ใจฉันอยู่กับเธอ..แต่ใจเธออยู่กับใคร : พิษภัยของพฤติกรรม Phubbing (ฟับบิ้ง)

09 May 2024

ผศ. ดร.หยกฟ้า อิศรานนท์

 

เคยมั้ยคะ? เวลาคุณนั่งสนทนาอยู่กับเพื่อนหรือคนในครอบครัว แล้วรู้สึกเหมือนพูดอยู่คนเดียว อีกฝ่ายไม่ตอบสนองใด ๆ เพราะมัวแต่กดเล่นโทรศัพท์มือถืออยู่ตลอดเวลา

 

แน่นอนค่ะว่าหากคุณเป็นคนหนึ่งที่เคยมีประสบการณ์ในลักษณะนี้ คุณอาจรู้สึกไม่พึงพอใจ เหงา โดดเดี่ยว สงสัยในความสำคัญของคุณ ข้องใจในความสนิทสนมที่คุณมีต่ออีกฝ่าย หรือที่อีกฝ่ายมีต่อคุณ และถ้าคำตอบของคุณคือ ใช่! คุณเคยเจอเหตุการณ์แบบนี้แล้วล่ะก็ คุณไม่ได้ตัวคนเดียวหรอกค่ะ เพราะในยุคปัจจุบันที่โลกออนไลน์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต ผู้คนจำนวนมากต่างก็ค้นหาข้อมูล ติดต่อสื่อสาร แสวงหากำลังใจ และอื่น ๆ อีกมากมาย ผ่านโทรศัพท์มือถือหรือสมาร์ทโฟนที่สุดแสนจะพกพาง่าย สะดวกสบาย และติดมือ! ทว่าสภาวะของการกดเล่นโทรศัพท์มือถือ จนไม่สนใจคนรอบข้าง หรือที่เรียกว่าPhubbing (ฟับบิ้ง) นี่เอง ที่สามารถบ่อนทำลายความสัมพันธ์ของคุณกับผู้คนในชีวิตได้มากกว่าที่คุณคิด

 

 

Phubbing (ฟับบิ้ง) เป็นคำที่มาจากการผสมระหว่าง Phone และ Snubbing หมายถึงพฤติกรรมของการเบี่ยงเบนความสนใจจากบุคคลตรงหน้า ไปยังโทรศัพท์มือถือหรือสมาร์โฟน แทนที่จะพูดคุยสนทนากับบุคคลที่พบเจอกันแบบเผชิญหน้าอยู่ (Pathak, 2013) ประหนึ่งว่า ฉันนั่งอยู่กับเธอ…แต่ใจเธอกลับลอยไปอยู่กับสมาร์ทโฟนได้ซะนี่! ผู้ที่แสดงพฤติกรรม Phubbing จึงมักสร้างความไม่สบายใจให้กับอีกฝ่าย ร้ายไปจนถึงทำให้อีกฝ่ายรู้สึกว่าไม่ได้รับความเคารพ จนทำให้ความสัมพันธ์ที่มีเสียหายลงได้ (Abeele, Antheunis & Schouten, 2016) และบ่อยครั้ง ผู้ที่กระทำพฤติกรรมเหล่านี้แทบไม่รู้ตัว

 

 

คำถามคือ แล้วเหตุใดคนจึงแสดงพฤติกรรม Phubbing ออกมา ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจว่า โดยธรรมชาติแล้ว มนุษย์มีความต้องการที่จะเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มเป็นพื้นฐาน (need to belong) และการที่บุคคลจะรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มได้นั้น คือการมีปฏิสัมพันธ์กันอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ (Baumeister & Leary, 2017) ดังนั้น บุคคลจึงมีความต้องการที่จะพูดคุย ติดต่อสื่อสาร และท่วงทันต่อข้อมูลต่าง ๆ ของบุคคลอื่นในกลุ่มของตน กอปรกับความเข้าถึงง่ายของอุปกรณ์สื่อสารในปัจจุบัน และการเกิดขึ้นของโทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟน ทำให้บุคคลมีความต้องการที่จะใช้งานอย่างต่อเนื่อง และสำหรับบางคนอาจมีความต้องการใช้งานอยู่เกือบตลอดเวลา

 

งานวิจัยทางจิตวิทยาพบว่า แนวโน้มที่บุคคลจะแสดงพฤติกรรม Phubbing มักขึ้นอยู่กับระดับการเสพติดโทรศัพท์มือถือหรือสมาร์ทโฟน รวมไปถึงการเสพติดการใช้สื่อสังคมออนไลน์ กล่าวคือ ยิ่งบุคคลเสพติดการใช้โทรศัพท์มาก ก็ยิ่งมีแนวโน้มจะแสดงพฤติกรรม Phubbing มาก จนทำให้ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใด บุคคลก็จะให้ความสนใจแต่โทรศัพท์มือถือและช่องทางออนไลน์ที่ตัวเองชื่นชอบเพียงอย่างเดียว ยิ่งระบบการแจ้งเตือนของแอพพลิเคชั่นในสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ ถูกออกแบบมาเพื่อเรียกความสนใจจากบุคคลได้โดยง่าย (Al‐Saggaf & O’Donnell, 2019) ก็ยิ่งเร่งเร้าปฏิกิริยาการตอบสนอง

 

 

เป็นที่น่าสนใจว่า พฤติกรรม Phubbing มักเกิดขึ้นในกรณีที่บุคคลอยู่รวมกันเป็นกลุ่มแบบเผชิญหน้า ตั้งแต่สามคนขึ้นไป (Sun & Samp, 2021) ส่วนหนึ่งอาจเพราะเมื่อบุคคลอยู่รวมกันจำนวนมาก อาจคิดว่าบุคคลอื่นคงไม่ได้สังเกตหรือสนใจตนเองมากนัก จึงไม่น่าแปลกใจว่า เมื่อมีการนัดรวมตัวกันของกลุ่มคนจำนวนมาก ๆ เรามักสังเกตเห็นพฤติกรรม Phubbing ได้ง่ายมากขึ้น เช่น งานเลี้ยงรวมรุ่น หรืองานพบปะญาติสนิทมิตรสหายต่าง ๆ

 

ในฝั่งของผลเสียที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะต่อผู้ที่ถูกกระทำ หรือถูก Phubbing งานวิจัยทางจิตวิทยาก็พบว่า นอกเหนือจากความไม่พึงพอใจในความสัมพันธ์แล้ว ผู้ที่ถูกกระทำอาจเกิดความรู้สึกโกรธ โมโห ต่อผู้กระทำ และอาจนำไปสู่จุดจบของความสัมพันธ์ได้ (Zhan, Shrestha, & Zhong, 2022) หากพฤติกรรม Phubbing เกิดขึ้นในบริบทของคู่รัก หรือความสัมพันธ์แบบโรแมนติก บุคคลที่ถูกกระทำอาจเกิดความสงสัยในขั้นแรก จนบานปลายและเกิดความรู้สึกหึงหวง หวาดระแวงต่อคู่ของตนที่แสดงพฤติกรรม Phubbing อย่างต่อเนื่อง นำไปสู่ความไม่พึงพอใจในความสัมพันธ์ และตัดสินใจยุติความสัมพันธ์ ในทำนองเดียวกัน หากเกิดขึ้นในบริบทของเพื่อน ก็เป็นไปได้ว่า เมื่อถูกเพื่อนแสดงพฤติกรรม Phubbing ใส่บ่อย ๆ บุคคลอาจตัดสินใจหลีกเลี่ยงที่จะสนทนา และลดระดับความสนิทสนมกับบุคคลนั้นลง

 

 

จากที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่า พฤติกรรม Phubbing นั้นก่อให้เกิดภัยมากกว่าประโยชน์ ดังนั้น จึงเป็นความสำคัญที่เราทุกคนควรหันมาช่วยกันหาแนวทางในการลดพฤติกรรมนี้ โดยอาจเริ่มต้นด้วยการเพิ่มความตระหนักและความสำคัญในการสื่อสารและการเชื่อมต่อกับคนรอบข้าง เช่น

 

  1. กำหนดเวลาที่จะไม่ใช้โทรศัพท์: ตั้งเป้าหมายในการลดการใช้โทรศัพท์ในบางช่วงเวลา เช่น เวลาที่กินอาหาร หรือเวลาที่ทำกิจกรรมร่วมกับคนรอบข้าง เพื่อให้มีโอกาสสร้างความสัมพันธ์และสร้างความสนใจต่อกันมากขึ้น
  2. ใช้โหมดเงียบหรือโหมดไม่รบกวน: การตั้งค่าโทรศัพท์ให้เข้าสู่โหมดเงียบหรือโหมดไม่รบกวนในบางช่วงเวลา เช่น เวลาที่คุณต้องการให้มีเวลาพักหยุดโทรศัพท์
  3. สร้างกฎในกลุ่ม: หากคุณอยู่ในกลุ่มที่มีพฤติกรรม phubbing กันอยู่ สร้างกฎหรือข้อตกลงกันว่าจะลดการใช้โทรศัพท์ในบางสถานการณ์
  4. เก็บโทรศัพท์: เวลาที่คุณมีกิจกรรมร่วมกับคนรอบข้าง เช่น การเจอหน้ากันหรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสาร ควรเก็บโทรศัพท์ไว้ในที่ปลอดภัย เพื่อป้องกันการรบกวน และเพื่อให้คุณได้ใส่ใจที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับคนใกล้ตัวแบบเต็มที่

 

ถึงบรรทัดนี้แล้ว ลองหันไปมองคนข้าง ๆ แล้ววางโทรศัพท์มือถือของคุณลงก็ดีนะคะ

 

 

อ้างอิง

 

Abeele, M. M. V., Antheunis, M. L., & Schouten, A. P. (2016). The effect of mobile messaging during a conversation on impression formation and interaction quality. Computers in Human Behavior, 62, 562-569. https://doi.org/10.1016/j.chb.2016.04.005

 

Al‐Saggaf, Y., & O’Donnell, S. B. (2019). Phubbing: Perceptions, reasons behind, predictors, and impacts. Human Behavior and Emerging Technologies, 1(2), 132-140. https://doi.org/10.1002/hbe2.137

 

Baumeister, R. F., & Leary, M. R. (2017). The need to belong: Desire for interpersonal attachments as a fundamental human motivation. Interpersonal development, 57-89. https://doi.org/10.1037/0033-2909.117.3.497

 

Pathak, S. (2013). McCann Melbourne made up a word to sell a print dictionary: New campaign for Macquarie birthed ’phubbing’. Retrieved from http://adage.com/article/news/mccann-melbourne-made-a-word-sell-a-dictionary.

 

Sun, J., & Samp, J. A. (2022). ‘Phubbing is happening to you’: examining predictors and effects of phubbing behaviour in friendships. Behaviour & Information Technology, 41(12), 2691-2704. https://doi.org/10.1080/0144929X.2021.1943711

 

Zhan, S., Shrestha, S., & Zhong, N. (2022). Romantic relationship satisfaction and phubbing: The role of loneliness and empathy. Frontiers in psychology, 13, 967339. https://doi.org/10.3389/fpsyg.2022.967339

 

 

 


 

 

 

บทความโดย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.หยกฟ้า อิศรานนท์

รองคณบดี และอาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาสังคม และอาจารย์ประจำแขนงวิชาการวิจัยจิตวิทยาประยุกต์

 

 

แชร์คอนเท็นต์นี้