ผู้ปกครองแบบไหนที่เราอยากเป็น

27 Jan 2020

อาจารย์ภูมิ โชติกะวรรณ

 

เรื่องหนึ่งที่ผู้ใหญ่หลาย ๆ คนสงสัยและเป็นกังวล คือเรื่องที่ตัวเราจะส่งผลกระทบต่อคนรุ่นต่อไปอย่างไร ทุกวันนี้ ผู้ปกครองหลายคนคงเริ่มสังเกตว่า ตนและบุตรหลานของตนขาดความเชื่อมโยงถึงกัน ซึ่งในประเด็นนี้ ผู้เขียนได้พบกับมุมมองที่น่าสนใจของนักจิตวิทยาพัฒนาการท่านหนึ่ง ชื่อว่า ริชาร์ด ไวส์บอร์ด ผู้ทำการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องความสัมพันธ์ของความสำเร็จ ความสุข และจริยธรรม และอยากจะยกมานำเสนอให้กับผู้อ่านได้ขบคิดในเรื่องพัฒนาการด้านสังคมและจริยธรรมดังต่อไปนี้

 

หากเราทำการสำรวจผู้ปกครองชาวไทยด้วยคำถามที่ว่า “อะไรคือสิ่งที่สำคัญที่สุดที่เราจะปลูกฝังให้กับลูกหลานของเรา” ผู้เขียนเองคาดว่าคำตอบยอดนิยมคงหนีไม่พ้นเรื่อง ความสำเร็จ ความสุข และการเป็นคนดี และถ้าให้เรียงลำดับของสิ่งเหล่านี้ ผู้เขียนเชื่อว่าผู้ปกครองส่วนใหญ่น่าจะเลือกให้ “การเป็นคนดี” คือสิ่งสำคัญที่สุด รองลงมาคือ ความสุข และการประสบความสำเร็จ

 

ริชาร์ดและคณะได้ถามคำถามเช่นนี้กับผู้ปกครองชาวอเมริกัน ในการสำรวจระดับชาติเมื่อปี 2557 และนอกจากถามไปยังผู้ปกครองแล้ว ในการสำรวจนี้ยังถามความคิดเห็นของเด็กวัยรุ่นด้วย สิ่งที่น่าสนใจคือ ผลการสำรวจพบว่า เด็กวัยรุ่นเชื่อว่า ผู้ปกครองของเขานั้นให้คุณค่ากับการประสบความสำเร็จมากกว่าการเป็นคนดี และหนึ่งในคำถามของแบบสำรวจที่ว่า “ผู้ปกครองจะภูมิใจในตัวฉันมากกว่า หากฉันมีผลการเรียนที่ดี เมื่อเทียบกับการที่ฉันเป็นคนดีของสังคม” เด็กวัยรุ่นเห็นด้วยกับข้อความนี้ถึง 3 ใน 4

 

ผู้เขียนเชื่อว่าหากมีการสำรวจเช่นนี้ในประเทศไทย ความแตกต่างระหว่างสิ่งที่ผู้ปกครองให้ความสำคัญกับสิ่งที่วัยรุ่นรับรู้ ก็น่าจะเกิดขึ้นในลักษณะเดียวกัน แล้วอะไรคือที่มาของความสับสนนี้

 

สิ่งหนึ่งที่พอจะอธิบายได้ก็คือ การสื่อสารแบบอวัจนภาษาของผู้ใหญ่ที่มีต่อวัยรุ่น

 

ในฐานะครู ผู้เขียนเชื่อว่ามีสิ่งที่สำคัญควบคู่ไปกับการสอนเนื้อหาวิชา ครูทุกคนต่างมีอุดมการณ์และค่านิยมเดียวกันในการปลูกฝังสิ่งที่ดีให้กับผู้เรียน เช่น การคิดอย่างมีวิจารณญาณ ความใฝ่รู้ และความคิดสร้างสรรค์ อันเป็นคุณลักษณะสำคัญที่เราล้วนต้องการมอบให้แก่ผู้เรียน แต่ในเวลาเดียวกัน ครูและผู้ปกครองต่างตระหนักถึงความจำเป็นของการประเมินผล ความสำเร็จ และผลการเรียนที่ดี เราต่างเข้าใจว่า “เกรด” คือสิ่งสำคัญที่มีผลอย่างยิ่งต่อเส้นทางการศึกษาและอาชีพของเด็ก แต่ ถ้าเราไม่ระวังเราอาจปลูกฝังความเชื่อว่าเกรดนั้นสำคัญกว่าค่านิยมและคุณลักษณะอื่น ๆ ที่เราผู้ปกครองและครูต้องการให้เขาเป็น

 

ผู้เขียนเคยตอบคำถามกับนิสิตในชั้นเรียน พร้อมเอ่ยคำพูด อย่างเช่น “ไม่ต้องกังวลหรอก หัวข้อนี้มันไม่ออกสอบ” ผู้เขียนมีเจตนาที่จะแสดงความเข้าใจในตัวนักเรียน ว่าเขามีเนื้อหาวิชาที่ต้องจดจำไปสอบอย่างมากมาย และผู้เขียนอยากจะช่วยให้พวกเขาเรียนรู้ได้ครบถ้วนในเวลาที่จำกัด แต่ก็เป็นไปได้ว่า ผู้เรียนจะตีความคำพูดนั้นไปว่า “ถ้าสิ่งนั้นไม่ออกสอบ ก็ไม่จำเป็นต้องอยากรู้” หรือ “ถ้าไม่ส่งผลต่อเกรด ก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญ” จะเห็นได้ว่า ง่ายเพียงใดที่การตอบสนองโดยไม่รู้ตัวของเราจะส่งผลกระทบทางลบได้ โดยเฉพาะถ้ามันเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า

 

ตามงานวิจัยของริชาร์ดและคณะ เหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นกับผู้ปกครองเช่นกัน หากผู้ปกครองกดดันอย่างต่อเนื่องเรื่องการเรียน แต่นาน ๆ ครั้งจะพูดถึงความสำคัญของการเป็นคนดี ก็คงไม่น่าแปลกใจที่เด็กจะรู้สึกว่าความสำเร็จของตัวเองนั้นสำคัญที่สุด และไม่แปลกเลยที่เด็กจะรู้สึกว่าผู้ปกครองให้ความสำคัญเรื่องผลการเรียนของเขามากกว่าการเป็นคนดีหรือการมีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น

 

บทความนี้มิได้มีวัตถุประสงค์ที่จะวิพากษ์วิจารณ์สิ่งใด เพียงแต่ต้องการให้ผู้ปกครองได้ตระหนักว่า การแสดงออกของเรานั้นมีผลสำคัญเพียงใดสำหรับเด็ก ๆ รุ่นต่อไป

 

 


 

 

บทความวิชาการ

โดย อาจารย์ภูมิ โชติกะวรรณ

อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาพัฒนาการ
คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

แชร์คอนเท็นต์นี้