ความงอกงามภายหลังเผชิญเหตุการณ์สะเทือนใจ – Posttraumatic growth

15 Mar 2022

คำศัพท์จิตวิทยา

 

 

 

ความงอกงามภายหลังเผชิญเหตุการณ์สะเทือนใจ คือการเปลี่ยนแปลงทางจิตวิทยาเชิงบวก ซึ่งเป็นผลลัพธ์จากการเผชิญภาวะวิกฤตที่สำคัญในชีวิต หรือการผ่านประสบการณ์ที่เจ็บปวด

 

โดยที่ภาวะวิกฤตดังกล่าวจะท้าทายความเข้าใจเกี่ยวกับโลกของบุคคล ความงอกงามดังกล่าวสามารถแสดงออกได้หลายรูปแบบ ได้แก่

 

    • การรู้ซึ้งในคุณค่าของการมีชีวิตอยู่
    • การมีสัมพันธภาพระหว่างบุคคลที่มีความหมายมากขึ้น
    • การรับรู้ถึงพลังและความสามารถของตนเอง
    • การปรับเปลี่ยนการจัดลำดับความสำคัญของชีวิต
    • การมีแก่นหรือการมีจิตวิญญาณในตน

 

ความงอกงามดังกล่าวสามารถเกิดขึ้นได้กับบุคคลทุกเพศทุกวัยที่เคยประสบเหตุการณ์เครียดในชีวิต แต่ความงอกงามจะไม่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติเมื่อเวลาผ่านไป อาจต้องมีปัจจัยบางประการที่ส่งผลให้เกิดภาวะนี้ขึ้น เช่น การมีวิธีการจัดการกับปัญหาที่มีประสิทธิภาพ หรือการได้รับความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง รวมถึงการเข้ารับบริการปรึกษาเชิงจิตวิทยา ก็อาจเป็นปัจจัยอีกประการหนึ่งที่จะช่วยส่งผลให้บุคคลที่เผชิญกับเหตุการณ์เครียดในชีวิตเกิดความงอกงาม

 

 

องค์ประกอบของความงอกงามภายหลังเผชิญเหตุการณ์สะเทือนใจ

 
1. การเปลี่ยนมุมมองการรับรู้ของตนเอง (Perceived changes in self)

 

บุคคลที่เผชิญเหตุการณ์สะเทือนใจและก้าวผ่านเหตุการณ์นั้น ๆ มาได้ จะให้ข้อสรุปว่าตนเองเข้มแข็งมากขึ้น ก่อให้เกิดความมั่นใจในตนเอง ซึ่งจะขยายผลไปยังเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เข้ามาในชีวิต รวมถึงเหตุการณ์สะเทือนใจที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย บุคคลที่ก้าวผ่านเหตุการณ์สะเทือนใจมาได้มักจะพึ่งพาตนเองได้เป็นอย่างดี การเปลี่ยนมุมมองการรับรู้ของตนเองแบ่งได้เป็น 2 องค์ประกอบย่อย คือ

 

1.1 การค้นพบความเข้มแข็งในตนเอง (Personal Strength) บุคคลตระหนักรู้ว่าเหตุการณ์ร้าย ๆ สามารถเกิดขึ้นได้ แต่ตนเองก็สามารถรับมือกับเหตุการณ์ดังกล่าวได้เช่นเดียวกัน

 

1.2 การพบโอกาสใหม่ ๆ (New possibilities) การค้นพบทางเลือกใหม่หรือการได้เริ่มต้นเส้นทางใหม่ในชีวิต ซึ่งรวมถึงกิจกรรมและความสนใจใหม่ที่เกิดขึ้นจากความงอกงามด้วย

 

2. การเปลี่ยนการมีสัมพันธภาพกับผู้อื่น (A changed sense of relationships with others)

 

การเผชิญเหตุการณ์สะเทือนใจส่งผลให้บุคคลเปิดเผยตนเองมากยิ่งขึ้น และการเปิดเผยตนเองจะช่วยให้บุคคลได้รับโอกาสในการทดลองพฤติกรรมใหม่ ๆ รวมถึงได้รับโอกาสในการรับความช่วยเหลืออย่างเหมาะสมจากคนรอบข้าง การรับรู้ถึงภาวะเปราะบางของตนเองและผู้อื่นจะช่วยให้บุคคลเปิดเผยอารมณ์ความรู้สึกมากขึ้นและเกิดความเต็มใจที่จะรับความช่วยเหลือ การเปลี่ยนแปลงการมีสัมพันธภาพกับผู้อื่นมีหนึ่งองค์ประกอบย่อย คือ

 

2.1 การมีสัมพันธภาพกับผู้อื่น (Relating to others) การเปลี่ยนแปลงในความสัมพันธ์ที่มีความหมายลึกซึ้งกับผู้อื่นมากขึ้น บุคคลรับรู้ถึงความใกล้ชิดและความเห็นอกเห็นใจซึ้งกันและกันจากคนรอบข้าง ซึ้งอาจเกิดขึ้นได้จากการมีประสบการณ์ร่วมกันกับผู้อื่น

 

3. การเปลี่ยนแปลงในแง่ของปรัชญาชีวิต (A changed philosophy of life)

 

ความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับจิตวิญญาณอาจถูกสั่นคลอนจากเหตุการณ์สะเทือนใจ ความพยายามต่อสู้เพื่อทำความเข้าใจเหตุการณ์สะเทือนใจจะส่งผลให้ความเชื่อเข้มแข็งขึ้น และเมื่อตระหนักรู้ถึงความหมายของเหตุการณ์สะเทือนใจนั้นแล้วจะเกิดการบรรเทาความทุกข์ทางอารมณ์ และนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงด้านปรัชญาชีวิตในที่สุด การเปลี่ยนแปลงในแง่ของปรัชญาชีวิตแบ่งเป็น 2 องค์ประกอบย่อย คือ

 

3.1 การชื่นชมยินดีในชีวิต (Appreciation of life) การตระหนักรู้คุณค่าในชีวิตของตนเองเพิ่มมากขึ้น บุคคลให้คุณค่าหรือความสำคัญกับสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตใหม่ และรู้สึกขอบคุณในสิ่งที่ตนเองมี หรือสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น รอยยิ้มของของเด็ก หรือการใช้เวลาอยู่กับเด็กเล็ก ๆ เป็นต้น

 

3.2 การเปลี่ยนแปลงทางจิตวิญญาณ (Spiritual change) การตระหนักรู้ความหมายในชีวิต บุคคลจะมีความพึงพอใจในชีวิตมากยิ่งขึ้นและเกิดการเปลี่ยนมุมมองทางจิตวิญญาณ เช่น การเข้าใจชีวิต หรือการมีความเชื่อทางศาสนาที่เพิ่มมากขึ้น เป็นต้น

 

 

 

คุณลักษณะของบุคคลกับความงอกงามภายหลังเผชิญเหตุการณ์สะเทือนใจ

 

 

1. บุคลิกภาพของบุคคล (Personality characteristics)

 

การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความงอกงามภายหลังเผชิญเหตุการณ์สะเทือนใจและบุคลิกภาพ 5 องค์ประกอบ พบว่า บุคคลที่มีบุคลิกภาพแบบเปิดเผย (Extraversion) และบุคลิกภาพแบบเปิดรับประสบการณ์ใหม่ (Openness to experience) มีความสัมพันธ์กับความงอกงามภายหลังเผชิญเหตุการณ์สะเทือนใจในระดับปานกลาง นอกจากนี้ การมองโลกในแง่ดี (Optimism) ก็มีความสัมพันธ์กับความงอกงามภายหลังเผชิญเหตุการณ์สะเทือนใจในระดับปานกลางเช่นกัน

 

2. การจัดการกับความทุกข์ใจ (Managing distressing emotions)

 

ภายหลังเผชิญเหตุการณ์สะเทือนใจ บุคคลจะแสวงหาหนทางเพื่อรับมือกับความรู้สึกทุกข์ใจในช่วงแรก ส่งผลให้จิตใจอ่อนแอลง และกระบวนการทางความคิดที่หนักหน่วงจะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ ถ้ากระบวนการทางความคิดของบุคคลมีประสิทธิภาพจะช่วยให้เกิดการปรับเปลี่ยนมุมมองและเกิดการเข้าใจชีวิต ก่อให้เกิดประสบการณ์ความงอกงามภายหลังเผชิญเหตุการณ์สะเทือนใจ ซึ่งกระบวนการทางความคิดดังกล่าวอาจใช้เวลานาน

 

3. การได้รับการสนับสนุนทางสังคมและการเปิดเผยตัวตน (Support and disclosure)

 

การได้รับการสนับสนุนจากผู้อื่นช่วยให้เกิดความงอกงามภายหลังเผชิญเหตุการณ์สะเทือนใจได้มากขึ้น โดยเป็นวิธีการที่จะช่วยให้บุคคลได้ผสมผสานมุมมองใหม่ๆ กับกรอบแนวคิดทางความเชื่อที่เปลี่ยนแปลงไป

 

 


 

 

รายการอ้างอิง

 

“ความสัมพันธ์ระหว่าง บุคลิกภาพ สัมพันธภาพในการปรึกษา และความงอกงามภายหลังเผชิญเหตุการณ์สะเทือนใจ ในผู้ที่มีประสบการณ์รับบริการปรึกษาเชิงจิตวิทยา” โดย ชิชยะ ศรีชัยสวัสดิ์ (2560) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/60083

 

ภาพประกอบ http://www.freepik.com

แชร์คอนเท็นต์นี้