ในงานวิจัยที่เก็บข้อมูลทางสถิติ พบว่า มีคนน้อยกว่าร้อยละ 10 ที่ประสบความสำเร็จในสิ่งที่ตนเองปรารถนาที่จะเปลี่ยนแปลงในปณิธานปีใหม่ โดยส่วนใหญ่แล้วการตั้งปณิธานและไม่สามารถทำได้ตามที่ตนปรารถนานั้นจะสัมพันธ์กับ การตั้งเป้าหมายที่ไม่ชัดเจน ขาดแผนการ หรือการจัดสรรที่ดี ที่นำไปสู่เป้าหมาย และทำให้เกิดความหมดกำลังใจหมดแรงจูงใจในการสานฝันที่ตั้งไว้
ใครในที่นี้ได้เคยมีโอกาสได้ตั้งสิ่งที่ตนเองปรารถนาให้กับตัวเอง แต่ยังไม่ทันถึงเดือนกุมภาพันธ์ก็เริ่มปล่อยสิ่งที่ตนเองปรารถนาไปก่อนบ้างคะ?
ในงานวิจัยพบว่า ประมาณร้อยละ 80 ของผู้ที่มีสิ่งที่ตนเองปรารถนาจะปล่อยหรือละทิ้งสิ่งปรารถนานั้น ๆ ในเดือนกุมภาพันธ์ค่ะ โดยหากคุณเป็นคนหนึ่งที่เคยตั้งความปรารถนาไว้ในปีใหม่ แต่ไม่สามารถทำให้ประสบความสำเร็จได้ หรือทำได้ในระดับหนึ่งแล้วล้มเลิกกลางครัน เราถือเป็นคนหมู่มากค่ะ เราเป็นเพื่อนกัน
แล้วเราจะสามารถวางกลยุทธ์อย่างไรได้บ้างเพื่อความสำเร็จในปณิธานปีใหม่
คุณ ๆ ทราบมั้ยคะว่า การตั้งความแน่วแน่ในปีใหม่เป็นโอกาสที่ดีมาก ๆ ที่เราควรได้ตั้งเป้าหมาย แพลนและลงมือทำ เหตุเพราะช่วงเวลาปีใหม่ เป็นช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลอง การรับรู้ถึงสิ่งใหม่ ๆ ความตั้งใจใหม่ ๆ จะยังมีอยู่อย่างเต็มที่ เป็นช่วงเวลาที่เราจะสามารถสะท้อนความตั้งใจของตนเอง และคิดถึงสิ่งที่อยากพัฒนา และดึงแรงบันดาลใจให้กับตนเองได้ เปรียบเหมือนการเริ่มต้นใหม่อย่างสดใส สดชื่น การเริ่มจัดระบียบวางแพลนในชีวิตเพื่อเริ่มบทใหม่ ๆ ของตัวเรา โดยส่วนใหญ่ก็จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับ สุขภาพ การงาน ความสัมพันธ์ต่าง ๆ ค่ะ
การตั้งเป้าหมายที่สำคัญ
-
สามารถบอกกล่าว มีความเฉพาะเจาะจง และเห็นภาพที่ค่อนข้างชัดเจนถึงเป้าหมาย
-
สามารถค่อย ๆ วัดความสำเร็จ และวัดความสำเร็จเมื่อถึงเป้าหมายได้
-
มีความท้าทาย ไม่ง่ายเกินไป และไม่ยากเกินไป แบบยังไงก็เป็นไปไม่ได้ จนหมดกำลังใจ
-
มีความสำคัญเฉพาะเป็นคุณค่ากับตัวเรา
-
มีการให้เวลา และกำหนดเวลาในการค่อย ๆ ไปสู้เป้าหมายที่ตั้งไว้
เริ่มต้นจาก
-
“อะไรที่เล็กๆ” ถึงแม้ฝันเราจะใหญ่
เช่น ปณิธานของเราคือ การลงวิ่งมาราธอนภายในปีนี้ ก็อาจจะค่อย ๆ เริ่มเรียนรู้จังหวะการวิ่งของตัวเอง ค่อย ๆ พัฒนาตามระยะทาง จนสามารถพัฒนาเป็นวิ่งมาราธอนได้ใน 6 เดือนต่อมา
หรือ ปณิธานของเราคือ การลดน้ำหนัก 5 กิโลกรัม ภายในครึ่งปีหน้า ก็ค่อย ๆ เริ่มจากการไม่ซื้อขนมมาตุนไว้ที่บ้าน ลดการทานของทอด ของหวานในทุก ๆ วัน พร้อมออกกำลังกาย อาจจะเริ่มที่ 15-20 นาที และค่อยเพิ่มเวลา ให้น้ำหนักได้ลดลงเป็นลำดับ
