พฤติกรรมเอื้อสังคม หมายถึง พฤติกรรมที่บุคคลทำเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยส่วนรวมหรือเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น เป็นพฤติกรรมที่กระทำโดยความสมัครใจโดยไม่หวังผลตอบแทนเป็นรูปธรรม (ยกเว้นเสียแต่การได้ความรู้สึกว่าได้ทำสิ่งดี)
พฤติกรรมเอื้อสังคมอาจแสดงออกมาในลักษณะการสละกำลังกาย การพูดเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น การใช้ความคิดสติปัญญาเพื่อผู้อื่น การให้ทรัพย์สิ่งของ ตลอดจนการให้อภัยและกำลังใจ
Bierhoff (2005) ได้แบ่งพฤติกรรมเอื้อสังคมออกเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่ การเอื้อประโยชน์แก่ผู้อื่น หมายถึง รูปแบบของพฤติกรรมเอื้อต่อสังคมที่มีจุดประสงค์ของการกระทำเพื่อต้องการทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่นเท่านั้น และการชดใช้ หมายถึง รูปแบบของพฤติกรรมเอื้อสังคมที่มีจุดประสงค์ของการกระทำเพื่อตอบแทนสิ่งที่ตนได้รับมาจากผู้อื่น หรือเป็นการชดใช้ในสิ่งที่ตนเคยทำไม่ดีกับผู้อื่นไว้
Penner และคณะ (1995) ได้ศึกษาลักษณะของบุคลิกภาพต่างๆ ที่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมเอื้อสังคม และได้สรุปว่าบุคลิกภาพเอื้อสังคมประกอบด้วย 2 องค์ประกอบดังต่อไปนี้
- ความเข้าใจและห่วงใยผู้อื่น หมายถึง การเกิดความรู้สึกรับผิดชอบและใส่ใจในความสุขของผู้อื่นทั้งด้านความคิดและความรู้สึก เช่น การพยายามเข้าใจผู้อื่นผ่านการคิดในมุมมองเดียวกับบุคคลนั้น
- ความเอื้อเฟื้อ หมายถึง แนวโน้มของบุคคลที่จะให้ความช่วยเหลือบุคคลอื่น ดูได้จากการให้ความช่วยเหลือผู้อื่นในอดีต ทั้งนี้พบว่าบุคคลที่มีความเอื้อเฟื้อสูงมักมีความรู้สึกไม่สบายใจเมื่อได้พบเห็นเรื่องราวที่เจ็บปวดของบุคคลอื่น
สาเหตุของพฤติกรรมเอื้อสังคม
Wilson (1975) เชื่อว่า ธรรมชาติได้กำหนดกลไกการช่วยเหลือ หรือสละชีพเพื่อความอยู่รอด สัตว์บางชนิดยอมสละชีวิตของตนเพื่อปกป้องผู้อื่น เป็นธรรมชาติของสัตว์ต่างๆ และมนุษย์ที่จะปกป้องพวกพ้องจากภัยและบางทีก็เสี่ยงชีวิตตนเองด้วย แต่ทำไมพฤติกรรมดังกล่าวจึงเกิดขึ้นในบางเวลา และไม่เกิดขึ้นในบางเวลา ปัจจัยสำคัญตต่างๆ ที่ควบคุมพฤติกรรมนี้มีดังต่อไปนี้
1. พฤติกรรมช่วยเหลือเป็นแนวโน้มตามธรรมชาติของมนุษย์ ผู้วิจัยหลายคนได้สังเกตเห็นหลักฐานการแสดงความช่วยเหลือในทารก เช่น ปลอบพ่อแม่หรือพี่น้องที่บาดเจ็บ ป้อนอาหารให้คนอื่น หรือทำหน้าตาเจ็บปวดเมื่อเห็นผู้อื่นบาดเจ็บ ความสามารถแสดงการร่วมรู้สึกนี้จัดว่าเป็นบ่อเกิดหรือต้นตอของการพัฒนาพฤติกรรมเอื้อเฟื้อ
2. นักสังคมวิทยาบางคนเน้นพฤติกรรมช่วยเหลือว่าเป็นบรรทัดฐานทางสังคม บุคคลในสังคมได้รับแรงผลักดันหรือแรงตะล่อมให้พฤติกรรมปฏิบัติตามบรรทัดฐานต่างๆ และอาจได้รับการลงโทษถ้าไม่ปฏิบัติตาม เช่น
- บรรทัดฐานความรับผิดชอบทางสังคม – ผู้คนถูกคาดหวังให้ช่วยผู้ที่มาพึ่งพิง เช่น การที่พ่อแม่รับผิดชอบต่อลูก เลี้ยงดูอุ้มชูลูก ครูอาจารย์ดูแลช่วยเหลือนักเรียน เพื่อนติวให้เพื่อน
- บรรทัดฐานการตอบแทนบุญคุณ – บุคคลผู้ได้รับการช่วยเหลือสมควรสำนึกบุญคุณของผู้ที่ให้ความช่วยเหลือ เป็นการตอบแทนช่วยเหลือผู้เคยมีบุญคุณ ผู้มีพระคุณแก่เรา
- บรรทัดฐานความเสมอภาค – บุคคลควรได้รับสิ่งตอบแทนให้สมกับการลงทุนลงแรงของเขา และไม่ควรได้รับการลงโทษหรือความเดือดร้อนโดยไม่มีสาเหตุ เพราะฉะนั้น เมื่อใครเดือดร้อนโดยไม่ใช่ความผิดของเขาก็สมควรจะได้รับความช่วยเหลือ และในทำนองเดียวกัน ผู้ที่ลงทุนลงแรงน้อยแล้วได้ผลตอบแทนมาก ก็สมควรแบ่งปันจุนเจือให้ผู้อื่นบ้าง
3. พฤติกรรมเอื้อสังคมของสังคมต่างๆ บางสังคม เช่น ชนเผ่า Arapesh ในนิวกินี รักทะนุถนอมเด็กมาก เลี้ยงดูอุ้มชูอย่างดี เด็กของชาวเผ่านี้มีความเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่นสูงเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ตรงกันข้ามกับเผ่า Mundugamor ซึ่งไม่สอนการเอาใจเขามาใส่ใจเรา ไม่รักไม่สนใจเด็ก เด้กของเผ่านี้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่สนใจจะช่วยใคร ดังนั้นการฝึกให้รู้จักใจเขาใจเราแต่เล็กๆ มีส่วนสำคัญในการพัฒนาพฤติกรรมการช่วยเหลือเมื่อโตขึ้น
นอกจากนี้ยังพบว่า พฤติกรรมช่วยเหลือสัมพันธ์กับความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากร สังคมใดที่ทรัพยากรขาดแคลน ย่อมมีการช่วยเหลือหรือแบ่งกันน้อยกว่าสังคมที่เพียบพร้อม ความแตกต่างของแต่ละวัฒนธรรมเกี่ยวกับบรรทัดฐานต่าง ๆ ก็ปรากฏ เช่น สังคมอิสราเอลเน้นค่านิยมการร่วมมือเป็นใหญ่ ส่วนสังคมอเมริกันเน้นปัจเจกบุคคล การแข่งขัน การเป็นตัวของตัวเอง เป็นต้น
รายการอ้างอิง
“ปัจจัยคัดสรรที่สัมพันธ์กับการอาสาสมัครของนิสิตปริญญาตรีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” โดย ณัฐกุล อาชวกุลเทพ (2556) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/42677
“อิทธิพลของภาพยนตร์แนวเอื้อสังคมต่อการรู้ซึ้งถึงความรู้สึกและเจตคติต่อพฤติกรรมเอื้อสังคมของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6” โดย ปัญญารัตน์ วัชรเมธีมาศ, มิติ โอชสานนท์ และ รวิสรา อิสสรากุล (2555) – http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/44191
ภาพจาก http://www.clipartkid.com