รักตามวิถี ACT

12 Feb 2024

ผศ. ดร.กุลยา พิสิษฐ์สังฆการ

 

เทศกาลวาเลนไทน์ที่ใกล้จะมาถึง อาจทำให้หลาย ๆ คนที่เห็นคุณค่าให้ความสำคัญกับความรักนึกอยากใช้เทศกาลนี้ในการบอกรักหรือเติมความหวานให้กับรักที่มี คนโสดอาจนึกอยากลองเปิดใจ เปิดรับความรักครั้งใหม่เข้ามา หรือใครที่อยู่ในความสัมพันธ์อยู่แล้ว ก็อาจอยากชวนคู่มาทำอะไรดี ๆ ที่เติมเต็มความสดใสให้ความรัก แค่คิดถึงโอกาสดี ๆ เหล่านี้ก็อาจทำให้หลายคนใจฟู รอวันวาเลนไทน์แทบจะไม่ไหวเลยทีเดียว

 

แม้จะตื่นเต้นกับความรัก แต่ก็อาจจะอีกเสียงหนึ่งในใจของหลายคนที่เข้ามาสกัดไม่ให้ความสดใสเกิดขึ้นได้เต็มที่ หลายคนที่อยากมีรักใหม่ อาจลังเลเพราะเสียงของความไม่มั่นใจว่าตัวเองมีค่าคู่ควรความรักหรือคนที่รักหรือไม่ เสียงเหล่านั้นอาจย้ำเตือนถึงเรื่องราวความล้มเหลวของรักในอดีต หรือคาดเดาถึงปัญหาอุปสรรคที่จะเจอในอนาคต ทำให้หลายคนนึกกลัว จนล้มเลิกความตั้งใจในการบ่มเพาะรักครั้งใหม่ขึ้นมา

 

สำหรับคู่ที่อยู่ในความรักแล้ว เสียงที่บั่นทอนอาจเข้ามาในรูปแบบของความต้องการความสมบูรณ์แบบของทั้งตัวเองหรือคู่รัก บางเสียงอาจดึงเราให้ติดกับของความคาดหวังในความสัมพันธ์ รักของเจ้าชายเจ้าหญิงในเทพนิยายดูง่ายดายเหมือนมีด้ายแดงมาผูกไว้ จนหลายคนรู้สึกว่า ถ้าเราเจอคู่แท้ ความรักจะสะดวกดาย ไม่ต้องใช้ความพยายามใด ๆ ก็ได้ จนหลายคู่ลดถอยความพยายามไป สำหรับบางคู่ที่พร้อมจะออกแรง ก็อาจจะถูกรั้งเอาไว้ให้เก้ ๆ กัง ๆ ด้วยเสียงบั่นทอนชวนให้นึกถึงความแตกต่างระหว่างกัน ประเด็นปัญหาที่เคยมี ความทรงจำแย่ ๆ ถึงเรื่องที่คู่หรือตัวเองเคยทำ จนเกิดความลังเลสงสัย ไม่มั่นใจว่าจะทำให้รักดีขึ้นได้หรือไม่ กลายเป็นความกลัว ๆ กล้า ๆ พาให้รักได้ไม่เต็มที่ จนคู่เองก็อาจพลอยเกร็ง ต่างฝ่ายต่างไม่กล้าขับเคลื่อนความรักต่อไปได้อย่างเต็มที่

 

หากรักใหม่ของคุณไม่เริ่ม หรือรักเดิมไม่เดินต่อ การปรึกษาเชิงจิตวิทยาแบบยอมรับและพันธสัญญา (Acceptance and Commitment Therapy) อาจช่วยได้นะคะ การปรึกษานี้หรือที่เรียกสั้น ๆ ตามอักษรย่อว่า ACT (ออกเสียงรวบเป็นคำเดียวว่า “แอคท์” ซึ่งสื่อความหมายถึง “การลงมือทำ”) มีเป้าหมายในการช่วยให้เราได้ลงมือใช้ชีวิตไปตามคุณค่า (Value) ที่มี แม้จะมีบางเสียงในใจเข้ามารบกวนหรือดึงรั้งไว้ ในเรื่องของความรักนั้น หากคุณให้คุณค่ากับความสัมพันธ์ฉันคู่รักแล้ว ACT จะช่วยความเตรียมพร้อมให้คุณลงมือเริ่มหรือพัฒนาความสัมพันธ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้จะยังมีเสียงในใจ ประสบการณ์ ความทรงจำ ความคาดหวัง หรืออารมณ์ความรู้สึกที่บั่นทอนการทำตามคุณค่านี้

 

ACT เป็นคลื่นลูกใหม่ลูกที่สามของแนวคิดการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแบบปัญญาพฤติกรรมนิยม (Cognitive Behavioral Therapy) ACT นับเป็นแนวคิดใหม่ แต่มีงานวิจัยรองรับถึงประสิทธิผลเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว ACT คล้ายกับ CBT ในแง่ที่ต่างให้ความสำคัญกับความคิดและความเชื่อที่เรามี หากแต่ ACT มีวิธีการจัดการความคิดความเชื่อแตกต่างไป แทนที่จะโต้แย้งหักล้างความคิดบั่นทอนที่เกิดขึ้น ACT มุ่งเน้นช่วยให้เราได้เว้นระยะห่าง สังเกตและตระหนักว่าความคิดที่บั่นทอนเป็นเพียงความคิดที่เลื่อนไหลเข้ามา มีการเปลี่ยนแปลงไม่คงที่ แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือคุณค่าที่เรามี ดังนั้น แทนที่จะหลอมรวมตกอยู่ใต้อิทธิพลของความคิด ใช้เวลาโต้เถียงต่อสู้กับกับความคิดที่มี หรือรอจนกว่าความคิดที่บั่นทอนจะหมดไป ACT จะช่วยให้เราได้ฝึกเปิดพื้นที่ให้ความคิด ความทรงจำ ความลังเลสงสัย หรืออารมณ์ความรู้สึกใด ๆ โดยไม่ปฏิเสธ หากแต่ฝึกฝนกลวิธีในการจัดวางให้ประสบการณ์ภายในจิตใจเหล่านี้อยู่ในที่ในทางของตัวเอง ไม่เข้ามารบกวนบั่นทอนการใช้ชีวิตตามคุณค่าที่เรามีได้

 

มีหลักฐานการวิจัยจำนวนมากสนับสนุนประสิทธิผลของ ACT ในการช่วยให้บุคคลใช้ชีวิตอย่างมีความหมายในมิติต่าง ๆ ของชีวิต โดยรวมถึงความรักด้วยค่ะ หากผู้อ่านสนใจอยากลองใช้ ACT เติมเต็มความหมายในชีวิตรักของคุณ และต้องการการสนับสนุนจากนักจิตวิทยา สามารถติดต่อขอรับบริการได้ที่ศูนย์สุขภาวะทางจิต คณะจิตวิทยา หมายเลขติดต่อ 02-218-1171 มาลองลงมือรักให้เต็มที่ตามวิถีของ ACT กันนะคะ

 

 

 


 

 

บทความโดย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. กุลยา พิสิษฐ์สังฆการ
อาจารย์ประจำสาขาวิชาจิตวิทยาการปรึกษา

 

แชร์คอนเท็นต์นี้