คุณเคยมีความรู้สึกแบบนี้กันบ้างหรือเปล่า?
- คิดว่าคนอื่นนินทาว่าร้ายตนเองลับหลัง
- เฝ้าครุ่นคิดถึงเจตนาในคำพูดและการกระทำของผู้อื่นในทางลบบ่อยครั้ง
- คิดว่าคนอื่น ๆ พยายามหลีกเลี่ยง หลบหน้า ไม่อยากคบค้าสมาคมกับเรา
- มักคิดว่าคนอื่นหลอกใช้ตนเอง
- ไม่เชื่อใจใครแม้แต่คนใกล้ชิด เพราะคิดว่าสักวันก็คงจะไม่ซื่อสัตย์ หรือมีความลับกับเรา
ความรู้สึกสงสัยหรือคลางแคลงใจไม่ใช่เรื่องแปลก หรือผิดปกติแต่อย่างใด ตามธรรมดาแล้วคนส่วนใหญ่ต่างก็เคยรู้สึกสงสัย ข้องใจต่อบุคคลหรือเรื่องที่ผ่านเข้ามาในชีวิตกันมาบ้างทั้งนั้น บางครั้งตัวเราเองอาจจะรู้ตัวดีว่ากำลังมีความรู้สึกสงสัยอยู่ แต่ในอีกหลาย ๆ ครั้งเราก็อาจจะมีความรู้สึกเช่นนี้เกิดขึ้นในใจ โดยที่เราไม่ตระหนักรู้ตัว
คนเราแต่ละคนมีความรู้สึกหวาดระแวงมากน้อยแตกต่างกัน สำหรับบางคนอาจจะไม่ค่อยเกิดความรู้สึกประเภทนี้บ่อย ต้องมีหลักฐานชัดเจนเสียก่อนจึงจะเกิดความรู้สึกคลางแคลง หรือไม่ไว้ใจใคร ในขณะที่บางคนกลับมีลักษณะแบบนี้มากกว่าผู้อื่น หวาดระแวงบุคคล และเหตุการณ์รอบตัวจนเป็นนิสัย โดยที่ยังไม่มีหลักฐานหรือข้อเท็จจริงมาสนับสนุนความเชื่อเหล่านั้น
ความระแวงกับความระมัดระวังแตกต่างกันอย่างไร?
แบบไหนจึงจะเรียกว่าเป็นคนระมัดระวัง รอบคอบ และแบบไหนจึงจะเรียกว่าเป็นคนขี้ระแวง?
ความหวาดระแวง เป็นลักษณะซับซ้อนที่ผสมผสานระหว่างความคิดและความรู้สึก เป็นความรู้สึกไม่เชื่อใจ ไม่ไว้วางใจสิ่งรอบตัว คนรอบข้าง โดยที่ไม่มีหลักฐานสนับสนุนความเชื่อของตนเอง หรือขยายสิ่งที่เห็นในทางลบหรือทางร้าย ลังเล สงสัยเกินความจริง รู้สึกว่าสิ่งต่าง ๆ รอบตัว ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ หน้าที่การงาน เงินทอง สุขภาพ ความปลอดภัย เป็นสิ่งไม่มั่นคง และเปลี่ยนแปลงได้เสมอ ความเชื่อประเภทนี้หากมีมากและบ่อยครั้ง อาจนำมาซึ่งสุขภาวะทางจิตที่ไม่ค่อยดีนัก และรบกวนการใช้ชีวิต เพราะเป็นตัวก่อความเครียด ความวิตกกังวล และอาจนำมาซึ่งความหดหู่ ซึมเศร้า และปัญหาทางอารมณ์อื่น ๆ ตามมาอีกหลายอย่าง
นอกจากนี้ ความหวาดระแวงยังเป็นตัวบั่นทอนความสัมพันธ์ ระหว่างเรากับคนรอบข้างด้วย ตัวอย่างเช่น ไม่ไว้ใจว่าลูกน้องจะทำงานได้สำเร็จ ไม่เชื่อใจว่าคู่รักจะซื่อสัตย์กับเราเพียงคนเดียว ไม่มีเพื่อนคนไหนที่จริงใจกับเรา ทุกคนที่เข้ามาในชีวิต ล้วนหวังตักตวงผลประโยชน์จากเราทั้งนั้น หากเป็นแบบนี้แน่นอนว่าสัมพันธภาพระหว่างกันคงพัฒนาได้ยาก หรืออาจนำมาซึ่งปัญหา และการทะเลาะเบาะแว้งกันก็ได้
ในขณะที่ผู้มีความระมัดระวังในการชีวิต จะเป็นผู้ที่รู้จักป้องกันให้สิ่งไม่ดี หรือเรื่องราวที่ไม่พึงประสงค์เกิดขึ้น โดยใช้เหตุผลในการพิจารณาไตร่ตรองความเป็นไปได้ ในความเลวร้ายของเหตุการณ์ หรือเมื่อสังเกตเห็นสัญญาณความผิดปกติ แล้วลงมือป้องกันไม่ให้สิ่งนั้นเกิดขึ้น แทนที่จะปล่อยให้เรื่องที่ไม่ต้องการเกิดขึ้นแล้วค่อยกลับมานั่งแก้ไข หรือหวาดระแวงว่าจะเกิดเหตุร้ายนั้นขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก
การขาดความไว้เนื้อเชื่อใจ ลังเล สงสัยในการกระทำของผู้อื่นเสมอ จะทำให้เราไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างราบรื่นและเป็นสุข ลองจินตนาการดูว่าหากเราใช้ชีวิตด้วยความหวาดระแวงกับทุกสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวเรา สงสัยในเจตนาของผู้อื่นตลอดเวลา คิดว่าผู้อื่นไม่หวังดี ไม่ให้ความสำคัญ ไม่นับถือ หรือพร้อมที่จะทรยศหักหลังตนเองอยู่เสมอ ชีวิตเราจะเป็นอย่างไร? ในแต่ละวันคงจะต้องจมอยู่กับความสงสัย ไม่แน่ใจ วนเวียนอยู่กับความกังวล กลัวไปแทบทุกเรื่อง และเราก็คงต้องพลาดหลายสิ่งหลายอย่างในชีวิตไปอย่างน่าเสียดาย ทั้งมิตรภาพ ความผูกพัน และโอกาสดีต่างๆ ในชีวิต เพราะมัวแต่นั่งสงสัย หวั่นกลัวทุกสิ่งทุกอย่างที่ผ่านเข้ามา
สาเหตุของความหวาดระแวง
1. อิทธิพลจากการเลี้ยงดูในวัยเด็ก
สิ่งที่เราประสบพบเจอในวัยเด็ก มีส่วนอย่างยิ่งในการหล่อหลอม และส่งผลต่อเราเมื่อเติบโตขึ้น ผู้ที่เติบโตขึ้นมาพร้อมกับความเชื่อว่าโลกใบนี้เป็นสถานที่ไม่ปลอดภัย ผู้คนรอบกายล้วนไม่น่าเชื่อถือ พึ่งพิงไม่ได้ ความเชื่อแบบนี้อาจส่งผลต่อเจตคติ และวิธีการมองโลกเมื่อเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ ให้มีความหวาดระแวง ไม่เชื่อมั่นและไม่ไว้วางใจในมนุษย์ เพื่อป้องกันให้ตนเองปลอดภัย ไม่ต้องประสบกับความผิดหวัง การทรยศ หักหลัง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน เช่น ผู้ที่ผ่านประสบการณ์ถูกทำร้าย หรือถูกทอดทิ้งในวัยเด็ก ก็จะเติบโตขึ้นมา โดยมีแนวโน้มจะไม่ไว้วางใจ และลังเลสงสัยในตัวบุคคลอื่น หากไม่ได้รับการปรับวิธีคิด หรือมีประสบการณ์ที่ดี และความสัมพันธ์ที่มั่นคงอื่นเข้ามาช่วยลบล้างความเชื่อแบบเดิมออกไป
2. บาดแผลจากอดีต
หลายต่อหลายคนอาจเคยเผชิญประสบการณ์เลวร้ายมาในอดีต เช่น เคยถูกเอาเปรียบ ถูกโกง ถูกนอกใจ หรือถูกว่าร้ายลับหลังให้เสียชื่อ ทำให้รู้สึกไม่เชื่อใจในตัวบุคคลอื่น หรือสิ่งแวดล้อมรอบข้าง จึงใช้ความหวาดระแวงมาเป็นกลไลในการป้องกันตนเอง ไม่ให้ต้องเผชิญความเจ็บปวดจากความผิดหวังอีก เป็นกลไกที่เราใช้รับมือกับความกลัว โดยการโยนความผิด เพ่งโทษไปที่ผู้อื่นแทน แม้ว่าบาดแผลทางใจ จะไม่สามารถมองเห็นได้ชัดเจน เหมือนกับความบาดเจ็บที่ถูกทำร้ายทางกาย แต่บาดแผลทางใจกลับเป็นสิ่งที่ฝังลึก และเยียวยาได้ยากกว่าบาดแผลทางกาย แม้จะเกิดจากการกระทำของคนเพียงบางคน หรือบางกลุ่ม แต่ก็สามารถลุกลาม กลาย เป็นการไม่ไว้วางใจคนอื่น ๆ ต่อไปได้อีก เมื่อไม่มีความจริงใจ ไม่เชื่อใจผู้อื่นแล้ว แน่นอนว่าการผูกพันแบบยั่งยืนย่อมไม่เกิดขึ้น ทำให้ไม่สามารถสร้างสัมพันธภาพที่แน่นแฟ้นได้ และบางครั้งบาดแผลเหล่านี้ยังส่งผลให้เกิดเป็นความไม่ไว้วางใจคนที่คิดเห็นต่างกับเรา กลายเป็นการแบ่งพรรคแบ่งพวกในที่ทำงาน การแบ่งฝักแบ่งฝ่ายทางขั้วความคิดอีกด้วย
