ถอดความ PSY Talk เรื่อง จิตวิทยา กับ มูเตลู : จะ พ.ศ.ไหน ทำไมคนไทยก็ยังมูเตลู

10 May 2023

บริการวิชาการ

การเสวนาทางจิตวิทยา (PSY Talk) เรื่อง

จิตวิทยา กับ มูเตลู : จะ พ.ศ.ไหน ทำไมคนไทยก็ยังมูเตลู

 

โดยวิทยากร
  • ผศ. ดร.ไตรภพ จตุรพาณิชย์ (อ.เอก)
    หัวหน้าสาขาวิชาสังคมและธุรกิจ ภาควิชาวิทยาศาสตร์ประยุกต์และสังคม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้านครเหนือ
  • อ. ดร.ชาญ รัตนะพิสิฐ (อ.ตั้ว)
    หัวหน้าศูนย์การศึกษาระดับปริญญาตรี และอาจารย์ประจำหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาจิตวิทยา คณะมนุษย์ศาสตร์มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
  • ผศ. ดร.นรุตม์ พรประสิทธิ์ (อ.เป็ก)
    หัวหน้าภาควิชาจิตวิทยา และอาจารย์ประจำสาขาวิชาจิตวิทยาชุมชน คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

 

วิทยากรและผู้ดำเนินรายการ
  • ผศ. ดร.หยกฟ้า อิศรานนท์ (อ.หยก)
    รองคณบดี และอาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาสังคมพื้นฐานและประยุกต์ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

วันพฤหัสบดีที่ 10 มีนาคม 2565 เวลา 11.00 – 12.00 น.

 

รับชม LIVE ย้อนหลังได้ที่
https://www.facebook.com/CUPsychBooks/videos/1108806123020728

 

 

 

 

ทำไมสังคมไทยจึงเป็นสังคมแห่งความเชื่อ และเปิดรับความเชื่อจากหลากหลายวัฒนธรรมได้ง่าย


 

อ.ไตรภพ

จริง ๆ แล้วไม่ใช่แค่ไทย มนุษยชาติเราเริ่มต้นมาจากความไม่รู้ และสมองเราวิวัฒนาการมาเรื่อย ๆ เริ่มแรกโดยธรรมชาติของคน วิธีการคิดของเราเราไม่ได้คิดเป็นตรรกะเป็นวิทยาศาสตร์แบบปัจจุบัน เราอาศัยการเชื่อมโยง เราเห็นสิ่งไหนที่ประสบการณ์เราบอกว่ามันเป็นภัยคุกคามเราก็หนีมัน พอเราเจอสิ่งใหม่ เราก็เข้าไปเรียนรู้มัน พอเราวิวัฒนาการมาเรื่อย ๆ สังคมเราเริ่มซับซ้อนขึ้น ความรู้เรายังไม่สามารถไปเข้าใจทุกสิ่งได้ เราก็อาศัยเรื่องเล่า ความเชื่อ ตำนาน เช่น เราอนุมานว่าทำไมฟ้าถึงผ่า ทำไมถึงมีพายุ เราก็มีมโนภาพเกิดขึ้น เราเริ่มมีสัญลักษณ์แทนว่ามันน่าจะมีอะไรเหนือว่าสิ่งที่ตาเราเห็นที่มีอำนาจในการควบคุม ในอีกแง่หนึ่งเรื่องเล่าตำนานพวกนี้มันมีประโยชน์ในการทำให้คนเราพึ่งพากันได้ รวมกลุ่มเป็นชุมชนได้ เพราะฉะนั้นต่อให้เวลามันผ่านมานานแค่ไหน แม้วิทยาศาสตร์เริ่มก้าวหน้าขึ้นมาแล้ว ซึ่งเมื่อเทียบกับไทม์ไลน์ของมนุษยชาติ วิทยาศาสตร์ก็ถือว่าเพิ่งมีไม่นานมานี้เอง ดังนั้นเรื่องเล่า ตำนานต่าง ๆ ความเชื่อ จินตนาการ ยังไงมันก็ฝังรากลึกมากับมนุษยชาติเราอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นประเทศไหนก็ตาม จริง ๆ ของต่างประเทศเองเรื่องเล่าตำนานก็มีมากมาย ทั้งเรื่องเทพ เทวดา เมจิกต่าง ๆ ปัจจุบันก็ยังมีอยู่

 

มาที่แถบเอเชียอาคเนย์ แถวบ้านเรา คนแถบนี้ในสมัยก่อนก็จะนับถือภูตผีมาก่อน หรือที่เรียกว่าศาสนาผี และอิทธิพลของพราหมณ์ฮินดูก็เข้ามาด้วย ซึ่งก็จะมีผลกับเรื่องว่าทำไมเราถึงได้มีพิธีกรรมอะไรมากมาย ถ้าเราบอกว่าเรานับถือศาสนาพุทธเป็นหลัก ซึ่งแก่นของศาสนาพุทธไม่ได้มีเรื่องพวกนี้ แต่เราผูกผสมมาด้วยพิธีกรรมของศาสนาอื่นเข้ามา และมันเป็นคล้าย ๆ กับคุณลักษณะของคนในแถบเอเชียอาคเนย์ด้วยว่าค่อนข้างจะรับอะไรง่าย เราก็ผสมวัฒนธรรมค่อนข้างง่าย ส่วนหนึ่งมองว่ามันเป็นเรื่องการอยู่รอดด้วย ในสมัยที่เรายังไม่ค่อยรู้จักโลกใบนี้มากนัก ดังนั้นความรู้ในเรื่องที่เป็นตำนานความเชื่อ จึงเป็นเรื่องที่เข้าไปอยู่ในใจเราค่อนข้างเยอะ เมื่อเวลาผ่านไป เรื่องเล่าจากรุ่นสู่รุ่นมันก็ฝังอยู่ในใจเราเพราะเราก็ฟังจากคนรุ่นก่อน ๆ

 

ส่วนทางตะวันตก เขานำหน้าเราไป วิทยาศาสตร์ตะวันตกนั้นบูมในช่วงท้าย ๆ ของยุคเรเนซองส์ เป็นช่วงที่คนเริ่มตื่นตัวว่าฉันทนอยู่กับยุคมืดไม่ได้ และออกไปเดินเรือ ออกไปหาอาณานิคม ออกไปเจอความรู้ใหม่ สิ่งที่ตามมาคือความเข้าใจในเรื่องธรรมชาติและความเป็นจริงมากขึ้น เพราะฉะนั้นสเตปของวิทยาศาสตร์เขานำหน้าเราไป แต่อย่าลืมว่าคนทั่วไป ปกติธรรมชาติของเราถนัดการคิดแบบเชื่อมโยง และธรรมชาติมนุษย์เราต้องการประหยัดแรง อะไรที่มันคิดซับซ้อนมาก ๆ มันเหนื่อย ฉันก็จะเอาแบบที่ฉันเข้าใจไว้ก่อน และเวลาที่คนเราคิดอะไรก็ตามมักจะไม่ค่อยอยากให้มันขัดแย้งกับความเชื่อหรือข้อมูลเดิมในสมองเรา เพราะฉะนั้นด้วยธรรมชาติแบบนี้จะให้ทุกคนมานั่งคิดเป็นตรรกะเป็นกระบวนวิทยาศาสตร์ 1 2 3 4 ก็เป็นอะไรที่ขัดกับธรรมชาติมนุษย์โดยส่วนรวม ดังนั้นคนส่วนใหญ่ก็ยังวิเคราะห์สิ่งต่าง ๆ ตามแบบที่ฉันเข้าใจ ซึ่งเป็นไปโดยอัตโนมัติ ดังนั้นในโลกตะวันตกที่ก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และมีข้อพิสูจน์อะไรต่าง ๆ มากมาย แต่ความเชื่อก็ยังมี ในเฟซบุ๊คก็จะเจอเพจมูเตลูของฝรั่ง เป็นแมจิก เป็นพ่อมดแม่มด มีเทพสายต่าง ๆ เทพทางสแกนดิเนเวีย เทยสายอียิปต์ก็ยังมีคนนับถืออยู่

 

อ.ชาญ

ด้วยกลไกการคิดของมนุษย์จะพยายามหาเหตุผลในการอธิบายสิ่งต่าง ๆ ถ้าเกิดเราหาเหตุผลอะไรอธิบายไม่ได้ เราจะรู้สึกแปลก ๆ ในใจ แต่ในบางเรื่องที่เกิดขึ้นมามันก็หาเหตุผลมาอธิบายได้ยากจริง ๆ ดังนั้นถ้าเกิดหาเหตุผลไม่ได้ เราอาจจะไปโทษตัวเอง ว่าทำไมฉันโง่ หรือฉันไม่มีความสามารถ ดังนั้นในแง่มุมหนึ่ง ความเชื่อ สิ่งลี้ลับ สิ่งเหนือธรรมชาติ จึงเป็นกลไกการคิดแบบหนึ่งของมนุษย์ที่จะสามารถเอาไว้เป็นการรักษาความมั่นใจและตัวตนของตัวเองได้ เช่น คิดว่าจังหวะชีวิตยังไม่มา ดวงไม่เปิด อะไรยังไม่เอื้ออำนวย

 

อีกส่วนหนึ่งเกี่ยวกับพื้นที่ตั้งหรือวัฒนธรรมของทางซีกตะวันออก ที่มีลักษณะ collectivism หรือคติรวมหมู่ ว่ามีอะไรก็เราก็มักจะคิดถึงคนอื่น ครอบครัว คนรวบข้าง ดังนั้นคนรอบข้างก็จะมีอิทธิพลต่อการคิด ความเชื่อ ความรู้สึกของเราค่อนข้างมาก คนไทยแต่เดิมโดยเฉลี่ยมักอยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่ ก็จะได้รับค่านิยม ความคิด จากผู้เฒ่าผู้แก่ และเพื่อนรอบตัวเข้ามาค่อนข้างเยอะ และสังคมไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เราเปิดกว้าง ทั้งในเรื่องการค้าขาย และการให้คนมีเชื้อชาติหลากหลายเข้ามาตั้งถิ่นฐาน ด้วยความเป็นมิตรของเราตั้งแต่โบราณกาล ดังนั้นจึงมีการรับเอาวัฒนธรรมที่หลากหลายติดมาพร้อมกับการตั้งถิ่นฐานและการทำการค้า ไปมาหาสู่กัน ประเทศเพื่อนบ้านเราแถบนี้ สมัยโบราณเราก็มีการขยายอาณาเขตหรือยุบอาณาเขต แต่สุดท้ายแล้วก็มีการถ่ายเทวัฒนธรรมกันอยู่แถว ๆ นี้กันไปหมดเลย จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้มีความเชื่อและวัฒนธรรมที่เกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ที่หลากหลายในประเทศไทย

 

อ.นรุตม์

นอกเหนือจากการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นจากคนในอดีต จะเห็นว่าสื่อที่เรารับชมกันในปัจจุบัน ตั้งแต่ละคร ภาพยนตร์ ก็มีการแฝงเรื่องไสยศาสตร์เข้าไปอยู่ แม้แต่ในข่าว นอกจากการใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ ก็จะเห็นว่าวิธีการทางความเชื่อต่าง ๆ ก็เข้ามาร่วมด้วย และคนส่วนหนึ่งก็ให้ความสนใจและเชื่อในทางนั้นมากกว่าวิทยาศาสตร์ด้วยซ้ำ จะเห็นว่า ณ ปัจจุบันเองเราก็มีการถ่ายทอดเรื่องพวกนี้ไปสู่สังคมด้วยเหมือนกัน ในคนที่ทำสื่อ

 

อีกประเด็นหนึ่งเรื่องกระบวนการคิด คนเราขี้เกียจคิดเยอะ วิทยาศาสตร์ต้องคิดวิเคราะห์ว่าปัญหาคืออะไร ขั้นตอนคืออะไร แต่ธรรมชาติของเราเราชอบอะไรง่าย ๆ เราชอบทางลัด เราชอบคิดเร็ว ๆ การดูดวงหรือสีมงคล คำตอบมันจบในครั้งเดียว ว่าฉันใส่สีนี้ฉันโชคดีแล้ว หรือมีเครื่องรางนี้ชีวิตฉันจะดี ทั้งนี้เวลาดูดวง หมอดูมักจะบอกเราว่า “ช่วงนี้” พอเขาใช้คำว่าช่วงนี้ แปลว่าเรายังมีโอกาส ถ้าพ้นช่วงนี้ไป ดวงดาวมีการเคลื่อนย้าย เวลาเปลี่ยนไปเราจะมีโชค ดวงเราจะเปลี่ยนได้ เราก็จะรู้สึกดีขึ้น มีความหวัง เราจึงฝังคตินี้ไปเรื่อย ๆ

 

 

บางคนก็เชื่อเรื่องพวกนี้มาก บางคนก็ปฏิเสธความเชื่อเหล่านี้ ความแตกต่างระหว่างบุคคลคืออะไร


 

อ.ไตรภพ

ขออธิบายด้วยทฤษฎี Locus of control ความเชื่อว่าตัวเราเองมีอำนาจในการควบคุมชีวิตเรามากน้อยแค่ไหน ซึ่งความเชื่อนี้เป็นลักษณะทางบุคลิกภาพแบบหนึ่งที่สามารถจำแนกได้ เป็นสเปกตรัม เป็นสเกลไล่ลำดับว่าคนนี้มีมากหรือมีน้อย มันก็จะแบ่งเป็นสองฝั่ง คือฝั่งที่เชื่อว่าตัวเองสามารถควบคุมชีวิตตัวเองได้ ว่าเราอยากจะดีหรือไม่ดีอย่างไร เราต้องลงมือทำเราต้องจัดการ อันนี้เรียกว่า อำนาจควบคุมภายใน (Internal locus of control) อีกอันหนึ่งเป็นอำนาจควบคุมภายนอก (External locus of control) อันนี้จะเชื่อว่าชีวิตเราเอาจริง ๆ แล้วมันมีอะไรหลายอย่างที่มีอิทธิพลกับเรามากมาย เราไม่สามารถไปจัดการหรือคาดการณ์อะไรได้ เดี๋ยวเราก็เจอคนนี้มาบอกแบบนั้น พ่อแม่มาบอกแบบนี้ ไปเรียนวิชานี้แล้วจะเจอครูแบบไหน ดุหรือไม่ดุ หรือเราจะลงทุนอะไรสักอย่างหนึ่ง ตลาดหุ้นกำลังน่าช้อนหุ้น พอเจอสงครามก็ดิ่งลงมาเป็นลบ อันนี้ก็ถือว่าชีวิตเราจริง ๆ แล้วก็มีทั้งส่วนที่เราควบคุมได้ และส่วนที่เราควบคุมไม่ได้ ถ้าใครเชื่อว่าชีวิตของเราล่องลอยเหมือนฟองสบู่ไปทางนั้นทีทางนี้ทีแล้วแต่ใครจะพาไป ถ้ามีความเชื่อนี้เยอะ โอกาสที่เราจะมูก็จะเยอะขึ้น

 

ความเชื่อเรื่องอำนาจควบคุมชีวิตนั้นมีรากเหง้าตั้งแต่การเลี้ยงดูในวัยเด็ก ถ้าเด็กคนไหนถูกเลี้ยงมาแบบพ่อแม่ตีกรอบมาก ๆ เด็กไม่สามารถที่จะคิดจะติดสินใจอะไรได้เองเลย เด็กก็จะรู้สึกว่าฉันไม่มีอำนาจที่จะใช้ชีวิตฉันเลย ก็จะพัฒนาเรื่องความเชื่อภายนอกมากกว่าความเชื่อภายใน เพราะฉะนั้นถ้าอยากจะเปลี่ยนความเชื่อนี้ เปลี่ยนเจตคติ เปลี่ยนความคิดของเรา ก็ต้องเริ่มจากการที่เราต้องพยายามมากขึ้น ลองทำอะไรใหม่ ๆ มากขึ้น

 

ไม่ได้จะบอกว่าคนที่เชื่ออำนาจภายในมากกว่าจะชีวิตที่ดีกว่าคนที่เชื่ออำนาจภายนอก มันเป็นแค่สไตล์ความเชื่อที่ต่างกัน แต่คนที่เชื่ออำนาจภายในมากกว่ามีโอกาสที่จะยอมรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้นได้ดีกว่าคนที่เชื่ออำนาจภายนอก ทั้งนี้เราต้องรู้ว่าชีวิตเราไม่มีอะไรที่ได้ดั่งใจเราทุกอย่าง ตัวเราเองไม่ใช่ศูนย์กลางของโลก เรามีโอกาสเจอทั้งเรื่องดีและเรื่องร้าย แต่ถ้าเกิดเราคาดหวังมากเกินไปว่าฉันรับไม่ได้ถ้าต้องเจอเรื่องความผิดหวัง ความล้มเหลว เราก็มีโอกาสจะหาที่พึ่งพาภายนอกมากขึ้น และเราจะหลงลืมตัวตน ความสามารถและความเข็มแข็งของเราไป

 

อ.ชาญ

มีงานวิจัยที่บ่งชี้ว่าคนที่มีบุคลิกภาพแบบอ่อนไหว คือเมื่อมีสิ่งใดเข้ามากระทบ จะมีความรู้สึกตอบสนองที่ไวหรือรุนแรงมากกว่าบุคคลทั่วไป บุคคลที่มีบุคลิกภาพอ่อนไหวสูงมักที่จะโอนอ่อนตามสิ่งเร้าหรือเรื่องต่าง ๆ ที่ตัวเองประสบพบเจอได้มาก และบุคลิกภาพอ่อนไหวสูงก็สัมพันธ์กับความเชื่ออำนาจควบคุมภายนอก ด้วยกลไกเหล่านี้ รวมกับลักษณะ self-serving bias ที่เวลาทำอะไรสำเร็จเราก็บอกว่าเป็นเพราะตัวเรา แต่ถ้าเราทำอะไรล้มเหลว ความต้องการจะรักษาความรู้สึกว่าตัวเองยังคงมีความสามารถ มีความมั่นใจและไปต่อได้ จึงต้องหาบางอย่างที่จะโทษว่าความล้มเหลวนั้นไม่ได้เกิดจากฉัน บางครั้งการโทษคนอื่นทำได้ยาก ก็โทษที่ดวง ที่สีเสื้อ ที่เวรกรรม โทษในสิ่งที่ไม่มีชีวิต มันก็สะดวกใจดี

 

นอกจากนี้ความคิดอะไรก็ตามที่มันฝังหัวเราไปแล้วมันก็ยากที่จะเปลี่ยนแปลง ถ้าเราเหนื่อยล้ากับการใช้ชีวิตแล้วเราก็ไม่อยากจะคิดมาก เราก็พึ่งข้อมูลเดิมที่เราเคยฝังใจหรืออยู่ในสมองอยู่แล้ว เราก็ใช้มันอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นกับเราไปเลย ซึ่งบ่อยครั้งมันก็จะเป็นความเชื่อส่วนบุคคล แล้วเราก็บอกว่านี่เป็นความเชื่อส่วนบุคคล

 

อ.นรุตม์

งานวิจัยเมื่อประมาณปี 2020 เขาศึกษาเรื่องบุคลิกภาพแบบหลงตนเอง คนหลงตนเองก็จะเป็นคนที่ยึดตนเองเป็นศูนย์กลาง ให้ความสำคัญกับภาพลักษณ์และเอกลักษณ์ของตนเองมาก ๆ เพราะฉะนั้นคนที่หลงตนเองมีแนวโน้มที่จะเอาใจเอนเอียงไปกับการดูดวงและการมูที่ทำนายเกี่ยวกับตนเอง เพราะคำทำนายพวกนั้นเป็นการบ่งบอกถึงลักษณะเฉพาะหรือเอกลักษณ์ที่มีความพิเศษของแต่ละคน ซึ่งมันไปเติมความต้องการของคนหลงตนเอง

 

อีกเรื่องหนึ่งคือ บุคลิกภาพแบบ agreeableness คือเป็นคนค่อนข้างเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ โอบอ้อมอารี เห็นอกเห็นใจคนอื่น คนกลุ่มนี้มักจะมีความเชื่อหรือให้ความสำคัญกับหลักธรรมคำสอน ศาสนา เมื่อไปตามที่อ.ไตรภพอธิบายไว้ตอนแรกว่าการมูเตลู การดูดวง หรือโหราศาสตร์ ได้ผูกไว้กับความเชื่อทางศาสนา เพราะฉะนั้นจึงมีแนวโน้มที่คน agreeableness สูงจะเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ค่อนข้างมาก

และจะเสริมจากอ.ชาญ ที่พูดถึงเรื่องการลำเอียงเข้าข้างตนเอง คนเราจะมีความลำเอียงหนึ่ง คือ การลำเอียงเพื่อยืนยันความคิดของตนเอง (confirmation bias) หลาย ๆ ครั้งเวลาเราไปดูดวงเราจะเก็บข้อมูลจากที่หมอดูทำนาย บางคนอาจจะจดไว้แล้วคอยเช็ค พอเรามีข้อมูลตั้งต้นแบบนี้ คนเราก็มีแนวโน้มค้นหา ใส่ใจ หรือหาหลักฐานข้อมูลเพื่อยืนยันข้อมูลที่เราเก็บไว้ ในที่นี้คือคำทำนาย แล้วเราก็จะบอกว่าแม่นจังเลย หมอดูคอนนี้เจ๋ง

 

หรืออีกกรณีหนึ่งคือ ความคาดหวังของเราไปสร้างให้เกิดผลจริง ๆ ขึ้นมา บางครั้งเวลาเราไปดูดวง หมอดูบอกว่าปีนี้ปังมาก ประสบความสำเร็จแน่นอน พอเราได้ข้อมูลแบบนี้มา กลับมาเราก็ฮึกเหิม มีกำลังใจ เกิดอุปสรรคอะไรก็พร้อมสู้ พร้อมลุย เพราะหมอดูบอกว่าปีนี้เราจะปัง เราเลยทำ มันเลยกลายเป็นว่าความคาดหวังของเราที่มาจากคำทำนาย ไปทำให้เกิดพฤติกรรมจริง ๆ ในทางกลับกัน ถ้าหมอดูบอกว่าปีนี้เราจะพระศุกร์เข้าพระเสาร์แทรก ชีวิตมีปัญหา เวลาเราไปทำงาน เจอปัญหานิดปัญหาหน่อย เรานึกถึงหมอดู แก้ปัญหาไป สู้ไป ก็ไม่น่าจะไหว ปีนี้โชคไม่ดี ก็ไม่ลงมือแก้ปัญหา ไม่ทำอะไร งานก็ไม่เกิด ความสำเร็จก็ไม่เกิด

 

 

ความเครียดความกดดันในปัจจุบันส่งเสริมให้คนหาทางออกด้วยการมูฯ มากขึ้นหรือไม่


 

อ.ไตรภพ

ตามทฤษฎีความต้องการตามลำดับขั้นของมาสโลว์ ที่บอกว่ามนุษย์เราเกิดมาล้วนแต่วิ่งหาความต้องการ ขั้นที่ 1 เรื่องความอยู่รอด ปัจจัยสี่ ขั้นที่ 2 เรื่องความปลอดภัย ขั้นที่ 3 เรื่องความสัมพันธ์ ขั้นที่ 4 การเป็นคนเก่งได้รับคำชื่นชม ขั้นที่ 5 การเข้าใจตนเอง ผมมองว่าการมูฯ เข้ามาตอบโจทย์ความต้องการของมนุษย์เหล่านี้ ซึ่งแต่ละคนมีความต้องการต่างกัน

หากสังคมมองว่าการที่เราออกไปทำมาหากินในแต่ละวันมันยากลำบาก หรือกลัวว่าออกจากบ้านไปจนโดนรถชนตาย มีใครมาแทงตายหรือเปล่า มีแต่ความไม่แน่นอน ทำนายไม่ได้ ก็กลับไปสู่เรื่อง locus of control ที่เราอาจจะมั่นใจว่าเราควบคุมชีวิตได้ แต่สังคมแวดล้อมเราไม่ได้มีสิ่งอำนวยความสะดวกหรือระบบระเบียบที่ทำให้แน่ใจได้ว่าฉันจะมีความปลอดภัยในชีวิต ฉันจะได้รับทรัพยากร ได้เงินเดือน ได้กินอิ่มนอนหลับ บางคนก็รู้สึกขาดตรงนี้ จึงเป็นเหตุผลว่าในเมื่อฉันพยายามแล้วฉันทำไม่ได้ ฉันก็ขอพึ่งพาอิทธิพลอะไรที่อยู่เหนือกว่าฉันขึ้นไป โดยมีความหวังว่ามันก็น่าจะดีขึ้น ดังนั้นผมมองว่า การมูฯ ส่วนหนึ่งสะท้อนถึงความต้องการส่วนตัวของคนได้ และอีกส่วนหนึ่งสะท้อนถึงคุณภาพชีวิตในสังคมนั้น ๆ ได้ด้วย

 

อ.ชาญ

การที่เราดูหมอดูหรือเสี่ยงเซียมซีก็เป็นการเลือกรับรู้ด้วยส่วนหนึ่ง อันไหนที่ดีให้กำลังใจเราเราก็เก็บไว้ ถ้าได้ไม่ดี เผาทิ้งเสี่ยงใหม่ หรือในการดูดวงเราก็เลือกรับรู้แค่บางประเด็น เรื่องไหนเกิดขึ้นจริงเราก็รับรู้ว่าหมอดูคนนี้แม่น แต่ถ้าหมอดูคนไหนทักว่ามีเรื่องต้องระวังเยอะ เราก็สงสัยว่าหมอดูคนนี้แม่นหรือเปล่า แล้วไปหาหมอดูคนอื่นที่จะพูดในสิ่งที่เราอยากฟัง ที่ช่วยลดความกังวลลดความเครียดให้เราได้

คนบางส่วนไปหามอดูเพราะตนเองตัดสินใจบางเรื่องไม่ได้ ต้องการพึ่งพาคนที่ช่วยใช้อะไรบางอย่างในการเสริมความคิดของเราว่าควรไปในทิศทางใดดี หลาย ๆ ครั้งไปถามเพื่อน เพื่อนก็ไม่กล้าช่วยตัดสินใจ ถามครอบครัว ครอบครัวก็ไม่สนับสนุน ที่พึ่งสุดท้ายบางคนก็เลยไปดูดวง ไปหาข้อมูลว่าใครจะช่วยเพิ่มความมั่นใจ เสริมในสิ่งที่ตนเองต้องการ ก็เริ่มที่จะบ่มเพาะกำลังใจขึ้นมา หรือคลายความกังวล ถ้าเจ้าไหนให้คำเตือนมา ก็ได้กระตุกสติของเราไม่ให้ประมาท เหล่านี้จึงกลายเป็นสิ่งที่ใช้เสริมการดำเนินชีวิตของคนไทยหรือคนทั่วโลกมาโดยตลอด

 

อ.นรุตม์

การมูเตลูมันเริ่มมาจากการที่คนเรารู้สึกไม่แน่นอน รู้สึกกังวลใจ ตัดสินใจไม่ได้ สุดท้ายก็ไปหาทางออก ซึ่งหมอดูก็เป็นทางเลือกทางออกหนึ่งที่ให้เราได้ข้อมูลพวกนั้นมา ที่ให้เรารู้สึกสบายใจขึ้นหรือมั่นคงมากขึ้น มีทิศทางที่จะเดินไปมากขึ้น แล้วเราค่อยตัดสินใจอีกทีหนึ่งว่าจะทำตามเขาหรือเปล่า บางเจ้าเขาก็จะบอกมาเสร็จสรรพเลยว่าต้องทำแบบนั้นแบบนี้ ซึ่งก็อาจไม่ใช่การแก้ปัญหาตรง ๆ แต่มันเป็นส่วนหนึ่งของการทำให้เจ้าตัวรู้สึกมีกำลังใจมากขึ้นมั่นใจมากขึ้น และส่งผลต่อพฤติกรรมที่เราจะลงมือทำอะไรต่อไป

 

อ.ไตรภพ

คำแนะนำของหมอดูมันเหมือนกับว่าทำให้เรากลับมามีอำนาจควบคุมภายในอีกครั้งหนึ่ง เหมือนกันว่า โอเค หลาย ๆ อย่างฉันควบคุมไม่ได้ใช่ไหม แต่หมอดูบอกว่าให้ทำแบบนี้นะ 1 2 3 4 เมื่อฉันทำแล้ว มันก็คล้าย ๆ การ empowerment หรือเสริมพลังเรา ส่วนตัวจึงมองว่าการมูฯ มีประโยชน์ในการที่ช่วยเสริมพลังให้กับคนให้เขารู้สึกว่ามีโอกาสควบคุมชีวิตได้มากขึ้น ทำให้เขารู้สึกมีแรงมีกำลังใจในการต่อสู้ชีวิตมากขึ้น หรือมีโอกาสที่เขาจะได้ในสิ่งที่เขาอยากได้

 

อ.ชาญ

เวลาเรารู้สึกเครียด แล้วได้ไปไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไปทำบุญ ทำสิ่งบวก ๆ ตามคำแนะนำของหมอดู มันก็ทำให้เรารู้สึกดีขึ้น เกิดอารมณ์ทางบวกมากขึ้น มันก็ช่วยกดความวิตกกังวล ความเครียดลงไปได้ชั่วคราว ทำให้เราอยู่กับตัวเองได้ดีขึ้น และเวลาที่เราไปทำบุญ ก็เป็นการเชื่อมโยงบุคคลหลาย ๆ คนเข้ามา เพราะหลายคนเวลาที่ตัวเองจะไปไหว้พระก็ชวนเพื่อนไปด้วย ไปคนเดียวเหงา ตอนแรกไหว้พระเป็นหลัก ตอนหลังเป็นรองไปแล้ว กลายเป็นได้จับกลุ่มเม้ามอยต่อ ได้ออกมาเจอผู้คน ได้มีสังคม ได้กลับมารู้สึกว่ามีสิ่งบันเทิงจิตใจ ความเป็นสัตว์สังคมของเรา การได้มีสังคมก็ทำให้เรารู้สึกผ่อนคลายขึ้นและลดความเครียดไปได้

 

 

แล้วการมูเตลูเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุดหรือไม่


 

อ.นรุตม์

การแก้ปัญหาที่ตรงจุดก็ต้องแก้ที่ตัวปัญหา ถ้าเรามีปัญหาที่งานก็ต้องแก้ที่ตัวงานหรือที่พฤติกรรมการทำงาน แต่ถ้าเราไปหาหมอดู ไปมูเตลู ไปมีสีมงคล มันก็ไม่ได้ลงไปเฉพาะเรื่องเหมือนที่เราลงมือกระทำ แต่ผมมองว่ามันเป็นเรื่องกำลังใจ ทำให้เรารู้สึกมีกำลังใจ มีความหวัง ว่ามันน่าจะดีขึ้นได้ เช่นถ้าเดินไปหาหัวหน้างาน เขาก็น่าจะเมตตาเรามากขึ้น เพราะวันนี้เราใส่สีที่เสริมเมตตามหามงคล มันก็เป็นเรื่องของกำลังใจ และการที่หมอดูทำนายดวงเป็นช่วง ๆ ว่าช่วงนี้เป็นอย่างไร เราก็ยังมีความหวังว่าไม่ใช่ว่าชีวิตจะแย่ตลอดไป เราไม่ได้โชคร้ายตลอดชีวิต เรายังมีโอกาส เพราะฉะนั้นมันเป็นเรื่องของจิตใจมากกว่า

 

 

ในสังคมไทยหลายครั้งคนก็ไปหาหมอดูมากกว่านักจิตวิทยาเวลามีเรื่องในใจ มองอย่างไร


 

อ.ไตรภพ

วิทยาศาสตร์ถ้าเรารู้ความจริงบางอย่างเราก็จะหมดอารมณ์ไปเลย เพราะมันไม่มีสตอรี่ ขณะที่เรื่องเล่า จินตนาการ มันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมนุษย์มาตั้งแต่แรก ธรรมชาติของคนเราชอบสตอรี่ แม้ว่ามีหลักฐานเชิงประจักษ์ ขนาดว่าตาเราเห็น เรายังไม่อยากเชื่อเลย เราก็ยังคิดว่ามันต้องมีอะไรมากกว่านี้สิ เพราะสมองเราชอบเชื่อมโยงเรื่องราว เราอยู่ในยุคทุนนิยม สินค้ามีให้เลือกมากมาย สินค้าบางอย่างเราไม่ได้ซื้อเพราะคุณภาพมันอย่างเดียว เราซื้อเพราะสตอรี่มัน เรายอมจ่ายราคาแพงเพื่อได้ครอบครองของชิ้นนั้น แบรนด์นั้น ซึ่งผมมองว่ามันก็เป็นมูฯ อย่างหนึ่ง เพราะเราได้สร้างสตอรี่ขึ้นในใจ

 

ดังนั้นถ้าถามว่าทำไมคนถึงไม่เข้าหานักจิตวิทยามากนัก เพราะบางทีคนยังมี boundary มีเส้นกั้นระหว่างวิทยาศาสตร์กับชีวิตประจำวันอยู่ หมอดูเป็นอะไรที่เข้าถึงได้ง่ายกว่า คุณไปตรงนี้สิเขาว่าเจ้านี้แม่นนะ มันเป็นวิถีชีวิต และคาดหวังได้ว่าฉันน่าจะได้ฟังอะไรบางอย่างที่ฉันไม่เคยได้รู้มาก่อน ตรงนี้เลยมองว่า เอาจริง ๆ นักจิตวิทยาและหมอดูมีความเหมือนกันตรงที่ นอกจากทำนายแล้วคุณยังชี้นำพฤติกรรมเขาได้ว่าเขาควรจะต้องปรับปรุงตัวอย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับจรรยาบรรณของหมอดูด้วย

 

อ.ชาญ

อะไรที่มันเกินพอดีมันก็ไม่ดีทั้งนั้น มีงานวิจัยมากมายที่บอกว่าใครที่พึ่งพาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พึ่งการดูดวง หรือพึ่งพาอำนาจนอกตัวมาก สิ่งแรกที่จะเกิดขึ้นเลยหรือ ความสามารถในการคิดประมวลผลจะลดลง สิ่งที่ตามมาคือจะมีความมั่นใจในตนเองลดลง เพราะขึ้นชื่อว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือการทำนายมันจะมีทั้งที่ตรง ไม่ตรง ถูก และผิด ซึ่งถ้าเราเชื่อและทำในทางที่มันผิด ผลมันก็ออกมาไม่สำเร็จ บางครั้งมันก็ทำให้เราเครียดอีก นั่งคิดอีกว่าทำไมมันไม่สำเร็จ ทั้งที่เราทำตามคำทำนายและสิ่งศักดิ์สิทธิ์บอกไว้แล้ว ซึ่งทางที่ดีมันก็คือการที่เราต้องแก้ที่ต้นเหตุ แต่บางครั้งเราหาต้นเหตุไม่เจอว่าคืออะไร เพราะเราไม่มีสมาธิและจิตใจที่นิ่งพอ เราก็เห็นแต่ปัญหาเล็ก ๆ และที่ไม่ใช่สาเหตุที่แท้จริง พอเราแก้ในปัญหาเล็ก ๆ เหล่านั้น แต่ปัญหาใหญ่ยังไม่ถูกแก้ เราก็จะรู้สึกว่าทำไมเรายังทุกข์อยู่ ทำไมยังไม่สามารถแก้ได้สำเร็จ

 

ท่านที่มีสติหรือได้มีเวลาอยู่กับปัญหาสักพัก และทำใจให้เย็น ๆ ไม่ใจร้อนเกินไป จะเริ่มเห็นภาพรวมของปัญหา และมองเห็นได้ว่าปัญหานั้นเกิดจากอะไร และเห็นถึงจุดที่สามารถเข้าไปแก้ไขได้ด้วยตัวเองด้วยซ้ำ โดยที่ไม่ต้องพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือสิ่งเหนือธรรมชาติเลย แต่ก็อย่างที่คุยกันว่าการมูฯ ก็มีประโยชน์อยู่บ้างที่ช่วยให้คนจิตใจเย็นลง อารมณ์ดีขึ้น ตอนแรกคิดไม่ออก เดินไปหยอดตู้ทำบุญ ไปเลี้ยงขนมน้อง เห็นคนยิ้มเห็นคนมีความสุข เราก็ใจเย็นลง มีสติมากขึ้น ก็จะช่วยให้เรากลับไปย้อนมองปัญหานั้นอย่างละเอียดขึ้น ก็เริ่มที่จะแก้ไขปัญหานั้นได้ด้วยตัวเอง

 

อ.นรุตม์

หมอดูหรือความมูเตลูทั้งหลายมันเข้าถึงได้ง่ายกว่า มีเยอะกว่า สมมติว่าเราเจอคำทำนายของหมอดู A แล้วไม่ตรงกับใจเรา เราก็หาคำทำนายจากหมอดูคนอื่นได้ ที่จะสอดคล้องกับความคิดเรา ปัจจุบันตอนนี้เทคโนโลยีมันเอื้ออำนวยให้เราเข้าถึงคำทำนายพวกนี้ได้ง่ายด้วย ก็เลยยิ่งทำให้สิ่งนี้คงอยู่ต่อไปเรื่อย ๆ

 

อ.ชาญ

มันอยู่รอบตัวเรามากกว่าที่เราคิด เว็บไซต์ข่าวหรือหนังสือพิมพ์เปิดมาก็เจอคอลัมน์พวกนี้ มันก็เลยเข้าถึงง่ายกว่านักจิตวิทยา ตอนนี้ทั้งสังคมไทยและสังคมทั่วโลกก็มีความเข้าใจมากขึ้นว่าถ้าเรามีปัญหาอะไรก็สามารถไปหานักจิตวิทยาได้ เป็นตัวเลือกหนึ่งที่ดี แต่ในเรื่องการเข้าถึงอาจจะยังไม่ทั่วถึงหรือเข้าถึงยากกว่า รวมถึงค่าใช้จ่ายอะไรต่าง ๆ มันก็สูงกว่า เพราะฉะนั้นทั้งในแง่ความเข้าถึงง่ายและในแง่ความสามารถในการจ่ายเพื่อผ่อนคลายความทุกข์ที่แตกต่างกัน ทางสายมูฯ ก็ตอบตรง ๆ ว่าใช้น้อยกว่าโดยเฉลี่ย จึงยังเป็นที่พึ่งหลักของคนกลุ่มหนึ่งอยู่

 

อ.นรุตม์

ถ้ามองในแง่กระบวนการทำงานของนักจิตวิทยา นักจิตวิทยาจะมีระบบระเบียบมีชั้นมีตอนในการให้คำปรึกษาหรือการให้ความช่วยเหลือ เขาจะไม่ได้บอกตรง ๆ ว่าให้ทำแบบนั้นแบบนี้ หรือไปตัดสินใจให้ นักจิตวิทยาจะมีวิธีการที่ค่อย ๆ ให้ผู้รับบริการรู้ปัญหา ตัดสินใจ และจัดการกับปัญหาได้ด้วยตนเอง แต่ในกรณีของหมอดู หมอดูจะเป็นคนแนะนำเลยว่าคุณมีเคราะห์เรื่องนี้ คุณไปจัดการเรื่องนี้สิ คุณโชคไม่ดีคุณใส่สีนี้สิ มันง่ายกว่า คนไปหาหมอดูแล้วได้คำตอบเลย ทำได้เลยทันที โดยที่ไม่ต้องใช้เวลาเยอะไม่ต้องคิดเยอะ

 

 

แบบไหนถึงเรียกว่างมงาย ที่เป็นการเชื่อมากเกินไป


 

อ.ไตรภพ

ทุกอย่างมีลิมิตของมัน ตอนนี้วิทยาศาสตร์ก้าวหน้ามาก ในช่วง 20 ปีนี้เรียกได้ว่าก้าวกระโดด คำตอบบางอย่างที่เป็นปริศนามานาน ตอนนี้เราสามารถรู้ได้ และต่อไปการค้นพบพวกนี้ก็จะไปตอบปัญหาที่เป็นมูเตลูสมัยก่อนได้อีกหลายข้อ แต่ทั้งนี้วิทยาศาสตร์เป็นสิ่งที่เหนื่อยในการทำความเข้าใจ เพราะมันยาก ดังนั้นมูเตลูก็จะยังคงอยู่ในสังคมมนุษย์ไปอีกนาน แต่มันจะสะท้อนอย่างหนึ่งตรงที่ว่ามันควรไหมที่เราจะต้องกระจายการศึกษาให้มันครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ให้คนในทุกที่สามารถเข้าใจในวิทยาศาสตร์พื้นฐานได้ อย่างน้อยถ้าคนเข้าใจในวิทยาศาสตร์มากขึ้น ความเชื่อในมูฯ บางเรื่องในลักษณะที่มันเกินไปจะได้ค่อย ๆ หายไปหรือลดลง

 

จุดตัดที่สำคัญเลยคือ คนที่เชื่อเรื่องมูฯ จะเป็นคนที่ค่อนข้างเปิดใจรับหรือเชื่ออะไรได้ง่ายอยู่แล้วโดยบุคลิก ก็จะทำให้กลายเป็นเหยื่อง่ายสำหรับคนที่ไม่หวังดี บางคนอาจจะเอาการมูฯ มาเป็นเครื่องมือหากินเพื่อหลอกลวงคน แล้วการหลอกสมัยนี้หลอกเนียนมาก ถ้าเรามีความเชื่ออยู่แล้ว เราอยากได้ยินสิ่งนี้ อยากอย่างนี้ แล้วเราไปเจอคนที่ตอบโจทย์เราพอดี ความเสี่ยงก็จะเกิดขึ้นที่เราจะเป็นเหยื่อของการหลอกลวง เป็นเหยื่อของการสูญเสียเงินจำนวนมาก เมื่อไรก็ตามที่ความเชื่อมูฯ มันทำให้ครอบครัวเราแตกแยก ทำให้พฤติกรรมของเราผิดไปจากความเหมาะสม ผิดไปจากศีลธรรมจริยธรรมที่มันควรจะเป็น แบบนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่มันเกินไปทั้งสิ้น

 

อีกประเด็นหนึ่งคือถ้าเราให้น้ำหนักไปที่มูฯ เยอะเกินไป เราจะสูญเสียความรู้สึกว่าตัวฉันมีคุณค่าที่จะควบคุมชีวิตฉันได้ ความนับถือตนเองอาจจะค่อย ๆ ลดลง ๆ เราอาจจะกลายเป็นคนที่จะถูกจูงไปทางไหนก็ได้โดยง่าย อันนี้ก็จะถือว่ามากเกินไป แต่ส่วนตัวก็เชื่อว่าคนที่มูฯ อยู่ทุกวันนี้ส่วนใหญ่จะไม่ได้คาดหวังหรอกว่าเมื่อฉันมูฯ แล้วฉันต้องได้อย่างที่หวัง แต่เชื่อว่าที่มูฯ เพื่อเป็นการ empower ตัวเอง เพื่อให้รู้สึกมั่นใจและมีพลังมากขึ้นในการใช้ชีวิตมากกว่า แต่เมื่อไรก็ตามที่เราปล่อยให้มูฯ มาครอบงำเรา มาชี้นำพฤติกรรมเราทุกอย่าง เขาว่าอย่างไรทำหมดทุกอย่างเลย เสียเงินเสียนันเสียนี่ไป อันนี้เรียกว่าเกินไปแน่ ๆ

 

อ.ชาญ

เมื่ออะไรที่เป็นผลกระทบจนไม่สามารถใช้ชีวิตของตนเองได้อย่างปกติ หรือเริ่มส่งผลกระทบต่อคนรอบข้างแล้ว แสดงว่าสิ่งที่เราเชื่อว่ามีผลดีมันน่าจะเป็นผลเสียแล้ว เพราะอย่างบางคนเชื่อว่าไปทำบุญเยอะๆ หรือซื้อไอเท่มอะไรบางอย่างมาบูชา เสียเงินเท่าไรก็ยอมเพื่อให้ชีวิตตัวเองดีขึ้น แต่กลับกลายเป็นว่าความทุกข์อันใหม่คือสภาพเศรษฐกิจ เพราะใช้เงินกับตรงนี้ไปมาก และเริ่มกระทบต่อคนอื่น บางคนหยุดไม่ได้ เพราะมั่นใจในตนเองลดลงมีความสามารถในการคิดประมวลผลภาพรวมลดลง บางคนหยุดไม่ได้จนกลายเป็นการเสพติด อะไรก็ตามที่เป็นการเสพติดมันก็ต้องการที่จะทำอยู่เรื่อย ๆ ตนเองไม่มีเงินก็ต้องไปยืมคนรอบข้างมา แสดงว่าจุดนี้เป็นสิ่งที่รบกวนการใช้ชีวิตทางสังคมหรือชีวิตส่วนตัวของเราเองแล้ว ถ้าเราดึงสติตัวเองกลับมาได้เร็ว และคิดว่าสุดท้ายแล้วสิ่งที่เราทำอยู่นั้นแก้ปัญหาที่แท้จริงได้หรือไม่ ก็น่าที่จะทำให้คนปรับตัวและทำได้ดีขึ้น

 

ส่วนประเด็นที่ว่า “ไม่เชื่ออย่าลบหลู่” มันก็เป็นวลีหนึ่งที่เหมือนกับ “โปรดใช้วิจารณญาณในการรับชม” เพราะบางอย่างมันจะไม่ถูกพิสูจน์หรือยังไม่มีวิธีพิสูจน์ที่แน่นอน คนเราต้องการ play safe อยู่แล้ว จึงมีกลไกออกมาว่า “ไม่เชื่อใช่ไหม ก็อย่าไปลบหลู่ เพราะถ้าเกิดผลเสียขึ้นมาจะทำยังไง” คนเราต้องการจะหลีกเลี่ยงถึงผลเสียหรือผลลัพธ์ที่ไม่ดี แต่จริง ๆ ความเชื่อบางอย่างตั้งแต่โบราณกาล ในหลาย ๆ ประเทศ มันก็แฝงความเป็นวิทยาศาสตร์อยู่ เช่น ที่บอกว่าห้ามตัดเล็บตอนกลางคืน เพราะว่าอะไร เมื่อก่อนแสงน้อย ถ้าตัดเล็บตอนกลางคืนก็กลัวจะเข้าเนื้อ ก็เป็นกลวิธีอย่างหนึ่ง หรือที่บอกว่า ตอนกินข้าวอย่าร้องเพลง เพราะเขาไม่อยากให้สำลัก แต่การให้อธิบายในแง่มุมของวิทยาศาสตร์ บางครั้งมันยากที่จะให้เด็ก ๆ เข้าใจและทำตาม เขาก็จะเบี่ยงประเด็นไปในจุดอื่นเลย ที่จะสามารถเข้าใจได้ง่ายกว่า แล้วมันจบไม่ต้องอธิบายเยอะ

 

อ.นรุตม์

คนเราไปมูฯ เพื่อใจ เพื่อกำลังใจ ความมั่นใจ ดังนั้นพอใจเราได้แล้ว เราอาจต้องย้อนกลับมาใช้สมองให้มากขึ้น ใช้ปัญญาในการพิจารณาเหตุและผล ว่าต้นตอของปัญหา หรือว่าการที่เราจะได้ตามเป้าที่เราอยากจะได้ มันต้องใช้วิธีการอะไร เพราะถ้าเกิดเราใช้แต่ทางสายมูฯ มันอาจจะเกิดผลเสียตามมาอย่างที่อ.ชาญได้บอกไป ทั้งกับเรื่องทางสังคมรอบ ๆ ตัวเรา และการใช้ชีวิต เศรษฐกิจ ต่าง ๆ อีกอย่างหนึ่งก็สามารถส่งผลกระทบต่อตัวตนของเราเองด้วยซ้ำ หมอดูอาจจะแนะนำให้เราไปเป็นหรือไปทำพฤติกรรมอะไรที่มันไม่ใช่ตัวเรา ซึ่งถ้าเราต้องไปทำอะไรที่มันไม่ใช่ตัวของเราจริง ๆ มันก็จะเป็นปัญหาทางด้านจิตใจเหมือนกันกับการที่เราต้องพยายามเป็นอะไรในสิ่งที่เราไม่ได้เป็น

 

กำลังใจเราสร้างจากการมูฯ ได้ แต่ถ้าเรามีใจที่โอเคแล้วระดับหนึ่ง ย้อนกลับมาใช้เหตุผล พิจารณาดูว่าเราจะจัดการกับปัญหา กับความไม่มั่นใจ ความรู้สึกไม่มั่นคงตรงนั้นอย่างไร

 

 

แชร์คอนเท็นต์นี้