ถอดความ PSY Talk เรื่อง ตีโจทย์ปัญหาการ Bully: เจ็บที่ไม่จบ ผลกระทบของการ Bully

12 Jan 2023

บริการวิชาการ

การเสวนาทางจิตวิทยา (PSY Talk) เรื่อง

ตีโจทย์ปัญหาการ Bully: เจ็บที่ไม่จบ ผลกระทบของการ Bully

 

โดยวิทยากร
  • ผศ. ดร.หยกฟ้า อิศรานนท์ (อ.หยก) ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาสังคม
  • ผศ. ดร.ชมพูนุท ศรีจันทร์นิล (อ.นุท) ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาการปรึกษา
  • อ. ดร.จิรภัทร รวีภัทรกุล (อ.ฝน) ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาพัฒนาการ

 

วิทยากรและผู้ดำเนินรายการ
  • อ. ดร.พูลทรัพย์ อารีกิจ ผู้ช่วยคณบดี และผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาการปรึกษา

 

วันพุธที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2566 เวลา 15.00-16.00 น.

 

รับชม LIVE ย้อนหลังได้ที่

https://www.facebook.com/CUPsychBooks/videos/531594558936045

 

 

 

 

 

 

Bully คืออะไร


 

อ.หยก :

นิยามของการ bully คือการข่มเหงรังแก เป็นพฤติกรรมทางลบ เพราะเป็นพฤติกรรมก้าวร้าวที่คนหนึ่งกระทำกับอีกคนหนึ่งโดยเจตนา และทำซ้ำ ๆ ในช่วงระยะเวลาใดระยะเวลาหนึ่ง เจตนานั้นคือต้องการให้คนที่ถูกกระทำได้รับความเจ็บปวดทางร่างกายหรือจิตใจ โดยส่วนใหญ่คนที่ไปข่มเหงรังแกคนอื่นจะรู้สึกว่าตนเองมีอำนาจ อยู่เหนือกว่าคนอื่น มีความสามารถมากกว่า ตัวใหญ่กว่า จึงกระทำต่อคนที่มองว่าอ่อนแอกว่า ซึ่งคนที่ถูกมองว่าอ่อนแอกว่าเหล่านั้นอาจเป็นคนกลุ่มน้อยในสังคม มีลักษณะแตกต่าง หรือมีความเฉพาะทาง มีความพิเศษ เป็นคนที่สังคมมองว่าคนกลุ่มนั้นเป็นคนที่มีอำนาจน้อยกว่าในสังคม

 

 

ประเภทของการ Bully


 

อ.หยก :
  • ประเภทแรก คือการรังแกทางร่างกาย (physical) การตี ต่อย เตะ การถ่มน้ำลาย ดึงผม กระชากผม หรือการขังเอาไว้ในล็อกเกอร์ ในห้องน้ำ เป็นลักษณะที่ทำซ้ำ ๆ กับคนเดิม ๆ
  • ประเภทที่สอง คือการรังแกทางวาจา (verbal) การใช้คำพูดที่ทำให้ผู้ถูกกระทำรู้สึกเจ็บปวดใจ รู้สึกอับอาย เป็นการพูดยั่วยุ ยั่วเย้า เสียดสี นินทา ปล่อยข่าวโคมลอย ให้บุคคลที่เป็นเหยื่อรู้สึกเสียหายจากสิ่งที่ผู้กระทำได้พูดออกมา การรังแกประเภทนี้จึงมีเส้นบาง ๆ ระหว่างการรับรู้ของผู้กระทำที่มองว่าเป็นการล้อเล่นเฉย ๆ ขณะที่ผู้ถูกกระทำอาจตีความได้ว่าผู้กระทำมีเจตนาที่ทำให้เขารู้สึกเจ็บปวดทางจิตใจ และได้รับผลในระยะยาว
  • ประเภทที่สาม คือการรังแกทางสังคม (social) เป็นลักษณะของการกดดัน บีบบังคับ เช่น ไม่ให้มีใครเป็นเพื่อน การโดดเดี่ยวเหยื่อให้รู้สึกว่าไม่มีใครดบด้วย
  • ประเภทที่สี่ คือการรังแกในโลกไซเบอร์ (cyber bullying) ซึ่งปรากฏขึ้นมากในช่วงสิบปีให้หลัง เป็นลักษณะของการสาดกันด้วยคำพูดทางลบ การปล่อยข่าวโคมลอย การนำภาพที่ไม่ดีนักไปประจาน ให้เกิดความเสียหายกับเหยื่อ การคอยติดตามแบบประสงค์ร้าย (stalking) การรังแกในโลกไซเบอร์นั้นมีผลกระทบค่อนข้างมาก เพราะมีผู้คนพบเห็นได้มากและผลิตซ้ำได้ คือมีคนเป็นพันเป็นหมื่นมาพบเห็นได้ภายในไม่กี่ชั่วโมง และมาดูซ้ำ ๆ ได้เหมือนเราถูกกระทำซ้ำไปซ้ำมา

 

 

ความชุกของการ Bully


 

อ.ฝน :

เราสามารถพบเห็นการ bully ได้ตั้งแต่ระดับอนุบาล ไปจนถึงระดับมหาวิทยาลัย โดยเรามักจะพบความชุกทั้งในด้านความถี่และความรุนแรงของการ bully ในทุกประเภทในระดับมัธยม

 

เวลาที่เราสังเกตเห็นการรังแกกันในวัยอนุบาล เช่น การตี การกัด การแย่งของ ในมุมมองของเด็กอนุบาล เขาอาจไม่รู้จักคำว่ากลั่นแกล้งรังแก แต่เป็นพฤติกรรมที่เขามองว่าไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะไม่รู้จักการขอหรือการเจรจาเพื่อให้ได้ในสิ่งที่ต้องการ จึงออกมาในรูปของความก้าวร้าวและไปรังแกคนอื่น ดังนั้นการพิจารณาการ bully ในวัยอนุบาลอาจต้องวิเคราะห์ถึงเจตนาและการรับรู้ของผู้กระทำด้วย

 

ส่วนในวัยมัธยม บริบทที่เจอการ bully ได้บ่อย ยกเว้นในโลกไซเบอร์ คือการรังแกในโรงเรียน ทั้งนี้การให้คุณค่าของเด็กวัยรุ่นคือการได้รับการยอมรับ โดยเฉพาะจากเพื่อน พฤติกรรมการรังแกหรือการแสดงให้เห็นว่าฉันมีอำนาจ ฉันแข็งแรง บางครั้งเขาก็มองว่าเป็นสิ่งที่นำไปสู่การได้รับการยอมรับจากเพื่อน วัยรุ่นบางคนจึงใช้การรังแกผู้อื่นเพื่อสร้างสถานะทางสังคมของตน และสร้างการยอมรับจากเพื่อน ๆ ในโรงเรียน

 

 

ธรรมชาติของมนุษย์มีความสงสาร เห็นใจ ทำไมบางคนจึงเลือกที่จะรังแกผู้อื่นให้เกิดความเจ็บปวดทางกายหรือทางใจ


 

อ.นุท :

ในบุคคลที่โตขึ้นจนน่าจะมีพัฒนาการเรื่องความเห็นอกเห็นใจแล้ว แต่ยังมีพฤติกรรมรังแกผู้อื่นให้รู้สึกเจ็บปวด อับอาย ด้วยความรู้สึกสนุก ความรู้สึกสะใจอยู่นั้น อาจเป็นได้จากหลายปัจจัย ถ้ามองในปัจจัยส่วนบุคคล การ bully อาจมาจากความต้องการภายในที่ต้องการแสดงออกถึงการมีอำนาจ การเป็นที่ยอมรับของสังคม การได้รับความนิยมชมชอบว่าฉันมีความเหนือกว่า มีความสามารถในด้านต่าง ๆ ที่มากกว่า ปัจจัยตรงนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการอยากเป็นผู้นำ อยากสร้างความรู้สึกดีกับตนเอง อยากให้ผู้อื่นรู้สึกชมชอบ ก็เป็นปัจจัยหลักในการเกิดพฤติกรรม bully แม้แต่ผู้ที่มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นแต่ก็กระทำซ้ำในการ bully ผู้อื่น ก็อาจจะมาจากภูมิหลังที่เขาเคยถูก bully ด้วยเช่นกัน คือคนที่ถูกรังแกก็รังแกผู้อื่นต่อ เป็นวงจร ทำให้วงจรของการ bully นั้นไม่สิ้นสุดและส่งต่อความเจ็บปวดนั้นไปเรื่อย ๆ ถ้ามองในด้านสภาวะทางจิตใจ อาจมองได้ถึงการได้ระบายความเจ็บแค้น เป็นการแทนที่ความเจ็บปวดไปยังผู้อื่น เพื่อทำให้ตนเองรู้สึกกลับมามีอำนาจอีกครั้งหนึ่งหลังจากที่ตนเองอาจจะรู้สึกถูกลดอำนาจ รู้สึกสูญเสียความรู้สึกดีกับตัวเอง

 

เราอาจจะต้องศึกษาประสบการณ์ทางจิตใจของผู้ที่รังแกคนอื่นที่อยู่ในวัยมัธยมหรือมหาวิทยาลัยแล้ว ว่าเป็นผลเนื่องมาจากประสบการณ์ที่เขาเจ็บช้ำในอดีตหรือไม่ หรืออาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงปัญหาทางด้านสุขภาพจิตของเขาได้เหมือนกัน ซึ่งอาจจะส่งผลจากการเลี้ยงดูของครอบครัว ที่ขาดตัวแบบของการดูแลที่เหมาะสม มีความรุนแรงในครอบครัว และเขารู้สึกชินชาหรือคุ้นเคยกับการใช้ความรุนแรง และมองว่าการกระทำการรุนแรงต่อผู้อื่น โดยไม่ใส่ใจ ไม่แยแส เป็นเรื่องปกติ

 

อีกปัจจัยหนึ่งคือเรื่องการเสพสื่อ ไม่ว่าจะเป็นทอล์กโชว์ เกมโชว์ ที่มีการหยอกเย้าด้วยมุกต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความบันเทิง จึงอาจกลายเป็นสิ่งที่ทำให้เรามองว่าการหลอกล้อ เย้าแหย่คน เพื่อความสะใจ เพื่อความสนุกสนาน มันเป็นเรื่องปกติที่เราสามารถกระทำต่อผู้อื่นได้

 

อ.ฝน :

พฤติกรรมก้าวร้าวและการ bully คือพฤติกรรมที่เกิดจากการเรียนรู้ เราไม่ได้เกิดมาพร้อมการรู้ว่าอะไรคือการรังแก คำถามคือแล้วเราเรียนรู้มาจากที่ไหน สิ่งหนึ่งที่อธิบายได้คือการอบรมเลี้ยงดูจากที่บ้าน เราทุกคนเรียนรู้รูปแบบความสัมพันธ์โดยมีพื้นฐานมาจากการสังเกตคนในบ้าน เราสังเกตว่าคุณพ่อคุณแม่ปฏิบัติต่อกันอย่างไร ปฏิบัติต่อลูกอย่างไร เพราะฉะนั้นการปฏิบัติต่อกันในบ้าน ทำให้เด็กสร้างกรอบภาพความคิดขึ้นมาว่าการที่เราจะมีความสัมพันธ์กับใครสักคนเราควรปฏิบัติต่อกันอย่างไร ถ้าเด็กเจอความรุนแรงในบ้าน ไม่ว่าเป็นการกระทำ หรือการใช้วาจา แล้วนำมาซึ่งการได้รับในสิ่งที่ต้องการ เด็กก็จะเรียนรู้ว่าถ้าฉันมีความสัมพันธ์กับใครและอยากได้อะไรก็ตาม ฉันก็จะใช้ความรุนแรงเพื่อให้ได้สิ่งนั้นหรือมีความสัมพันธ์กับคนนั้นได้ จากสิ่งที่เกิดขึ้นภายในบ้านอาจพัฒนาเป็นพฤติกรรมกลั่นแกล้งรังแกที่นำไปใช้กับคนภายนอก เพื่อใช้ในการสร้างความสัมพันธ์หรือสร้างการยอมรับ

 

อ.หยก :

ในบางกรณี ครอบครัวอาจไม่ได้เป็นแหล่งกำเนิดความรุนแรง แต่บุคคลสามารถเรียนรู้ได้จากสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ เช่น โรงเรียน หรือในที่ทำงาน การเห็นว่าคนที่ bully คนอื่นได้รับการยอมรับจากสังคมจริง ๆ คือพอทำแล้วได้รับคำชื่นชม ว่าเป็นคนเก่ง คนกล้า กล้าพูดในสิ่งที่ฉันไม่กล้า เป็นต้น ตามทฤษฎีการเรียนรู้ทางสังคม ที่เห็นว่าผู้กระทำไม่ได้รับผลเสีย ไม่มีใครว่า ในทางตรงกันข้ามกลับได้รับผลดี จึงอยากทำตามเพื่อที่จะได้รับคำชมหรือถูกมองว่าเก่งเหมือนกัน

 

กลับไปที่ปัจจัยส่วนบุคคล การ bully คือพฤติกรรมก้าวร้าว ในความแตกต่างระหว่างบุคคล อาจมีบางคนที่มีแนวโน้มทำพฤติกรรมก้าวร้าวเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เมื่อมีความต้องการที่จะอยู่เหนือคนอื่น ก็ไม่รู้จะแสดงออกอย่างไร ก็จะทำพฤติกรรมก้าวร้าวใส่คนอื่นเพื่อให้ได้มาในสิ่งทีตนต้องการ

 

 

เราสามารถช่วยหรือป้องกันไม่ให้เกิดการ bully ได้อย่างไร


 

อ.หยก :

ในด้านจิตวิทยาสังคม การมีแหล่งสนับสนุนทางสังคม (social support) หรือการมีที่ปรึกษา มีคนรอบข้างที่เราสามารถไว้ใจบอกเล่าสิ่งที่เกิดขึ้นในและแต่ละวันได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแต่ละบ้านด้วยว่ามีการสื่อสารกันในลักษณะใด เด็กรู้สึกว่าบ้านเป็นพื้นที่ปลอดภัยหรือไม่ หากเรามีพื้นที่หรือบุคคลที่สามารถบอกเล่าสิ่งที่เกิดขึ้นได้ ก็จะเกิดการรับรู้ว่าเราไม่ได้เผชิญปัญหาตามลำพัง มีคนที่ช่วยกันคิดว่าจะหาทางออกอย่างไร ที่จะไม่เป็นการทำลายคนที่มารังแกเราด้วย พื้นฐานครอบครัวจึงเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยประคับประคองคนหนึ่งคนให้มีจิตใจที่แข็งแกร่งหากต้องเผชิญการรังแกทั้งทางร่างกาย วาจา สังคม หรือทางไซเบอร์ก็ตาม ให้บุคคลไม่รู้สึกโดดเดี่ยว มีที่พึ่ง มีคนปลอบใจ และมีคนที่ร่วมแก้ไขปัญหาไปด้วยกัน

 

อ.สาม :

การที่บุคคลรู้สึกว่าที่ผ่านมาตนถูกเลี้ยงดูมาโดยได้รับการปฏิบัติที่ดี ยังเป็นภูมิต้านทานให้กับบุคคลสามารถยืนหยัดในตนเองอีกด้วยว่า การรังแกที่ตนเผชิญอยู่นั้นเป็นสิ่งที่ตกไม่สมควรได้รับ ถ้าผู้ปกครองให้ความมั่นคงมั่นใจกับเด็กได้ ความรู้สึกตัวน้อย ความรู้สึกด้อย เมื่อถูกรังแกก็จะไม่เกิดผลกับเรา

 

อ. ฝน :

การเรียนรู้พฤติกรรมนั้นเกิดขึ้นได้สองทาง ทางแรกคือการสังเกตผ่านตัวแบบ (role model) ดังนั้นเมื่อมีปัญหาในความสัมพันธ์ พฤติกรรมที่แสดงออก คำพูด การจัดการปัญหาซึ่งกันและกันของคนในบ้าน เด็ก ๆ เขาก็จะสังเกต จดจำ และนำไปเป็นแบบอย่างที่จะนำไปปฏิบัติกับคนข้างนอก ดังนั้นหากเราต้องการเป็นส่วนหนึ่งที่จะลดการ bully อย่างแรกจึงต้องเริ่มที่ตัวเราก่อน ที่จะเป็นตัวแบบให้กับเด็ก ๆ ที่อยู่รอบข้าง
ทางที่สอง คือ การสอน การอธิบาย การได้คุยกัน การได้คุยกันในบ้านนอกจากทำให้เด็กรู้สึกมีที่พึ่งแล้ว ยังช่วยให้เขาเห็นถึงทางเลือกในการแสดงออกได้ด้วย ว่ามีทางอื่น ๆ ที่สามารถแสดงออกได้และไม่ต้องแก้ปัญหาด้วยการกลั่นแกล้ง หรือตอบสนองด้วยความรุนแรง

 

นอกจากนี้ การรังแกไม่ได้มีแค่ผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ ยังมีผู้เห็นเหตุการณ์ น้อง ๆ บางคนเมื่อพบเห็นการรังแกแล้วอาจจะรู้สึกไม่อยากเข้าไปยุ่ง เพราะกลัว ไม่แน่ใจว่าตนเองจะสามารถช่วยเหลือได้หรือไม่ หรือกล้วว่าคนรังแกจะหันมาหาตัวเองหรือไม่ มีงานวิจัยที่พบว่าถ้าเราสามารถทำให้คนรอบข้างหรือผู้เห็นเหตุการณ์พัฒนาขึ้นมาเป็นผู้ช่วยเหลือได้ ความชุกของการรังแกจะลดลง ทั้งนี้ ผู้ช่วยเหลือไม่ได้หมายถึงคนที่ไปเผชิญหน้ากับผู้กระทำเพื่อหยุดการรังแกเสมอไป ยังสามารถช่วยเหลือในมุมปลอบใจผู้ถูกกระทำก็ได้ ดังนั้นหากเราสามารถเป็นตัวแบบหรือสอนว่า เมื่อเราเป็นผู้เห็นเหตุการณ์ที่มีการรังแก เราควรทำอย่างไรเพื่อช่วยเพื่อน หรือช่วยให้ความรุนแรงลดลง

 

 

สำหรับคนที่โตแล้ว เรามีวิธีการดูแลใจเราหรือคนข้าง ๆ เราอย่างไร


 

อ.นุท :

ในคนต่างวัยเราจะมีวิธีการตอบสนองต่อเหตุการณ์ความรุนแรงต่างกัน สำหรับในคนที่โตแล้วที่สามารถตอบสนองต่อเหตุการณ์ได้ด้วยตนเองแล้ว หมายถึงมีพัฒนาการทางความคิดและการใช้ภาษาพอสมควรแล้ว การตอบสนองเพื่อหยุดวงจรความรุนแรงนั้นต้องเริ่มด้วยการระงับการกลั่นแกล้งรังแก ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก และต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน เพราะเพียงลำพังตัวบุคคลอาจไม่สามารถหยุดหรือระงับวงจรนี้ได้ ต้องมีการขยับเขยื้อนตั้งแต่ระดับบุคคล ไปจนระดับครอบครัว โรงเรียน และสังคมโดยรวม

 

ในระดับบุคคล ในเด็กโต ถ้าเราตอบสนองความรุนแรงด้วยความรุนแรง ถือเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่เหมาะสม เพราะเป็นการเพิ่มพูนปัญหา การตอบสนองที่เหมาะสมคือการยืนยันในความรู้สึกของเรา ว่าเราไม่ชอบ และต้องการให้เขาหยุดการกระทำ หรือถ้าเราสามารถหลีกเลี่ยงการพบเจอคนเหล่านี้ได้เราอาจใช้การถอยห่างออกจากสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษ โดยสรุปคือ หลักการพื้นฐานคือการตอบสนองโดยไม่ใช้อารมณ์ อย่างที่ยืนยันในสิทธิ์ของเราที่จะไม่ถูกคุกคาม ที่จะได้รับการให้เกียรติในฐานะที่เราเป็นบุคคลคนหนึ่ง

 

ถ้าเป็นนักศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย อาจจะตอบโต้ไปในในลักษณะของการบ่งบอกว่าเรารู้สึกอย่างไรในสิ่งที่เขาทำกับเรา และหากสิ่งนี้ยังเกิดขึ้นเราจะดำเนินการอย่างไร ตั้งแต่เบาไปหาหนัก และอาจไปถึงการดำเนินการทางกฎหมายได้เช่นกัน

 

หากเราหลีกหนีสถานการณ์โดยการยินยอมให้เขาทำ การแอบไปร้องไห้ โดยการไม่พูดกับใคร ไม่ทำอะไรเลย เช่นนี้คือการที่เรายอมจำนนต่อสถานการณ์ คนที่รังแกข่มเหงก็จะรู้สึกมีอำนาจมากชึ้น และไม่ได้รับผลทางลบอะไรเลย พฤติกรรมรังแกก็จะวนเวียนซ้ำ ๆ ดังนั้นเราต้อง assertive แล้วต้องไม่ aggressive และไม่ passive ด้วย จึงจะหยุดยั้งวงจรนั้นได้

 

ส่วนเด็กเล็กที่ยังไม่มีความสามารถในการต่อกร ต้องเริ่มจากคนใกล้ชิดเขาที่มีอำนาจ เช่นผู้ปกครอง โดยใช้วิธีการในการใส่ใจ ถามไถ่ความเป็นไปของเขาที่โรงเรียน เพราะไม่ใช่เด็กทุกคนที่เป็นนักเล่าเรื่อง เขาอาจไม่ช่างคุย หรืออยู่ในครอบครัวที่ไม่ได้มีสิ่งแวดล้อมที่เขารู้สึกปลอดภัยที่จะพูดคุยได้ ดังนั้นพ่อแม่ต้องเป็นคน active ที่จะเข้าหาพูดคุย ถ้าเป็นเด็กเล็กอาจจะถามว่า “เป็นยังไงบ้างลูก ที่โรงเรียนเป็นยังไง” และถามคำถามที่เจาะจงลงไป เช่น “มีอะไรที่ทำแล้วสนุกจังที่โรงเรียน มีอะไรที่ทำแล้วรู้สึกไม่ชอบบ้าง” “มีเพื่อนคนไหนที่ชอบคุย มีเพื่อนคนไหนบ้างมั้ยที่ไม่ชอบเล่นด้วย เพราะอะไร”

 

การพูดคุยเช่นนี้นอกจากเป็นการสร้างสัมพันธภาพระหว่างกันแล้ว ยังทำให้เราได้รู้เรื่องราวปัญหาที่เขาเผชิญและเข้าไปช่วยแก้ไขได้อย่างทันท่วงที จากนั้นถ้าลูกเปิดเผยในสิ่งที่ลูกเจอ เช่น บอกว่าไม่ชอบเล่นที่ถูกเพื่อนดึงผม มาจี้เอว พ่อแม่อาจจะชวนคุยว่าลูกทำอย่างไรต่อ เพื่อดูปฏิกิริยาในการตอบสนองเพื่อแก้ปัญหาของเขา และชวนคุยถึงแนวทางที่จะแก้ปัญหา เช่น การบอกเพื่อนให้หยุด การไปแจ้งคุณครู อย่างไรก็ตามในระหว่างการพูดคุย ก่อนที่จะให้แนวทางใด เราต้องตั้งใจฟังเขาก่อน อย่าเพิ่งไปพยายามแก้ปัญหา เพราะการที่เรารีบกระโจนเพื่อไปแก้ปัญหา อาจเป็นการที่เราไม่ได้ฟังเขาจริง ๆ เราจะต้องรับรู้และอยู่เคียงข้างความรู้สึกของเขาก่อน ที่เขารู้สึกโกรธเพื่อน น้องใจเพื่อน กลัว ไม่อยากไปโรงเรียน หรือความรู้สึกใดก็ตาม และไม่ไปพยายามวิจารณ์เขาว่าเป็นเพราะเขาทำอย่างนั้นเพื่อนจึงมาทำอย่างนี้ ไม่ว่าในสถานการณ์ใดก็ตาม ให้แสดงให้เขารับรู้ว่าเราเข้าใจเขา รับรู้ว่าเขารู้สึกอย่างไร

 

ทั้งนี้ไม่ใช่ทุกเรื่องที่เด็กมีปัญหากับเพื่อนแล้วผู้ใหญ่ต้องเข้าไปจัดการแทรกแซง เราต้องดูตามความเข้มข้นของสถานการณ์และความเข้มข้นของความรู้สึกเขาเขาว่ามันรบกวนการใช้ชีวิตในโรงเรียนหรือไม่ เช่น เด็กบางคนอาจไม่กล้าไปที่สนามเด็กเล่น หรือไปห้องน้ำ ไปในที่ลับตาคน เพราะเคยถูกรังแกที่นั่น ดังนั้นผู้ปกครองต้องใส่ใจ เข้าใจ และเทรกแซงเมื่อจำเป็น ซึ่งการแทรกแซงนั้นจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทางโรงเรียนด้วย ความใส่ใจของคุณครูเช่นกัน โดยคุณครูต้องทำหน้าที่ลักษณะเดียวกับพ่อแม่ด้วย คือการสอดส่องดูแล สังเกตไม่ให้การกลั่นแกล้งรังแกเกิดขึ้น และสามารถเข้าระงับเหตุได้ทันท่วงที โดยคุณครูต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กับเด็กด้วยที่เด็กจะสามารถเข้าหาและบอกปัญหาของตนได้

ทั้งนี้การที่ครูจะมีพฤติกรรมใส่ใจเด็กนักเรียนได้นั้น ก็มีผลมาจากนโยบายของโรงเรียนด้วย โรงเรียนต้องมีนโยบายในการต่อต้านการ bully ด้วย เช่นมีแคมเปญออกมาอย่างเป็นรูปธรรม ว่ามีพฤติกรรมอะไรบ้างที่ไม่อนุญาต ไม่เป็นที่ยอมรับในโรงเรียน และหากใครถูกกระทำสิ่งนั้นเด็กควรจะทำอย่างไร จะมีช่องทางในการเข้าหาคุณครูหรือมีช่องทางการได้รับความช่วยเหลืออย่างไรบ้าง สิ่งนี้จะต้องเป็นแคมเปญของทั้งโรงเรียน และอาจเป็นนโยบายในระดับชั้นด้วย ในชั้นเรียนคุณครูก็ต้องชี้แจงกฎเหล่านี้

 

และในระดับสังคม ก็ต้องช่วยกันสร้างการตระหนักรู้ถึงโทษหรือผลกระทบทางลบเกินกว่าจะคาดหมายของการ bully ด้วย ว่าการ bully นั้นสามารถฆ่าคนให้ตายได้ และได้ฆ่าหลาย ๆ คนให้ตายมาแล้ว

 

ในปัจจุบันที่ปัญหาการ bully ได้รับการตระหนักจากสังคมมากขึ้น ก็ทำให้คนหลาย ๆ คนย้อนกลับไประลึกถึงสิ่งที่เคยทำในวัยเด็ก ซึ่งเมื่อสิบกว่าปีก่อน การ bully เป็นเรื่องที่ไม่ได้ถูกพูดถึง ไม่ได้ทำให้คนในสังคมรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องผิดปกติ เป็นเรื่องที่ไม่ได้รับการยอมรับ แต่ทุกวันนี้สังคมมองว่าการ bully เป็นปัญหา ทั้งต่อระดับสังคมและต่อสุขภาพจิตในขั้นรุนแรงของบุคคล ซึ่งตรงนี้เองที่จะเป็นการช่วยกันเขยื้อนสังคมในระดับใหญ่ได้

 

 

การปรับพฤติกรรมของผู้ bully ทำได้อย่างไร


 

อ.นุท :

คนที่ bully เองก็ต้องการความช่วยเหลือเช่นกัน เป็นวิธีการเดียวกันเลย คือคุณพ่อคุณแม่เมื่อรู้ว่าลูกข่มเหงรังแกผู้อื่น นั่นก็เป็นสัญญาณให้ทราบว่าลูกอาจจะมีสภาวะความยากลำบากในทางจิตใจที่ต้องการรับฟังการช่วยเหลือเพื่อให้คลี่คลายปัญหาได้ถูกจุด รวมถึงการที่ครูควรจะต้องมีช่องทางในการช่วยเหลือ ต้องเห็นความสำคัญของการที่เด็กคนหนึ่งกล้าที่จะบอกคุณครูในเรื่องที่เขาต้องใช้ความกล้าหาญอย่างมาก ในการจะเข้าหาบอกเรื่องอะไรสักอย่างหนึ่ง ไม่มองว่าเป็นแค่เรื่องเด็กทะเลาะกัน เดี๋ยวก็ดีกัน และตอบสนองอย่างจริงจัง ไม่มองเป็นเรื่องเล่น ๆ เห็นเป็นเรื่องเล็ก ๆ

 

และในโรงเรียนอาจมีผู้ให้การปรึกษาทางจิตวิทยาในโรงเรียน (school counsellor) ในการช่วยเหลือทั้งบุคคลที่ถูกรังแกและบุคคลที่รังแกผู้อื่น ในการปรับวิธีการคิด และการทำความเข้าใจความแตกต่างระหว่างบุคคล เพราะการ bully เรามักจะ bully คนที่อ่อนด้อยกว่าเรา หรือคนที่มีลักษณะแตกต่างจากเรา ไม่ fit in ในสังคม ในโรงเรียน เช่น เรื่องรูปลักษณ์ วัย อายุ เพศสภาพ เชื้อชาติ ศาสนา อะไรก็ตามที่เป็นความแตกต่างจากคนส่วนใหญ่ ผู้ที่แตกต่างมักจะถูกพูดถึงในเชิงของการ make fun การทำให้ตลกขบขัน ทำให้อับอาย ดังนั้นการสร้างความตระหนักรู้ว่าความแตกต่างเป็นเรื่องปกติ ส่วนการไม่ยอมรับ หรือการไป bully หรือ make fun ต่างหากคือเรื่องไม่ปกติ จึงเป็นสิ่งสำคัญ

เราจำเป็นต้องทำให้เกิดการตระหนักรู้ในทุกภาคส่วน ทั้งในระดับสังคม ในระดับโรงเรียน และการปลูกฝังในระดับครอบครัวด้วย

 

อ.ฝน :

เมื่อมองจากภายนอก เราอาจมองว่าผู้กระทำการ bully เป็นผู้ได้รับประโยชน์ เขาน่าจะได้รับในสิ่งที่เขาอยากได้ แต่ในงานวิจัยพบว่าในฝั่งผู้กระทำเองก็ไม่ได้รู้สึกดีเสมอไป เขาอาจมีสภาวะทางจิตที่ไม่ได้ดีเช่นกัน เนื่องจากบางครั้งการที่เขาเลือกแสดงออกด้วยพฤติกรรมความรุนแรงหรือการกลั่นแกล้งรังแกนั่นอาจเป็นเพราะเขาเกิดการรับรู้มาก่อนแล้วก็ได้ว่าเขาไม่ได้รับการยอมรับ เขาอาจทำพฤติกรรมอะไรก็ตามแล้วยังไม่มีเพื่อน ไม่ว่าจะทำอย่างไรก็ไม่สำเร็จ สุดท้ายกลายเป็นว่าพฤติกรรมนี้ทำแล้วสำเร็จ เหมือนว่าความรุนแรงเป็นทางเลือกสุดท้ายของเด็กคนนั้นเพื่อให้เขาได้อยู่ในกลุ่มสังคมหรือให้เขาได้รับในสิ่งที่ต้องการ

 

