ในโลกออนไลน์ ทำไมเราถึงใจร้ายกับคนไม่รู้จัก

16 Sep 2021

รวิตา ระย้านิล

 

ท่านที่ท่องอยู่ในโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะผ่านแพลตฟอร์มใดก็ตาม น่าจะรู้สึกเหมือนกันว่าเดี๋ยวนี้คนเราพูดจา (พิมพ์) ถึงกันแบบรักษาน้ำใจกันน้อยลง ในการเจอกันแบบต่อหน้านั้น โดยทั่วไปเราจะพยายามรักษามารยาทหรือรู้สึกเกรงใจโดยเฉพาะกับคนไม่รู้จัก แต่ในโลกออนไลน์กลับเป็นไปในทางตรงกันข้าม ถ้อยคำร้ายแรงเชือดเฉือนหรือตัดสินถูกผิดไปก่อนเกิดขึ้นได้โดยง่าย ทั้งที่มีการใช้กฎหมายหมิ่นประมาทหรือพรบ.คอมพิวเตอร์ฯ มาเป็นกรณีตัวอย่างอยู่เรื่อย ๆ แต่ก็ไม่ได้หยุดยั้งการทำร้ายกันด้วยวาจาในภาพรวม

 

ความนิรนาม (anonymity) หรือ การไม่สามารถระบุตัวตนของบุคคลได้ เป็นปัจจัยที่เอื้อต่อความก้าวร้าวทางไซเบอร์ การซ่อนตัวตนอยู่ภายใต้ชื่อหรือรูปภาพอื่นทำให้บุคคลกล้าแสดงความคิดเห็นมากขึ้น ความหวั่นประเมินลดลง ดังการทดลองจำนวนมากทางจิตวิทยาที่ยืนยันว่ายิ่งระบุตัวตนน้อยเท่าไร อิสระในการแสดงพฤติกรรมโดยไม่ต้องคำนึงถึงกรอบทางสังคม ความคาดหวัง ความเหมาะสม หรือค่านิยมทางสังคม ยิ่งมีมากขึ้น

อย่างไรก็ดี แม้แอคเคาท์ที่ใช้ในการแสดงความคิดเห็นจะเป็นชื่อและรูปภาพของบุคคลก็ตาม แต่ความไม่รู้จักกันในชีวิตจริงก็ลดความวิตกกังวลต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับตนเอง หรือความรับผิดชอบตนเองลงได้

 

นอกจากนี้ ในการทดลองสุดคลาสสิคของ Milgram (,E) เรื่องการช็อคไฟฟ้าใส่หน้าม้าของการทดลองเพื่อวัดระดับว่าคนเราจะเชื่อฟังผู้มีอำนาจจนถึงขั้นทำร้ายคนอื่นได้มากแค่ไหน ในการทดลองดังกล่าวนอกจากจะได้ทราบว่าคนเราสามารถเชื่อฟังจนถึงขั้นทำร้ายคนอื่นในระดับที่อันตรายต่อชีวิตได้แล้ว เรายังพบอีกว่า การแยกเหยื่อให้อยู่อีกห้อง ทำให้มองไม่เห็นกัน รับรู้เพียงแค่เสียงร้องด้วยความเจ็บปวดของเหยื่อ หรือเสียงที่เงียบไปของเหยื่อ ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้เข้าร่วมการทดลองเดินหน้าเพิ่มระดับการทำร้ายคนได้มากกว่าในยามปกติ

 

การเป็นหนึ่งในร้อยพันข้อความโจมตีก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่เอื้อให้บุคคลยกระดับความก้าวร้าวของตน ยิ่งมีจำนวนแอคเคาท์ที่แสดงความข้อความทางลบมากเท่าไร ข้อความรุนแรง หยาบคาย ไม่เหมาะสม ก็ยิ่งปรากฏแฝงอยู่มากเท่านั้น ทฤษฎีการกระจายความรับผิดชอบ (diffusion of responsibility) เสนอว่า เมื่อใดก็ตามที่มีคนจำนวนมากขึ้น ผู้คนในจำนวนนั้นจะรู้สึกรับผิดชอบต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นน้อยลง เช่น เราทุ่มเทน้อยกว่าเมื่อทำงานกลุ่ม เรายื่นมือเข้าช่วยเหลือผู้เดือดร้อนน้อยลงเมื่อเห็นว่ามีคนอื่นๆ อยู่ด้วย ในสถานการณ์ล่าแม่มดในสื่อสังคมออนไลน์ก็เช่นกัน เมื่อมีตัวเปิด และมีคนตามไปเป็นจำนวนมาก ความรับผิดชอบต่อถ้อยคำทางลบที่พิมพ์ออกไปก็จะยิ่งหาร ๆ กัน การยับยั้งไตร่ตรองด้วยเหตุด้วยผลก็เกิดขึ้นน้อยลง กล้าปล่อยวาจาร้ายๆ ตามอารมณ์ตามกระแสสังคมได้ง่ายขึ้น

