Job satisfaction – ความพึงพอใจในงาน

18 Nov 2016

 

 

 

ความพึงพอใจในงาน

หมายถึง ความรู้สึกดี หรือมีเจตคติทางบวกต่อการทำงาน อันเนื่องมาจากการที่บุคคลทำงานแล้วได้รับการตอบสนองความต้องการในระดับที่บุคคลคาดหวังไว้ ทั้งที่เป็นความต้องการภายในของบุคคลเอง เช่น การต้องการความยอมรับ ความภาคภูมิใจในตนเอง การได้พิสูจน์ความสามารถ และตอบสนองความต้องการจากภายนอก เช่น ได้รับค่าตอบแทนจากการทำงาน ชีวิตมีความมั่นคงและมีความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น

 

ทฤษฎีสองตัวประกอบของเฮอร์ซเบอร์ก (1959)

 

ทฤษฎีนี้เสนอว่า สิ่งที่บุคคลต้องการจากการทำงานนั้นสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากความต้องการภายในของบุคคลที่ต้องการจะพัฒนาและสร้างความเจริญงอกงามให้เกิดขึ้นกับตัวเองจากการทำงานนั้น ๆ และอีกกลุ่มเน้นความสำคัญที่ความเสมอภาคและความราบรื่นในการทำงาน อันเป็นพื้นฐานที่สำคัญเบื้องต้นที่เกี่ยวข้องและจะทำให้บุคคลสามารถเข้าถึงความต้องการในกลุ่มที่หนึ่งได้ กลุ่มความต้องการ 2 กลุ่มนั้นได้แก่ 1. ปัจจัยจูงใจ (motivation) และ 2. ปัจจัยค้ำจุน (hygiene)

 

1. ปัจจัยจูงใจ – เป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้บุคคลเกิดความพึงพอใจในการทำงาน ซึ่งเป็นแรงจูงใจให้บุคคลใช้ความพยายามและความทุ่มเทในการทำงานให้ประสบความสำเร็จ

ประกอบด้วย ความสำเร็จในการทำงาน, การได้รับการยอมรับนับถือ, ลักษณะงานที่ปฏิบัติ, ความรับผิดชอบ และความก้าวหน้า

 

2. ปัจจัยค้ำจุน – เป็นองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อมและสิ่งอำนวยความสะดวกซึ่งช่วยไม่ให้ขวางการทำงาน หรือลดประสิทธิภาพของการทำงานลง กล่าวอีกนัยหนึ่ง ปัจจัยค้ำจุนเป็นปัจจัยคือสิ่งที่จะป้องกันและลดความไม่พึงพอใจที่จะเกิดขึ้นในการทำงานนั้นๆ ไม่ใข่สิ่งที่ทำให้เกิดความพึงพอใจโดยตรง

ประกอบด้วย นโยบายและการบริหาร, การปกครองบังคับบัญชา, ความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน, ความสัมพันธ์กับผู้บังคับบัญชา, สภาพ/เงื่อนไขการทำงาน, เงินเดือน, ชีวิตส่วนตัว, ความสัมพันธ์กับผู้ใต้บังคับบัญชา, ฐานะ และความมั่นคง

 

ทฤษฎีคุณลักษณะของงาน (job characteristics theory)

 

ทฤษฎีนี้เสนอว่า เมื่องานมีคุณลักษณะที่สำคัญในระดับสูง จะนำไปสู่ความพึงพอใจในงาน มีด้วยกัน 5 ประการดังนี้

 

  1. ความหลากหลายของงาน – เป็นระดับของงานที่มีจำนวนกิจกรรมที่ต่างกันออกไป มีการใช้ทักษะที่แตกต่างและใช้พรสวรรค์
  2. การระบุขอบเบตของงาน – เป็นระดับของงานที่ระบุได้ว่ามีขอบเขตของงานอย่างไร ต้องใช้สิ่งใดบ้างเพื่อให้งานสำเร็จ รวมถึงเห็นจุดกำเนิดของงานและจุดสิ้นสุดพร้อมผลลัพธ์
  3. มีความสำคัญและมีความหมาย – คือระดับของงานที่ทำนั้นมีอิทธิพลต่อผู้อื่น หรือเป็นงานที่สามารถช่วยดหลือความเป็นอยู่ในครอบครัวให้ดีขึ้น และคุณลักษณะของงานที่เมื่อมองไปในอนาคตแล้วมีความสำคัญ ช่วยเหลือผู้อื่น หรือโลกได้
  4. อำนาจควบคุมในตนเอง – คือระดับที่งานนั้นสามารถให้อิสระ เมื่องานให้อำนาจควบคุมในตนเอง บุคคลจะพยายามมากกว่างานที่ขาดอิสระทำตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา อำนาจควบคุมในตนเองมีหลายรูปแบบ รวมไปถึงอิสระในการควบคุมเวลา ตารางของงาน วิธีการทำงาน เครื่องมือที่ใช้
  5. การให้ผลป้อนกลับ – คือระดับของผลจากการทำกิจกรรมของงาน ซึ่งเป็นการให้ข้อมูลแก่บุคคลผู้ทำงานนั้นอย่างกระจ่างชัดเจน ว่าบุคคลนั้นมีศักยภาพอย่างไรในการทำงาน

