Job burnout – ความเหนื่อยหน่ายในงาน

31 Mar 2023

คำศัพท์จิตวิทยา

 

 

 

 

ความเหนื่อยหน่ายในงานเป็นสภาพการณ์ทางลบที่ทำให้บุคคลเกิดความอ่อนล้าทางอารมณ์ มีความสัมพันธ์กับการเกิดความเครียดของบุคคล

องค์ประกอบของความเหนื่อยหน่ายในงานแบ่งออกเป็น 3 มิติ ดังนี้

 

  1. ความอ่อนล้า (Exhaustion) – เป็นมิติที่สะท้อนถึงความเครียดภายในตัวของบุคคล ที่ทำให้บุคคลรู้สึกเหน็ดเหนื่อยจากการทำงาน และรู้สึกว่าพลังกายและพลังใจในการทำงานลดลง เป็นความอ่อนล้าทั้งทางใจ ทางอารมณ์ และทางกายภาพ
  2. ความเย็นชา (Cynicism) – เป็นมิติที่สะท้อนความเครียดที่เกิดจากความสัมพันธ์ แสดงออกในทางเพิกเฉย ไม่สนใจ ทั้งต่องานที่ทำอยู่เป็นประจำ ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน และอาจรวมไปถึงบุคคลในครอบครัวด้วย ความเย็นชาเป็นรูปแบบการจัดการปัญหาและความเครียดที่ไม่มีประสิทธิภาพ
  3. ประสิทธิผลการทำงาน (Professional efficacy) – เป็นมิติที่สะท้อนให้เห็นถึงการประเมินตนเองที่มีต่อความเหนื่อยหน่ายและทำให้บุคคลรู้สึกว่าตนเองไม่มีความสามารถ ไม่สามารถสร้างให้เกิดความสำเร็จ หรือผลผลิตของงานออกมาได้ และอาจรวมถึงความสำเร็จทางด้านสังคมด้วย

 

 

ปัจจัยที่สัมพันธ์กับความเหนื่อยหน่ายในงาน


 

  1. ลักษณะของงานที่มีข้อเรียกร้องในงานที่สูง ทั้งในเชิงปริมาณงาน เช่น ความกดดันด้านเวลา หรือจำนวนชิ้นงานที่มากเกินไป และในเชิงคุณภาพของงาน เช่น ความขัดแย้งในบทบาท และความไม่ชัดเจนในบทบาท
  2. ลักษณะอาชีพที่เน้นการติดต่อและประสานงานกับบุคคลอื่นเป็นหลัก เช่น ครู พยาบาล ซึ่งอาจจะต้องเผชิญกับความท้าทายทางอารมณ์มากกว่าอาชีพอื่น
  3. ลักษณะองค์การ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นภายในองค์การ เช่น การลดจำนวนพนักงานหรือการควบรวมกิจกรรม ที่ส่งผลกระทบต่อพนักงานเพราะเกิดการละเมิดสัญญาใจระหว่างพนักงานและองค์การ (psychological contract)
  4. ปัจจัยส่วนบุคคล งานวิจัยพบว่า อายุ เพศ สถานภาพการสมรส เชื้อชาติ และระดับการศึกษา อาจส่งผลความเหนื่อยหน่ายในงานได้ แต่ความสัมพันธ์อยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ อาจถูกปะปนจากผลของตัวแปรอื่นได้
  5. ปัจจัยด้านบุคลิกภาพ เช่น บุคคลที่มีระดับความเชื่อมั่นในตนเองต่ำ ความเชื่ออำนาจในตนที่มีผลมาจากปัจจัยภายนอก (External locus of control) รูปแบบรับมือกับปัญหาในลักษณะหลีกเลี่ยง บุคคลที่มีความไม่มั่นคงทางอารมณ์ และบุคลิกภาพประเภท A (Type-A personality)
  6. เจตคติที่มีต่องาน โดยบุคคลที่มีความคาดหวังต่องานในระดับสูง มีแนวโน้มที่จะทำงานหนักและมากเกินความจำเป็น และเมื่อความพยายามในการทำงานที่บุคคลลงทุนลงแรงทำไปไม่ตรงกับความคาดหวังที่มีต่องานเมื่อใด ก็มีโอกาสเกิดความเหนื่อยหน่ายในงานได้

 

 

ผลลัพธ์ของความเหนื่อยหน่ายในงาน


 

ความเหนื่อยหน่ายในงานมีผลกระทบต่อทั้งผลการปฏิบัติงานและสุขภาพของบุคคล

 

โดยความเหนื่อยหน่ายในงานมีความสัมพันธ์ต่อพฤติกรรมการถอนตัวและการขาดงานของบุคคล รวมไปถึงความตั้งใจในการลาออกจากงาน และพฤติกรรมการลาออกจากงาน

 

ทั้งนี้ พนักงานที่มีความเหนื่อยหน่ายในงาน แต่ยังคงทำงานให้กับองค์การ จะทำให้ปริมาณ คุณภาพ และประสิทธิภาพการทำงานของบุคคลลดลง ทั้งยังทำให้ระดับความพึงพอใจในงาน และความผูกพันกับองค์การลดลง รวมทั้งทำให้ผู้ที่ร่วมงานกับบุคคลที่เหนื่อยหน่ายในงานเกิดอารมณ์และประสบการณ์ทางลบในการทำงานเช่นเดียวกัน

 

ส่วนเรื่องสุขภาพกายและสุขภาพจิต อาการที่อาจพบได้ในบุคคลที่มีความเหนื่อยหน่ายในงาน คือ ความวิตกกังวล อาการซึมเศร้า มองตนเองและผู้อื่นในทางลบ สูญเสียความกระตือรือร้น หรือมีความเชื่อมั่นในตนเองลดลง นอกจากนี้ ความอ่อนล้ายังส่งผลต่อปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับความเครียดอีกด้วย เช่น การนอนไม่หลับ ระบบทางเดินอาหารมีปัญหา อาการปวดเมื่อย น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างผิดปกติ

 

 

 


 

 

ข้อมูลจาก

 

“อิทธิพลของแหล่งทรัพยากรที่เอื้อต่องานและข้อเรียกร้องในงานต่อความพึงพอใจในงานของพนักงาน โดยมีความผูกใจมั่นในงานและความเหนื่อยหน่ายในงานเป็นตัวแปรส่งผ่าน” โดย ผดารัช สีดา (2555) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/45181

 

“ความสัมพันธ์ระหว่างการเห็นคุณค่าในตนเอง ภาระงาน ความเชื่อในอำนาจควบคุมกับความเหนื่อยหน่ายในการทำงาน” โดย ธนพล บุญเลิศ, ศศิมาภรณ์ ชื่นอารมณ์, สร้างสรรค์ รัตนสงวนวงศ์ (2554) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/47170

 

ภาพจาก http://www.shutterstock.com/

 

แชร์คอนเท็นต์นี้