วันพุธที่ 1 กรกฎาคม 2563
โดย แขนงวิชาจิตวิทยาพัฒนาการ และศูนย์จิตวิทยาพัฒนาการและความสัมพันธ์ระหว่างวัย
ดำเนินรายการโดย
ผศ. ดร.พรรณระพี สุทธิวรรณ คณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาฯ
พัฒนาการ คือ การเปลี่ยนผ่านจากเด็กเข้าสู่วัยรุ่น เรียนมหาวิทยาลัย และจบออกไปทำงาน เข้าสู่การแต่งงาน รับบทบาทเป็นพ่อแม่ และเข้าสู่วัยสูงอายุ การเสวนาหัวข้อนี้จะช่วยเสริมสร้างให้เข้าใจการเปลี่ยนแปลงของตัวเอง และความสัมพันธ์ในแต่ละช่วงวัยของคนในครอบครัว เพื่อจะได้ย้อนกลับไปดูบ้านของตัวเอง และปรับตัวเข้าหากัน เพื่ออยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข
เราจะเริ่มจากผู้สูงวัยในบ้านลงมาถึงวัยเด็กเล็ก โดย รศ. ดร.สมโภชน์ เอี่ยมสุภาษิต กล่าวว่า ผู้สูงวัย จะมีความถดถอยทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ ซึ่งเป็นไปตามธรรมชาติ มีความคิดและการแสดงออกที่ช้าลง เรียนรู้ได้ช้า และจดจำได้น้อยลง แต่ปัญหา คือ ผู้สูงวัยไม่ยอมรับในสิ่งที่เปลี่ยนแปลงเหล่านี้ และจะเกิดความวิตกกัลวล (Insecure) ในสิ่งที่ตัวเองเคยทำได้ กังวลว่าจะไม่ได้รับการยอมรับจากลูกหลาน จนทำให้เกิดอาการซึมเศร้า มักเกิดกับผู้ที่เคยทำงานโดยใช้ความสามารถมาก ๆ ในตำแหน่งระดับสูง มากกว่าบุคคลทั่วไป เกิดการย้ำอยู่จุดเดิม (Fixation) ยังยึดติดว่ายังคงเป็นผู้นำของครอบครัว และเกรี้ยวกราด (Frustrate) ในบางครั้ง โดยหลัก ๆ ผู้สูงวัยมักจะมี 2 ประเภท คือ
1) อยากให้ลูกหลานถามสารทุกข์สุขดิบ และ
2) อย่ามายุ่งกับฉัน ฉันทำเองได้
ในยุค New Normal นี้ หรือแม้แต่เวลาใด ๆ ผู้สูงวัยจะต้องยอมรับก่อนว่า เราสูงวัยแล้ว ไม่ควรดื้อดึงว่าฉันเคยทำได้ ต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลง ต้องยอมรับว่าทุกอย่างไม่มีอะไรที่เป็นของเรา ทุกอย่างเปลี่ยนไปตามวิถีของมัน ร่างกายก็ย่อยสลายไปตามเวลา สิ่งที่เราเคยคิดว่าดี อาจจะไม่ได้ดีในวันนี้ก็ได้ ต้องไม่คาดหวังให้ลูกหลานต้องมาดูแล เอาอกเอาใจ เพียงแค่ให้อยู่ด้วยกันด้วยความเข้าใจในระดับหนึ่ง ต้องหากิจกรรมที่ตัวเองชอบ เพื่อโฟกัสไปที่สิ่งนั้น ๆ ไม่อย่างนั้นเราอาจไปสร้างปัญหาให้ลูกหลานได้ ส่วนลูกหลานที่มีความใกล้ชิดกับผู้สูงวัย ควรถามและฟังด้วยความใส่ใจ เช่น หิวมั้ย ให้ท่านมีความสุขกับสิ่งที่ท่านทำ อย่าไปขวาง เพียงแต่ช่วยดูแลเรื่องความปลอดภัย
“ผู้สูงวัยต้องการการเข้าใจ รับฟัง การเอาใจใส่ และการเคารพ (respect)”
