นักจิตวิทยาได้ทำการศึกษาถึงอารมณ์ของมนุษย์และผลของอารมณ์ที่มีต่อสุขภาพกาย สิ่งที่นักจิตวิทยาค้นพบ คือ การที่คนเรามีอารมณ์ด้านบวกจะเป็นการช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายทำงานได้ดีขึ้น กล่าวอีกนัยก็คือ เมื่อเรามีอารมณ์ทางบวก อาจจะเป็นสิ่งที่ช่วยป้องกันเราจากความเจ็บป่วยได้ นอกจากนี้นักจิตวิทยายังค้นพบว่าในทางกลับกันอารมน์ทางลบก็อาจส่งผลร้ายต่อสุขภาพของคนเราได้ และนักจิตวิทยายังได้ทำการศึกษาเพิ่มเติมและพบว่า ผู้ที่มีความวิตกกังวลสูงมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคความดันโลหิตสูงมากกว่าถึง 3 เท่า และมีงานวิจัยบางชิ้นที่พบว่าอารมณ์ทางลบมีอิทธิพลต่อโรคความดันโลหิตสูง และโรคเบาหวานอีกด้วย
การดูแลใจให้มีอารมณ์ทางบวกจะเป็นสิ่งที่ช่วยเราได้เมื่อเราป่วยกาย กายก็จะไม่ทรุดหนักลงไปหากใจยังมีอารมณ์บวก โดยวิธีการฝึกเบื้องต้นคือ การมองโลกในแง่ดีหรือบางครั้งที่เราเรียกว่ามองโลกทางบวก โดยลองหามุมดี ๆ ในสิ่งต่าง ๆ ที่เราพบเจอในชีวิตประจำวัน ให้มีรอยยิ้ม มีเสียงหัวเราะกับเรื่องต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับตัว
นอกจากนี้ ความหวัง ก็มีผลต่อสุขภาพกายเช่นกัน โดยนักจิตวิทยาได้ให้ความหมายของความหวังว่าเป็นอารมณ์ที่มองไปในอนาคตโดยมีลักษณะของความคาดหวังถึงผลในทางบวกที่จะเกิดขึ้นต่อไปและยังมีความรู้สึกว่าตนจะสามารถทำได้ ซึ่งนักจิตวิทยาได้ทำการศึกษาพบถึงคุณค่าของความหวังที่มีต่อบุคคลที่ป่วยเป็น โรคร้ายแรงที่อาจมีอันตรายถึงแก่ชีวิต เช่น โรคมะเร็ง มีงานวิจัยบางชิ้นที่พบความสัมพันธ์ระหว่างความหวังกับระยะเวลาในการอยู่รอดของผู้ป่วยโรคมะเร็ง โดยผู้ป่วยที่มีความหวังในระดับสูงมีแนวโน้มที่จะมีระยะเวลาในการอยู่รอดได้นาน นอกจากนี้ยังมีการศึกษาที่พบถึงความสัมพันธ์ระหว่างความหวังกับความถี่และความเข้มของอาการป่วย โดยผู้ป่วยที่มีความหวังในระดับสูงมีแนวโน้มที่จะมีความถี่และความเข้มของอาการป่วยในระดับต่ำ
จากผลการวิจัยดังกล่าว เราอาจจะสามารถสรุปได้ว่า แม้เราจะป่วยเป็นโรคร้ายแรงที่อาจมีอันตรายถึงแก่ชีวิต ก็มีโอกาสในการอยู่ได้หากเรามีความหวัง ดังนั้นแม้เราจะป่วยทางกายเป็นโรคใด ๆ ก็ตาม หากเรายังสามารถประคองใจของเราไว้ให้มีความหวัง ประคองใจของเราไม่ให้ป่วยเป็นโรคไปด้วย ย่อมจะส่งผลในทางบวกกับตัวเรามากกว่าการที่เราปล่อยใจให้ หดหู่ หมดกำลัง แต่ในทางกลับกันหากเราป่วยทางกายแล้วยังปล่อยใจให้ป่วยด้วย มันอาจจะยิ่งส่งผลร้ายต่อเรา
ทว่าในความเป็นจริง เวลาที่เราป่วยกายแล้ว ใจก็จะหดหู่ไปด้วย เพียงแค่เวลาที่เราเป็นหวัด ปวดหัว ตัวร้อน ก็ทำให้ใจเราพาลหมดกำลัง ไม่อยากจะทำอะไร แต่หากเราพยายามทำจิตใจให้ร่าเริง สดชื่น เราจะสังเกตได้ว่า อาการหมดแรง ไม่อยากจะทำอะไร มันหายไปได้ และถ้าเราสามารถทำใจให้เข้มแข็งไว้ บางทีอาการเจ็บป่วยทางกาย อาจจะพ่ายแพ้แก่กำลังใจที่เข้มแข็งของเราก็เป็นได้ โดยตัวช่วยตัวหนึ่งที่อาจช่วยสร้างกำลังใจที่เข้มแข็งได้ ก็คือ เครือข่ายสนับสนุนทางสังคมของเรา
เครือข่ายสนับสนุนทางสังคม คือ กลุ่มคนที่เราสามารถเชื่อมั่นได้ว่า คนเหล่านี้จะคอยช่วยเหลือเรา โดยมักจะเป็นคนในครอบครัว คุณพ่อ คุณแม่ เพื่อนสนิท นอกจากคนเหล่านี้แล้ว เรายังสามารถขยายเครือข่ายสนับสนุนทางสังคมของเราได้ เช่น เพื่อนร่วมงาน หรือ เพื่อนที่เราเจอกันเป็นประจำในที่ออกกำลัง คนเหล่านี้ก็สามารถเข้ามามีส่วนเป็นเครือข่ายสนับสนุนทางสังคมของเรา ช่วยให้กำลังใจ ช่วยประคองใจเรา เวลาที่เรามีอาการเจ็บป่วยด้วยโรคทางกายได้เช่นเดียวกัน
ผู้ที่เคยผ่านประสบการณ์เช่นเดียวกับที่เรากำลังต้องเผชิญอยู่ ก็น่าจะเป็นบุคคลที่เหมาะสมที่จะเป็นส่วนหนึ่งในเครือข่ายสนับสนุนทางสังคมของเราได้ เนื่องจากประสบการณ์ตรงที่เขามีจะช่วยให้เขาเข้าใจอาการทางกาย และอาการทางใจของเราที่กำลังเกิดขึ้นได้ และสามารถช่วยประคองให้ใจเรากลับมาสู่ภาวะเข้มแข็งได้ง่ายขึ้น ตัวอย่างเช่น หากคนที่เคยผ่านประสบการณ์ในการทำเคมีบำบัดมาแล้ว ย่อมจะเข้าใจความคิด ความรู้สึก ของผู้ที่กำลังอยู่ในกระบวนการเคมีบำบัดว่ามีความคิด ความรู้สึกใดเกิดขึ้นบ้าง สามารถบอกเล่าประสบการณ์ สามารถให้การสนับสนุนทางจิตใจ และเข้าใจสถานการณ์ได้ดีกว่าผู้ที่ไม่เคยผ่านประสบการณ์มาก่อน เป็นต้น
สิ่งสำคัญอีกประการก็คือ ควรมองหาคนที่สามารถช่วยสร้างกำลังใจให้เราได้อย่างแท้จริง คนที่จะคอยช่วยเหลือ คอยสนับสนุนและส่งเสริมให้เราสามารถผ่านช่วงเวลาที่เรารู้สึกแย่จากการเจ็บป่วยทางกายไปได้ และเราจะมั่นใจได้ว่าคน ๆ นั้นจะอยู่เมื่อเราต้องการ และบุคคลนั้นเองก็ควรจะเป็นคนที่รู้จักดูแลใจของตนเองด้วย
นอกจากนี้ ตัวเราแต่ละคนก็อาจจะเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายทางสังคมของผู้อื่นได้เช่นกัน โดยเราเองก็มีความสำคัญในการช่วยให้คนที่มีอาการเจ็บป่วยทางกายสามารถประคองใจไม่ให้เจ็บป่วยได้ ตัวอย่างเช่น เมื่อเพื่อนไม่สบาย แล้วมีเราบอกว่า คุณเป็นคนแข็งแรง ดูแลตัวเองมาตลอด ป่วยแค่นี้ ไม่นานก็หายได้ เป็นต้น คำพูดเช่นนี้ย่อมเป็นคำพูดที่สร้างกำลังใจดังนั้นนอกจากเราจะมองหาผู้ที่ให้กำลังใจแก่เราแล้ว เราเองก็ควรจะเป็นผู้ที่ให้กำลังใจแก่ผู้อื่นเมื่อเขาเจ็บป่วยด้วยเช่นกัน
ดังนั้น เราควรที่จะพัฒนาเครือข่ายสนับสนุนทางสังคมของเราให้เข้มแข็ง เพื่อที่จะได้มีแหล่งสนับสนุนและให้กำลังใจแก่กันและกันเวลามีคนหนึ่งคนใดมีปัญหาไม่ว่าจะเป็นทางกาย หรือทางใจ วิธีการในการหากำลังใจ และการสนับสนุนจากเครือข่ายทางสังคมของเรา
สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งคือ การเจ็บป่วยทางกายที่เกิดขึ้น หากเราพิจารณาอย่างถี่ถ้วน จะพบว่า การเจ็บป่วย หรือ การไม่สบายนี้ก็อาจจะเป็นเครื่องมือให้เราได้เข้าใจและเห็นความจริงว่า ทุก ๆ สิ่งมีการเปลี่ยนแปลงเสมอ ไม่มีอะไรที่อยู่กับที่แน่นอนตายตัว สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดตอนนี้ก็คือตัวเราเอง หากเราสามารถมองเห็นเช่นนี้ได้แล้ว ผลที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ ใจของเราก็จะสามารถยอมรับการเจ็บป่วยทางกายที่เกิดขึ้นได้อย่างสงบ เมื่อใจเรายอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างสงบเช่นนี้แล้ว พวกความวิตกกังวล ความเครียด ความกลัว หรือเราสามารถเรียกรวม ๆ ได้ว่า ความทุกข์ ก็จะไม่สามารถปรากฏขึ้นมาในใจเราได้เลย และหากกำลังใจเข้มแข็ง กำลังกายก็ย่อมจะเข้มแข็งตามไปด้วย
ภาพประกอบจาก : http://www.freepik.com
บทความจากสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz
โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์
คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย