ใส่ใจหรือสามารถ? นักการเมืองแบบไหนดี?
การรับรู้บุคลิกภาพของผู้สมัครรับเลือกตั้ง : กระบวนการทางจิตวิทยาสังคมที่ส่งผลทางการเมือง
หากผู้เขียนถามผู้อ่านว่าท่านใช้เกณฑ์ใดในการเลือกผู้ว่ากรุงเทพหรือผู้แทนราษฎรมาเป็นตัวแทนของพวกท่าน ท่านจะตอบว่าอะไร?
บางท่านอาจจะตอบว่าพรรคการเมืองที่นักการเมืองคนนั้นสังกัดอยู่ บางท่านอาจจะตอบว่าประสบการณ์ทางการเมืองของผู้สมัครคนนั้น บางท่านอาจจะตอบว่าความเข้ากันได้ของอุดมการณ์ทางการเมืองของผู้สมัครและของท่าน คำตอบเหล่านี้ไม่มีผิดถูก อีกทั้งยังสะท้อนให้เห็นถึงความสวยงามของเจตจำนงอิสระของปัจเจกบุคคลที่นักจิตวิทยาให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะนักจิตวิทยาสังคมที่ศึกษาอิทธิพลของปัจจัยส่วนบุคคลกับปัจจัยทางสังคมต่อการรู้คิดและพฤติกรรมของบุคคล
ปัจจัยที่มีผลต่อการเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งก็เป็นหัวข้อหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับนักจิตวิทยาสังคม แต่จากการค้นคว้าของผู้เขียนกลับไม่พบการศึกษาทางจิตวิทยาสังคมเกี่ยวกับการเลือกผู้สมัครในประเทศไทยเลย การศึกษามักเกี่ยวกับการเลือกตั้งหรือการมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยทั่วไปซึ่งนักรัฐศาสตร์ให้ความสนใจ งานวิจัยที่ใกล้เคียงกับหัวข้อนี้ที่สุดคือสารนิพนธ์ของคุณพิรุณธร เบญจพรรังสิกุล (2554) ที่ศึกษาอิทธิพลของปัจจัยทางการตลาดทางการเมือง เช่น นโยบายและผู้สมัคร สื่อจากพรรค ภาพลักษณ์ของพรรคต่อการเลือกพรรคการเมือง ซึ่งก็เป็นงานวิจัยทางการตลาด ไม่ใช่งานวิจัยด้านจิตวิทยาสังคม ผู้เขียนจึงขอนำเสนองานวิจัยจากต่างประเทศที่ศึกษาว่าการรับรู้บุคลิกภาพของผู้สมัครส่งผลต่อการเลือกอย่างไร และหวังว่าจะเป็นประโยชน์กับผู้อ่านในวันที่บ้านเมืองเราจะมีการเลือกตั้งอีกครั้ง
มิติบุคลิกภาพพื้นฐานหลักที่นักจิตวิทยาสังคมใช้เป็นกรอบแนวคิดในการศึกษาการรับรู้ทางสังคม (Abele & Wojciszke, 2014; Judd et al., 2005) มี 2 ประเภท ได้แก่ ความอบอุ่นและความสามารถ ความอบอุ่นเกี่ยวข้องกับคุณลักษณะทางสังคม เช่น ความเป็นมิตร ความน่าคบหา และคุณลักษณะด้านจริยธรรม เช่น ซื่อสัตย์ ไว้ใจได้ มีจริยธรรม ส่วนความสามารถนั้นเกี่ยวข้องกับการมีความรู้ ทักษะต่าง ๆ แต่ละคนมีทั้งความอบอุ่นและความสามารถ และมีในระดับต่างกันได้ บางคนจิตใจดี น่ารัก แต่ไม่ค่อยฉลาด บางคนเก่งแต่ไม่น่าคบ บางคนทั้งเก่งทั้งนิสัยดี บางคนนิสัยก็ไม่ดีแถมไม่เก่งก็มี
การรับรู้บุคลิกภาพของผู้อื่นมีความสำคัญในแง่วิวัฒนาการ (Fiske et al., 2007) เพราะความอบอุ่นเป็นคุณลักษณะที่บ่งบอกว่าบุคคลนี้จะเป็นมิตรหรือศัตรูกับเรา โดยทั่วไปเราจะมองว่าคนที่มีความอบอุ่นสูงจะไม่ทำอันตรายเรา เราสามารถคบหากับคน ๆ นี้ได้ ส่วนผู้ที่มีความอบอุ่นต่ำมักจะได้รับการมองในทางลบ ไม่น่าคบและไม่น่าเข้าใกล้ ส่วนความสามารถเป็นสิ่งที่เราใช้ประเมินว่าบุคคลนี้จะมีโอกาสในการประสบความสำเร็จแค่ไหนในสิ่งที่เขาตั้งเป้าไว้ ผู้ที่มีความสามารถสูงย่อมมีโอกาสประสบความสำเร็จสูงกว่าผู้ที่มีความสามารถน้อยกว่า เมื่อพิจารณาทั้งสองบุคลิกภาพรวมกัน เราจะได้ข้อมูลที่มีประโยชน์ต่อการคัดเลือกคนรอบตัวเรา เช่น เราอาจจะยอมเก็บคนที่มุ่งร้ายต่อเราแต่ไม่เก่งไว้ข้างตัวเรามากกว่าคนที่มุ่งร้ายต่อเราและมีความสามารถ เนื่องจากคนที่สองเป็นอันตรายกับเรามากกว่า ในการเลือกคู่ครอง เราอาจจะเลือกคนที่จะไม่นอกใจเราที่ไม่ได้รวยมากแทนที่จะเลือกคนที่รวยมากแต่โกหกเราตลอดก็ได้ ในบริบทนี้การรับรู้บุคลิกภาพในแง่ของความอบอุ่นและความสามารถมีผลต่อการสร้างความสัมพันธ์ นักจิตวิทยาสังคมได้นำบุคลิกภาพสองมิตินี้ไปศึกษาต่อในหลายบริบท ไม่ว่าจะเป็นการรับรู้กลุ่ม (stereotype content model: Fiske et al., 2002) และแบรนด์ (Brands as Intentional Agents Framework: Kervyn et al., 2012)