“ผู้สูงวัยที่เพิ่งจะเกษียณ ถือว่าเป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน ควรปรับตัวหากิจกรรมที่ตัวเองชอบล่วงหน้าก่อนการเกษียณสัก 2 ปี”
สำหรับวัยทำงาน อ. ดร.นิปัทม์ พิชญโยธิน กล่าวว่าวัยทำงานนี้เรียกว่าเป็นช่วงอายุที่กว้างซึ่งจะเริ่มตั้งแต่เข้ามหาวิทยาลัย วัยทำงาน จนถึงวัยเกษียณ เลยจะแบ่งเป็น 2 ช่วงอายุ คือ ผู้ใหญ่ตอนกลาง และผู้ใหญ่ตอนต้น
ผู้ใหญ่ตอนกลาง เป็นช่วงที่มีคน 2 วัย ขนาบสองข้างหรือที่เรียกว่า sandwich generationถือได้ว่าเป็นรายได้หลักของครอบครัว ส่งลูกเข้าเรียนจนจบมหาวิทยาลัยได้ ต้องดูแลสุขภาพของญาติผู้ใหญ่ ทั้งการบริหารเศรษฐกิจของบ้านที่ถดถอยลง ต้องทำงานมากขึ้นเพื่อให้มีรายได้ที่มากขึ้น ซึ่งทำให้วัยกลางคนในบ้านนี้มีความเครียดสูงมากขึ้นในช่วง New Normal นี้ และยังมีความคาดหวังจากญาติผู้ใหญ่ ทำให้เปรียบเสมือนไส้แซนด์วิชที่ถูกบีบอยู่ตรงกลาง
วัยทำงานต้องมีปฏิสัมพันธ์กับผู้สูงวัย เครียดเรื่องงาน เรื่องลูก อยู่กับความคาดหวังจากท่าน อย่างไม่สิ้นสุด เช่น ทำงานนี้สิ มีลูกคนแรกแล้วต้องมีลูกคนที่สองสิ ซื้อบ้านหลังใหญ่กว่านี้สิ ทำให้เกิดความเครียด ขอให้ลองวิธีต่อไปนี้
- ต้องปรับใจก่อน ว่าเป็นเพราะผู้ใหญ่ไม่ได้มีกิจกรรมใด ๆ ทำ หรือว่าเป็นเราเองที่ห้ามท่านทำ ถ้าหากท่านต้องการทำกิจกรรมอะไร ก็ควรส่งเสริมท่าน
- ต้องมีแนวร่วมที่ดี มีสังคมเพื่อน ไว้แชร์ประสบการณ์ ชีวิตของวัยกลางคนต้องไม่ burn out ต้องดูแลตัวเองเพื่อที่เราจะสามารถดูแลคนในบ้านได้อย่างดี ต้องไม่รู้สึกผิดที่จะออกจากบ้านเพื่อจะไปทำอะไรดีๆ เพื่อตัวเราบ้าง
- พูดกันด้วยความจริงใจ เช่น พูดความจริงว่าสภาพเศรษฐกิจในครอบครัวตอนนี้ไม่สามารถมีลูกอีกคนได้
ส่วนผู้ใหญ่ตอนต้น ก็คือ วัยทำงานที่เพิ่งจบมหาวิทยาลัย ถือเป็นผู้ใหญ่ฝึกหัด ต้องพิสูจน์ให้ที่บ้านเห็นว่าเราสามารถดูแลตัวเองได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งถ้าบางบ้านมีความคาดหวังที่ให้เราช่วยค่าใช้จ่ายที่บ้านด้วย ก็จะมีความกดดันสูงขึ้นไปอีก ความเครียด ความกดดันนี้จะกินเวลามากน้อยเท่าไร ก็ขึ้นกับตัวเรา และสถานการณ์ของแต่ละบ้าน และยังมีเรื่องของความรักเข้ามาอีก การถูกเทก็เป็น New Normal อีกอย่างหนึ่ง ซึ่งความคิดของผู้ใหญ่ตอนต้นจะมีความคิดว่าการแต่งงานตนเองจะต้องมีความพร้อมด้านเงิน ด้านการงาน เพื่อที่สามารถดูแลคนอีกหนึ่งคนได้ ยิ่งสมัยนี้ผู้ใหญ่ตอนต้น ต้องต่อสู้กับตัวเอง เช่น งานที่ทำ แต่ไม่ใช่งานที่ชอบ แต่ก็ต้องทำไปก่อนเพื่อให้ได้เงินมาเลี้ยงครอบครัว คนรุ่นใหม่จะเข้าไปทำงานเพื่อหาประสบการณ์ และเมื่องานนั้นไม่มีความท้าทายแล้ว จึงไปหางานใหม่ๆ ทดลองต่อ ซึ่งเป็นการพัฒนาตัวเองที่พ่อแม่หลายๆครอบครัวอาจจะไม่เข้าใจ ความชอบ ความฝัน กับความเป็นจริง บางทีก็ต้องตอบโจทย์สถานการณ์ในบ้านเพราะมันสามารถทำเงินได้ บางทีเราอาจจะเอาความฝันไว้ข้าง ๆ ตัว และทำอาชีพที่ครอบครัวอยากให้ทำก่อน เมื่อถึงเวลา มีจังหวะ และเราพร้อม เราก็สามารถเอาความฝันนั้นมาทำให้เป็นความจริงได้
“วัยผู้ใหญ่จะเป็นวัยที่ไม่สนุกเหมือนวัยเด็ก แต่จะเป็นวัยที่มีความท้าทาย
และถ้าเราก้าวข้ามผ่านความท้าทายนี้ได้เราจะเป็นผู้ใหญ่ที่แกร่งและดูแลผู้อื่นได้”
“พ่อแม่ชอบคิดว่าลูกยังไม่โต ควรให้ความไว้ใจเด็กว่าเค้าโตแล้ว ดูแลตัวเองได้”
คุณปิยะวัฒน์ วิรัชวัฒนกุล ครูฟาร์มผู้มีความใกล้ชิดกับเด็กวัยรุ่นเล่าประสบการณ์ให้เราฟังว่า
วัยม.ต้น – ม.ปลาย เป้าหมายหลัก คือ การเตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัย การเรียนออนไลน์ซึ่งเมื่อก่อนจะเป็นการเรียนเพื่อเสริม อยู่ในวงแคบๆ แต่ตอนนี้กลายมาเป็นการเรียนหลัก ความออนไลน์กับเด็กเป็นเรื่องธรรมดามาก เด็กจะรู้สึกว่าจำเป็นต้องทำเพราะไม่มีทางเลือก ความเครียดของการเรียนออนไลน์ก็คือ การต้องจัดหาอุปกรณ์ที่สนับสนุน อาจสร้างปัญหากับบางครอบครัวในยุคที่เศรษฐกิจไม่ค่อยจะดี
stay home stay safe การเรียนออนไลน์ที่บ้านจะทำให้อยู่ในสายตาของพ่อแม่ เด็กวัยรุ่นต้องการความเป็นส่วนตัว (Privacy) มากกว่าที่พ่อแม่จะมาแอบดูพฤติกรรม ทำให้เด็กรู้สึกว่าถูกจับตามอง เมื่อเด็กอยู่ในบ้านตลอดเวลาทำให้รับรู้เรื่องราวหลาย ๆ อย่างมากขึ้น เช่น สถานะทางการเงินของที่บ้าน หรือการทะเลาะกันของพ่อแม่
ความสัมพันธ์ของตัวเด็กเองกับเพื่อน ๆ ในสถานการณ์นี้ ออกไปเจอเพื่อนมากเหมือนเดิมไม่ได้ จะทำให้เกิดความเครียด ความเหงา ก็จะไปแสดงออกผ่านทางโซเชียลมีเดีย แต่ก็มีความรู้สึกว่าประสบการณ์กับเพื่อนในช่วงที่เตรียมเข้ามหาวิทยาลัยก็จะขาดหายไป
อาชีพสายสาธารณสุขกำลังเป็นฮีโร่ในสถานการณ์ COVID-19 นี้ และเด็กจะต้องเลือกสายอาชีพในตอนม.5 – ม.6 อาชีพทางสายสาธารณสุขจึงเป็นอาชีพที่เป็นที่สนใจในสถานการณ์ COVID-19 นี้
เด็กโตจะบ่นในลักษณะที่เป็นกังวลกับหลักสูตรสอบใหม่ การเปิดเทอมช้า ก็ทำให้เกิดความกังวลว่าจะเรียนไม่ทันการสอบ