3. สภาพแวดล้อมที่อาศัย
งานวิจัยจำนวนหนึ่ง พบว่า คนที่อาศัยอยู่ในเมือง อยู่ในชุมชมที่มีลักษณะต่างคนต่างอยู่ สังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว สังคมที่มีความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจสูง คนรวยก็รวยมาก คนจนก็จนมาก สภาพการดำเนินชีวิตในสังคมที่มีความเครียด แก่งแย่งและแข่งขันกันสูงอย่างในปัจจุบัน มีส่วนทำให้คนมีความรู้สึกหวาดระแวงมากขึ้น คนในสังคมเมืองจึงแนวโน้มจะรู้สึกหวาดระแวงในการใช้ชีวิตมากกว่าคนที่อาศัยอยู่ในสังคมแบบชนบท หรือชุมชนที่สมาชิกมีปฏิสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกันนอกจากนี้ การที่สื่อจำนวนมากประโคมข่าวสารอาชญากรรม ความรุนแรง หรือข่าวก่อการร้าย และประเด็นปัญหาสังคม จำนวนมาก และครึกโครมซ้ำไปซ้ำมา ทั้งที่หากพิจารณาอัตราส่วนแล้ว อาจไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยครั้งอย่างที่ผู้รับสื่อถูกทำให้รับรู้ ก็มีส่วนทำให้คนส่วนใหญ่รู้สึกว่าอันตรายต่าง ๆ อยู่ใกล้ตัว และมีโอกาสเกิดขึ้นได้บ่อยหรือง่ายกว่าที่เกิดขึ้นจริง ส่งผลให้เกิดความระแวงในการใช้ชีวิต กลัวไปทุกสิ่งทุกอย่างจนเกินกว่าเหตุ เมื่อต้องประสบเหตุการณ์ที่คลุมเครือที่มีโอกาสเกิดเรื่องร้ายแรง อันตราย ก็มีแนวโน้มจะคิด ประเมินว่าจะเกิดเหตุร้าย ถูกหักหลัง ระบุสาเหตุไปในทางร้าย ๆ มากกว่าจะประเมินว่าในความเป็นจริงว่าเหตุการณ์อาจเป็นอย่างอื่นก็ได้
4. ความวิตกกังวลและความซึมเศร้า
ผู้ที่มีอาการของโรควิตกกังวลหรือซึมเศร้าบางคน มีแนวโน้มจะมีความคิดหวาดระแวง เพราะผู้วิตกกังวลจะมีความรู้สึกกลัวมากกว่าคนปกติ ส่วนความซึมเศร้านั้นทำให้รู้สึกว่าตนเองไม่มีคุณค่า ขาดความนับถือในตนเอง จึงมีแนวโน้มตีความเจตนาในการกระทำของผู้อื่นผิดไปจากความเป็นจริง เมื่อประสบเหตุการณ์ต่าง ๆ หรือรับรู้พฤติกรรมผู้อื่น จึงมักจะคาดการณ์ไปในทางเลวร้ายเอาไว้ก่อน แทนที่จะคาดการณ์ไปในทางบวก หรือตามโอกาสที่เป็นไปได้จริงขณะนั้น
5. การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ
ผู้มีอาการนอนไม่หลับมักใช้เวลาในช่วงกลางคืนเพียงลำพัง ทำให้มีเวลามากมายที่คิดถึงเรื่องต่าง ๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต หากไม่สามารถจัดการกับความคิดฟุ้งซ่าน และความคิดที่กระจัดกระจายได้ เมื่อนอนไม่หลับบ่อยครั้งเข้า ประกอบกับสภาพร่างกายที่เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย เพราะขาดการนอนพักผ่อนอย่างพอเพียง จึงอาจจะทำให้เกิดความรู้สึกวิตกกังวล ไม่มั่นคง คลางแคงใจในเรื่องต่าง ๆ รอบตัวขึ้นได้ง่าย
วิธีการแก้ไขนิสัย “ขี้ระแวง”
1. ให้ปรับเปลี่ยนวิธีคิดของเราเสียใหม่
ฝึกตัวเองให้คิดพิจารณาสิ่งต่าง ๆ รวมถึงผู้คนที่ผ่านเข้ามาในชีวิต อย่างรอบคอบ เป็นเหตุเป็นผล เมื่อต้องเผชิญเหตุการณ์หรือการกระทำของคนอื่นที่คลุมเครือ ไม่ชัดเจน ชวนให้สงสัย ฝึกให้คิดถึงความเป็นไปได้ของสาเหตุ ที่มาที่ไปของเหตุการณ์นั้นอย่างรอบด้านให้มากที่สุด เพราะในความเป็นจริง เหตุผลในการกระทำของคนคนหนึ่งอาจเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น การที่เพื่อนเราไม่รับโทรศัพท์ อาจไม่ได้เป็นสัญญาณว่าเพื่อนหลีกเลี่ยง ไม่อยากคุยกับเรา แต่เขาอาจกำลังทำธุระบางอย่างที่ไม่สามารถรับโทรศัพท์ขณะนั้น เช่น ติดประชุม ขับรถ หรือซื้อของอย่างเต็มไม้เต็มมืออยู่ก็ได้
2. เรียนรู้ที่จะเชื่อใจ ไว้ใจผู้อื่นบ้าง
คงปฏิเสธไม่ได้ว่าการอยู่ร่วมกันในสังคมอาจมีโอกาสต้องเจอคนที่ไม่ดี ไม่ซื่อสัตย์บ้างเป็นปกติ แต่ก็ยังมีคนที่จริงใจ เชื่อถือได้ ตรงไปตรงมาอยู่ในสังคมนี้อีกมากมาย ดังนั้นควรให้โอกาสแก่คนที่ผ่านเข้ามาในชีวิตเรา ได้พิสูจน์ตัวตนว่าเขาเป็นคนอย่างไร จากพฤติกรรมที่เขาปฏิบัติต่อเรา แทนที่จะตัดสินคนอื่นเพียงแค่ความลังเลสงสัยจากการคาดเดาเพียงเล็กน้อย เช่น ท่าทางแบบนี้ บุคลิกอย่างนี้ น่าจะเป็นคนกะล่อน ลื่นเป็นปลาไหล ไม่มีความจริงใจ คบไม่ได้ อย่างนี้ก็ดูจะไม่เป็นธรรมแก่ผู้ที่ถูกตัดสิน และยังอาจตัดโอกาสที่เราจะได้คนดี หรือความสัมพันธ์ที่ดี ๆ เข้ามาในชีวิต ก่อนที่จะเรียนรู้ที่จะเชื่อใจผู้อื่น เราเองก็ควรที่จะเชื่อใจตนเองเสียก่อน เพราะบ่อยครั้งที่คนเราจะให้เหตุผลกับการกระทำของคนอื่น โดยเปรียบเทียบกับพฤติกรรมของตัวเราเอง หรือใช้พฤติกรรมของตัวเราเองเป็นตัวตัดสิน และความระแวงคนอื่นก็เป็นผลพวงมาจากการให้เหตุผลของเจ้าตัวไปก่อนสิ่งที่จะเกิดขึ้นจริงมากกว่าที่จะมีหลักฐาน/ข้อเท็จจริงในเรื่องนั้น ๆ
3. แบ่งปันความคิดเห็นของตนเองกับผู้อื่น
ลองเล่าความเห็น ความรู้สึกของตนเองให้คนอื่นฟัง เพราะความเห็นของผู้อื่นในเรื่องเดียวกันจะช่วยสะท้อนเราว่ามีมองมุมเดียวหรือไม่ ผู้อื่นอาจจะมองเรื่องต่าง ๆ ในมุมมองที่ต่างไป ความเห็นของคนอื่น อาจช่วยให้เรามองสิ่งต่างๆ ตามจริงและรอบด้านมากยิ่งขึ้น
4. เปลี่ยนความระแวงให้เป็นระวัง
เราไม่จำเป็นต้องมองโลกสวยงามโดยไม่มีเงื่อนไข ไว้วางใจคนทุกคน หรือประเมินเหตุการณ์ทุกอย่างในทางบวกอย่างหลับหูหลับตา บางครั้งการระวังเอาไว้บ้างก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย แต่ควรระมัดระวังโดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักฐานและข้อเท็จจริง ไม่ใช่เพียงความคิดหรือความรู้สึกลอยๆ เพราะหากเรารู้จักระแวดระวัง รอบคอบ เตรียมตัวมาดี ก็จะสามารถป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดได้ ไม่ว่าปัญหานั้นจะเล็กหรือใหญ่ หากเราสงสัยหรืออยากรู้เรื่องอะไร ทั้งเรื่องของคู่รัก เพื่อนสนิท หรือเพื่อนร่วมงาน อย่าเก็บความสงสัยไว้ในใจให้มาเพาะบ่มเป็นความคลางแคลงใจ ควรเลือกที่จะถามออกไปตรง ๆ และให้เขาตอบมาอย่างตรงไปตรงมาจะเป็นทางที่ดีกว่ามานั่งคิด หรืออนุมานหาสาเหตุของพฤติกรรมเอาเอง
5. อย่านำประสบการณ์ร้าย ในอดีตมาตัดสินปัจจุบัน หรืออนาคต
มนุษย์ทุกคนล้วนต้องผ่านประสบการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตมาอย่างหลากหลาย ทั้งร้ายและดี บางคนก็อาจมีสัดส่วนของประสบการณ์ชีวิตที่ขมขื่น มากกว่าประสบการณ์ที่หวานชื่น อย่างไรก็ตาม เราไม่ควรเอาเรื่องร้าย ๆ ที่เคยผ่านเข้ามาในอดีต มาเป็นตัวเปรียบเทียบ หรือมาเป็นเกณฑ์ว่าจะต้องประสบแต่เรื่องเลวร้าย ผู้คนไม่จริงใจ หรือทรยศหักหลังเสมอ โปรดระลึกไว้ว่าโลกใบนี้ไม่ได้มีแต่ด้านมืดมิด แต่ยังมีด้านที่สว่างสดใสอยู่ด้วยเป็นธรรมดา ดังนั้นผู้คนที่ผ่านเข้ามาในชีวิตเรา หรือสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดกับเราไม่จำเป็นต้องซ้ำรอยเดิมเสมอไป
6. พยายามไม่ตำหนิหรือโทษการกระทำของคนอื่น
บางครั้งการที่เราตำหนิ โต้เถียง พร่ำบ่นคนอื่นบ่อย ๆ อาจทำให้ติดเป็นนิสัยโดยไม่รู้ตัว ซึ่งนิสัยแบบนี้จะทำให้เราไม่เห็นถึงความจริงที่ว่า ตัวเรานี่เอง ที่ไปโทษคนอื่นหรือเหตุการณ์ภายนอกแทบทุกเรื่อง จึงมีมุมมองเรื่องต่าง ๆ ไม่สมเหตุสมผล ไม่เป็นไปตามความจริง และเป็นการมองเพียงด้านเดียว เพราะหลายต่อหลายครั้งที่เราโทษคนอื่น คิดว่าเขาจะทำเรื่องไม่ดี โดยที่ไม่คิดอะไรมากมาย ระแวงสงสัยไว้ก่อน ก็ง่ายกว่าการที่จะต้องพิจารณาความเป็นไปได้ในเรื่องนั้นอย่างรอบด้าน ซึ่งต้องอาศัยทั้งเวลาและความคิดที่มากกว่า
7. ปรับวิถีชีวิต
ดูแลสุขภาพร่างกาย การรับประทานอาหาร และการนอนหลับพักผ่อนให้เหมาะสม เพราะหากปล่อยให้ร่างกายเหนื่อยล้า อยู่ในสภาพย่ำแย่ ย่อมส่งผลต่อสภาพจิตใจอย่างแน่นอน ผู้ที่อ่อนเพลีย เจ็บป่วย พักผ่อนไม่เพียงพอ ย่อมมีแนวโน้มเกิดอารมณ์หงุดหงิด เคร่งเครียด สับสน ซึ่งจะนำไปสู่การคิดแบบฟุ้งซ่าน และความคิดแบบหวาดระแวงได้
8. การทำจิตใจให้ปลอดโปร่ง
หากความหวาดระแวงเกิดจากความวิตกกังวลหรือความเครียด การทำสมาธิ หรือการฝึกให้มีสติกับปัจจุบันขณะ โดยอาจใช้การฝึกสมาธิหรือฝึกสติตามแบบที่ถนัด หรือออกกำลังกายในรูปแบบที่ต้องอาศัยการฝึกสติร่วมด้วย เช่น โยคะ ชี่กง หรือไทเก็ก ก็จะช่วยให้ผ่อนคลาย ลดความคิดฟุ้งซ่าน ความวิตกกังวล ความหวาดระแวงได้
บทความจากสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz
โดย อาจารย์กมลกานต์ จีนช้าง
คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย