Prejudice – เจตคติรังเกียจกลุ่ม

05 Aug 2016

คำศัพท์จิตวิทยา

 

 

 

เจตคติรังเกียจกลุ่ม หมายถึง ความรู้สึกทางลบของบุคคลที่มีต่อผู้อื่นหรือกลุ่มอื่น ๆ เนื่องจากมีการจำแนกคุณลักษณะของคนอื่นแบบเหมารวม จนก่อให้เกิดพฤติกรรมการกีดกันกลุ่มนำไปสู่การมุ่งทำร้ายต่อผู้อื่น

 

เจตคติกลุ่มประกอบด้วย

 

  1. องค์ประกอบทางความคิด คือ การจำแนกคนโดยความเชื่อเหมารวม หมายถึงการจำแนกคนหรือกลุ่มคนโดยอาศัยลักษณะเหมารวมโดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างหลากหลายของสมาชิกในกลุ่มนั้น ๆ เพื่อความรวดเร็วในการจัดประเภทและจะเปลี่ยนแปลงก็ต่อเมื่อมีข้อมูลใหม่ เช่น ความเชื่อว่าแรงงานต่างด้าวมีลักษณะยากจน ทำให้บ้านเมืองแออัด ไม่ปลอดภัย เป็นต้น
  2. องค์ประกอบทางอารมณ์ คือ ความรู้สึกเกลียดชัง ไม่ชอบ ที่เกิดขึ้นภายในตัวบุคคล เช่น ความรู้สึกไม่ชอบคนรักเพศเดียวกันของกลุ่มผู้มีเจตคติรังเกียจกลุ่มคนรักเพศเดียวกัน
  3. องค์ประกอบทางพฤติกรรม คือ การกีดกันกลุ่ม หมายถึงการที่บุคคลแสดงออกถึงการกระทำในแง่ที่ไม่ให้ความยุติธรรม ลำเอียง ไม่เป็นมิตร หรือการกระทำมุ่งร้ายต่อสมาชิกในกลุ่มอื่น ๆ นอกกลุ่มตน สามารถแบ่งการแสดงออกซึ่งเจตคติรังเกียจกลุ่มได้เป็น 5 ระดับ ได้แก่ การต่อต้านทางวาจา การหลีกเลี่ยง การแบ่งแยก การทำร้ายร่างกาย และการทำลายล้าง

 

เจตคติรังเกียจกลุ่มมีทั้งแบบเด่นชัดและแบบแอบแฝง แบบเด่นชัด หมายถึง การประเมินที่มีการคิดใคร่ครวญอย่างละเอียดถี่ถ้วน อยู่ภายใต้การควบคุมของจิตสำนึกของบุคคล รู้ตัว และแสดงออกมา ส่วนแบบแอบแฝง เป็นความชอบไม่ชอบที่ปราศจากการรู้ตัว ไม่มีเจตนา ไม่มีความตั้งใจจากบุคคล ไม่มีการครุ่นคิดมาก่อน

 

สาเหตุการเกิดเจตคติรังเกียจกลุ่ม


1. การเรียนรู้ทางสังคม

การได้รับการถ่ายทอดความเชื่อ ความคิด เจตคติต่อคนที่มีความแตกต่างจากตน ซึ่งมาจากการได้เห็นได้ยินเรื่องราวต่างๆ จากคนในครอบครัวและคนในสังคม

 

2. ทฤษฎีการแก่งแย่งแข่งขันระหว่างกลุ่ม

ทฤษฎีนี้เสนอว่า เจตคติรังเกียจกลุ่มเกิดจากการแย่งชิงทรัพยากรที่มีอย่างจำกัด โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีความแตกต่างกัน เช่น คนขาวคนดำ ชาวอาหรับกับอิสราเอล เอเชียกับตะวันตก ผู้หญิงกับผู้ชาย ล้วนเป็นแรงจูงใจให้ผู้คนมีเจตคติรังเกียจกลุ่มเพราะแข่งขันให้ได้มาซึ่งทรัพยากรและป้องกันไม่ให้กลุ่มอื่นสามารถบรรลุเป้าหมายได้

 

3. การจัดหมวดหมู่

คนเราใช้กระบวนการตัดสินแยกคนออกเป็นกลุ่มๆ เพื่อให้เกิดความง่ายในการจัดการข้อมูล เช่น จำแนกคนด้วยเชื้อชาติ ศาสนา ถิ่นกำเนิด เป็นต้น เมื่อเกิดการจัดประเภททางสังคมแล้ว การรับรู้บุคคลอื่นจะได้รับอิทธิพลจากความเชื่อเหมารวมที่สะท้อนถึงกลุ่มที่บุคคลเหล่านั้นเป็นสมาชิกอยู่ ทั้งนี้ การจัดประเภทดังกล่าวส่งผลให้เกิดการบิดเบือนในการรับรู้ กล่าวถือจะทำให้รับรู้ว่าสมาชิกที่ตนจัดประเภทให้อยู่ในกลุ่มเดียวกันมีความเหมือนกันมากกว่าความเป็นจริง และแตกต่างจากกลุ่มอื่นมากเกินความเป็นจริง

 

4. ทฤษฎีอัตลักษณ์ทางสังคม

กลุ่มมีอิทธิพลต่ออัตมโนทัศน์และการรับรู้คุณค่าในตนเองของสมาชิกกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อบุคคลได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของกลุ่มและมีการนิยามตัวตนเข้ากับกลุ่ม นอกจากนี้บุคคลยังต้องการรักษาสถานภาพทางบวกของกลุ่มเนื่องจากกลุ่มเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงตัวตน จะมีการเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มตนกับกลุ่มอื่น หากบุคคลรู้สึกว่ากลุ่มตนดีกว่าก็จะช่วยเพิ่มการรับรู้คุณค่าในตนเอง การเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มนี้เองสามารถก่อให้เกิดอคติระหว่างกลุ่มได้

 

5. ทฤษฎีแพะรับบาป

ทฤษฎีนี้เสนอว่า เมื่อบุคคลเกิดความรู้สึกคับข้องใจแล้วไม่สามารถระบายหรือแสดงออกได้โดยตรงกับสิ่งนั้น จะแสดงความก้าวร้าวไปสู่คนกลุ่มอื่นที่ไม่ชอบหรือกลุ่มที่ไม่เกี่ยวข้องกับตนเอง ซึ่งความรู้สึกคับข้องใจนี้ถูกถ่ายทอดไปสู่คนนอกกลุ่มเกิดเป็นเจตคติรังเกียจกลุ่มในที่สุด เช่น เมื่อเศรษฐกิจในประเทศย่ำแย่ ก็ถ่ายเทความขับข้องใจไปยังคนกลุ่มอื่นนอกกลุ่ม เช่นคนต่างด้าว เป็นต้น

 

 

การลดเจตคติรังเกียจกลุ่ม


1. การขัดเกลาทางสังคม

สามารถทำได้ 2 ทาง คือ การขัดเกลาทางสังคมโดยตรง ได้แก่ การสั่งสอนและฝึกอบรมโดยพ่อแม่ ครูอาจารย์ ให้เด็กปฏิบัติตามที่สังคมคาดหวัง และการขัดเกลาทางสังคมทางอ้อม เช่น การฟังอภิปราย ปาฐกถา การอ่านหนังสือ ฟังวิทยุ ดูโทรทัศน์ ดูภาพยนต์ การเข้ากลุ่มเพื่อน ทำให้เกิดเปิดโลกทัศน์ การปรับตัวและพัฒนาบุคลิกภาพ

 

2. การจัดหมวดหมู่ใหม่

คือ การพยายามจัดจำแนกกลุ่มขึ้นมาใหม่ โดยรวมเอาสมาชิกจากทั้งสองกลุ่มมาจัดเป็นกลุ่มใหม่ หรือการรวมกลุ่มย่อยๆ ขึ้นมาเป็นกลุ่มใหญ่ เพื่อลดความขัดแย้งระหว่างกลุ่มโดยการกำจัดความรู้สึกการเป็นสมาชิกในกลุ่ม-นอกกลุ่ม

 

3. การฝึกและการศึกษาเรียนรู้ซึ่งกันและกัน

การควบคุมไม่ให้บุคคลจำแนกคนโดยความเชื่อเหมารวมมาจากการศึกษาและการฝึกฝน เช่น การเปิดรับมุมมองของผู้อื่น การเรียนรู้ข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับผู้อื่น และการฝึกใช้เหตุผลเชิงสถิติ

 

4. การจูงใจให้หลีกเลี่ยงการใช้การจำแนกคนด้วยความเชื่อเหมารวม

ได้แก่ การเพิ่มการตระหนักรู้ตัว – การกระตุ้นเตือนว่าบุคคลกำลังมีเจตคติรักเกียจคนนอกกลุ่ม เพื่อให้นำไปสู่ความรู้สึกผิดและยับยั้งปฏิกิริยาดังกล่าว, การตั้งเป้าหมายไปสู่ความเท่าเทียม, การเพิ่มแรงจูงใจที่จะรับรู้ถึงผู้อื่นอย่างถูกต้อง ไม่ใช้ความเชื่อเหมารวม

 

5. การมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกลุ่ม

การมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกลุ่ม แม้เพียงในรูปแบบง่าย ๆ ก็ก็สามารถช่วยให้สมาชิกระหว่างกลุ่มมีความสัมพันธ์ที่ดีขึ้น โดยการจะให้เป็นไปอย่างราบรื่นนั้นต้องประกอบไปด้วย 4 ปัจจัย คือ แต่ละกลุ่มต้องมีสถานะเท่าเทียมกัน มีเป้าหมายเดียวกัน มีความร่วมมือระหว่างกลุ่ม และได้รับการสนับสนุนที่ดีจากผู้มีอำนาจ กฎ หรือจารีตประเพณี

 

 

 


 

 

ข้อมูลจาก

 

“ผลของการจินตนาการถึงการปฏิสัมพันธ์กับคนนอกกลุ่มต่อเจตคติรังเกียจกลุ่ม : การศึกษาตัวแปรส่งผ่านหลายตัว” โดย สุภาพร สารเรือน (2557) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/44516

 

“ผลของการมองจากมุมของผู้อื่นต่อการลดเจตคติรังเกียจกลุ่มแบบแอบแฝง : อิทธิพลกำกับของการนิยามตัวตนและอิทธิพลส่งผ่านของการเชื่อมโยงตนเข้ากับผู้ อื่น” โดย มนัสนันท์ จิตติจรุงลาภ (2557) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/46120

 

ภาพจาก https://pixabay.com

 

แชร์คอนเท็นต์นี้