 

Social media troll harassing people on social media

 

 

พื้นที่เปิดอย่างสื่อออนไลน์ มีข้อดีคือทำให้ผู้คนมีอิสระในการเข้าถึงและมีส่วนร่วมในร่วมวิพากษ์วิจารณ์ตัวบุคคลหรือเรื่องราวที่เกิดขึ้นได้ง่าย ทว่าด้วยโอกาสที่เพิ่มมากขึ้นนี้ ย่อมเป็นโจทย์ที่ท้าทายว่าเราจะใช้อิสระของเราอย่างไรไม่ให้ละเมิดหรือกระทบกระทั่งผู้อื่นมากเกินไป ตัวตนในโลกเสมือนอาจจะไม่ใช่ตัวตนจริงแท้หรือทั้งหมดของคนคนหนึ่ง แต่ความรู้สึก ความเจ็บปวดที่ได้รับในโลกนั้นก็ไม่ได้น้อยไปกว่าโลกจริง เสียงที่ได้ยินกับหูหรือข้อความที่อ่านผ่านตาก็สามารถบาดลึกและสร้างรอยแผลให้คนเราได้เช่นกัน

 

เพราะไม่ได้เจอกันต่อหน้า เราจึงไม่รู้ ไม่เห็นความเจ็บปวดที่คนอื่นได้รับจากการกระทำของเรา และเพราะแบบนั้นจึงจำเป็นที่เราจะต้องฝึกให้มีสติระลึกรู้ตัวมากขึ้น ใช้ empathy หรือการคิดแบบเอาใจเขามาใส่ใจเรามากขึ้น ว่าสิ่งที่เราแสดงออกไปนั้น มีโอกาสที่ผู้รับจะรู้สึกเช่นไร พร้อมคิดเข้าข้างตนเอง (self-serving bias) ให้น้อยลง ว่าสิ่งที่เราคิดอยู่ จะแสดงออกไปหรือได้แสดงออกไปแล้วนั้น ดีแล้ว ถูกต้องแล้ว

 

การทอดเวลาให้อารมณ์ความรู้สึกจางลง ก็เป็นหนทางหนึ่งที่นักจิตวิทยาและผู้มีประสบการณ์ในโลกไซเบอร์แนะนำ เพราะเมื่อสมองส่วนอารมณ์ผ่อนลง สมองส่วนเหตุผลก็จะทำหน้าที่ได้ดี เราจะเกิดความเป็นกลางต่อเรื่องราวและต่อท่าทีของตนเอง ความคิดความรู้สึกคนเรานั้นเปลี่ยนแปลงได้ในทุกนาที การรอให้ตนเองได้ตกตะกอน รวมถึงรอให้ได้รับข้อมูลรอบด้านมากขึ้น ย่อมดีกว่าปล่อยตนไปกับความวู่วามหรืออคติที่ครอบงำ

 

หากเราต้องการใช้พื้นที่สื่อสังคมออนไลน์เป็นช่องทางการระบายอารมณ์ความรู้สึกของเรา ก็สามารถทำได้โดยพิมพ์ข้อความลงไป แล้วเลือกเผยแพร่เฉพาะฉัน หรือกดบันทึก/save draft แทนการโพสต์หรือพับลิชในทันที จากนั้นจึงปล่อยให้เวลานำพาข้อมูลใหม่ หรือมุมมองใหม่ มาเป็นตัวช่วยให้เราได้ตัดสินใจอีกครั้งว่าเผยแพร่ข้อความนั้นออกไป ปรับแก้ หรือลบทิ้ง

 

อย่ารีบร้อนเพราะกลัวตามเทรนด์ไม่ทัน เพราะสิ่งที่เผยแพร่ออกไปแล้วนั้น ไม่ว่าจะลบเร็วแค่ไหน แม้เพียงเสี้ยววินาที แคปทัน(อเมริกา) ก็มักจะมาเยือนเราเสมอ

 

 

 

ภาพจาก

https://unsplash.com/
https://www.freepik.com/

 


 

บทความวิชาการ

โดย คุณรวิตา ระย้านิล

นักจิตวิทยา คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

แชร์คอนเท็นต์นี้