ดังนั้น ไม่เพียงแค่พ่อแม่ แต่ยังต้องรวมถึงบริบททางสังคม คุณครูในโรงเรียน ที่ต้องเปิดใจรับฟังเวลาที่เด็กเขามาคุย หรือถ้าเด็กไม่ยอมเข้ามาคุย หรือไม่รู้จะเล่าให้ฟังอย่างไร พ่อแม่และคุณครูก็ต้องคอยสังเกตเด็ก ๆ ถึงพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น จากที่เคยเล่น ก็ไม่เล่น เริ่มเก็บตัว ไม่เล่าถึงเพื่อนไม่พูดถึงเรื่องที่เกิดขึ้นที่โรงเรียน ไม่ทำการบ้าน และไม่ทำกิจกรรมใดที่เกี่ยวข้องกับโรงเรียน จนถึงการปฏิเสธการไปโรงเรียน

การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเหล่านี้นอกจากเป็นสัญญาณของผู้ถูกกระทำแล้ว ตัวผู้กระทำเองก็มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในลักษณะนี้เช่นกัน เด็กบางคนเริ่มจากการเก็บตัว แยกตัว ไม่มีเพื่อน ไม่เข้ากิจกรรมทางสังคม และพัฒนาไปสู่พฤติกรรมความรุนแรง เพื่อให้สามารถสร้างกลุ่มและอยู่ในกลุ่มเพื่อนได้

 

เมื่อพบเห็นสัญญาณเหล่านี้ผู้ใหญ่ก็สามารถที่จะเริ่มเข้าไปแทรกแซงหรือถามไถ่เพื่อให้เกิดการพูดคุย ให้เขารู้สึกได้ว่าเขามีที่พึ่ง เขาไม่ได้ต้องแก้ปัญหาด้วยตนเองเพียงคนเดียว

 

 

เราสามารถส่งเสริมความเข้าใจในความแตกต่างหลากหลายเพื่อลดการแบ่งแยกที่จะนำไปสู่การกลั่นแกล้งรังแกได้อย่างไร


 

อ.หยก :

การแบ่งพรรคแบ่งพวก เป็นพวกเขาพวกเรานั้นถือเป็นธรรมชาติของมนุษย์ ใครที่เหมือนกับเราเราก็จะรู้สึกอยากเป็นเพื่อนด้วย ส่วนใครที่ไม่เหมือนเราเราก็จะมองว่าเขาต่าง เขาเบี่ยงเบน เขาไม่ปกติหรือเปล่า อันนี้เป็นพื้นฐานธรรมชาติของเรา และในสังคมไทย เราจะมีลักษณะยึดโยงที่จะทำอะไรตามเสียงของคนส่วนใหญ่ หากคนหมู่มากทำอะไรก็จะมองว่าเป็นสิ่งที่ดี เป็นบรรทัดฐานของสังคม พอใครทำสิ่งที่ต่างจากบรรทัดฐานของสังคม บางทีก็จะใช้คำว่าเบี่ยงเบน ใช้คำว่าผิดปกติ และมองด้วยสายตาแปลก ๆ ซึ่งค่านิยมเหล่านี้ก็ฝังรากลึกในสังคมของเราเหมือนกัน ดังนั้นคนที่มีลักษณะแตกต่าง หรือมีลักษณะพิเศษ จึงมักตกเป็นเหยื่อหรือเป็นเป้าหมายการ bully ได้

 

ดังนั้นถามว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้คนเข้าในถึงความหลากหลายในสังคม ให้พูดนั้นพูดง่าย แต่เราก็ต้องฝึก ฝึกให้เข้าใจความหลากหลาย ตั้งแต่เล็ก ๆ เลย ว่าเราทุกคนสามารถเกิดมาแล้วมีวิธีคิด มีรูปลักษณ์ที่แตกต่างกันได้ มีบุคลิกภาพไม่เหมือนกับเราได้ ไม่จำเป็นว่าเราจะต้องเหมือนกันทุกคน ทุกอย่าง การฝึกนี้ก็ต้องได้รับการสนับสนุนจากคนในสังคมด้วย เวลาเห็นอะไรที่แตกต่างเราก็ต้องไม่ไปตีตราว่าสิ่งนั้นไม่ดีตั้งแต่แรก เราอาจจะต้องทำความเข้าใจ ปรับเป็นสังคมที่เปิดใจ ยอมรับความแตกต่างหลากหลาย โดยเฉพาะความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรม ซึ่งจริง ๆ ในสังคมไทยก็เปิดรับวัฒนธรรมที่หลากหลายเข้ามาในสังคมค่อนข้างมาก เราเปิดใจง่าย ละคร เพลง เรารับมาทั้งหมด ไม่มีการเหยียด แต่พอเป็นลักษณะของการเป็นเพื่อน เราจะเริ่มคิดเยอะ พอมันเริ่มใกล้ตัวเรามากขึ้น เพราะเราไม่ค่อยมีประสบการณ์ตรงกับการทำความรู้จักหรือมีปฏิสัมพันธ์กับคนที่มีความแตกต่างหลากหลายกับเราจริง ๆ บางทีเราเจอคนที่แตกต่างจากเรา เราหนีไปเลย เราเลือกที่จะไม่เป็นเพื่อน ไม่คุย หรือพอเจอคนที่คิดต่าง เราเลือกที่จะไม่เถียง เพราะบางทีเราไม่ได้ถูกฝึกมาให้โต้แย้งกันทางความคิด แต่เรากลายเป็นโต้เถียงกันระหว่างบุคคล

 

เพราะฉะนั้นก็ต้องมานึกย้อนเหมือนกันว่าจะทำอย่างไรดีให้สังคมของเราเป็นสังคมที่มีการยอมรับในความแตกต่างหลากหลายให้มากขึ้นกว่านี้ มันไม่ใช่แค่พ่อแม่ผู้ปกครอง แต่ทุกคนในสังคมจะต้องเปิดใจให้มากขึ้น บางทีเราก็ต้องย้อนถามตัวเองเหมือนกันว่าเคยหรือเปล่า ที่ไป bully คนอื่นเพราะแค่ว่าเขาไม่เหมือนเรา บางทีเราก็เผลอ เพราะโดยพื้นฐานธรรมชาติที่เราชอบแบ่งพรรคแบ่งพวก แล้วเราก็คุ้นชินว่าสิ่งนี้มันทำได้ และเราก็ไม่เคยฝึกฝนตัวเองให้เปิดใจรับความแตกต่างหลากหลายเข้ามาในประสบการณ์ของเราเลย

 

และสังคมไทย ในภาษาจิตวิทยาเรียกว่า เป็นสังคมที่มีความกลมกลืน กลมเกลียว มีความคล้ายคลึงกันสูง ขณะที่ในสังคมตะวันตกบางประเทศ เขามีความแตกต่างหลากหลายของผู้คนเต็มไปหมด เขาได้รับการฝึกให้เรียนรู้ถึงความแตกต่างหลากหลายตั้งแต่เด็ก ๆ เลย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา ส่วนในสังคมไทยก็จะเจอว่าคนจะคล้ายๆ กัน มีวิธีคิด หรือตีกรอบให้คล้ายๆ กันเพราะไม่อยากเป็นแกะดำ หรือกลัวว่าคนอื่นจะมองไม่ดี ซึ่งเป็นค่านิยมที่ปลูกฝังกันเช่นนี้กันมานานแล้ว เพราะฉะนั้นบางทีก็ต้องรณรงค์ให้ทุกคนตระหนักว่าความแตกต่างหลากหลายเป็นเรื่องปกติ แม้แต่ตัวเราเองเมื่อเจอคนที่แตกต่างหรือคิดต่างจากเรา อย่าเพิ่งชวนทะเลาะ ให้คิดว่าเขาก็คิดแบบนี้ได้เหมือนกัน เราเองก็ไม่ได้คิดอย่างที่เขาคิด แล้วเรามาคุยกันด้วยเหตุผล คุยกันบนพื้นฐานของการโต้แย้งในทางสร้างสรรค์ และไม่เอาอารมณ์ส่วนบุคคลเข้ามาเกี่ยวข้อง

 

ถ้าสังคมเราสามารถทำความเข้าใจในระดับผู้ใหญ่ที่มีวุฒิภาวะแล้ว ก็เป็นต้นแบบให้กับเด็ก ๆ ได้ เด็ก ๆ จะสังเกตพฤติกรรม ดูปฏิสัมพันธ์ของคนในครอบครัว ของครูในโรงเรียน เช่น เวลามีครูต่างชาติเข้ามาแล้วมีการพูดจา มีการแซวกันมั้ย เพราะคนเราก็ไม่ได้เกิดมาแล้วเรียนรู้ที่จะแซวกันเลย เราต้องเห็นตัวอย่างจากคนอื่นทำมาก่อนถึงได้ทำตาม เพราะฉะนั้นเราต้องฝึกให้ทุกคนเปิดใจ เบื้องต้นเลยคือยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลายก่อน เพราะบางทีเราก็ไปกลั่นแกล้งคนที่คิดเห็นไม่เหมือนเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกโซเชียล เวลาเจอคนที่มีความคิดขัดแย้งกับเรา เราก็ตามไปถากถาง ตามไปล่าแม่มดกันเต็มไปหมด นี่ก็เป็นการกลั่นแกล้งทางวาจาบนพื้นฐานของการไม่ลงรอยกันทางความคิด ถ้าเราทำให้ทุกคนรู้สึกว่าความหลากหลายเป็นเรื่องปกติ ก็เชื่อว่าการข่มเหงรังแกกันก็จะลดลง แต่ก็ต้องช่วยกันทุกคน ตัวเราเองก็ต้องระงับให้ได้ คิดให้ได้ว่าสิ่งนี้ไม่ควรจะเกิดขึ้น และสิ่งที่ควรจะเป็นคืออะไร ทั้งนี้บางทีในสังคมไทยเราก็ไม่ได้มีต้นแบบว่าเวลาเจอเหตุการณ์แบบนี้ให้ทำอย่างไร บางทีเราก็จะพูดกันว่าให้เดินหนีไปเลย เราไม่รู้ว่ามีทางออกไหนเวลาเจอคนที่ไม่เหมือนเรา คิดต่างจากเรา เราไม่ได้ถูกฝึกมา จึงเป็นสิ่งที่ต้องฝากหลาย ๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะหน่วยงานในระบบการศึกษา และหน่วยงานที่เกี่ยวกับครอบครัว ให้ช่วยกันปลูกฝังเรื่องเหล่านี้ เปิดใจให้กว้างกับความแตกต่างหลากหลาย และมีวิธีที่จะระงับอารมณ์ตนเอง

 

 

แชร์คอนเท็นต์นี้