-
เป็นการสร้าง “ลักษณะนิสัยใหม่”
เช่น การซ้อมวิ่งทุก ๆ วัน เวลาหกโมงเย็น ที่สวนเป็นเวลา 20 นาที
การลดทานขนม น้ำหวาน หรือของทอด ในแต่ละมื้ออาหาร และในระหว่างวัน จนสามารถเลิกการทานได้
-
อิงสิ่งที่ “ช่วยสนับสนุนเรา”
เช่น แชร์ความแน่วแน่ตั้งใจนี้กับเพื่อน และชวนกันไปออกกำลังกาย ตามเวลาที่กำหนด โดยเฉพาะกับเพื่อนที่มีปณิธานที่เหมือนกัน และชวนกันไปเริ่มจากอะไรเล็กๆ น้อยๆ จนสร้างเป็นลักษณะนิสัย
นอกจากนี้ ในยุคนี้ อาจจะมีเครื่องมือ applications ต่าง ๆ ที่ช่วย ในการสร้างความมุ่งมั่นตั้งใจ เช่นในการวิ่งและเก็บสถิติ ความเร็วและหน่วยระยะทางไว้ ซึ่งอาจจะสามารถแชร์กับกลุ่มเพื่อน เพื่อเสริมสร้างกำลังใจ ให้กันและกันได้อีกด้วย
-
“ให้รางวัลตัวเอง”
เช่น คำชมตัวเอง หรือ กดไลค์ ส่งคำชมเพื่อนที่กำลังพัฒนาตนเองไปสู่เป้าหมาย พร้อมจดบันทึกว่า ตอนนี้เราได้พัฒนาไปถึงไหน อาจต้องมีการปรับเปลี่ยนแผนอย่างไร หรือต้องเรียนรู้อะไรเพิ่มเติมมั้ยสู่การไปสู่เป้าหมาย โดยสิ่งนี้จะสัมพันธ์กับ ลักษณะของเป้าหมายที่ตั้ง และลักษณะของตัวเรา
ถ้าเราเป็นบุคคลที่มี Growth mindset ที่ดี ประสบการณ์ที่เราได้จะทำให้เราเกิดการเรียนรู้และพร้อมพัฒนา การตั้งเป้าหมายที่ท้าทายจะทำให้เราอยากลองลงมือทำ แต่หากเราเป็นบุคคลที่มี Fixed mindset การตัดสินตนเองว่า ไม่สามารถทำได้ และล้มเลิกความตั้งใจ หรือลดเป้าหมายลงอาจเกิดขึ้นได้ เราอาจจะลองขยับความคิดของเราค่ะ ว่าเราค่อย ๆ พยายามและเรียนรู้ ค่อย ๆ พัฒนา เราก็จะสามารถพัฒนาไปสู่เป้าหมาย หรืออาจเกินกว่าเป้าหมายที่เราตั้งไว้
-
สุดท้าย แต่.. ไม่ท้ายสุดค่ะ
อยากชวนให้ทุกท่านได้พูดคุยและตอบคำถามตัวเองค่ะ ว่าเราตั้งปณิธานนี้เพราะสาเหตุอะไร หากความแน่วแน่ในปีใหม่ที่เราตั้งนี้ ตอบคำถามได้ว่า เราทำไปทำไม เพื่อคุณค่าอะไร เราก็จะมีแรงใจมากขึ้น ในการตั้งใจ และอยู่ในกลยุทธ์แผนที่ตั้งไว้ เพื่อให้ได้มาซึ่งปณิธานที่เราได้ตั้งไว้ในต้นปีนี้ค่ะ
สวัสดีปีใหม่ทุกท่านนะคะ ขอให้ทุกท่านพบเจอแต่สิ่งดี ๆ ผู้คนดี ๆ รอบกาย สุขกายและสบายใจค่ะ
Reference
Norcross, J. C., Mrykalo, M. S., & Blagys, M. D. (2002). Auld lang Syne: Success predictors, change processes, and self‐reported outcomes of New Year’s resolvers and nonresolvers. Journal of clinical psychology, 58(4), 397-405.
บทความโดย
อาจารย์ ดร.วิทสินี บวรอัศวกุล
อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