“พวกผู้หญิงชอบขี้งอน โวยวายไม่เข้าเรื่อง ทำงานด้วยแล้วปวดหัว”
“พวกตุ๊ดแต๋วก็แบบนี้ อารมณ์รุนแรง ถึงไม่อยากทำงานด้วยไง”
“ไม่อยากยุ่งกับพวกชั้น 18 พวกนั้นพูดยาก ความคิดแคบ”
ฯลฯ
ตัวอย่างเหล่านี้คืออคติที่เรามีต่อคนกลุ่มนั้นกลุ่มนี้ ไม่ว่าจะแบ่งกลุ่มอย่างไร กลุ่มเล็กๆ เช่นทีมงานในที่ทำงาน ไปจนถึงกลุ่มใหญ่เช่นกลุ่มเชื้อชาติ ศาสนา หรือการเมือง
อคติก็คือการมองว่าคนในกลุ่มนั้น “ทั้งกลุ่ม” ก็ไม่ดีเหมือนๆ กันหมด ซึ่งเป็นการเหมารวมยกเข่งแบบไม่ยุติธรรมเลย จริงไหมคะ
นักจิตวิทยาสังคมมองอคติเหล่านี้ว่าประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่
- ความเชื่อว่า ‘เขาไม่ดี’ ยกกลุ่ม หรือ ความเชื่อเหมารวม (stereotype) เช่น “พวกผู้หญิงขี้งอน ขี้โวยวาย” “พวกตุ๊ดแต๋ว มักจะมีอารมณ์รุนแรง” ก็คือคิดว่าคนกลุ่มนั้นกลุ่มนี้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ จริงบ้างไม่จริงบ้าง แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่เป็นการเหมาเอาว่าทุกคนในกลุ่มเป็นแบบนั้นแบบนี้เหมือนๆ กัน
- ความรู้สึกรังเกียจยกกลุ่ม (prejudice) เช่น “ไม่ชอบ” “รู้สึกไม่ดี” “ไม่อยากทำงานด้วย” “เกลียด” คนในกลุ่มนั้นรวมๆ
- การกีดกันยกกลุ่ม (discrimination) เป็นการกระทำ เช่น “ไม่อยากยุ่งกับพวกนั้น” หรือบางทีเป็นการเลือกปฏิบัติหรือ สองมาตรฐานเสียเลย เช่น คนพม่ามาสมัครงานก็ไม่รับเพียงเพราะเขาเป็นคนพม่า (ไม่ใช่ว่าเขามีคุณสมบัติไม่เหมาะสม)
ผลเสียจากอคตินั้นก็เดาได้ไม่ยากค่ะ คือ เกิดความแตกแยกไม่เป็นมิตร ไม่สามารถร่วมมือกันได้ ทำให้งานออกมาไม่ดี เกิดบรรยากาศของความขัดแย้งเกิดการทำร้ายจิตใจหรือแม้แต่ร่างกายกัน (ดูอย่างเด็กนักเรียนคนละสถาบันสิคะ) ถ้าเป็นการดูถูกความสามารถก็อาจทำให้คนในกลุ่มนั้นด้อยความสามารถขึ้นมาจริง ๆ ได้ (Stereotype Threat) และสุดท้ายคือมันไม่ยุติธรรมต่อคนในกลุ่มนั้นเพราะโดนเหมารวมยกเข่งว่าไม่ดีอย่างนั้นอย่างนี้
ถ้าอย่างนั้นก็อย่าอคติแบบเหมารวมกลุ่มสิ มารักกันดีกว่า
ถ้าทำได้ก็ดีอย่างยิ่ง แต่ความคิดความรู้สึกของคนเรามันสั่งไม่ได้ง่ายแบบนั้นน่ะสิคะ นักจิตวิทยาสังคมถึงต้องทำงานหนักเพื่อลดความเกลียดชังระหว่างกลุ่มที่กำลังเป็นกระแสไปทั่วโลก ลองดูกรณีประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐอเมริกา ที่ปลุกกระแสต่อต้านชาวมุสลิม เอเชียน และชนกลุ่มน้อยในอเมริกานั่นไง
ลองมาดูว่าเจ้าความรังเกียจ 3 ส่วนข้างบนนั้นมาจากไหน
- การเลี้ยงดู : ถ้าเราโตขึ้นมาในครอบครัวหรือสังคมที่สอนให้เป็นมิตรกับคนที่ต่างจากเรา เราก็มักจะปฏิบัติดีต่อคนกลุ่มอื่น แต่ถ้าตัวแบบในครอบครัวเราชอบแสดงความรังเกียจล้อเลียนคนที่ต่างจากเรา เราก็มักจะรับเอาความรังเกียจนั้นมาด้วย งานวิจัยในประเทศไทย (สาขาวิชาจิตวิทยาสังคม คณะจิตวิทยา จุฬาฯ) พบว่าถ้าเราคิดว่าเพื่อนนักศึกษาที่เราสนิทด้วย รังเกียจนักศึกษาชาวลาว เราก็มักจะรังเกียจชาวลาวตามไปด้วย ถ้าเพื่อนสนิทเราชอบเขา เราก็มักจะชอบเขาตามไปด้วย คือเราได้รับอิทธิพลจากคนสนิทรอบตัวนั่นเอง
- การเห็นคุณค่าในตัวเองของเรา : งานวิจัยในต่างประเทศพบว่าคนที่เห็นคุณค่าของตัวเองต่ำ มักแสดงความรังเกียจคนกลุ่มอื่นเพื่อกดให้เขาต่ำลง ตัวเองจะได้รู้สึกดีกับตัวเองมากขึ้น
- ธรรมชาติการชอบแบ่งคนเป็นกลุ่ม : เรามีธรรมชาติชอบจัดคนเป็นกลุ่มๆ ใครเหมือนๆ กันเราก็จัดเป็นกลุ่มเดียว เพื่อจะได้ง่ายต่อการทำความเข้าใจโลกที่ยุ่งเหยิงนี้ ทีนี้พอจัดกลุ่มแล้ว ก็อดจะคิดไม่ได้ว่าพวกเราดีกว่าเจ๋งกว่า และพวกเขาก็ (แย่) เหมือนๆ กันหมดแหละ
- การแย่งทรัพยากร : คนไทยอาจจะไม่ชอบสมาชิกประเทศเพื่อนบ้าน เพราะว่าพอเกิดสมาคมเศรษฐกิจอาเซียนแล้ว คนเหล่านั้นจะเข้ามาแย่งตำแหน่งงานของคนไทย แย่งเรากินแย่งเราใช้ การรังเกียจจึงเกิดขึ้นได้เพราะการแย่งทรัพยากรที่มีจำกัด
ซับซ้อนแบบนี้เอง (มิน่า การสร้างความปรองดองทางการเมืองระหว่างสีต่างๆ จึงไม่ใช่เรื่องง่าย) แต่อย่าเพิ่งถอดใจไปนะคะ นักจิตวิทยาสังคมช่วยได้ ติดตามกันเรื่อยๆ นะคะเอาไว้วันหน้าจะมาคุยให้ฟัง
ภาพจาก http://simplebooklet.com/
บทความโดย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วัชราภรณ์ บุญญศิริวัฒน์
คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย