ปรับความคาดหวังของพ่อแม่ : คาดหวังอย่างไรให้ลูกได้ดี

02 May 2024

อาจารย์ ดร.พิมพ์จุฑา นิมมาภิรัตน์

 

ความคาดหวังของพ่อแม่ (parental expectation) เป็นอีกหัวข้อหนึ่งที่ได้รับการศึกษาในงานวิจัยทางจิตวิทยา จากงานวิจัยพบว่าความคาดหวังของพ่อแม่ก็เหมือนดาบสองคม พ่อแม่ที่ีตั้งความคาดหวังได้อย่างเหมาะสมตามความเป็นจริง มีความสัมพันธ์กับการประสบความสำเร็จในการเรียน และชีวิตของลูก แต่ความคาดหวังที่เกินความเป็นจริงกลับส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตและความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่กับลูกได้

 

วันนี้ชวนผู้อ่านทุกท่านมาปรับ tune ความคาดหวังให้พอดี เพื่อพัฒนาการที่ดี และความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัวกันค่ะ

 

 

ความคาดหวังของพ่อแม่ คืออะไร


 

ความคาดหวังของพ่อแม่ คือการตั้งเป้าหมายล่วงหน้าถึงชีวิตในด้านต่าง ๆ ของลูกในอนาคต

 

งานวิจัยพบว่าความคาดหวังของพ่อแม่จะกลายเป็นแรงผลักดันให้ลูกอยากที่จะเก่งขึ้น ทำสิ่งต่าง ๆ ได้ดีขึ้น ตามที่พ่อแม่คาดหวัง เมื่อเขาทำได้ตามที่พ่อแม่คาดหวังก็เกิดเป็นความมั่นใจในตัวเองขึ้นมา เกิดเป็นวงจรที่ดี

 

แต่การที่พ่อแม่คาดหวังในสิ่งที่ยากเกินจะทำได้ แรงผลักดันนั้นก็จะกลายเป็นแรงกดดันที่ทับถมอยู่ในใจลูก ว่าเขาทำไม่ได้ตามที่พ่อแม่คาดหวัง ไม่เคยได้รับคำชม น้อยครั้งนักที่พ่อแม่จะรู้สึกพึงพอใจในตัวเขา ซึ่งความกดดันที่กดทับอยู่นี้อาจนำไปสู่การไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง ไม่มีความมั่นใจในตัวเอง วิตกกังวลเมื่อต้องทำอะไรด้วยตัวเอง ความรู้สึกไม่มั่นใจในตนเองและความวิตกกังวลเหล่านี้ ก็ยิ่งส่งผลเสียต่อการเรียนรู้ของเขา และความสัมพันธ์ในครอบครัว เกิดเป็นวงจรที่ไม่ดี

 

มาถึงตรงนี้ผู้อ่านอาจจะมีคำถามว่า แล้วการไม่คาดหวัง หรือคาดหวังแค่น้อย ๆ จะดีกว่าไหม คำตอบคือ น่าจะดีกว่าความกดดัน และสุขภาพจิตที่เสียของลูกเมื่อพ่อแม่คาดหวังมากเกินไป แต่การที่พ่อแม่คาดหวังน้อยเกินกว่าความสามารถของเด็กก็เหมือนกับการเสียโอกาสที่ลูกจะได้พัฒนาตัวเองอย่างเต็มศักยภาพ หรือพูดง่าย ๆ ว่า “เสียดายของ”

 

ดังนั้นแล้วความคาดหวังของพ่อแม่ในเรื่องที่เหมาะสม ในระดับที่ถูกที่ควรจึงเป็นเรื่องสำคัญ ขอเปรียบว่าความคาดหวังของพ่อแม่เหมือนกับคาถาวิเศษที่มีส่วนสรรค์สร้างให้เด็กคนหนึ่งประสบความสำเร็จได้

 

 

ภาพจาก Canva

 

 

 

หลักการตั้งความคาดหวัง 5 ข้อ


 

1. ตั้งความคาดหวังโดยคำนึงถึงพัฒนาการที่ดี

 

เมื่อพ่อแม่มีความเข้าใจเกี่ยวกับพัฒนาการแต่ละช่วงวัยก็จะสามารถตั้งความคาดหวัง และเตรียมความพร้อมตามพัฒนาการของลูกได้ บางอย่างที่ลูกยังทำไม่ได้ อาจเพราะยังไม่ถึงวัย แต่ไม่ได้หมายความว่าจะรอให้ถึงวัยก่อนแล้วค่อยส่งเสริม

 