วัยเด็กเล็ก คุณดุจฤทัย โรจน์ปัญญากิจ กล่าวว่าเด็กวัยนี้ต้องการการเคลื่อนไหวตลอดเวลา ต้องการใช้เวลากับพ่อแม่ หรือออกไปเล่นข้างนอก แต่สำหรับบางบ้านที่ผู้ปกครองต้องทำงาน ไม่สามารถมีเวลาให้กับเด็กได้ เด็กก็จะเกิดความเครียด และเมื่อเนอสเซอรี่และโรงเรียนปิด ตัวพ่อแม่เองก็เกิดการกดดัน ยิ่งสำหรับการเรียนออนไลน์นั้นยิ่งเป็นไปได้ยากในเด็กวัยนี้ เด็กบางคนอยู่กับปู่ย่าตายาย ซึ่งก็จะใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ไม่เป็น เด็กเล็กก็ไม่สามารถสอนปู่ย่าตายาย หรือใช้งานอุปกรณ์เองได้ ทำให้บางครอบครัวที่ไม่มีเวลาเพราะต้องทำงาน มีปัญหาว่าไม่รู้ว่าจะสอนลูกอย่างไรดี
ดังนั้น ควรมีการจัดเวลาของคู่สามี ภรรยา สลับกันดูแลลูก การให้ปู่ย่าตายายได้เล่นกับเด็ก ๆ ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ พ่อแม่ควรจัดเวลาทำงานและเวลาเล่นให้กับลูก โดยสามารถจัดเป็นกิจวัตร (Routine) ได้ เด็กวัยนี้มีความสามารถที่จะเข้าใจตารางเวลาได้ ซึ่งจะช่วยให้เด็กเข้าใจ คาดหวัง เกิดการจดจำที่ดีได้
Q&A
Q1. เรื่องห้ามลูกล็อคประตูเพื่อคอยดูพฤติกรรม ควรหรือไม่ควรคะ
A1 ศิลปะของการเป็นพ่อแม่วัยรุ่น คือ ควรอยู่ห่างๆ อย่างห่วงๆ ทำให้เค้ารู้สึกว่าเราวางใจกับเค้าแล้ว แล้วเมื่อเค้ามีปัญหาอะไร เค้าจะมาหาเราเอง
Q2. ตัวเองเป็นคนที่เรียนไม่เก่งตั้งแต่เด็ก โดนดูถูกจากเพื่อนพ่อแม่ว่าโง่ตั้งแต่เด็ก จนตอนนี้จะเรียนจบป.เอกแล้ว ยังโดนดูถูกว่าโง่อยู่ จะมีวิธีจัดการกับความรู้สึกตัวเองที่เป็นปมด้อยอย่างไรดีคะ
A2 ไม่ควรใช้ชีวิตด้วยคำพูด ความคาดหวัง (expectation) ของคนอื่น ควรต้องบอกกับตัวเองว่าควรทำตามเป้าหมายของชีวิต (set and reach goal) ควรคิดว่าฉันเป็นตัวฉันที่ดีพอ
Q3. เราจะก้าวไปสู่วัยผู้ใหญ่อย่างไร ไม่ให้ร่างกายจิตใจถดถอยเร็วเกินไปทั้งร่างกายและจิตใจ และจะทำอย่างไรกับความวิตกกังวลเหล่านี้
A3 ต้องรักษาสุขภาพกาย สุขภาพใจ ทานอาหารที่ดี พักผ่อนเพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และลดความเครียด
Q4. มีกิจกรรมอะไรไว้เล่นกับเด็ก ๆ เวลาหยุดอยู่บ้านมั้ยคะ
A4
1. สิ่งสำคัญคือ “ไม่แตกหัก เสียหาย”
2. เอากล่องมาต่อ ๆ กันเป็นบ้าน ให้เด็ก ๆ มุด
3. เอาเทปกาวมาแปะที่พื้นเพื่อฝึกการก้าวกระโดด
4. ฝึกทำขนมง่าย ๆ
5. สำหรับเด็ก preschool อาจจะใช้กระดาษสอนเรื่องสี และรูปทรงต่าง ๆ
วิทยากร
- รองศาสตราจารย์ ดร.สมโภชน์ เอี่ยมสุภาษิต
- อาจารย์ ดร.นิปัทม์ พิชญโยธิน
- คุณปิยะวัฒน์ วิรัชวัฒนกุล
- คุณดุจฤทัย โรจน์ปัญญากิจ