ความถ่อมตน (humility) ถูกรวมเป็นหนึ่งในคุณธรรมหลักขององค์การ ซึ่งเป็นรากฐานทางศีลธรรมขององค์การในสภาพแวดล้อมที่มีพลวัตและความเปลี่ยนแปลงที่มากขึ้น
มีนักทฤษฎีที่ให้ความเห็นว่าความถ่อมตนมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ ในสภาพแวดล้อมที่คาดเดาไม่ได้และเต็มไปด้วยความไม่รู้ ความไม่แน่นอนที่เพิ่มมากขึ้นทำให้ผู้นำในศตวรรษที่ 21 ต้องมีความถ่อมตนมากขึ้นและลดความโอหังให้น้อยลง
Owens และคณะ (2012) อธิบายความถ่อมตนของผู้นำว่าเป็นพฤติกรรมที่
1. ผู้นำยอมรับข้อบกพร่องและข้อจำกัดของตนเอง
การยอมรับข้อบกพร่องและข้อจำกัดของตนเองแสดงถึงความต้องการของผู้นำที่ต้องการตระหนักรู้เกี่ยวกับตนเองอย่างถูกต้อง (accurate self-awareness) ผ่านการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น การตระหนักรู้นี้ทำให้เขารับรู้เกี่ยวกับทรัพยากรภายในตนเองอย่างถูกต้อง เช่น ความสามารถและข้อจำกัดที่แท้จริงของตนเอง
การยอมรับข้อผิดพลาดและการมองหาคำติชมอย่างตรงไหนตรงมาและเป็นจริงเกี่ยวกับตนเอง มีแนวโน้มจะช่วยลดการเกิดความเชื่อมั่นในตนเองที่มากเกินไป ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่สร้างภัยอันตรายให้แก่องค์การ โดยเฉพาะเมื่อผู้นำระดับสูงขององค์การมีคุณลักษณะนี้ เพราะความสั่นใจที่มากเกินไปเป็นต้นเหตุของปัญหาต่าง ๆ เช่น การตัดสินใจที่ไม่มีประสิทธิภาพ รวมถึงความประมาทหรือชะล่าใจจากการมีความพึงพอใจในตนอย่างไม่สมเหตุสมผล
นอกจากนี้การมีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับตนเองจะยังช่วยเพิ่มปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลให้มีคุณภาพสูงขึ้นและมีความโปร่งใสมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญต่อการสร้างความไว้วางใจในทีม
2. ผู้นำชื่นชมในผลงาน การมีส่วนร่วม และคุณค่าของผู้ตาม
การชื่นชมในผลงาน การมีส่วนร่วมและคุณค่าของผู้ตาม เป็นพฤติกรรมที่มาจากความถ่อมตน ที่ช่วยให้บุคคลไม่ตอบสนองเชิงเปรียบเทียบ-แข่งขัน (comparative-competitive response) เมื่อมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น เช่น เมื่อทำงานกับลูกน้องหรือเพื่อนร่วมงานที่เก่ง เขาจะไม่รู้สึกว่าตนเองถูกคุกคามโดยความสามารถของผู้อื่น แต่กลับจะชื่นชมจุดแข็งและการมีส่วนร่วมของผู้อื่นอย่างแท้จริงโดยไม่รู้สึกว่าตนเองด้อยค่าไปกว่าเขา และก็ไม่ได้หมายความว่าคนที่มีความถ่อมตนจะลืมจุดอ่อนและจุดด้อยของผู้อื่น แต่พวกเขาจะสามารถระบุและความสำคัญกับความสามารถและจุดแข็งที่เป็นเอกลักษณ์ของผู้อื่นได้ดีขึ้น คนที่ถ่อมตนมีแนวโน้มทีจะมีมุมมองต่อผู้อื่นผ่านเลนส์หลากหลายมุมแทนการประเมินผู้อื่นด้วยมุมมองที่แคบ เช่น คิดแบบขาว-ดำ ว่าคนนี้มีความสามารถหรือไร้ความสามารถ พฤติกรรมเช่นนี้จะทำให้ผู้นำที่ถ่อมตนและสมาชิกของเขามีทัศนคติที่สร้างการเรียนรู้ร่วมกันจากจุดแข็งของแต่ละคน
3. ผู้นำเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องการเรียนรู้ การเป็นผู้ถูกสอนได้
การเป็นผู้ถูกสอนได้เป็นพฤติกรรมของความถ่อมตนที่เปิดกว้างในการเรียนรู้ข้อเสนอแนะและแนวคิดใหม่ ๆ จากผู้อื่น ความถ่อมตนประกอบไปด้วยการเปิดใจกว้างต่อการติชม ความคิดเห็น และคำแนะนำของผู้อื่น รวมถึงการมีความเต็มใจที่จะขอความช่วยเหลือจากผู้อื่นเพื่อแสวงหาความแนะนำ โดยมีความปรารถนาที่จะเรียนรู้
การที่สมาชิกในองค์การเปิดรับและพร้อมเรียนรู้นั้นเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับองค์การในปัจจุบันที่อยู่ท่ามกลางการแข่งขันในเศรษฐกิจแห่งความรู้ ความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญในการทำงานที่เพิ่มมากขึ้นชี้ให้เห็นว่าองค์การต้องการผู้นำและพนักงานที่เปิดรับ พร้อมเรียนรู้ มีความปรารถนาและความเต็มใจที่จะรับทักษะใหม่ ๆ ดูดซับข้อมูลใหม่ ๆ และเรียนรู้จากผู้อื่น
บุคคลที่มีความถ่อมตนโดยการแสดงผ่านความสามารถในการเป็นผู้ถูกสอน เปิดโอกาสให้ผู้อื่นมีโอกาสพูดแสดงความเห็น เป็นการสร้างความไว้วางใจที่เพิ่มมากขึ้นในทีม รวมถึงการเพิ่มความรู้สึกถึงความยุติธรรมในทีม เมื่อผู้นำสามารถยอมรับอย่างถ่อมตนได้ว่า “ฉันไม่รู้” การยอมรับนั้นบังคับให้ผู้นำลดการเสแสร้ง ลดการแสดงความรอบรู้ ทิ้งอำนาจความเป็นผู้เชี่ยวชาญซึ่งผลที่ตามมาคือการรับฟังและเรียนรู้เพื่อเปิดรับสิ่งใหม่
ผลของความถ่อมตนของผู้นำ
งานวิจัยหลายงานที่ผ่านมาชี้ให้เห็นถึงความสำคัญและประโยชน์ของการที่ผู้นำมีความถ่อมตน เพราะทำให้เกิดพฤติกรรมแสดงความเห็น
ผู้นำที่ถ่อมตนมีแนวโน้มที่จะสนับสนุนให้พนักงานได้แสดงความคิดเห็นมากขึ้น ช่วยลดความเสี่ยงในการพูดสิ่งที่อยู่ในใจ และการที่ลูกน้องรับรู้ว่าหัวหน้าเปิดรับฟังคำแนะนำของพวกเขา ลูกน้องจะลดความกังวลในการแสดงความคิดเห็น
ผู้นำที่ถ่อมตนสามารถมอบอำนาจที่ตนเองมีไปยังผู้อื่น ซึ่งเป็นหนึ่งในรูปแบบภาวะผู้นำแบบล่างขึ้นบน (bottom-up) ที่ผู้นำชื่นชมการมีส่วนร่วมของลูกน้อง รวมถึงชื่นชมความรู้ความสามารถของลูกน้อง หัวหน้าจะไม่สนใจเฉพาะตัวเอง แต่จะเปิดรับความคิดเห็นและมุมมองของคนในทีมโดนเน้นจุดแข็งและการมีส่วนร่วมของผู้อื่น
ผู้นำที่ถ่อมตนจึงเสริมสร้างพลังอำนาจของพนักงาน เพราะเขามีแนวโน้มที่จะเห็นคุณค่าของจุดแข็งและการมีส่วนร่วมของลูกน้อง และหัวหน้าก็เต็มใจที่จะเรียนรู้จากพวกเขา ความถ่อมตนของหัวหน้าจึงสร้างบรรยากาศที่ทีมงานได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหารระดับสูง สร้างการเติบโตและการพัฒนาความสามารถแก่ลูกน้อง
นอกจากนี้ ผู้นำที่มีความถ่อมตนสามารถส่งเสริมให้เกิดความจงรักภักดีและเพิ่มความมุ่งมั่นของลูกน้อง และเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน เพิ่มพฤติกรรมเชิงรุกของลูกน้อง เช่น พฤติกรรมการริเริ่มสร้างสรรค์ด้วยตนเอง การมุ่งเน้นอนาคตเพื่อปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการทำงาน เสริมสร้างการเรียนรู้ของพนักงาน ความพึงพอใจในงาน การมีส่วนร่วมในงาน และลดอัตราการลาออกของพนักงาน
ในด้านผลลัพธ์ของทีม งานวิจัยที่ผ่านมาก็พบว่าผู้นำที่มีความถ่อมตนสามารถส่งเสริมให้เกิดการปรับปรุงประสิทธิภาพและประสิทธิผลของทีม
ด้วยข้อดีที่ได้กล่าวมาข้างต้น หลายองค์การจึงต้องการผู้นำที่มีความถ่อมตนเพื่อเข้ามาบริหารจัดการสภาพการทำงานที่มีความคลุมเครือและฝ่าฟันความสลับซับซ้อนที่มีเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ
ข้อมูลจาก
“ความสัมพันธ์ระหว่างความถ่อมตนของผู้นำกับการแสดงความเห็นและความเงียบของพนักงานโดยมีความปลอดภัยทางจิตใจเป็นตัวแปรส่งผ่าน และความกล้าหาญของผู้นำเป็นตัวแปรกำกับ” โดย สริตา วรวิทย์อุดมสุข (2564) – https://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/81073