เช่น เด็กเรียนรู้ภาษาจากสภาพแวดล้อม ถึงแม้ลูกอายุน้อยกว่า 1 ขวบจะยังพูดไม่ได้ และดูเหมือนจะยังไม่เข้าใจภาษา แต่การที่พ่อแม่คาดหวังให้ลูกพูดคุยสื่อสารได้จะนำไปสู่ความพยายามในการกระตุ้นภาษาของลูก โดยการการคุยกับลูกบ่อย ๆ โต้ตอบกับลูกเมื่อลูกส่งเสียงอ้อแอ้ อ่านนิทานให้ลูกฟังตั้งแต่แบเบาะ และเมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น พ่อแม่ที่เข้าใจพัฒนาการจะทราบว่า เพื่อนกลายมาเป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในชีวิตลูก นอกจากความคาดหวังเรื่องการเรียน พ่อแม่ควรคาดหวังให้ลูกคบเพื่อนที่ดี เป็นที่รักของเพื่อน ๆ ได้ทำกิจกรรมและใช้เวลาร่วมกับเพื่อนตามความเหมาะสม ซึ่งพ่อแม่ที่มีความคาดหวังเช่นนี้ จะมีความใส่ใจเกี่ยวกับเพื่อนของลูก สนับสนุนให้ลูกและเพื่อนของลูกได้มีกิจกรรมที่เหมาะสมทำร่วมกัน ซึ่งจะส่งเสริมให้ลูกมีพัฒนาการทางสังคมที่ดี พัฒนาพฤติกรรมที่เหมาะสมตามวัย รวมถึงช่วยให้วัยรุ่นพัฒนาอัตลักษณ์ของตัวเองที่ดีตามขั้นพัฒนาการด้วย

 

2. ตั้งความคาดหวังย่อย ๆ เอาไว้

 

ปูทางไปสู่สิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่า ความคาดหวังย่อยนี้ให้เป็นสิ่งที่เด็กยังทำไม่ได้ แต่เกือบจะทำได้ และอย่าลืมชื่นชม สนับสนุน และให้กำลังใจในความพยายามและความสำเร็จของลูกในแต่ละขั้นย่อย ๆ เน้นใส่ใจไปที่ความพยายาม ความกัดฟันสู้ และการเรียนรู้ของลูก คาดหวังให้ลูกได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ และทำได้ดีขึ้นในทุกวัน ไม่ควรเปรียบเทียบกับใคร แต่ให้เปรียบเทียบกับตัวลูกในเมื่อวาน

 

3. เผื่อความคาดหวังว่าไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบ

 

ไม่มีชีวิตใครจะโรยด้วยกลีบกุหลาบตลอดเวลา การจะทำสิ่งใดให้สำเร็จเป็นเรื่องยาก และต้องอาศัยหลายปัจจัยในชีวิต ในหลายครั้งก็รวมถึงโชคด้วย ความผิดพลาดล้มเหลวล้วนเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ เมื่อผิดพลาดก็เรียนรู้ปรับปรุง พยายามใหม่ในครั้งต่อไป อย่างไรก็ตามไม่ควรฝืนชมเชยส่ง ๆ ถ้าหากยังทำได้ไม่ดี ไม่เต็มที่ แต่ควรสนับสนุนการปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้นในครั้งต่อไป

 

4. ปรับเปลี่ยนความคาดหวังให้สอดคล้องกับลูกและปัจจุบัน

 

ความคาดหวังควรมีการปรับเปลี่ยนในขณะที่ลูกเติบโต ผ่านการแลกเปลี่ยนและรับฟังเพื่อให้เขาได้กำหนดความคาดหวังของตัวเอง โดยมีพ่อแม่เป็นกองเชียร์ และสนับสนุน นอกจากนี้โลกเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา สิ่งที่เคยดีและเหมาะสมในอดีต อาจไม่ได้ดีเท่าที่เคยในสถานการณ์ปัจจุบัน เมื่อพ่อแม่เปิดใจ เปิดรับแนวทางชีวิตใหม่ ๆ คุณพ่อคุณแม่จะสามารถสนับสนุนชีวิตของลูกได้อย่างเท่าทันโลก และเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันของลูก และครอบครัว

 

5. มีความคาดหวังที่ดีอยู่เสมอ

 

การคาดหวังสิ่งที่ดีแก่ตัวลูกอยู่เสมอเปรียบเสมือนพรวิเศษ เมื่อพ่อแม่มีความคาดหวังที่ดี ปรับเปลี่ยนความคาดหวังให้เข้ากับตัวลูก และไม่หมดหวังในตัวลูก ลูกก็จะไม่หมดหวังในตัวเองเช่นกัน เมื่อไม่หมดหวัง การเรียนรู้พัฒนาตัวเองก็ยังดำเนินต่อไปได้

 

 

การตั้งความคาดหวังที่ความเหมาะสมจะช่วยในการวางแผนชีวิตที่ดีตลอดทุกขั้นพัฒนาการ และการปรับเปลี่ยนความคาดหวังให้เหมาะสมกับสถานการณ์จะช่วยให้สามารถวางใจได้ถูกที่ พัฒนาได้ถูกทาง ก้าวผ่านความผิดหวัง และปรับตัวได้ทันท่วงที

 

 

References:

 

Liu, M., Zhang, T., Tang, N., Zhou, F., & Tian, Y. (2022). The Effect of Educational Expectations on Children’s Cognition and Depression. International journal of environmental research and public health, 19(21), 14070. https://doi.org/10.3390/ijerph192114070

 

Curran, T., & Hill, A. P. (2022). Young people’s perceptions of their parents’ expectations and criticism are increasing over time: Implications for perfectionism. Psychological bulletin, 148(1-2), 107–128. https://doi.org/10.1037/bul0000347

 

 


 

 

 

บทความโดย

อาจารย์ ดร.พิมพ์จุฑา นิมมาภิรัตน์

อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาพัฒนาการ

 

แชร์คอนเท็นต์นี้