ตามที่ได้กล่าวไปข้างต้น ยังไม่มีงานวิจัยในไทยที่นำกรอบแนวคิดของจิตวิทยาสังคมมาศึกษาการเลือกผู้สมัครทางการเมือง แต่ในต่างประเทศมีนักวิจัยศึกษาผลของการรับรู้ความอบอุ่นและความสามารถของผู้สมัครรับเลือกตั้งต่อการเลือกผู้สมัครแล้ว โดยเป็นการศึกษาร่วมกับตัวแปรอื่นดังนี้
Chen & Lee (2012) ศึกษาว่าวัฒนธรรม คือ แนวโน้มปัจเจกนิยมกับคติรวมหมู่ (individualism and collectivism orientation) มีผลต่อการให้น้ำหนักบุคลิกภาพทั้งสองหรือไม่ โดยพวกเขาวิเคราะห์ว่าความอบอุ่นถือเป็นความสามารถทางสังคม (social competence) ลักษณะที่สะท้อนความสามารถดังกล่าวอาจจะทำให้ประเทศที่มีวัฒนธรรมแบบคติรวมหมู่ให้น้ำหนักกับความสามารถทางสังคมมากกว่าความสามารถทั่วไป เมื่อเทียบกับประเทศที่มีวัฒนธรรมแบบปัจเจกนิยมก็ได้ คณะผู้วิจัยทำการทดลองโดยให้ผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกาและไต้หวันดูรูปของผู้สมัครเลือกตั้งที่ได้รับการเลือกตั้งมาแล้วกับผู้ที่ไม่ได้รับการเลือกตั้งในประเทศของตน ประเมินลักษณะของบุคคลในรูป ได้แก่ ฉลาด มีความสามารถ ประสบความสำเร็จ (สะท้อนความสามารถ) มีทักษะการเข้าสังคม ปรับตัวเข้ากับสังคมได้เก่ง (สะท้อนความสามารถทางสังคม) เป็นที่ชื่นชม นิสัยดี เป็นมิตร (สะท้อนความเป็นที่ชื่นชอบ) มีเกียรติ ซื่อตรง พึ่งพาได้ มีมโนธรรม (สะท้อนการมีมโนธรรม) การใช้อำนาจ การมีอำนาจและการกล้าแสดงออก (สะท้อนความมีอำนาจ) และวิเคราะห์ทางสถิติว่ากลุ่มคุณลักษณะเหล่านี้มีผลต่อการตัดสินใจเลือกผู้สมัครจริงที่เกิดขึ้นไปแล้วและการสนับสนุนผู้สมัครโดยรวมหรือไม่
สำหรับผู้ร่วมการทดลองจากสหรัฐอเมริกาพบว่า การรับรู้ความสามารถของผู้สมัครเป็นตัวแปรเดียวที่ทำนายการตัดสินใจเลือกผู้สมัครได้ และยังพบว่าการรับรู้ถึงความมีอำนาจลดการตัดสินใจเลือกผู้สมัคร ในขณะที่ความสามารถ ความสามารถทางสังคม การเป็นที่ชื่นชม การมีมโนธรรมและความมีอำนาจทำนายการสนับสนุนผู้สมัครโดยรวม นอกจากนี้ การสนับสนุนผู้สมัครโดยรวมยังได้รับอิทธิพลร่วมจากการรับรู้ความสามารถของผู้สมัครและแนวโน้มปัจเจกนิยมของผู้ร่วมการทดลอง โดยพบว่าผู้ที่มีแนวโน้มปัจเจกนิยมสูงสนับสนุนผู้สมัครที่รับรู้ว่ามีความสามารถมากกว่าผู้ที่มีแนวโน้มปัจเจกนิยมต่ำ นอกจากนี้ยังพบอิทธิพลร่วมของการรับรู้ความสามารถทางสังคมและแนวโน้มคติรวมหมู่ที่ส่งผลต่อการสนับสนุนโดยรวม โดยพบว่าผู้ที่มีแนวโน้มคติรวมหมู่สูงสนับสนุนผู้สมัครที่รับรู้ว่ามีความสามารถทางสังคมมากกว่าผู้ที่มีแนวโน้มคติรวมหมู่ต่ำ สุดท้ายยังพบว่าการรับรู้ความมีมโนธรรมและแนวโน้มปัจเจกนิยมมีผลต่อการสนับสนุนโดยรวม โดยพบว่าผู้ที่มีแนวโน้มปัจเจกนิยมสูงสนับสนุนผู้สมัครที่รับรู้ว่ามีมโนธรรมน้อยกว่าผู้ที่มีแนวโน้มปัจเจกนิยมต่ำ
สำหรับผู้ร่วมการทดลองชาวไต้หวันพบว่าความสามารถของผู้สมัครมีผลต่อการตัดสินใจเลือกจริง แต่ความสามารถทางสังคมและความเป็นที่ชื่นชอบของผู้สมัครก็มีผลต่อการตัดสินใจเลือกผู้สมัครเช่นกัน และพบว่าการรับรู้ถึงความมีอำนาจลดการตัดสินใจเลือกจริงเช่นเดียวกับชาวอเมริกัน ในการสนับสนุนผู้สมัครโดยรวมพบผลที่เหมือนกับที่พบในชาวอเมริกันคือ ความสามารถ ความสามารถทางสังคม การเป็นที่ชื่นชม การมีมโนธรรมและความมีอำนาจทำนายการสนับสนุนผู้สมัครโดยรวม และพบอิทธิพลของแนวโน้มปัจเจกนิยมร่วมกับการรับรู้ว่ามีความสามารถ โดยรวมแล้วงานวิจัยนี้จึงแสดงให้เห็นว่าการรับรู้บุคลิกภาพของผู้สมัครกับค่านิยมทางวัฒนธรรมในระดับบุคคลมีผลต่อการเลือกตั้งมากกว่าวัฒนธรรมในระดับประเทศ
Bennett et al. (2019) ศึกษาการรับรู้บุคลิกภาพของนักการเมืองจาก 2 พรรคหลักในสหรัฐอเมริกา ได้แก่ บุช ครูซและทรัมป์จากรีพับลิกัน กับคลินตัน โอบาม่าและแซนเดอรส์จากเดโมแครต พบว่าทั้งความอบอุ่นและความสามารถทำนายการตัดสินใจเลือกผู้สมัครทุกคนได้ ยกเว้นบุชที่พบว่าการรับรู้ความสามารถเท่านั้นที่สามารถทำนายการตัดสินใจเลือกเขาได้ นอกจากปัจจัยด้านการรับรู้บุคลิกภาพแล้วการระบุว่าตนเป็นรีพับลิกันหรือเดเมแครต (political party affiliation) ก็มีผลต่อการเลือกตั้งเช่นกัน โดยพบว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งเลือกผู้สมัครจากพรรคที่ตนเป็นสมาชิกมากกว่า ที่น่าสนใจคือความเป็นสมาชิกพรรคมีผลต่อการรับรู้บุคลิกภาพของผู้สมัคร โดยพบว่าทั้งผู้ที่ระบุว่าตนเป็นรีพับลิกันและเดโมแครตประเมินผู้สมัครที่มาจากพรรคของตนดีกว่าผู้สมัครจากอีกพรรค
Bor (2020) ได้ทดสอบว่าสภาพเศรษฐกิจที่ดีหรือย่ำแย่จะส่งผลต่อการเลือกผู้สมัครที่มีเมตตาและใส่ใจประชาชนกับผู้สมัครที่น่าไว้ใจและเป็นที่พึ่งได้ใน 3 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลียและเดนมาร์กหรือไม่ พบว่าบุคลิกภาพของผู้สมัครมีผลต่อการตัดสินใจเลือกผู้สมัครมากกว่าสภาพเศรษฐกิจเสียอีก โดยพบว่าบุคลิกภาพทั้งสองกลุ่มทำนายการเลือกได้ โดยความอบอุ่นมีน้ำหนักมากกว่าความสามารถ
การศึกษาที่กล่าวถึงเป็นแค่ส่วนหนึ่งของงานวิจัยในหัวข้อนี้เท่านั้น และแน่นอนว่าการรับรู้บุคลิกภาพของผู้สมัครไม่สามารถทำนายการตัดสินใจได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ การตัดสินใจใด ๆ ก็ตามของมนุษย์มีความซับซ้อนกว่านั้นมาก ควรมีการศึกษาถึงปัจจัยและกระบวนการดังกล่าวให้ลึกซึ้งและครอบคลุมขึ้น อย่างไรก็ดี จะเห็นได้ว่ากระบวนการทางจิตวิทยาสังคมส่งผลต่อพฤติกรรมทางการเมือง หากนักการเมืองต้องการประสบความสำเร็จก็ควรให้ความสำคัญกับกระบวนการนี้ แต่ที่สำคัญกว่าคือผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้งก็ควรรู้เท่าทันว่าเป้าหมายของนักการเมืองคืออะไร บุคลิกภาพที่พวกเขาแสดงออกสอดคล้องกับตัวตนจริงของเขาหรือไม่ นักการเมืองต้องการให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งรับรู้พวกเขาในทิศทางที่จะเป็นประโยชน์กับพวกเขาเฉพาะเวลาที่พวกเขาต้องการเสียงของผู้มีสิทธิเลือกตั้งเท่านั้นหรือไม่ การกระทำของนักการเมืองพ้องรับกับภาพลักษณ์ที่พวกเขาแสดงออกและต้องการให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งรับรู้หรือไม่ การรอบรู้ถึงปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจของเรา และการตัดสินใจอย่างรอบคอบมีความสำคัญอย่างยิ่งหากประชาชนต้องการเพิ่มโอกาสในการเลือกผู้แทนที่จะ “ใส่ใจ” ความต้องการของประชาชน และ “สามารถ” ทำงานตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างแท้จริง
รายการอ้างอิง
พิรุณธร เบญจพรรังสิกุล. (2554). ปัจจัยทางการตลาดทางการเมืองที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการเลือกพรรคการเมืองไทยของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ในเขตกรุงเทพมหานคร. [สารนิพนธ์ ปริญญาธุรกิจมหาบัณฑิต สาขาวิชาการตลาด มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ]. http://ir.swu.ac.th/jspui/bitstream/123456789/99682/1/Pirunthorn_B.pdf
Abele, A. E., & Wojciszke, B. (2014). Communal and agentic content in social cognition: A dual perspective model. In J. M. Olson & M. P. Zanna (Eds.), Advances in Experimental Social Psychology (Vol. 50, pp. 195-255). https://doi.org/10.1016/B978-0-12-800284-1.00004-7
Bennett, A. M., Malone, C., Cheatham, K., & Saligram, N. (2019). The impact of perceptions of politician brand warmth and competence on voting intentions. Journal of Product & Brand Management, 28(2), 256-273. https://doi.org/10.1108/JPBM-09-2017-1562
Bor, A. (2020). Evolutionary leadership theory and economic voting: Warmth and competence impressions mediate the effect of economic perceptions on vote. The Leadership Quarterly, 31(2), 101295. https://doi.org/10.1016/j.leaqua.2019.05.002
Chen, F. F., Jing, Y., & Lee, J. M. (2012). “I” value competence but “we” value social competence: The moderating role of voters’ individualistic and collectivistic orientation in political elections. Journal of Experimental Social Psychology, 48(6), 1350-1355. https://doi.org/10.1016/j.jesp.2012.07.006
Fiske, S. T., Cuddy, A. J., & Glick, P. (2007). Universal dimensions of social cognition: Warmth and competence. Trends in cognitive sciences, 11(2), 77-83. https://doi.org/10.1016/j.tics.2006.11.005
Fiske, S. T., Cuddy, A. J., Glick, P., & Xu, J. (2002). A model of (often mixed) stereotype content: competence and warmth respectively follow from perceived status and competition. Journal of personality and social psychology, 82(6), 878-902. https://doi.org/10.1037/0022-3514.82.6.878
Judd, C. M., James-Hawkins, L., Yzerbyt, V., & Kashima, Y. (2005). Fundamental dimensions of social judgment: understanding the relations between judgments of competence and warmth. Journal of Personality and Social Psychology, 89(6), 899-913. https://psycnet.apa.org/buy/2005-16185-005
Kervyn, N., Fiske, S. T., & Malone, C. (2012). Brands as intentional agents framework: How perceived intentions and ability can map brand perception. Journal of Consumer Psychology, 22(2), 166-176. https://doi.org/10.1016/j.jcps.2011.09.006
บทความวิชาการโดย
อาจารย์ ดร.ภัคนันท์ จิตต์ธรรม
อาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาสังคมพื้นฐานและประยุกต์
คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย