ความเหงา หมายถึง ความรู้สึกที่ก่อให้เกิดความทุกข์และไม่สบายใจ เนื่องมาจากการรับรู้ว่าตนเองขาดปฏิสัมพันธ์ทางสังคม หรือมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมน้อยกว่าที่ตนต้องการ ทำให้เกิดความรู้สึกไม่พึงพอใจในความสัมพันธ์ทางสังคม
Weiss (1973) ได้จำแนกความเหงาออกเป็น 2 ประเภท คือ
- ความเหงาทางอารมณ์ (Emotional loneliness) หมายถึง ความเหงาที่เกิดจากการขาดความสัมพันธ์กับบุคคลที่ใกล้ชิด โดยการเพิ่มปริมาณของความสัมพันธ์ทางสังคม ไม่สามารถช่วยให้ความเหงาประเภทนี้ลดลงได้
- ความเหงาทางสังคม (Social loneliness) คือ ความเหงาที่เกิดจากการขาดเครือข่ายทางสังคมหรือการขาดกิจกรรมทางสังคม ความเหงาประเภทนี้สามารถแก้ไขได้โดยการเพิ่มเครือข่ายทางสังคมและกิจกรรมทางสังคม
ส่วน Beck และ Young (1978) ได้แบ่งความแตกต่างของความเหงาออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่
- ความเหงาแบบเรื้อรัง (Chronic loneliness) หมายถึง ความเหงาที่เกิดจากความล้มเหลวในการสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมที่น่าพึงพอใจเป็นระยะเวลาหลายปี รวมถึงการรับรู้ว่าถูกทอดทิ้งจากการสื่อสารระหว่างบุคคล ปัญหาการหย่าร้างของพ่อแม่ หรือความขัดแย้งในครอบครัวที่ไม่ได้รับการแก้ไข
- ความเหงาจากสถานการณ์ (Situational loneliness) เป็นความเหงาที่มีสาเหตุมาจากเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดทางลบ ที่ทำให้ความสัมพันธ์ทางสังคมเกิดการหยุดชะงัก เช่น การตายของคนที่รัก
- ความเหงาแบบชั่วคราว (Transient loneliness) เป็นความรู้สึกอ้างว้างที่เกิดขึ้นชั่วขณะเป็นครั้งคราว เช่น หลังจากประสบความสำเร็จ บุคคลอาจพบความสุขและความโล่งอกแต่ยังรู้สึกว่างเปล่า หรือความรู้สึกหลังจากจบงานเลี้ยงเนื่องจากต้องแยกจากกลุ่มเพื่อน
ทั้งนี้ ความเหงาแบบชั่วคราวมักเป็นความรู้สึกที่ไม่ยาวนาน สามารถจางหายได้รวดเร็ว ส่วนความเหงาแบบเรื้อรังมักเกี่ยวข้องกับการรับรู้ว่าถูกทอดทิ้งและความไม่พอใจในความสัมพันธ์ทางสังคม ขณะที่ความเหงาจากสถานการณ์บางครั้งอาจมีความรุนแรงและก่อให้เกิดความเครียดมากกว่าความเหงาสองประเภทที่กล่าวมา
การจัดการความเหงา
อุปสรรคสำคัญที่ขัดขวางการจัดการความเหงา คือ บุคคลไม่เต็มใจที่จะรับรู้ หรือยอมรับว่าตนเองรู้สึกเหงา ดังนั้นสิ่งสำคัญคือบุคคลต้องตระหนักและยอมรับความรู้สึกเหงา จึงจะสามารถจัดการความความเหงาได้ ซึ่ง Rokach และ Brock (1997) ได้เสนอวิธีจัดการความเหงาไว้ 6 วิธี ดังนี้
- สะท้อนและการยอมรับความรู้สึกโดดเดี่ยว ทั้งในด้านความคิดและความรู้สึกแปลกแยกจากคนอื่น เพื่อให้เกิดตระหนักและการปรับโครงสร้างทางความคิด
- พัฒนาตนเองและความเข้าใจในตน เน้นถึงความเชื่อและคุณค่าในตนเอง
- เพิ่มการมีส่วนร่วมทางสังคมและการมีปฏิสัมพันธืกับผู้อื่น ทั้งคนเดิมที่เคยรู้สึกและคนใหม่
- ปฏิเสธพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น การดื่มแอลกอฮอล์ การใช้สารเสพติด การแยกตัว
- เพิ่มความผูกพันและเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน อาจทำให้โดยการเข้าร่วมพิธีทางศาสนา
- เพิ่มกิจกรรม ได้แก่การอุทิศตนในงาน และกิจกรรมอื่นนอกเหนือจากกิจวัตรประจำวัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการติดต่อทางสังคม
ข้อมูลจาก
“ความสัมพันธ์ระหว่างการเปิดเผยตนเอง ความเหงา และการทำหน้าที่ของครอบครัวต่อพฤติกรรม การเสพติดอินเตอร์เน็ต” โดย ณัฐรดา อยู่ศิริ, สุพิชฌาย์ นันทภานนท์, หทัยพร พีระชัยรัตน์ (2557) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/46895
ภาพจาก http://randomwallpapers.net/