หลายคนอาจเคยได้ยินคำว่า Open relationship หรือความสัมพันธ์แบบเปิด ซึ่งเป็นความสัมพันธ์รูปแบบหนึ่งที่ไม่ใช่กระแสหลัก ปัจจุบันในต่างประเทศมีการพบรูปแบบความสัมพันธ์ประเภทนี้มากยิ่งขึ้น จึงน่าทำความเข้าใจว่าความสัมพันธ์รูปแบบนี้คืออะไร
หากมองรูปแบบความสัมพันธ์เป็นสองขั้ว ขั้วหนึ่งคือรูปแบบความสัมพันธ์แบบรักเดียวใจเดียว (Monogamy) และขั้วตรงข้ามนั้น ศัพท์วิชาการจะเรียกว่า Consensual non-monogamy หรือเรียกสั้นๆ CNM ซึ่งเป็นที่อยู่ของ Open relationship นั่นเอง
ในกลุ่มความสัมพันธ์แบบ CNM เองก็มีความหลากหลาย ยากนักที่จะจัดประเภท กระนั้นนักวิจัยต่างประเทศ1พยายามที่จะแบ่งประเภทของความสัมพันธ์ดังกล่าวออกเป็นคร่าวๆ อาทิ
- ความรักความสัมพันธ์แบบหลายคน (Polyamory) คือการที่บุคคลในความสัมพันธ์ ตกลงใจที่จะมีความรัก ความผูกพันและเพศสัมพันธ์กับบุคคลอื่น ๆ มากกว่า 1 คน
- ความสัมพันธ์แบบเปิด หรือ Open relationship หมายถึง การที่คู่รักต่างยอมรับร่วมกันว่าจะเปิดโอกาสให้คู่ของตนเองไปมีอิสระที่จะเปิดประสบการณ์ทางเพศเท่านั้นกับบุคคลอื่น นอกเหนือจากคู่ครองหลักของตนเอง (primary partner) โดยไม่มีความรู้สึกรักหรือผูกพันทางอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้อง
นอกจากนั้นยังรวมถึง Swinging หรือ Monogamish เป็นต้น ทั้งนี้ความสัมพันธ์แบบ CNM แตกต่างกับการนอกใจ (Cheating) เพราะความสัมพันธ์แบบเปิดและ CNM จำต้องมีการตกลงปลงใจร่วมกันของคนทั้งสองฝ่าย มิใช่การลักลอบหรือแอบทำ โดยที่อีกฝ่ายไม่ยอมรับหรือเห็นด้วย
ทำไมถึงเกิดความสัมพันธ์แบบเปิดขึ้นมา
บทความออนไลน์ของ Melissa Klass2 นักจิตบำบัดเขียนว่าเหตุผลหนึ่งที่คู่รักตัดสินใจให้มีความสัมพันธ์แบบเปิด เนื่องจากความต้องการของอีกฝ่ายไม่ถูกเติมเต็ม เช่น ความสุขบนเตียงนั้นอาจจืดจางลงตามกาลเวลา ดังนั้นการได้ออกไปมีความสัมพันธ์แบบนอกกายแต่ไม่นอกใจ จึงอาจทำให้ความสัมพันธ์ของคู่รักทั้งสองดีขึ้น
ความสัมพันธ์แบบเปิดสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกความสัมพันธ์ไม่ว่าจะเป็น ชายหญิง เกย์ หรือ Bisexual ในบางคู่รักเลือกจะมีความสัมพันธ์แบบเปิดตั้งแต่ปีแรกของการคบกัน บางคู่อาจเริ่มต้นคบกันแบบรักเดียวใจเดียว (Monogamy) ก่อนและเปลี่ยนเป็น Open หลังจากคบหากันได้ปีหรือสองปี เป็นต้น ในบางคู่ก็เลือกกลับมาเป็นความสัมพันธ์แบบรักเดียวใจเดียวอีก แก่นสำคัญของการมีความสัมพันธ์แบบเปิดคือคู่รักต้องอยู่บนพื้นฐานของความรักและเอาใจใส่ การเปิดความสัมพันธ์ทำเพื่อให้ทั้งสองฝ่ายมีความสุข และมีการพูดคุยตกลงกันว่าการ ’เปิดความสัมพันธ์’ นั้นจะเปิดในลักษณะใด ความถี่ในการพบเจอบุคคลอื่นเป็นไปอย่างไร เป็นต้น
ความสัมพันธ์แบบเปิด มีข้อดีกับคู่รักจริงหรือ
มีงานวิจัยหลายชิ้นที่พยายามเปรียบเทียบคุณภาพความสัมพันธ์ระหว่างคู่รักที่มีความสัมพันธ์แบบ CNM กับความสัมพันธ์แบบ monogamous โดยงานพบว่าคู่รักทั้งสองกลุ่มไม่มีความแตกต่างกัน ทั้งในเรื่องของความพึงพอใจและการสื่อสารระหว่างคู่รัก3 ทั้งนี้งานวิจัยเชิงคุณภาพที่สัมภาษณ์เฉพาะในกลุ่มชายรักชายที่มีความสัมพันธ์แบบ CNM จำนวน 20 คนพบว่าคู่รักนั้นมองว่าตนเองมีความรู้สึกพึงพอใจในความสัมพันธ์มากขึ้น ผู้ให้ข้อมูลบางคนรับรู้ว่าคู่รักของตนมีความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นเนื่องจากทั้งสองฝ่ายต่างไม่ต้องรู้สึกกดดันมากเกินไปที่ต้องตอบสนองความต้องการในทุก ๆ เรื่อง อีกทั้งเนื่องจากความสัมพันธ์แบบ CNM จำเป็นต้องมีการสื่อสารกันอย่างเปิดเผยและจริงใจ ทำให้ผู้ให้ข้อมูลมองว่าการสื่อสารระหว่างกันนั้นมีประสิทธิภาพกันมากยิ่งขึ้น4
แม้งานวิจัยจะระบุว่าคู่รักแบบ CNM มีความพึงพอใจหรือความไม่ต่างจากคู่รักแบบอื่น Barry Adam5 มองว่าการมีความสัมพันธ์แบบเปิดนั้นก็สามารถประสบพบเจอกับความเสี่ยงได้เช่นกัน งานวิจัยชิ้นหนึ่ง6พบว่า เมื่อมีความสัมพันธ์แบบเปิด แม้จะมีการยินยอมของทั้งสองฝ่าย แต่อาจมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งคู่ อดไม่ได้ที่จะรู้สึกหึงหวง เมื่อรู้ว่าคู่รักของตนนั้นกำลังออกไปมีสัมพันธ์สวาทกับผู้อื่น หรือในบางคนกลับรู้สึกกลัวลึก ๆ ว่าวันหนึ่งคนรักของตนนั้นจะปันใจไปรักคนอื่นมากกว่าตนเองที่เป็นคู่รักหลัก เป็นต้น เมื่อเกิดปัญหาเหล่านี้คู่รักจำเป็นต้องกลับมาพูดคุยสื่อสารกัน หรือจะปรับเปลี่ยนข้อตกลงระหว่างกัน หากไม่สามารถตกลงกันได้ ก็อาจนำไปสู่การยุติความสัมพันธ์ได้
สังคมคิดอย่างไรกับความสัมพันธ์แบบ CNM
ในต่างประเทศมีงานวิจัยที่ศึกษาว่าสังคมมองรูปแบบความสัมพันธ์นี้อย่างไร มีงานวิจัยหลายชิ้นทำการสำรวจเจตคติของผู้คนที่มีต่อความสัมพันธ์ 5 รูปแบบคือ ความสัมพันธ์แบบรักเดียวใจเดียว (Monogamy), CNM ในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ ความสัมพันธ์แบบหลายคน (Polyamory), ความสัมพันธ์แบบเปิด (Open relationship), Swinging และความสัมพันธ์ที่ไม่ใช่ CNM คือการนอกใจ (Cheating) ผลการสำรวจพบว่า ความสัมพันธ์แบบรักเดียวใจเดียวนั้น ถูกประเมินว่าเป็นความสัมพันธ์ที่น่าพึงประสงค์และดีงามมากที่สุด รองลงมาเป็นแบบหลายคน ส่วนการนอกใจนั้นมีคะแนนน้อยที่สุดกว่าทุก ๆ รูปแบบความสัมพันธ์7
Grunt-Mejer และ Campbell7 ยังอธิบายว่าสาเหตุหนึ่งที่ความสัมพันธ์แบบรักเดียวใจเดียวนั้นเป็นที่พึงปรารถนา เนื่องจากบุคคลได้รับการปลูกฝังจากสังคมและวัฒนธรรมว่าการรักเดียวใจเดียวนั้นเป็นความสัมพันธ์ในอุดมคติ และสอดคล้องกับบรรทัดฐานทางสังคม ศาสนาและเศรษฐกิจ ส่วนความสัมพันธ์รูปแบบอื่น ๆ นั้นขัดต่อขนบธรรมเนียมปฏิบัติมากน้อยแล้วแต่รูปแบบความสัมพันธ์นั้น ๆ จึงถูกต่อต้าน ตีตราและไม่เป็นที่ยอมรับ
สำหรับรูปแบบความสัมพันธ์แบบเปิดหรือ CNM ในบริบทประเทศไทย มีการหยิบยกและพูดถึงในสื่อต่าง ๆ อาทิ รายการพอดคาสต์ Genderista8 หรือหมายเหตุประเพทไทย9 แต่ยังไม่พบงานวิจัยที่ศึกษากลุ่มคนที่อยู่ในรูปแบบความสัมพันธ์ หรือมุมมองของสังคมที่มีต่อรูปแบบความสัมพันธ์และความรักแบบนี้
***
เนื่องจากผู้เขียนเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษา วันหนึ่งถ้ามีผู้รับบริการมาพูดคุยปรึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์แบบ CNM องค์ความรู้ มุมมองหรือค่านิยมต่อความรักความสัมพันธ์รูปแบบนี้ของนักจิตวิทยาเอง อาจส่งผลต่อการให้การปรึกษาได้ไม่มากก็น้อย ดังนั้นจุดประสงค์ของบทความนี้ ผู้เขียนไม่มีเจตนาจะเชิญชวนหรือตัดสิน หากแต่อยากหยิบเอารูปแบบความสัมพันธ์นอกขนบนี้ มาเปิดประเด็นให้ได้ศึกษาพิจารณา ความสัมพันธ์ดังกล่าวแม้ไม่ได้ศึกษาอย่างเป็นวงกว้างในประเทศไทย แต่มิได้แปลว่ามันไม่มีอยู่จริง หรือสำหรับใครที่กำลังมี หรือจะมีความสัมพันธ์รูปแบบดังกล่าว ก็ควรทำความเข้าใจให้ดีเสียก่อน เพราะความสัมพันธ์เปิดนี้นั้นเปิดโอกาส โอกาสที่จะพัดพาให้เรือรักแล่นต่อไป หรือจะอับปางลง แต่ไม่ว่าจะความสัมพันธ์จะอยู่ในรูปแบบใด การเปิดใจคุยกันและฟันฝ่าปัญหาร่วมกัน ย่อมเป็นหัวใจหลักที่ทำให้ความรักเดินต่อได้ครับ
Reference
1. Matsick, J. L., Conley, T. D., Ziegler, A., Moors, A. C., & Rubin, J. D. (2014). Love and sex: Polyamorous relationships are perceived more favourably than swinging and open relationships. Psychology & Sexuality, 5(4), 339-348. https://doi.org/10.1080/19419899.2013.832934
2. Klass, M. (2020, October 13). So Your Partner Wants an Open Relationship. GoodTherapy. https://www.goodtherapy.org/blog/So+Your+Partner+Wants+Open+Relationship
3. Parsons, J. T., Starks, T. J., Gamarel, K. E., & Grov, C. (2012). Non-monogamy and sexual relationship quality among same-sex male couples. Journal of Family Psychology, 26(5), 669–677. https://doi.org/10.1037/a0029561
4. Stults, C. B. (2019). Relationship quality among young gay and bisexual men in consensual nonmonogamous relationships. Journal of Social and Personal Relationships, 36(10), 3037-3056. https://doi.org/10.1177/0265407518809530
5. Adam, B. D. (2006). Relationship innovation in male couples. Sexualities, 9(1), 5-26. https://doi.org/10.1177/1363460706060685
6. McLean, K. (2004). Negotiating (non)monogamy: Bisexuality and intimate relationships. Journal of Bisexuality, 4(1-2), 83-97. https://doi.org/10.1300/J159v04n01_07
7. Grunt-Mejer, K., & Campbell, C. (2016). Around consensual nonmonogamies: Assessing attitudes toward nonexclusive relationships. The Journal of Sex Research, 53(1), 45-53. https://doi.org/10.1080/00224499.2015.1010193
8. Koendanai. (2021, February 8). Genderista EP.3 ความสัมพันธ์แบบเปิด รักแท้รูปแบบใหม่ยุค 2021!! (Eng Th Sub) | Koendanai [Video]. YouTube. https://www.youtube.com/watch?v=EFjakcbixYc
9. Prachatai. (2015, October 26). หมายเหตุประเพทไทย #77 Open Relationship [Video]. YouTube. https://www.youtube.com/watch?v=NLLY84jsmKo&t=159s
บทความโดย
อาจารย์ภาณุ สหัสสานนท์
อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาการปรึกษา คณะจิตวิทยา