 

 

ปัจจัยส่วนบุคคลที่ส่งผลต่อความพึงพอใจในงาน

 

Spector (1996) ได้ศึกษาปัจจัยส่วนบุคคลที่ส่งอิทธิพลต่อความพึงพอใจในงาน โดยสามารถสรุปได้เป็นหัวข้อดังนี้

 

  1. ลักษณะบุคลิกภาพ – ปัจจัยด้านบุคลิกภาพที่น่าสนใจ ได้แก่ 1.1 อารมณ์ความรู้สึกทางลบ – บุคคลที่มีอารมณ์ทางลบมักจะส่งผลข้ามสถานการณ์ ทำให้เมื่ออยู่ในบริบทของการทำงานหรือองค์การแล้ว ก็มีแนวโน้มไม่พึงพอใจในงานด้วย 1.2 ความเชื่ออำนาจในตน – บุคคลที่เชื่อในอำนาจในตนจะเชื่อมั่นในการควบคุมสถานการณ์ของตน เมื่อพบอุปสรรคจึงมีความเชื่อมั่นว่าจะสามารถจัดการได้ จึงมีความพึงพอใจในงานสูงกว่าบุคคลที่ไม่มีความเชื่อในอำนาจของตน
  2. เพศ – เป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลในระดับต่ำ แต่เคยมีงานวิจัยพบว่า เพศชายมักจะชอบงานที่มีลักษณะจัดการ หรือต้องอาศัยทักษะ ความเชี่ยวชาญ ส่วนเพศหญิงมักจะชอบงานลักษระงานที่แน่นอน เป็นกิจวัตรมากกว่า
  3. อายุ – มีงานวิจัยที่พบว่าบุคคลจะมีความพึงพอใจในงานมากขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น เพราะการตระหนักในผลประโยชร์ที่ได้รับเพิ่มขึ้นจากองค์การ เป็นผลจากความก้าวหน้าในอาชีพในองค์การนั้น รวมถึงเงื่อนไขการทำงาน ตำแหน่งงาน และเงินเดือนที่เปลี่ยนไป

 

 

ปัจจัยที่มีผลต่อความพึงพอใจในงาน (โดยรวม)

 

ปัจจัยที่มีผลต่อความพึงพอใจในงานมีอยู่หลายปัจจัย ซึ่งสามารถพิจารณาได้เป็น 4 กลุ่ม คือ

 

  1. ปัจจัยส่วนบุคคล ประกอบด้วย ประสบการณ์การทำงาน, เพศ, จำนวนสมาชิกในการทำงาน, อายุ, เวลาในการทำงาน, เชาวน์ปัญญา, ระดับการศึกษา, บุคลิกภาพ, ระดับเงินเดือน, แรงจูงใจในการทำงาน และความสนใจในงาน
  2. ปัจจัยด้านงาน ประกอบด้วย ลักษณะงาน, ทักษะความหลากหลายในการทำงาน, ฐานะทางวิชาชีพ, ขนาดของหน่วยงาน, ระยะทางระหว่างบ้านกับที่ทำงาน และโครงสร้างของงาน
  3. ปัจจัยด้านการจัดการ ประกอบด้วย ความมั่นคงในงาน, รายรับ, โอกาสก้าวหน้า, อำนาจตามตำแหน่งหน้าที่, สภาพการทำงาน, เพื่อนร่วมงาน, ความรับผิดชอบในงาน, การนิเทศงานสำหรับพนักงานใหม่, การสื่อสารกับผู้บังคับบัญชา, ความศรัทธาในผู้บริหารกับพนักงาน
  4. ปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมในการทำงาน ประกอบด้วย การจัดสถานที่, อุณหภูมิ, แสง, เสียง, บรรยากาศในการทำงานที่ช่วยส่งเสริมการติดต่อสื่อสาร และการประสานงานภายในองค์การ

 

 

 


 

 

ข้อมูลจาก

 

“ความพึงพอใจในการทำงานและปัจจัยที่ส่งผลต่อความพึงพอใจในการทำงานของพนักงานองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ” โดย พิมประไพ ศุภรัตน์ (2550) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/4761

 

“ความสัมพันธ์ระหว่างความเครียดในการทำงานกับความพึงพอใจในงานของพนักงานบริการบริษัทแห่งหนึ่ง” โดย ขนิษฐ์รัฐ อติชาตศรีสกุล และ ณัฏฐา เทียนทอง (2554) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/47175

 

“ความสัมพันธ์ระหว่างความพึงพอใจในงานกับความผูกพันต่อองค์การ โดยมีความเข้มแข็งอดทนเป็นตัวแปรกำกับ” โดย ธัญญภรณ์ อรรณพ ณ อยุธยา, นันทนัช ทองอุปการ และ ไพสิฐ คานทองดี (2555) http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/44196

แชร์คอนเท็นต์นี้