…ทำไมคุณถึงทำงาน?…
หลายท่านคงรีบตอบอย่างไม่ลังเลว่า ก็ทำงานเพื่อเงินน่ะสิ ซึ่งก็อาจไม่จริงเสมอไป แต่ละคนอาจมองหางานที่มีลักษณะแตกต่างกันออกไป เช่น บางท่านอาจจะบอกว่าต้องการทำงานที่ให้อิสระในการควบคุมและกำหนดสิ่งต่าง ๆ ได้ด้วยตนเอง ในขณะที่บางท่านอาจจะบอกว่าชอบงานที่ทำให้เรามีอิทธิพลต่อผู้อื่น มีอำนาจ
จากผลการสำรวจ National Research Council survey (1999) พบว่า ร้อยละ 70 ของคนอเมริกันตอบว่ายังคงทำงานต่อไป แม้ว่าจะถูกล็อตเตอรี่รางวัลใหญ่ จนสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้สบาย ๆ โดยไม่ต้องทำงาน นั่นก็สะท้อนว่าคนเราทำงานเพื่อสิ่งอื่น ๆ ไม่ใช่เพียงแค่เงิน ซึ่งสิ่งที่นักจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การสนใจศึกษาก็คือ อะไรที่ทำให้คนเราทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและมีสุขภาวะที่ดีในการทำงาน
“จิตวิทยาอุตสหกรรมและองค์การ” หรือ I/O Psychology จัดเป็นสาขาวิชาหนึ่งของศาสตร์จิตวิทยา จิตวิทยาเป็นการศึกษาพฤติกรรมและกระบวนการทางจิตของมนุษย์อย่างเป็นระบบด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์ อาจจะทำโดยการสำรวจโดยใช้แบบสอบถาม การสังเกตพฤติกรรม หรือปรากฎการณ์ตามสภาพแวดล้อมจริง เพื่อทำความเข้าใจ ทำนาย หรือจัดกระทำปรากฎการณ์ต่าง ๆ จิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การเป็นการประยุกต์แนวคิดและทฤษฎีทางจิตวิทยา มาอธิบายพฤติกรรมมนุษย์ในบริบทการทำงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ส่งเสริมสุขภาวะขององค์การและคนในองค์การ
นักจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ ไม่เพียงแต่สนใจแค่ว่าจะทำอย่างไรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและสร้างความพึงพอใจในการทำงานเท่านั้น นักจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การยังคงสนใจปัจจัยภายนอกที่ทำงาน ที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการทำงานของพนักงานด้วย ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยด้านครอบครัว บุคลิกภาพ และสถานการณ์ทางสังคมอื่น ๆ ตัวอย่างเช่น หากคุณมีลูกเล็ก แล้ววันนี้ก่อนที่คุณจะออกจากบ้านไปทำงาน ลูกของคุณร้องไห้โยเยเพราะ ไข้ขึ้น ไม่สบาย สิ่งเหล่านี้อาจจะส่งผลต่อพฤติกรรมการทำงานของคุณก็ได้ ส่วนปัจจัยทางบุคลิกภาพนั้นก็ส่งผลต่อพฤติกรรมการทำงานเช่นเดียวกัน เช่น คนที่มีบุคลิกภาพแบบเปิดตัว (extroverted person) กับคนที่มีบุคลิกภาพปิดตัว (introverted person) มีแนวโน้มที่จะมีพฤติกรรมการทำงานที่แตกต่างกัน คนที่มีบุคลิกภาพแบบเปิดตัวมักชอบสังคมและแสดงความคิดเห็น ก็มักชอบทำงานเป็นทีม พรีเซนต์งาน หรือออกสื่อ มากกว่าคนที่บุคลิกภาพแบบปิดตัว นอกจากนี้ คนที่บุคลิกภาพแบบเปิดรับประสบการณ์ใหม่ ๆ สูง มักมีอารมณ์ทางบวกมากกว่าคนที่บุคลิกภาพแบบเปิดรับประสบการณ์ใหม่ ๆ ต่ำ
นอกจากนี้นักจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การยังสนใจปัจจัยด้านสถานการณ์อีกด้วย เช่น อุทกภัยน้ำท่วม การชุมนุมประท้วงทางการเมือง เป็นต้น ล้วนส่งผลต่อความรู้สึกและพฤติกรรมของคนจำนวนมาก ในหลาย ๆ องค์การ ในการที่ต้องพยายามบรรลุเป้าหมายในการเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลขององค์การ และทำให้พนักงานทำงานอย่างมีความสุข นักจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การต่างต้องคำนึงถึงปัจจัยมากมายดังกล่าว ที่อาจส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมการการทำงานของคนในองค์การ
ในขณะเดียวกัน นักจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การยังสนใจว่า งานจะส่งผลอย่างไรต่อพฤติกรรมอื่นที่นอกเหนือจากการทำงาน (nonwork behaviors) อีกด้วย หลาย ๆ คนคงเคยรู้สึกเครียดหากหัวหน้าขอให้เอางานกลับไปทำต่อที่บ้าน แน่นอนเรามักรู้สึกหงุดหงิดและวิตกกังวล จนส่งผลต่อความสัมพันธ์กับคนที่บ้าน ไม่ว่าจะเป็นแฟน พี่น้อง หรือลูก ๆ อีกทั้งงานยังมีอิทธิพลต่อสุขภายกาย และสุขภาพจิตใจของเราอย่างไม่ต้องสงสัย หลาย ๆ ครั้งที่เรามักรู้สึกเครียดกับงานจนล้มป่วย หรือรู้สึกอารมณ์ขุ่นมัว หากบางคนติดอยู่กับอารมณ์ลบ ๆ นาน ๆ มีการคิดวนเวียนกับความเครียดคงค้างเดิม ๆ จากงาน เช่น ทะเลาะกับหัวหน้า หัวหน้าไม่เคยรับฟังความคิดเห็น แล้วยังให้งานล้นอีก บางรายถึงขั้นเครียดจากงานจนเป็นโรคซึมเศร้า หรือมีอาการทางจิตอื่น ๆ เช่น นอนไม่หลับ
จะเห็นได้ว่านักจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การสนใจทั้งอิทธิพลของชีวิตต่องาน และอิทธิพลของงานต่อชีวิตของพนักงาน เนื่องจากงานและชีวิตนอกเหนือจากงานต่างก็มีอิทธิพลซึ่งกันและกัน
ดังนั้นการที่เราจะพยายามเข้าใจสาเหตุของพฤติกรรมการทำงาน เพื่อที่จะจูงใจคนให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงาน หรือรักษาระดับความพึงพอใจในการทำงานนั้น เราจำเป็นต้องเข้าใจปัจจัยภายนอกงานของพนักงานและควรตระหนักถึงผลกระทบของงานต่อสุขภาวะของพนักงานอีกด้วย การส่งเสริมการพัฒนาโปรแกรมการจัดการกับความเครียด และส่งเสริมสุขภาวะที่ดีของพนักงาน จัดเป็นงานที่สำคัญของนักจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ
สาขาย่อยของจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ
1. จิตวิทยาอุตสาหกรรม (Industrial psychology) หรือด้าน “I”
บางครั้งก็เรียกว่า จิตวิทยาบุคลากร (Personnel Psychology) สาขานี้จะมุ่งเน้นกิจกรรมของฝ่ายทรัพยากรบุคคล (Human Resource) ตั้งแต่การสรรหา คัดเลือกบุคลากร การประเมินผลการปฏิบัติงาน ไปจนถึงการเลื่อนขั้นพนักงาน การจัดอบรมพนักงาน และการยุติการว่าจ้าง โดยรวมแล้ว ด้าน I หรือจิตวิทยาอุตสาหกรรมมุ่งสนใจเรื่องความแตกต่างระหว่างบุคคล พนักงานแต่ละคนแตกต่างกันอย่างไร แล้วความแตกต่างนั้นทำนายหรืออธิบายพฤติกรรมการทำงานอย่างไร ความแตกต่างระหว่างบุคคลในที่นี้อาจจะหมายถึงความฉลาดทางปัญญา ซึ่งมีความเกี่ยวโยงกับความสามารถในการปฏิบัติงานที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งการที่สามารถจำแนกความแตกต่างระหว่างบุคคลได้นั้น จะเป็นประโยชน์ในการคัดเลือกพนักงานให้เหมาะสมกับตำแหน่ง เพื่อที่จะเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน
หลาย ๆ คนอาจสงสัยว่า นักจิตวิทยาบุคลากรนั้นแตกต่างอย่างไรกับคนที่เรียนด้าน Human resource management (HRM) นักจิตวิทยาบุคลากรนั้นจะเป็นการประยุกต์งานวิจัย แนวคิดทางจิตวิทยาไปใช้กับการบริหารทรัพยากรบุคคลในองค์การ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความพึงพอใจในการทำงาน ซึ่งเรื่องที่สนใจจะมีความคาบเกี่ยวกับ HRM แต่นักจิตวิทยาบุคลากรนั้นจะไม่เน้นเรื่อง กฎหมายแรงงาน การบริหารเงินชดเชย (compensation) ต่าง ๆ นักจิตวิทยาบุคลากรจะเน้นการวิเคราะห์งาน เพื่อกำหนดว่างานแต่ละตำแหน่งหรือประเภทควรจะมีหน้าที่อะไรบ้าง และคนที่จะมาทำงานนั้น ต้องมีความสามารถ ทักษะ และสมรรถนะอะไรบ้าง หากพนักงานมีความสามารถไม่เหมาะสมกับงานนั้น ๆ ต้องจัดอบรมทักษะ หรือความสามารถด้านใด โดยใช้ความรู้ทางจิตวิทยาและการวิจัยอย่างเป็นระบบ
2. จิตวิทยาองค์การ (Organization Psychology) หรือ ด้าน “O”
นักจิตวิทยาองค์การนั้นจะสนใจด้านอารมณ์และการจูงใจในการทำงาน เช่น จะทำอย่างไรเพื่อจูงใจพนักงานให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ มีปัจจัยอะไรบ้าง ที่ส่งผลต่อเจตคติในการทำงานของพนักงาน เจตคติในการทำงานในที่นี้ เช่น ความพึงพอใจในการทำงาน ความผูกพันกับองค์การ อยากอยู่ต่อกับองค์การไปนาน ๆ เป็นต้น นอกจากนี้นักจิตวิทยาองค์การยังสนใจเรื่องภาวะผู้นำ ผู้นำแบบใดจึงจะเหมาะกับสถานการณ์แต่ละอย่าง เช่น ในสถานการณ์ที่มีความคลุมเครือ พนักงานไม่รู้ว่าจะทำงานให้ลุล่วงได้อย่างไร อาจต้องอาศัยผู้นำที่มาคอยกำกับชี้แจงโครงสร้างของงานให้ชัดเจน ในขณะที่บางสถานการณ์ที่วิกฤต บริษัทกำลังจะเจ๊ง ยอดขายตกจนพนักงานเสียขวัญ อาจต้องการผู้นำแบบมีวิสัยทัศน์และมีทักษะในการพูด มาสร้างแรงบันดาลใจให้แก่พนักงาน และชี้ให้เห็นถึงเป้าหมายที่สำคัญขององค์การ พร้อมกลยุกต์ในการไปให้ถึงเป้าหมายนั้น ๆ
ในปัจจุบันทุกคนคงไม่ปฏิเสธว่า พนักงานในหลาย ๆ องค์การ ต่างเผชิญกับระดับความเครียดที่ค่อนข้างสูง เนื่องจากข้อเรียกร้องจากงานค่อนข้างสูงเพื่อตอบสนองต่อสภาวะการแข่งขันที่สูง นักจิตวิทยาองค์การต่างให้ความสำคัญเรื่องการลดความเครียดของพนักงาน ว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่อาจส่งผลให้พนักงานเกิดความเครียด เช่น โครงสร้างงานไม่ชัดเจน บทบาทการทำงานกำกวม ความขัดแย้งระหว่างบุคคลในที่ทำงาน ปัญหาครอบครัว หรือมีบุคลิกภาพที่หวั่นไหวหรือไวต่อสิ่งเร้าง่าย นอกจากนี้ นักจิตวิทยาองค์การยังสนใจเรื่องกระบวนการกลุ่ม คนเราจะทำงานกับคนอื่นเป็นทีมต้องทำอย่างไร มีปัจจัยอะไรต้องคำนึงถึงบ้าง และการพัฒนาองค์การ
โดยสรุปจะเห็นได้ว่าหน้าที่หลัก ๆ ของนักจิตวิทยา I/O นั้นคือ การพยายามที่จะสร้างการงานที่ดีแก่พนักงาน ว่าจะทำอย่างไรให้พนักงานนั้นรู้สึกมีความสุขในการทำงาน ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะด้วยจับคู่คนให้เหมาะกับงาน การสร้างแรงจูงใจในการทำงาน การลดความกำกวมและความขัดแย้งในบทบาทการทำงาน ทั้งนี้ ทำได้ด้วยการวิเคราะห์งานอย่างเป็นระบบ และอาศัยงานวิจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่ออธิบายพฤติกรรมการทำงาน
บทความจากสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz
โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประพิมพา จรัลรัตนกุล
คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ภาพประกอบ https://www.freepik.com/