กลายเป็นประเด็นร้อนทั่วโลกโซเชียลภายในไม่กี่ชั่วโมง เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2563 มีผู้แชร์ภาพประกาศของโรงเรียนแห่งหนึ่ง ซึ่งกำหนดรูปแบบหน้ากากอนามัยที่นักเรียนต้องสวมใส่เมื่อโรงเรียนกลับมาเปิดเทอม ว่าต้องเป็นสีพื้นไม่มีลวดลาย โดยมีตัวอย่างว่าให้นักเรียนหญิงใส่หน้ากากสีอ่อนเช่น ขาว ชมพู และนักเรียนชายให้ใส่หน้ากากสีขาว เทา ดำ ทำให้ชาวโซเชียลวิพากษ์วิจารณ์กันในวงกว้างอย่างรวดเร็ว
ล่าสุด วันที่ 3 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา ทางกระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศแล้วว่า ไม่ได้มีนโยบายหรือการสั่งการให้กำหนดสีหน้ากากอนามัยที่นักเรียนต้องใส่ และยังย้ำว่าให้ใช้หน้ากากแบบใดก็ได้ที่ถูกสุขอนามัย แต่ประเด็นดรามาที่เกิดขึ้นก็น่าจะนำมาวิเคราะห์และสรุปบทเรียนเพื่อหาแนวทางการจัดการพฤติกรรมที่น่าจะ ‘work’ กว่าการบังคับ
วันนี้เรามาลองมองการจัดการกับพฤติกรรมการใส่หน้ากากอนามัยของนักเรียนจากมุมจิตวิทยากันค่ะ
การกำหนดสีหน้ากากที่นักเรียนสวมใส่ตามข่าวนั้น น่าจะทำให้เกิดภาพที่เรียบร้อยเป็นระเบียบดี แต่ถ้ากลับมาพิจารณาว่า เป้าหมายของการใส่หน้ากากอนามัย คือ เพื่อป้องกันการติดเชื้อและแพร่เชื้อ COVID-19 ซึ่งจะได้ผลดีถ้าคนส่วนใหญ่ใส่กันเยอะ ๆ หรือ 100% ได้ยิ่งดี การกำหนดสีหน้ากากก็ดูจะนอกประเด็นไปไกลสักหน่อย
นอกเหนือจากปัญหาเรื่องความเหมาะสมในเชิงปฏิบัติ เช่น หากนักเรียนมีหน้ากากอยู่แล้วแต่ไม่ได้สีตรงกับที่กำหนด อาจทำให้ต้องสิ้นเปลืองเงินเพื่อซื้อใหม่ และการที่หน้ากากรูปแบบและสีเดียวกันอาจทำให้มีโอกาสหยิบสลับกัน ยิ่งเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากขึ้นแล้ว
นอกจากนี้ ยังมีเหตุผลทางจิตวิทยาที่การบังคับเช่นนี้อาจไม่ได้ผลและอาจทำให้เกิดผลเสียตามมาด้วย
เหตุผลที่สำคัญอย่างหนึ่งคือเรื่องแรงจูงใจ การบังคับคือการใช้แรงจูงใจภายนอก (extrinsic motivation) ซึ่งจะทำให้คนทำตามเฉพาะเมื่อมีการตรวจสอบ แต่เมื่อไม่มีใครคอยจับตามองก็พร้อมที่จะเลิกทำ เพราะในใจไม่ได้เห็นดีเห็นงามด้วยตั้งแต่ต้น หรือบางกรณี แม้ตอนแรกจะไม่ได้ขัดข้องอะไร แต่การถูกบังคับอาจทำให้รู้สึกอยากต่อต้านขึ้นมาก็ได้ ยิ่งในวัยรุ่นซึ่งเป็นวัยที่กำลังค้นหาเอกลักษณ์ของตนเอง ไม่ชอบถูกบังคับ และในแง่สุขภาพก็รู้สึกว่าตนเองแข็งแรงไม่ค่อยเจ็บป่วย อาจจะยิ่งเห็นว่าไม่ใส่หน้ากากอนามัยก็ได้ไม่เห็นเป็นไร
วิธีที่ดีกว่านั้นจึงเป็นการสร้างให้เกิดแรงจูงใจภายใน (intrinsic motivation) ทำให้นักเรียนอยากใส่หน้ากากอนามัยเองโดยไม่ต้องเคี่ยวเข็ญหรือคอยสอดส่อง
ทฤษฎีจิตวิทยาทฤษฎีหนึ่งที่นิยมใช้อธิบายการเกิดแรงจูงใจภายใน คือ ทฤษฎีความมุ่งมั่นของตนเอง (self-determination theory) โดย Ryan และ Deci เสนอไว้ว่า แรงจูงใจภายในที่จะทำพฤติกรรมสักอย่างหนึ่งนั้น เกิดจากการมีความรู้สึกว่าตนเองสามารถทำสิ่งนั้นได้ดี (competence) สามารถเลือกเองตัดสินใจเองได้ (autonomy) และการทำสิ่งนั้นเปิดโอกาสให้ได้มีความสัมพันธ์ทางสังคมกับผู้อื่น (relatedness)
ลองนึกดูก็ได้ค่ะ ว่าหากคุณ “ถูกบังคับ” ให้ทำอะไรสักอย่างที่คุณไม่ชอบ แถม “ไม่ถนัด” และ “ไม่มีโอกาสให้ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกับใครเลย” คุณจะอยากทำสิ่งนั้นไหม
แล้วจะประยุกต์ทฤษฎีนี้เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนอยากใส่หน้ากากกันเป็นประจำได้อย่างไร เรามาลองคิดวิธีประยุกต์ทฤษฎีความมุ่งมั่นของตนเอง (self-determinism theory) กันดีไหมคะ?
ประการแรก เราอาจเริ่มจากส่งเสริมให้นักเรียนเลือกใส่หน้ากากรูปแบบและสีสันอย่างที่นักเรียนชอบ ที่ใส่แล้วรู้สึกว่าดูดี มั่นใจ เป็นตัวของตัวเอง เพื่อเพิ่มความรู้สึกว่าได้เลือกเองตัดสินใจเอง (autonomy) ไม่ถูกจำกัดเสรีภาพ
ส่วนเรื่องการได้แสดงออกถึงความสามารถนั้น พฤติกรรมการใส่หน้ากากอนามัยเองอาจไม่ต้องใช้ความสามารถอะไร แต่เราสามารถเปิดช่องให้มีการทำกิจกรรมที่ได้แสดงออกถึงความสามารถ (competency) ที่เกี่ยวข้องในรูปแบบที่แต่ละคนถนัด เช่น ให้ออกแบบหน้ากากผ้า ทำคลิปรีวิวหน้ากากผ้าแบบต่าง ๆ ทำคลิปสอนเพื่อนทำหน้ากากผ้า DIY แบบเก๋ ๆ หรือสร้างสื่อรูปแบบอื่น ๆ เพื่อเชิญชวนคนอื่น ๆ ทั้งในและนอกโรงเรียนให้สวมหน้ากากผ้า
นอกจากนี้ ควรทำให้กิจกรรมดังกล่าวตอบสนองความต้องการทางสังคม (relatedness) ด้วย เช่น มีพื้นที่ให้ได้นำหน้ากากที่เลือกใส่ หรือหน้ากากที่ออกแบบเก๋ ๆ มาโชว์ เหมือนเป็นแฟชั่น เช่น บนเว็บไซต์ หรือสื่อสังคมออนไลน์ของโรงเรียน หรือจะให้นักเรียนร่วมกันจัดตั้งช่องทางการสื่อสารดังกล่าวขึ้นเองก็ได้ เพื่อให้รู้สึกว่าสิ่งที่เขาทำนั้นเชื่อมโยงกับผู้อื่นในสังคม ได้รับการตอบสนองจากผู้อื่นในสังคมเมื่อสื่อสารหรือเผยแพร่ความเห็นหรือผลงานของตัวเองออกไป
วิธีนี้ยังสามารถสร้างให้เกิดอิทธิพลทางสังคม (social influence) จากการได้เห็นเพื่อนนักเรียนรุ่นราวคราวเดียวกันสวมใส่หน้ากากอนามัยสวย ๆ เท่ ๆ มาโชว์กัน ทำให้เกิดพฤติกรรมคล้อยตามได้อีกด้วย ผลการวิจัยทางจิตวิทยาสังคมจำนวนมากพบว่า อิทธิพลทางสังคมจากบรรทัดฐานทางสังคมว่าคนอื่นส่วนใหญ่ทำอะไรกันนั้นมีผลต่อพฤติกรรมของบุคคลมากทีเดียว
คงเห็นแล้วนะคะว่า การทำพยายามเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อสุขภาพของคนในสังคมนั้น มีวิธีอื่นที่ดีกว่าการออกกฎมาบังคับ โดยเฉพาะถ้ากฎนั้นจุกจิกหยุมหยิมจนคนขยับตัวไม่ได้ เลือกทำอะไรด้วยตัวเองแทบไม่ได้เลย ก็อาจทำลายแรงจูงใจภายใน และไม่ก่อให้เกิดการยอมรับและเปลี่ยนความคิดอย่างแท้จริง การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมก็จะไม่ยั่งยืน
ผู้นำ ผู้กำหนดนโยบาย หรือแม้แต่คุณพ่อคุณแม่ สามารถนำแนวคิดนี้ไปประยุกต์ใช้ได้กับการเปลี่ยนพฤติกรรมเรื่องอื่น ๆ ด้วยนะคะ เพราะการบังคับด้วยกฎระเบียบหรือการใช้แรงจูงใจภายนอก นอกจากจะไม่ได้ให้ผลที่ต้องการในระยะยาวแล้ว ยังอาจเกิดผลเสียสะท้อนกลับมาได้ด้วยนะคะ
รายการอ้างอิง
Ryan, R. M., & Deci, E. L. (2000). Self-determination theory and the facilitation of intrinsic motivation, social development, and well-being. American Psychologist, 55, 68-78. https://doi.org/10.1037/0003-066X.55.1.68
บทความวิชาการ
โดย อาจารย์ ดร.ทิพย์นภา หวนสุริยา
อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาสังคมพื้นฐานและประยุกต์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย