็ไม่มีใครว่าอะไรค่ะ
รายการอ้างอิง
Peña-Sarrionandia, A., Mikolajczak, M., & Gross, J. J. (2015). Integrating emotion regulation and emotional intelligence traditions: a meta-analysis. Frontiers in psychology, 6, 160.
Greven, C., Chamorro-Premuzic, T., Arteche, A., & Furnham, A. (2008). A hierarchical integration of dispositional determinants of general health in students: The Big Five, trait emotional intelligence and humour styles. Personality and Individual differences, 44(7), 1562-1573.
บทความวิชาการ
โดย คุณรวิตา ระย้านิล
นักจิตวิทยา คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย