คำว่า “เหยียดในเหยียด” นั้น ไม่ได้เป็นคำที่อยู่ในสารบบคำศัพท์จิตวิทยา จึงอาจไม่มีคำนิยามที่อธิบายความหมายตรงกันในทางวิชาการ แต่ท่านทั้งหลายอาจจะเคยได้ยินหรือได้เห็นคำนี้มาบ้างตามเพจหรือบอร์ดสาธารณะต่าง ๆ ซึ่งตัวผู้เขียนเองก็เห็นว่าเป็นคำที่น่าสนใจดีทีเดียวค่ะ
แต่ก่อนจะมาตีความกันว่า “เหยียดในเหยียด” คืออะไร คงจะต้องมาทำความเข้าใจกันก่อนว่า “การเหยียด” นั้นหมายถึงอะไร
การเหยียด หรือ เจตคติรังเกียจกลุ่ม (Prejudice) หมายถึง ความลำเอียงอันมีที่มาจากการจัดกลุ่มทางสังคม อาทิ เพศ เชื้อชาติ ศาสนา ชนชั้น รูปร่าง ฯลฯ และเกิดความเชื่อแบบเหมารวมว่าคนกลุ่มต่าง ๆ เป็นอย่างไร จนนำไปสู่การปฏิบัติที่แตกต่างกันในทางชื่นชอบหรือเป็นปฏิปักษ์ต่อคนกลุ่มนั้นๆ อย่างไม่เท่าเทียม ไม่เป็นธรรม
การแสดงออกซึ่งการเหยียดหรือเจตคติรังเกียจกลุ่มมีอยู่ด้วยกัน 5 รูปแบบตามลำดับความรุนแรง ได้แก่ การต่อต้านด้วยคำพูด การหลีกเลี่ยง การกีดกันทางสังคม การทำร้ายร่างกาย ไปจนถึง การกำจัดหรือทำลายล้าง โดยทั่วไปแล้วเรามักไม่ใช้คำว่าเหยียดแบบโดด ๆ แต่เราจะใช้คู่กันกับกลุ่มบุคคลหรือประเด็นที่เป็นเป้าหมาย เช่น เหยียดเพศ เหยียดผิว เหยียดเชื้อชาติ เหยียดศาสนา เหยียดคนจน เหยียดคนรวย ฯลฯ
เรื่องที่น่าสนใจว่าด้วยการเหยียดนั้นคือ ส่วนใหญ่แล้วมันมักเกิดขึ้นโดยปราศจากการตระหนักรู้ตัวของบุคคล พูดง่าย ๆ ก็หมายถึง หลายครั้งคนเรามักไม่ค่อยรู้ว่าตัวเองนั้นเหยียดคนอื่น
เห็นได้จากงานวิจัยหลาย ๆ งานที่พบว่า เมื่อให้บุคคลประเมินว่าตนเองมีความรู้สึกต่อกลุ่มคนบางกลุ่มเป็นเช่นไร บุคคลมักประเมินว่าตนเอง “ไม่ได้มีความรู้สึกทางลบหรือมีอคติต่อกลุ่มคนนั้น ๆ” แต่เมื่อทดสอบด้วยการทดลองหรือการวัดเจคติโดยนัย ผลที่ออกมากลับไม่สอดคล้องกัน เช่น มีการถอยห่างหรือเว้นระยะกับคนที่สีผิวต่างกันมากกว่ากับคนที่สีผิวเดียวกัน ปฏิเสธการให้ความช่วยเหลือบุคคลต่างถิ่น เลือกจ้างงานหรือให้เงินเดือนสูงกว่ากับผู้สมัครเพศชายมากกว่าผู้สมัครเพศหญิงทั้งที่คุณสมบัติไม่แตกต่างกัน เป็นต้น
นั่นแสดงให้เห็นว่า บุคคลอาจมีความเชื่อหรือความรู้สึกทางลบกับกลุ่มคนบางกลุ่มแบบไม่รู้ตัว แต่สิ่งเหล่านี้จะฟ้องออกมาผ่านความรู้สึกไม่ไว้วางใจเมื่อมีสถานการณ์ที่ต้องปฏิสัมพันธ์กัน จึงมีการเลือก/ไม่เลือก ให้คุณ/ให้โทษ เข้าใกล้/ถอยห่าง กับคนกลุ่มนั้นที่แตกต่างจากกลุ่มคนกลุ่มอื่น
แม้ว่าการเหยียดดูเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยดีนัก เพราะมักนำไปสู่การปฏิบัติต่อกันอย่างไม่เป็นธรรม และสร้างความรู้สึกที่ไม่ดีต่อกลุ่มคนที่ถูกเหยียด แต่การเหยียดก็เป็นหนึ่งในธรรมชาติของมนุษย์ที่เกิดขึ้นง่ายแต่ควบคุมยาก
ที่ว่าเป็นธรรมชาตินั้น เริ่มจากการที่มนุษย์มีความสามารถในการทำความเข้าใจและจดจำข้อมูลที่จำกัด มนุษย์จึงต้องหาทางลดภาระของสมองโดยการย่อยข้อมูลจำนวนมหาศาลด้วยการจัดกลุ่มข้อมูลเป็นประเภท ๆ ลงโฟลเดอร์ แล้วให้คำนิยามแปะโฟลเดอร์กลุ่มข้อมูลนั้นไว้ ทั้งนี้คำนิยามนั้นจะเป็นเช่นไร ก็ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ที่บุคคลได้เรียนรู้ ทั้งจากประสบการณ์ของตนโดยตรงและการหล่อหลอมของบุคคลรอบข้างและสังคมที่เติบโตมา
นั่นแปลว่า หากตลอดเวลาที่ผ่านมาในชีวิต ประสบการณ์ได้ให้แง่มุมที่หลากหลายต่อกลุ่มข้อมูลนั้น ความเชื่อเหมารวมแบบบวกหรือลบไปทางใดทางหนึ่งก็จะไม่เกิดขึ้น ซึ่งโดยส่วนมาก แง่มุมที่หลากหลายมักจะเป็นกับกลุ่มข้อมูลที่ตัวบุคคลเองเป็นส่วนหนึ่งในกลุ่มข้อมูลนั้น เช่น ตัวผู้เขียนเองเป็นผู้หญิง ผู้เขียนย่อมเข้าใจว่าผู้หญิงเป็นอย่างไร ผู้เขียนเป็นคนไทย ผู้เขียนก็รู้ว่าคนไทยเป็นอย่างไร มีความแตกต่างหลากหลายภายในกลุ่มผู้หญิงและกลุ่มคนไทยขนาดไหนบ้าง แต่ผู้เขียนมีข้อมูลเกี่ยวกับผู้ชายและคนชาติอื่นน้อยกว่า ดังนั้นผู้เขียนก็อาจจะใช้ความเชื่อเหมารวมในการตัดสินคนกลุ่มอื่นที่ผู้เขียนไม่รู้จักดี
แต่ถึงแม้จะเป็นเรื่องธรรมชาติที่ควบคุมได้ยาก แต่ก็ใช้ว่าการเหยียดหรืออคติจะควบคุมไม่ได้เสียเลย สำคัญที่เราจะต้องมีสติรู้ตัวตลอดเวลา ว่าเราคิด รู้สึก หรือกำลังจะแสดงพฤติกรรมที่เป็นความลำเอียงอยู่หรือไม่ ถ้ารู้ตัว ก็เตือนตัวเองให้สนใจคำนิยามหน้าโฟลเดอร์น้อยลง และพิจารณาให้เห็นถึงความแตกต่างหลากหลายของข้อมูลแต่ละหน่วยในโฟลเดอร์นั้นมากขึ้น เช่น ไม่ใช่พิตบูล “ทุกตัว” ที่ดุร้าย แต่พิตบูลที่ดุร้ายกัดเจ้าของตนตาย เป็นเฉพาะพิตบูลที่เจ้าของไม่เข้าใจธรรมชาติของมันและถูกเลี้ยงมาอย่างไม่ถูกต้องต่างหาก
อธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับ “การเหยียด” ไปเสียไกล กลับมาที่วลี “เหยียดในเหยียด” ซึ่งเป็นใจความหลักของบทความนี้กันนะคะ
เท่าที่ผู้เขียนสังเกตถึงการใช้วลี “เหยียดในเหยียด” ในสถานการณ์ทางสังคมต่าง ๆ ผู้เขียนพบว่ามีการใช้วลีนี้ใน 2 ความหมายด้วยกัน
ความหมายที่ 1 คือ การที่บุคคลรู้สึกว่าผู้อื่นเหยียดตนนั้นเป็นเพราะบุคคลต่างหากที่เหยียดตัวเอง
ความหมายเช่นนี้ ผู้เขียนพบในกรณีที่เริ่มจากการมีคนใช้คำประเภท “ดำ” “อ้วน” “ดั้งแหมบ” “ติ่ง” “เสี่ยว” “ตุ๊ด” “แคระ” “สายเหลือง” “หน้าเทา” ในการเรียกขานหรือคอมเมนต์ถึงผู้อื่น แล้วก็ตามมาด้วยการที่คนผู้นั้นถูกตำหนิ ว่าการใช้ถ้อยคำเช่นนั้นเป็นการพูดจาที่ไม่สุภาพ เป็นการเหยียดคนผิวคล้ำ เหยียดเพศ เหยียดเพื่อนบ้าน ฯลฯ ซึ่งคำตำหนินี้ก็ตามมาด้วยการตั้งข้อสังเกตว่า “หากคุณ ‘รู้สึก’ ว่าคำเหล่านั้นเป็นคำไม่ดี เป็นคำที่ ‘แย่’ กว่าคำอื่น ๆ มันไม่ใช่ว่าเป็นคุณเองหรือที่เห็นคำว่าดำ คำว่าอ้วน คำว่าตุ๊ด เป็นคำที่แย่กว่าการบรรยายคุณลักษณะอื่น ๆ” สรุปได้ว่า “คุณเองนั่นแหละที่กำลังเหยียดความอ้วนความดำความตุ๊ดอยู่ใช่ไหม” เพราะถ้าคุณไม่รู้สึกว่ามันแย่ คุณก็ไม่จำเป็นต้องอ่อนไหวหรือเดือดร้อนกับคำเรียก/คอมเมนต์แบบนี้ก็ได้ (ตราบใดที่คำพูดเหล่านั้นไม่มีน้ำเสียงหรือบริบทอื่นใดประกอบให้แน่ชัดว่าเป็นคนดูถูกเดียดฉันท์ หรือนำไปสู่การเลือกปฏิบัติ)
ความหมายที่ 2 ซึ่งเป็นความหมายที่พบเจอมากกว่า คือ การแอนตี้การเหยียดด้วยการเหยียด
กรณีนี้เป็นกรณีที่พบเจอได้บ่อย โดยเฉพาะในสังคมออนไลน์ที่ผู้คนมีความหุนหันพลันแล่นต่อการตอบสนองต่อสิ่งที่ตนไม่ชอบใจหรือรู้สึกว่ามันไม่ถูกต้อง จนบางครั้งแสดงออกมาในลักษณะการกระทำในสิ่งเดียวกันกับที่ตนถูกกระทำ อาจเพื่อความสะใจ หรือเพื่อ “ให้รู้สำนึก” ว่าสิ่งที่พูดหรือทำมานั้นมันสร้างความเจ็บปวดให้แก่ผู้อื่นเพียงใด จึงกลายเป็นตอบโต้การเหยียดด้วยด้วยการเหยียดกลับไปนั่นเอง
ตัวอย่างเช่น กรณีที่ นางเอ พูดจาวิพากษ์วิจารณ์บุคคลอื่นว่ารูปร่างหน้าตาไม่ดี ใช้คำเปรียบเปรยในทางลบ จากนั้น นางเอ ก็ถูกโจมตีว่า ก็ยังดีกว่านางเอที่ไปทำศัลยกรรมมา ขนาดทำแล้วได้แค่นี้ จิตใจไม่พัฒนาขึ้นเหมือนหน้าตาถึงได้ชอบมาเหยียดรูปลักษณ์คนอื่น
หรือกรณีที่ นายบี แสดงความคิดเห็นถึงนางเอกละครที่มีบุคลิกห้าวคล้ายทอม ว่าอย่างนี้ต้อง “เปลี่ยนทอมให้เป็นเธอ” “เดี๋ยวเจอผู้ชายก็หายเป็นทอม” จากนั้น นายบีก็ถูกโจมตีว่าคำพูดคำจาแบบนั้นคือการเหยียดเพศ คุกคามทางเพศ อย่าคิดว่าเป็นผู้ชายแล้วจะเหนือกว่า สิ่งที่ผู้ชายมีติดตัวมาแต่กำเนิดไม่ได้จำเป็นกับผู้หญิงขนาดนั้น คนที่คิดแบบนี้คงมีปมเรื่องขนาด
จากตัวอย่างจะเห็นได้ว่า ในการตำหนิผู้อื่นว่าแสดงทัศนคติเหยียดรูปร่างหน้าตาหรือเหยียดเพศนั้น ก็มีการสะท้อนถึงการเหยียดการศัลยกรรมและการเหยียดขนาดอยู่ในการตำหนิด้วย การแอนตี้การเหยียดลักษณะนี้ จงถูกมองว่าเป็นการเหยียดในเหยียด เหยียดซ้อนเหยียด เหยียดมาเหยียดกลับไม่โกง เป็นต้น
ไม่ว่าจะด้วยความหมายไหนก็ตาม ผู้เขียนเห็นว่ายิ่งเป็นการตอกย้ำว่าการเหยียดไม่ใช่เรื่องไกลตัว เป็นเรื่องที่สามารถเกิดกับใครก็ได้ หรือเกิดกับเราก็ได้ถ้าเราขาดสติระลึกตน เพราะมนุษย์ใช้ระบบการจัดการข้อมูลเหมือน ๆ กัน คือการจัดกลุ่มข้อมูล และการจัดประเภทข้อมูลทางสังคมก็นำไปสู่การมีความเชื่อเหมารวม (stereotype) ซึ่งเมื่อไรที่เราหลงลืม เราก็จะใช้ความเชื่อเหมารวมนี้ตัดสินผู้อื่นด้วยความลำเอียง ปฏิบัติกับผู้อื่นด้วยใจอคติ
ความหลงลืมนั้นก็เกิดขึ้นได้ง่ายค่ะ เมื่อใดที่เราเหนื่อย โกรธ เสียใจ เราก็มักใช้ความเคยชินของเราแทนที่จะใช้เหตุใช้ผล เพราะการควบคุมตนด้วยสตินั้นเป็นเรื่องที่ต้องใช้พลังงานชีวิต แต่มนุษย์ก็ถูกออกแบบมาให้หาทางประหยัดพลังงานของตน ดังนั้นการจะมีสติได้ตลอดเวลาจึงเป็นเรื่องที่ต้องฝึกฝน เมื่อเราฝึกอย่างดีแล้ว เราก็จะใช้พลังงานน้อยลงในงานนั้น เปรียบเหมือนคนที่ออกกำลังกายสม่ำเสมอ มีกล้ามเนื้อมาก ก็จะเหนื่อยน้อยลงในการวิ่งระยะทางเท่าเดิม
ถ้าเราไม่อยากเป็นผู้ที่เหยียดคนอื่น หรือเป็นคนที่เหยียดในเหยียด เหยียดตนเอง เหยียดโลกทั้งใบ เราอาจต้องหมั่นฝึกให้ถามตนเองอยู่เสมอก่อนที่พูดหรือทำอะไร รวมถึงฝึกทบทวนในสิ่งที่ตนได้พูดหรือกระทำลงไปแล้ว หรืออาจฝึกที่จะคิดมากกว่าพูด หยุดคิดดูว่าตอนนี้เรารู้สึกเช่นไร เกิดความคิดอย่างไรในใจตน ทำความเข้าใจคำพูดและการกระทำของคนอื่น (หรือของตนเอง) พิจารณาถึงที่มาโดยไม่ตัดสิน คิดอยู่เสมอว่าไม่มีใครอยากเป็นตัวร้าย ทำตัวไม่ดีใส่คนอื่น ถ้าวาจาของเขา (หรือของเรา) ร้ายกาจ ก็ลองพยายามทำความเข้าใจว่าทำไม
เมื่อเข้าใจก็จะเมตตาได้
ความเมตตาจะช่วยแก้ผิดให้เป็นถูกได้
หรือเปลี่ยนสิ่งไม่ดีที่เป็นธรรมดาโลก…ให้ดีขึ้น อบอุ่นมากขึ้นได้
อ้างอิง
จริยา ดำรงโฆษิต, ชลาลัย นพพรเลิศวงศ์ และ ทัศนวรรณ มานัสวิน (2555). การทำนายความเชื่อเหมารวมทางเชื้อชาติ เจตคติรังเกียจกลุ่ม และแนวโน้มการกีดกันทางสังคม โดยใช้การเห็นคุณค่าในตนเองแบบเด่นชัดและแบบแอบแฝง. [วิทยานิพนธ์ปริญญาบัณฑิต, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย]. CUIR.
http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/48386
บทความโดย
คุณรวิตา ระย้านิล
คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย