มีหลายคนบอกว่า “รักแท้แพ้ระยะทาง” ยิ่งห่างไกลกันยิ่งทำให้ชีวิตคู่มีความเสี่ยงที่จะเลิกราและสิ้นสุดได้โดยง่าย หลาย ๆ คนจึงวิตกกังวลว่า หากมีคู่แล้วต้องอยู่ห่างกัน เราจะต้องเลิกรากันในที่สุด ความเสียใจก็ต้องเกิด และเป็นที่แน่นอนว่าทุกคนไม่อยากพบเจอกับความเสียใจ ความเศร้าและความทุกข์
ความไม่อยากนี้อาจนำไปสู่ความวิตกกังวลในคนที่อาจต้องมี “ความรักระยะไกล” หรือที่เรียกว่า “Long Distance Relationship (LDR)” และเมื่อคนเราวิตกกังวล ก็จะนำมาสู่การตั้งคำถามที่วกวนในหัวของเราเองว่า “เราหรือเขาที่จะเป็นฝ่ายเจอคนใหม่?” “แฟนของเราจะไปเจอคนใหม่ไหม?” หรือ “จะมีผู้หญิงหรือผู้ชายคนใหม่เข้ามาหรือเปล่า?”
เพียงแค่คิดความทุกข์ก็เกิดขึ้นมาแล้ว
คำถามที่น่าสนใจ คือ คนที่มีความรักระยะไกลนั้นแท้จริงแล้วจะต้องประสบปัญหาทุกคู่หรือไม่? และทุกคู่จะต้องเลิกรากันไปในที่สุดหรือไม่?
ในความเป็นจริงเรายังไม่สามารถสรุปได้เลยว่า การมีความรักระยะไกลจะทำให้ทุกคู่ที่มีความรักแบบนี้ต้องจบความสัมพันธ์ด้วยการเลิกรากัน แม้กระทั่งในงานวิจัยเองก็พบว่า การมีความรักระยะไกลอาจทำให้คู่รักเกิดความเหงาและความว้าเหว่ ทว่าการมีรักระยะไกลไม่ได้เป็นการประกันว่า คู่รักระยะไกลนั้นจะมีความสัมพันธ์ที่ไม่ดีและจบลงด้วยความเศร้า ในทางกลับกันคู่รักเหล่านี้กลับรู้สึกว่า ต่างคนต่างมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นไม่ต่างจากคู่รักที่อยู่ด้วยกันเลย พวกเขากลับรู้สึกยิ่งมีความคิดถึงและผูกพัน อยากที่จะมีการสื่อสารที่มากขึ้นกับคู่รัก และมีความพึงพอใจในชีวิตคู่เช่นกัน
อาจเป็นไปได้ที่ว่าการที่คนเรามีรักระยะไกล ทำให้เรามีความรู้สึกอยากใกล้ชิดคนรักของเรามากยิ่งขึ้น เราจึงพยายามหาวิธีการต่าง ๆ ที่จะช่วยให้ความสัมพันธ์ที่มีอยู่เป็นความสัมพันธ์ที่มีคุณภาพมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็น ความพยายามที่จะติดต่อสื่อสารและพูดคุยกัน การไปมาหาสู่กันให้บ่อยครั้งมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ รวมไปถึงการแสดงความเอาใจใส่ต่อกัน ซึ่งหากจะพูดถึงวิธีการรักษาความสัมพันธ์ของรักระยะไกลให้หวานชื่นแล้วมีวิธีการหลายวิธีด้วยกัน
สิ่งแรกที่คู่รักระยะไกลควรทำ ก็คือการพยายามติดต่อสื่อสารกันอย่างสม่ำเสมอ
อย่าให้ระยะทางเป็นอุปสรรคในการที่เราจะติดต่อและพูดคุยกับคนรัก การพูดคุยกันถามสารทุกข์สุกดิบช่วยให้คู่รักไม่รู้สึกห่างเหินกันจนเกินไป สิ่งสำคัญของการสื่อสารคือ พยายามพูดคุยเรื่องทางบวก เรื่องที่สบายใจ จะช่วยให้ต่างฝ่ายต่างรู้สึกสบายใจและมีความสุข ความสัมพันธ์จะราบรื่น อาจมีการแลกเปลี่ยนปัญหากันบ้าง เล่าเรื่องราวที่แย่บ้างก็จะช่วยให้เข้าใจกันมากขึ้นไปอีก
ซึ่งวิธีการที่จะช่วยให้เข้าใจมากยิ่งขึ้น นอกจากจะพูดคุยกัน ต่างฝ่ายควรจะเป็นผู้ฟังที่ดี
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาที่คนรักมีปัญหาและทุกข์ใจ การฟังถือเป็นสิ่งที่ช่วยให้คนรักรู้สึกมีที่พึ่งทางใจ มีคนที่รับฟังไม่ว่าเขาจะทุกข์ใจ ดีใจ หรือเสียใจ คนรักสามารถแสดงตัวตนที่แท้จริงของเขาได้ เหล่านี้จะยิ่งช่วยให้ความสัมพันธ์นั้นแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น
ต่อจากการเป็นผู้รับฟังที่ดี ต้องเป็นคนที่คอยให้กำลังใจคนรักเวลาที่คนรักมีปัญหา
สิ่งที่พึงระลึกไว้เสมอคือ คู่รักของเราก็คือมนุษย์ปุถุชนคนหนึ่งที่มีรัก โลภ โกรธ หลง มีความสุขและมีความทุกข์ได้เช่นเดียวกับตัวเราเอง ตัวเราก็มีสุขและทุกข์ มีรัก โลภ โกรธ และหลง และมีความคาดหวังจากคนรักว่า คนรักจะเข้าใจ ปลอบโยนและให้กำลังใจเวลาที่เรามีปัญหา สิ่งนี้ไม่ต่างจากสิ่งที่คนรักของเราคาดหวัง เขาเองก็คาดหวังที่จะมีคนที่คอยให้กำลังใจและพร้อมที่จะเข้าใจในทุกสิ่งทุกอย่างที่เขาเป็น ไม่ต่างกัน
ประการต่อมาคือ หากคนรักของเรามีความจำเป็นที่ต้องได้รับความช่วยเหลือ เราควรเป็นบุคคลแรกที่เขานึกถึง
ซึ่งสิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้จากการที่เราคอยให้กำลังใจ เข้าอกเข้าใจและให้ความช่วยเหลือเขาทุกครั้งในเวลาที่เขาต้องการ
สิ่งสำคัญอีกอย่างคือ การแสดงออกซึ่งความรักที่มีต่อคนรักด้วยการพูดและการกระทำ
การบอกรักคนรักเป็นประจำก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยให้ความสัมพันธ์ระยะไกลยังคงอยู่ แม้ว่าจะไม่ได้พบเจอกันทุกวัน
ประการที่หกคือ การไปมาหาสู่คนรักอย่างสม่ำเสมอหรือเมื่อมีเวลา เช่น ไปมาหาสู่กันทุกเดือน หรือทุกครั้งเมื่อมีโอกาส
สิ่งสำคัญต่อมาคือ ควรหากิจกรรมทำร่วมกัน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ซึ่งกันและกันมากขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นการใช้เวลาอย่างมีคุณค่าร่วมกันให้มากที่สุด ทำให้บรรยากาศของความสัมพันธ์เต็มเปี่ยมไปด้วยความสุขและความทรงจำต่าง ๆ ที่ดี การที่ทำให้ความสัมพันธ์เต็มไปด้วยบรรยากาศที่มีความสุขจะทำให้คู่รักของเราชื่นชอบและรู้สึกมีความสุขทุกครั้งที่ได้เจอกับเรา
ประการสำคัญที่สุดคือ การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจให้แก่คนรักและแสดงความไว้เนื้อเชื่อใจต่อคนรักของเราเอง
ความหวาดระแวงอาจมีอยู่ในทุกคน แต่สิ่งที่สำคัญคือ อย่าให้ความหวาดระแวงมาทำร้ายและทำลายความสัมพันธ์ของเรา เพราะหากหวาดระแวงมากเกินไปจะทำให้เราเริ่มทำตัวเป็นพนักงานสอบสวนที่คอยสอบสวนคู่รักของเราตลอดเวลาว่า เขาไปไหน ทำอะไร อยู่กับใคร กลับเมื่อไหร่หรืองานเสร็จเมื่อไหร่ คำถามเหล่านี้หากใช้บ่อยเกินไปนอกจากจะสร้างความรำคาญแก่คนรักแล้ว ยังอาจก่อให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้งที่ค่อย ๆ เป็นตัวบั่นทอนความสัมพันธ์ของเราเอง
ที่น่ากลัวไปกว่านั้นคือ การสอบสวนและการสอบถามเป็นการสื่อถึง ความไม่เชื่อใจของเราที่มีต่อคนรัก สิ่งนี้ถือเป็นสิ่งที่จุดชนวนความสัมพันธ์ในทางลบให้เพิ่มมากขึ้น และหากคนรักของเรารำคาญมากขึ้นเนื่องจากการสอบสวนของเรามากเกินไป ก็อาจทำให้เขาเลือกวิธีที่จะหลีกเลี่ยงการโดนสอบสวนและต่อว่าโดยการโกหก และเมื่อโกหกเพราะต้องการหลีกเลี่ยงเกิดขึ้นบ่อยเข้า ก็จะทำให้เกิดความเคยชิน และจากความเคยชินจะทำให้โกหกซ้ำแล้วซ้ำเล่า และเมื่ออีกฝ่ายหนึ่งจับได้ว่าฝ่ายหนึ่งโกหก คงไม่ต้องบอกเลยว่าวงจรการทะเลาะเบาะแว้ง การหึงหวง และบรรยากาศทางลบในความสัมพันธ์จะเพิ่มขึ้นทวีคูณ และสุดท้ายสิ่งเหล่านี้จะนำไปสู่ความไม่ไว้วางใจและการเลิกราในที่สุด
อาจไม่ง่ายสำหรับคนที่มีรักระยะไกล แต่ก็ไม่ยากจนทำไม่ได้ หากเราคิดว่าคุ้มค่าพอกับการที่เราจะรักษาคนที่เรารักและคนที่รักเราด้วยความจริงใจ ก็คงไม่เสียหายจริงไหมคะ…
ภาพจาก https://www.pexels.com/
บทความโดย
อาจารย์ ดร.สุภลัคน์ ลวดลาย
คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย