ถอดความ PSY Talk เรื่อง Pride Month กับมุมมองทางจิตวิทยา

03 Jul 2023

บริการวิชาการ

 

การเสวนาทางจิตวิทยา (PSY Talk) เรื่อง

Pride Month กับมุมมองทางจิตวิทยา

 

โดยวิทยากร
  • พ.อุเทน บุญอรณะ (หมอแพท)
    อายุรแพทย์ด้านประสาทวิทยา, นักเขียนนามปากกา “รังสิมันต์”, เจ้าของเพจ “หมอตุ๊ด”
  • อาจารย์ภาณุ สหัสสานนท์ (อ.แฮม)
    ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาการปรึกษา
  • คุณภิรญา ธีระโชติกรกุล (คุณเฟิร์น)
    Co-Founder นฤมิตไพรด์ ผู้จัดงาน Bangkok Pride 2023

 

วิทยากรและผู้ดำเนินรายการ
  • ผศ. ดร.หยกฟ้า อิศรานนท์ (อ.หยก)
    ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาสังคมและการสื่อสาร

 

วันพฤหัสบดีที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2566 เวลา 13.30 – 14.30 น.

 

 

รับชม LIVE ย้อนหลังได้ที่
https://www.facebook.com/CUPsychBooks/videos/935451114415077/

 

 

 

 

การจัดงาน Pride month ส่งผลต่อการรับรู้ของคนในสังคมอย่างไรบ้าง


 

คุณภิรญา

แบ่งออกเป็น 2 มุม ด้านหนึ่งคือการรับรู้ในแง่ของการ celebrate การเป็นสีสัน เห็นภาพของ community ที่ไม่ได้เป็นส่วนน้อยในสังคมไทย ความแข็งแรงของ community ส่วนด้านที่สอง ด้วยตัว pride parade เอง ในทุก ๆ ขบวนมันมีพื้นฐานจาก community อยู่แล้ว มีองค์กรต่าง ๆ ไม่ว่าจะ NGO CSO ที่ทำงานขับเคลื่อน เรียกร้องประเด็นทางกฎหมายและสิทธิต่าง ๆ อยู่แล้ว ดังนั้นมันก็ถูกสอดแทรกประเด็นต่าง ๆ อยู่เหมือนกัน

 

Pride parade ในประเทศไทยค่อนข้างเป็นเรื่องใหม่มาก ๆ ปีที่แล้วเป็นปีแรกที่กรุงเทพมหานครจัด ก่อนหน้านี้ก็มี pride parade เหมือนกัน แต่จะเป็น gay pride คือค่อนข้างเฉพาะกลุ่ม ดังนั้น Pride parade ที่เป็น LGBTQ+ เลย ปีที่แล้วเป็นปีแรก ซึ่งก็เกิดการรับรู้ตื่นตัวประมาณหนึ่ง ด้วยสถานการณ์บ้านเมืองด้วย ปีที่แล้วเป็นปีที่เราได้ผู้ว่ากรุงเทพมหานครคนใหม่ มีการเปิดนโยบายต่าง ๆ ที่มีการเปิดกว้างมากขึ้น คนก็รับรู้ไปแล้วส่วนหนึ่ง มาคราวนี้ รอบที่สองมันเชื่อมโยงกับการเมืองระดับประเทศ เป็นยุคเปลี่ยนผ่าน ภาพมันก็เลยกว้างขึ้น คนรับรู้มากขึ้น ถามว่าแต่ละคนรับรู้มากน้อยขนาดไหน เข้าใจลึกซึ้งขนาดไหน ก็คงจะต่างกัน แต่ถามว่ารับรู้มากขึ้นมั้ย เฟิร์นมองว่ามันเป็นภาพที่ใหญ่มาก ๆ ว่ามันมีสิ่งนี้เกิดขึ้น

 

อ.หยกฟ้า

ปีนี้ออกข่าวแทบทุกช่องเลย สมัยก่อนยังรู้สึกว่าเป็นกลุ่มเล็ก ๆ กลุ่มเฉพาะ กลุ่มวัยรุ่น ผู้ใหญ่ตอนต้น วัยทำงาน ที่มีความสนใจการขับเคลื่อนทางสังคม แต่ปีนี้ ประเด็นเหล่านี้มันเข้าไปอยู่ในความคิดของคนในสังคม คุณปู่คุณย่าคุณตาคุณยายก็ได้รับรู้ว่ามันมีอะไรแบบนี้ เด็กเล็ก ๆ ก็รับรู้ด้วย

 

หมอแพท

จากการสังเกต เรื่อง LGBTQIAN+ ก่อนหน้านี้เรารู้จัก ทุกคนรู้จัก แต่ด้วยตัว pride parade ที่ทำกิจกรรมในสองปีที่ผ่านมา เราเปลี่ยนจากการรู้จักเป็นการรับรู้ เรารับรู้มากขึ้นว่าจริง ๆ แล้วเพื่อนของเรา มีใครบ้าง เป็นอย่างไร เขายังขาดมิติใด ๆ ในเรื่องความเท่าเทียมบ้าง ตั้งแต่ปีที่แล้วจนถึงปีนี้ pride parade เป็นตัวที่ช่วยรณรงค์แคมเปญต่าง ๆ มันค่อย ๆ เปลี่ยนจากรู้จักเป็นรับรู้มากขึ้น คิดว่าปีถัด ๆ ไปก็จะรับรู้มากขึ้นเรื่อย ๆ

 

เราพูดกันถึงในมุมใหญ่ ๆ ไปแล้ว มาลองดูในมุมเล็ก ๆ บ้าง แพทมองในมุมของความเหงา เด็กบางคนก็เกิดมารู้ตัวว่าตัวเองเป็น LGBTQ+ สิ่งแรกที่ทุกคนรู้สึกคือ รู้สึกเหงา มนุษย์เราไม่ได้ต้องการเพียงปัจจัยสี่ เรายังต้องการปัจจัยห้าด้วย คือการ connect การเชื่อมโยง คือตัว pride parade เป็นตัวที่ต่อให้เราไม่ได้ไปเข้าร่วม แต่พอเราได้เห็น เราได้รับรู้ว่ามันมีความหลากหลายอยู่ เราจะรู้สึก connect กับคอมมู เมื่อเรารู้สึกว่าเราเชื่อมโยง ความเหงาจะหายไป

 

ถ้ามองในแง่ของบุคคลเล็ก ๆ พูดถึงใจของแต่ละคน ตัวเด็กหรือคนทุกวัยก็ตาม พอได้เห็นอันนี้มันจะช่วยให้เขา connect กับคอมมูได้ และรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้เหงา ไม่ได้ถูก disconnect ไป

 

อ.หยกฟ้า

ตรงนี้น่าสนใจมาก ว่าถึงแม้เราจะไม่ได้ไปเดินขบวน แต่การมีงาน มีการให้ความสำคัญกับตรงนี้ เราก็ได้เห็นว่ามีคนที่เหมือนเราอยู่เต็มไปหมดเลย ทำให้เรารู้สึกว่าเราไม่ได้ถูกกีดกันออกมา ไม่ได้โดดเดี่ยว โดยเฉพาะเด็กที่อาจจะเพิ่งรู้จักตนเอง เขายังอยู่ในวัยที่ต้องการคนมาซัพพอร์ต ให้กำลังใจ หรือวางรากฐานวิธีคิดว่าควรจะต้องทำอย่างไรต่อไป

 

หมอแพท

ใช่ครับ อย่างน้อยทำให้เรารู้สึกว่าไม่ได้เป็นตัวคนเดียวในโลกนี้ สำหรับเด็กที่เกิดมาแล้วรู้สึกว่า ฉันไม่ได้เป็นผู้ชาย ไม่ได้เป็นผู้หญิง ไม่ได้เป็น straight อารมณ์แรกเลยคือจะรู้สึก disconnect แน่ ๆ ตรงนี้ก็จะช่วยเชื่อมโยงเขากับโลกของเขาที่เขาอาจจะไม่รู้มาก่อนว่ามี

 

คุณภิรญา

ขอเสริมว่านอกจากเด็กแล้ว ขอแชร์เรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงตั้งแต่ปีที่แล้ว อีกกลุ่มหนึ่งที่เห็นภาพชัดเลย คือกลุ่มผู้สูงวัย เรามีผู้สูงวัยในประเทศไทยที่เป็น LGBTQ+ เยอะมาก เขาค้นพบตัวเองแล้วว่าเขาเป็น แต่ว่าในยุคของเขามันไม่ได้มีการเปิดกว้าง ไม่มี community ที่มีการเห็นภาพชัดว่ามีการ connect กันได้ขนาดนี้

 

ตั้งแต่ปีที่แล้วที่จัดงานเราได้รับ inbox เข้ามาเยอะมาก เขาถ่ายรูปคู่กัน บอกว่า ป้าเป็นเลสเบียนนะ อยู่ด้วยกันมา 30 ปีแล้ว รู้สึกว่างานวันนี้ดีมากเลย ป้าไม่ได้โดดเดี่ยว มีเพื่อน

 

เหมือนว่าเมื่อได้เข้าไปอยู่ในพื้นที่นั้นแล้วคนอื่น ๆ ก็เป็นเหมือนฉันเหมือนกัน ฉันไม่ได้โดดเดี่ยวใน 60 ปีที่ฉันใช้ชีวิตมา มีอะไรแบบนี้เยอะมาก จึงเห็นด้วยกับหมอแพทในเรื่องการ connect ซึ่งนอกจากเด็กที่กำลังค้นหาตัวตน คนที่ค้นหาแล้ว เป็นอีก generation หนึ่ง ที่เขาอาจจะโดดเดี่ยวมาสักพักหนึ่งแล้ว ก็ได้ connect กับ community เหมือนกัน

 

อ.ภาณุ

แฮมว่านอกจากการ connect ของคนที่มีลักษณะเหมือนกัน มันคือการ connect กับเครือข่าย คือมีองค์กรหลายองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการซัพพอร์ตกลุ่ม LGBTQ+ การที่เราได้เข้าไปรู้จักภาคีเครือข่ายเหล่านี้ ก็เป็นการที่เราได้เชื่อมโยงกับองค์กรที่ให้การสนับสนุนหรือช่วยเหลือมากยิ่งขึ้น

 

นอกจากนี้ ในฐานะนักจิตวิทยาการปรึกษา แฮมมองว่า LGBTQIAN+ ที่ชื่อยาวมากนี้ มันมีความหลากหลายอยู่แล้วในตัวเอง ดังนั้นงาน pride ที่นอกจากจะเป็นการเฉลิมเฉลองแล้ว การเป็น LGBTQ+ นั้นเรายังมีความรู้สึกกลัวการถูกประเมิน การถูกตัดสินจากสังคมหรือคนรอบข้าง หรือกระทั่งตัวเราเอง ดังนั้นงาน pride เป็นงานหนึ่งที่บางทีคนหลายคนใช้พื้นที่นี้ในการเสี่ยงหรือการทดลองดูว่า ถ้าเขามีรสนิยมความชอบแบบนี้ ตัวเขาเป็นแบบนี้ เขาจะสามารถได้รับการยอมรับได้มากน้อยแค่ไหน

 

แฮมได้มีโอกาสสัมภาษณ์เพื่อนแฮมที่ไปร่วมงาน pride ปีที่แล้ว และขออนุญาตนำมาแชร์ให้ฟัง เขาบอกว่าเขาอยู่ในกลุ่ม LGBTQ+ แต่ก็มีความชอบบางอย่างที่เฉพาะเจาะจง และเขาไม่รู้ว่าสิ่งที่เขาชอบแบบนี้นั้นจะถูกตัดสิน ประเมินแค่ไหน เมื่อมีงาน pride เขาก็คิดวางแผนเลยว่าจะแต่งตัวอย่างไร ไปเดินที่ไหน และถ้าแต่งตัวแล้วมันไม่โอเค เขาจะไปเปลี่ยนชุดกลับที่ไหน อย่างไร และเมื่อเขาไปเดิน เขาก็พบว่าการที่เขาได้เปิดเผยบางอย่างที่เป็นตัวตนของเขาที่เฉพาะเจาะจงนั้น เขาได้รับการยอมรับ ถูก respect เขารู้สึกว่าเขาเป็นแบบนี้ได้ มันไม่ผิด มันเปิดกว้าง มันเสรีมากขึ้น เขารู้สึกว่ามันเป็นการ unlock ตัวเขา เกิดการเปลี่ยนแปลงข้างในตัวเองของเขาเยอะมากเลย ดังนั้นงาน pride จึงเป็นพื้นที่ที่ผู้คนหลากหลายได้มีโอกาสมาสำรวจหรือรู้จักตัวเองมากขึ้น จิตวิทยาที่นี่มองว่า self หรือตัวเรา มีลักษณะเหมือนฟองน้ำพรุน ๆ ที่มีการแลกเปลี่ยนทุกอย่างตลอดเวลา คนที่มาเดินขบวน หรือคนที่มาแค่โบกธงเฉย ๆ การที่เขาได้เห็นงาน pride ได้เห็นคนที่เป็นตัวของตัวเองเต็มที่ แม้ตัวเขาเองจะยังไม่พร้อม แต่เขาก็จะได้รับสาร รับสิ่งต่าง ๆ ไป ถึงจังหวะหนึ่งจุดหนึ่งเขาอาจจะกล้าเปิดเผยหรือยอมรับตัวเองได้มากขึ้น แต่ละคนมีกระบวนการในการยอมรับตนเองต่างกัน แต่งาน pride เป็นพื้นที่หนึ่งที่สามารถให้เราได้ลองมารู้จักและยอมรับตัวเองได้มากขึ้นได้

 

อ.หยกฟ้า

เวลาเราถามว่างาน pride ส่งผลต่อการรับรู้ของคนในสังคมอย่างไร เรามักจะมองในแง่ว่าคนนอก หรือ outsider จะมองอย่างไร แต่คนใน คนที่เป็นกลุ่ม LGBTQ+ มองตนเองอย่างไร หรือมีโอกาสได้สำรวจตัวเองอย่างไร ซึ่งงาน pride ก็ได้กลายเป็นพื้นที่ปลอดภัยของคนที่จะกล้าเสี่ยงที่จะทำอะไรบางอย่างเพื่อสำรวจตัวเองโดยไม่กลัวคำตัดสินหรือการประเมิน เพราะวันนี้เป็นเหมือนวันที่ฉันสามารถทำอะไรบางอย่างได้ ไม่มีใครมาว่าฉัน

 

 

การเคลื่อนไหวที่จะมี สมรสเท่าเทียม หรือ พ.ร.บ.คู่ชีวิต ส่งผลต่อการยอมรับของคนในสังคมมากขึ้นด้วยหรือไม่


 

คุณภิรญา

ตอนนี้มันค้างอยู่ในสภาสองอัน แต่เสียงประชาชนส่วนใหญ่ก็คือเอาสมรสเท่าเทียม ไม่เอา พ.ร.บ.คู่ชีวิต เพราะจริง ๆ ต้องชี้แจ้งอย่างนี้ว่า ในส่วนของพ.ร.บ.คู่ชีวิตนั้นมันเป็นการกดทับอีกครั้งหนึ่งด้วยซ้ำ เป็นการกดขี่ในรูปแบบของกฎหมาย เพราะฉะนั้น 1. ยืนยันว่าเอาสมรสเท่าเทียม 2. ถ้าสมมติว่าสมรสเท่าเทียมไม่ผ่าน ต้องบอกก่อนว่าที่อยู่ในสภาตอนนี้เป็นร่างของพรรคก้าวไกล ซึ่งถ้าสมมติว่าไม่ผ่านก็มีอีกร่างหนึ่งที่เป็นร่างของภาคประชาชน ที่ก่อนหน้านี้มีการล่ารายชื่อ มีรายชื่อแล้วประมาณสามแสนหกหมื่นรายชื่อ ถ้าร่างนั้นไม่ผ่านหรือมีอะไรก็แล้วแต่ ร่างของภาคประชาชนที่ถ้าเทียบกันจริง ๆ แล้ว มีความก้าวหน้าของร่างของพรรคก้าวไกลอยู่เล็กน้อย ตัวนั้นจะถูกส่งเข้าสภาไปเช่นกัน ตอนนี้มีทีมที่ดำเนินการเรื่องนี้อยู่

 

ส่วนที่ว่ามันผ่านแล้ว การรับรู้ของสังคมมันจะเปลี่ยนไปอย่างไร ต้องบอกว่าสำหรับคนที่ไม่เข้าใจหรือต่อต้าน เขาก็คงจะช็อค เฟิร์นมองว่าถ้ามันมีสมรสเท่าเทียมเกิดขึ้นมันก็ไม่ได้มีอะไรพิเศษ มันก็ไม่ได้ต่างกับชายหญิงที่จดทะเบียนสมรสกัน ไม่ได้เป็นสิทธิพิเศษที่เพิ่มขึ้น เพียงแต่ทำให้คู่รักที่ถูกลิดรอนสิทธิ มีสิทธิเท่ากับคู่รักชายหญิงเท่านั้นเอง ถ้าถามว่าจะทำให้มีการเปิดกว้างขึ้นมั้ย ก็คงทำให้สังคมมีความเข้าใจมากขึ้น พอมันมีตัวกฎหมายมายืนยันว่ามันเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายนะ มันไม่ได้ผิด มันก็อาจจะยืนยันได้ว่าสิ่งนี้สามารถทำได้นะ และหากมองถึงในอนาคต เฟิร์นมองว่าถ้าเรามีสมรสเท่าเทียมแล้ว มันก็จะมีกฎหมายอื่น ๆ ที่ ณ ตอนนี้กำลังเรียกร้องอยู่เพิ่มเติมเข้าไปอีก ถ้าต้องการให้สังคมไทยก้าวหน้าจริง ๆ เทียบเท่าต่างประเทศ ไม่ว่าเป็นเรื่องการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศ การเรียกคำนำหน้า การยกเลิกการปราบปรามการค้าประเวณี อะไรเหล่านี้ มันยังมีกฎหมายอีกเยอะมากที่จะต้องเรียกร้องกันต่อไป ก็คิดว่าถ้าสมรสเท่าเทียมผ่าน การรับรู้ของคนในสังคมก็คงจะเปิดกว้างมากขึ้น และเป็นสิ่งที่ยืนยันว่า ณ วันนี้ ความรักของฉันมันไม่ผิด ไม่เป็นสิ่งที่ใครมาตีตราได้ว่ามันผิดหรือแปลกประหลาด

 

หมอแพท

ขอแยกเป็น 2 ส่วน ตอนนี้มันมี พ.ร.บ.คู่ชีวิตกับสมรสเท่าเทียม ก็อย่างที่คุณเฟิร์นบอก พ.ร.บ.คู่ชีวิตจัดเป็นพ.ร.บ.แบบขอไปที อยากมีหรือ ฉันมีให้ก็ได้ แต่ฉันมีให้แค่นี้เท่านั้นนะ จึงเป็นการกดขี่อยู่ เนื่องจากว่าทำงานด้านนี้มาพอสมควร คือแพทเป็นคนที่ออกมาเรียกร้องว่า เลิกใช้คำว่า นายแพทย์ กับ แพทย์หญิง แต่ให้ใช้คำว่า พ. คือ แพทย์ คำเดียวก็พอ อย่างอเมริกาเขาก็ใช้คำว่า M.D. ต่อท้ายเฉย ๆ เลย ลองนึกภาพว่ามีคุณหมอที่เป็นทรานส์ เขายังต้องมีคำว่า นายแพทย์นำหน้าอยู่หรือ เวลาคนไข้จะมารักษากับเขา ไปเสิร์ชชื่อแล้วเห็นว่าเป็นนายแพทย์แต่พอมาเจอเป็นผู้หญิง เขาก็จะรู้สึกตะขิดตะขวงใจ ดังนั้นนอกจากเรื่องสมรสเท่าเทียมมันยังมีเรื่องอื่น ๆ อีกมาก

 

ในระยะสั้น ถ้าเรื่องสมรสเท่าเทียมมันผ่านได้แล้วจริง ๆ แพทมองว่าการรับรู้ของสังคมในระยะสั้นจะไม่ได้เปิดกว้างมากขึ้น แต่มันจะชัดเจนขึ้น คนที่สนับสนุนก็จะสนับสนุนได้เยอะขึ้น ยกตัวอย่างที่ใกล้ตัว เช่น บริษัทประกัน การสร้างอนาคตร่วมกัน การกู้ร่วมเพื่อที่จะมาซื้อบ้าน ทุกวันนี้ภาคเอกชนเขานำหน้าภาครัฐบาลไปเยอะมากเลยนะ สามารถซื้อประกันชีวิตให้คู่รักของตนเองได้แม้จะเป็นเพศเดียวกัน การกู้ร่วมในเพศเดียวกันเพื่อซื้อบ้าน ทำได้ อะไรแบบนี้ในระยะสั้นมันจะได้เห็นชัดเจนขึ้น แน่นอนว่าสำหรับคนที่แอนตี้ ก็จะแอนตี้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น คนที่เกลียดไม่ได้เกลียดด้วยเหตุผล ไม่ได้เกลียดด้วยกฎเกณฑ์ เขาเกลียดเพราะเขาเกลียด ดังนั้นต่อให้มีกฎหมายมาช่วย มีข้อมูลมาช่วย ให้เขาเข้าใจ แต่การเข้าใจใช้สมองอีกส่วนหนึ่ง คนละส่วนกับที่เกี่ยวกับความเกลียด ความชอบ การยอมรับ

 

ทีนี้ในระยะยาว แพทไม่ได้มองใน generation นี้ แพทมองถึงเด็กหนึ่งขวบสองขวบ เขาจะเกิดและเติบโตมาในโลกที่ทุกคนเท่ากัน ผมเคยเป็นที่ปรึกษาพรรคการเมืองหนึ่ง และนักการเมืองใหญ่ในพรรคนั้นเขาพูดว่า ผมไม่เข้าใจเลยนะว่าจะมาเรียกร้องสิทธิพิเศษอะไรกันขนาดนี้ เราก็รู้สึกว่าแบบนี้เป็นนักการเมืองไม่ได้ เขามองว่าเป็นสิทธิพิเศษ ทั้งที่เรายังไม่เท่าเทียมกันเลย แต่สิทธิที่คนจะใช้ชีวิตคู่กันได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายยังไม่มี แล้วพูดได้อย่างไรว่าคนมาเรียกร้องขอสิทธิพิเศษ คิดดูว่าขนาดเป็นพรรคการเมืองระดับหนึ่ง มีตำแหน่งในพรรคการเมืองระดับหนึ่ง เขายังเข้าใจแบบนี้อยู่เลย การเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายส่วนหนึ่งอาจจะเพิ่มการตระหนักรู้ ความเข้าใจเข้าใจให้ได้ แต่ก็ยังยืนยันว่าในระยะสั้นความเปิดกว้างอาจจะยังไม่ได้เห็นชัดเจนมาก แต่ความชัดเจนคือ คนที่สนับสนุนก็สนับสนุนได้อย่างเต็มที่ คนที่เกลียดก็ยังคงเกลียดต่อไป

 

อ.หยกฟ้า

แสดงว่าถ้าร่างพ.ร.บ.นี้ผ่านจริง ๆ ก็จะได้เห็นวิธีคิดของคนมากยิ่งขึ้น คนจะแสดงจุดยืนของตัวเองมากยิ่งขึ้น เป็นสองขั้วไม้บรรทัด

 

หมอแพท

ต่อไปเราอาจจะได้เห็นคนที่มาแอนตี้ pride parade เลยก็ได้ ตอนนี้เ pride parade เรายังมีความสงบ สันติ สนุกสนาน แต่ต่อไปอาจจะเห็นภาพการปะทะกันมากขึ้นใน pride parade ก็ได้

 

ส่วนในระยะยาว ถ้ามันผ่านแล้ว ต่อไปในเด็กเล็ก ๆ เขาจะมีเพื่อนร่วมชั้นที่มาจากครอบครัวที่มีพ่อกับพ่อ หรือครอบครัวที่มีแม่กับแม่ หรือครอบครัวที่พ่อเพียงคนเดียว หรือมีแม่เพียงคนเดียว คือเด็กเขาจะเกิดมาในโลกแบบนี้

 

อ.หยกฟ้า

เด็กเขาก็จะยอมรับมาตั้งแต่ต้น ไม่ได้ถูกสังคมที่มีวิธีคิดอีกแบบหนึ่งมาหล่อหลอมว่าแบบนี้ใช้แบบนี้ไม่ใช่ แบบนี้ถูกหรือผิด

 

 

แล้วเราจะเปลี่ยนคนที่มีวิธีคิดแบบสุดขั้วอย่างไร ถ้าเราอยากให้เขายอมรับเร็วขึ้น


 

อ.ภาณุ

มันก็ตอบยากเหมือนกันครับ การที่เขามีความคิดอย่างนั้น การที่เราจะไปเปลี่ยนเขา เราก็ต้องใช้การโน้มน้าวหรือการที่ทำให้เขาเห็นว่ามันมีข้อดีอย่างไร แต่ทัศนคติมุมมองบางอย่าง เช่นเรื่องศาสนา หลักธรรม หรืออะไรเหล่านี้ มันเป็นเรื่องที่ fix มาก การจะไปขยับ มันทำได้ยาก การที่เปลี่ยนจากสุดขั้วหนึ่งไปอีกขั้วหนึ่ง หรือจะขยับยังไงให้ผ่อนหรือเบาลงได้ แฮมก็ยังคิดไม่ตกเหมือนกัน

 

แต่จะขอเพิ่มอีกประเด็นหนึ่งคือ แฮมก็อยากให้กฎหมายมันผ่านเร็ว ๆ ให้คนแต่งงานกันได้ แต่ทั้งนี้ผลที่จะมีตามมามันก็จะเป็นสิ่งใหม่ของเมืองไทย ผลลัพธ์ที่ตามมาจะมีอะไรเกิดขึ้นได้บ้าง ในมุมที่นักจิตวิทยาการปรึกษามองคือ การแต่งงานเกิดขึ้นได้ การหย่าร้างก็จะเกิดขึ้นได้เหมือนกัน ถ้าชายชายและหญิงหญิงแต่งงานกันได้ หรือไปจนถึงมีบุตรบุญธรรมร่วมกันได้ เมื่อวันหนึ่งความสัมพันธ์ยุติลง ผลกระทบหรือสิ่งที่เกิดขึ้นกับลูกบุญธรรมของคู่สมรสชายชายและหญิงหญิงจะเป็นอย่างไรบ้าง แฮมไปเจองานวิจัยงานหนึ่งที่ออสเตรเลีย เขาศึกษาคู่สมรสชายชายและหญิงหญิงที่เขามีลูกบุญธรรมด้วยกัน แล้วเขาหย่าร้างกัน มีผลกระทบทางใจอะไรเกิดขึ้นบ้าง เขาเจอสองประเด็นหลักคือ อันแรก ในสังคมออสเตรเลียเขาเปิดกว้างแล้วว่ารักกันได้ แต่งงานกันได้ แต่พอจะหย่าร้างปุ๊บ เขาก็ยังมีความรู้สึกกลัวว่า พอชายชายและหญิงหญิงเกิดการหย่าร้าง สังคมจะมองเขาว่าคู่รักแบบนี้ไม่ใช่คู่รักที่สมบูรณ์แบบ เป็นคู่ที่มีความผิดปกติ ไม่เท่าเทียม ไม่เหมือนกับคู่ชายหญิงปกติหรอก เขาเกิดความกลัวว่าเขาไม่สามารถรักษาความสัมพันธ์ได้ หรืออีกอย่างก็คือ ในตัวเขาเอง เขารู้สึกว่าคนรอบข้างในสังคม LGBTQ+ เอง มองว่านี่คือคู่สมรสหรือคือคู่ครอบครัวต้นแบบ เป็น pioneer เป็น role model เขาเกิดความกดดันหากจะต้องเลิกกัน เกิดความเครียด และรู้สึกว่าไม่สามารถเปิดเผย หรือปรึกษาหารือกับคนอื่นได้ว่าคู่ของฉันมีปัญหา จะเลิกรากัน ดังนั้นแฮมในฐานะนักจิตวิทยาการปรึกษา ก็คิดว่าหากสมรสเท่าเทียมในประเทศไทยผ่าน มันจะมีสิ่งเหล่านี้ตามมาหรือเปล่า และเราจะมีความรู้อย่างไรบ้างที่จะมาซัพพอร์ตดูแลหรือให้การช่วยเหลือ

 

หมอแพท

เรื่องการหย่าร้างและความกดดันว่าสังคมจะมองเราว่าเป็นความรักแบบฉาบฉวยหรือเปล่า คือคนที่แต่งงานกันไป มันมีโอกาสอยู่แล้วใช่มั้ยที่จะหย่ากัน ไม่ว่าจะเป็นชายชาย หญิงหญิง ชายหญิง ทุกคู่มีโอกาสที่จะเลิกกันได้ ความรักหรือความสัมพันธ์มันเป็นสิ่งมีชีวิตประเภทหนึ่ง มันมีโอกาสที่จะตายก่อนเราได้ มองในมุมของคนที่อายุ 40 อัพแล้วกัน ตอนที่เราอายุ 20 กว่า ๆ เราจะรู้สึกว่า คนจะมองเรา คนจะ validate เรา คนจะตัดสินเรา พออายุ 40 แล้วเราจะบอกได้ว่า ไม่มีใครสนใจที่จะมา validate เรา เราอาจจะกลัวสังคมจะมาตัดสินเราอย่างนั้นอย่างนี้ แต่พออายุเริ่มเยอะขึ้นจะพบว่าทุกคนดิ้นรนต่อสู้ในชีวิตของตัวเองอยู่เสมอ เขาไม่ได้ใส่ใจมากนักที่จะมาตัดสินคนอื่น ดังนั้นพออายุเท่านี้แล้วเรารู้สึกสบายมากที่เราจะทำอะไรก็ได้ ก็เผื่อไว้สำหรับคนที่กังวลว่าจะมีใครมาตัดสินเราหรือเปล่า

 

จริง ๆ แล้วการรับรู้เรื่อง LGBTQIAN+ ปัจจุบันนี้ต่อให้เราคิดว่าเราเป็น gay friendly แต่ในเมืองไทยยังเป็นสังคมแบบ tolerance อยู่ การยอมรับมันมี 2 ระดับ หรือ acceptance กับ tolerance ตอนนี้เราจะค่อย ๆ เปลี่ยนผ่าน อย่างน้อยคนที่ต่อต้านที่สุด มาถึงจุด ๆ หนึ่ง เขาต้อง tolerance กับตรงนี้ได้ และหวังว่าต่อ ๆ ไปมันจะเป็น acceptance

 

อ.หยกฟ้า

พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม เรามักคาดหวังทางบวกว่าถ้ามันผ่านจะทำให้เราเท่าเทียมกัน กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศจะได้เข้าถึงสิทธิที่เขาควรจะได้รับมาตั้งนานแล้วแต่ไม่ได้รับ แต่ก็ยังมีความคาดหวังที่มันเป็นแรงกดดันด้วย ถ้าเป็นคู่สมรสกันแล้ว อาจจะมีแรงกดดันจากภายนอกว่าถ้าเป็นคู่สมรสกันแล้ว ต้องประคองไปให้สุดนะ ถ้าเกิดการเลิกราระหว่างทางคนก็จะมาชี้นิ้วว่า บอกแล้วว่ามันเป็นไปไม่ได้ ก็จะมาฝืน ซึ่งมันก็เป็นการแบกรับความคาดหวัง แต่อย่างที่หมอแพทบอกว่าจริง ๆ แล้ว การที่เราจะดำเนินความสัมพันธ์มันก็ย่อมมีทั้งบวกและลบ และเป็นไปได้ว่ามาถึงจุดหนึ่งก็อาจจะหย่าร้างแตกหักเหมือนคู่ชายหญิง ดังนั้นก็ไม่ต้องกดดันกับตัวเองมากจนเกินไปนัก ถ้าพ.ร.บ.นี้มันผ่านจริง ๆ และเราอยากสมรสกับคู่รักของเรา ไม่ต้องแบกรับความคาดหวังของคนอื่น หรือของคอมมูด้วยกันว่าคุณจะต้องเป็น role model ต้องทำให้คนอื่นเห็นว่าคุณไปได้ด้วยดี ไปจนถึงสุดทาง เพราะมันเป็นธรรมชาติของมนุษย์อยู่แล้วว่าอาจจะเกิดความไม่เข้าอกเข้าใจกัน เกิดความขัดแย้งกัน ภายในคู่ของตัวเอง

 

 

หากสมรสเท่าเทียมผ่าน จะส่งผลต่อการเลือกปฏิบัติในสังคมไทยหรือไม่ หรือส่งผลต่อมูฟเมนต์อื่น ๆ เพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมอย่างไร


 

คุณภิรญา

เฟิร์นมองว่าต่อให้กฎหมายมันผ่านหรือไม่ผ่าน มันก็มีการเลือกปฏิบัติในสังคมไทยอยู่แล้ว มีอยู่ในทุกมิติ ไม่ใช่แค่เรื่องเพศ เรื่องหน้าตา beauty standard เรื่องชนชั้น ชาติกำเนิด ความรวยความจน การศึกษา สถาบันการศึกษา มันมีเป็นเรื่องปกติ ดังนั้นมองว่ากฎหมายจะผ่านหรือไม่ผ่านก็ไม่ได้ส่งผลอะไรกับเรื่องนี้เลย

 

ถ้าระยะยาวอาจจะช่วย แต่ในระยะสั้นก็อาจจะเหมือนอย่างที่หมอแพทพูด ว่าถ้าคนเรามีอคติจริง ๆ มันก็เปลี่ยนยาก อาจจะรออีก generation หนึ่งถึงจะเกิดการเปลี่ยนแปลงแบบสังเกตได้

 

เพราะก่อนหน้านี้ที่ประเด็นไม่ได้แมสเท่านี้ ภาคเอกชน ธุรกิจบางธุรกิจ ก็มีสวัสดิการที่มันก้าวหน้าไปแล้ว เฟิร์นก็เลยมองว่ามันอยู่ที่บุคคล ทัศนคติของแต่ละคนแต่ละองค์กร ว่าจะยอมรับมากน้อยอย่างไร เพราะก่อนหน้าที่ประเด็นไม่เป็นที่พูดถึงกว้างขวาง บางบริษัทก็มีสวัสดิการลาผ่าตัดแปลงเพศ มีสวัสดิการให้ลาไปแต่งงานได้แม้คุณจะเป็นเพศเดียวกัน ดังนั้นจึงมองว่ามันอยู่ที่จิตสำนึกหรือทัศนคติของแต่ละคนมากกว่า ต่อให้กฎหมายนี้จะผ่านหรือไม่ผ่าน ในการเลือกปฏิบัติอาจจะไม่มีผลให้เห็นชัดมากขนาดนั้น มันอาจจะมีแต่คงไม่ทำให้ได้เห็นชัดเจนว่าทุกอย่างมันเปลี่ยนขนาดนั้น

 

โอเคว่าถ้ากฎหมายมันผ่านมันอาจจะช่วยให้หลาย ๆ องค์กรลองที่จะปรับ คือในเรื่องความหลากหลายทางเพศ ถ้าพูดถึงในแง่ของเศรษฐกิจ GDP มันมีมูลค่าที่สูงมาก เพราะฉะนั้นมันไม่แปลกที่ธุรกิจจะมาจับประเด็นนี้ และการที่ตัวธุรกิจเองจะต้องปรับตัวเพื่อรองรับกลุ่มคนเพศหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสวัสดิการการทำงาน หรือเรื่องนโยบายต่าง ๆ การยกเว้นการเลือกปฏิบัติ หรือแม้กระทั่งการทำห้องน้ำที่เป็น all gender เฟิร์นมองว่ามันเป็นการที่เขาจะต้องปรับตัวให้ทันโลกมากกว่า จะด้วยความยินดีหรือไม่ยินดีก็แล้วแต่ แต่มันก็อาจจะมีบางสิ่งที่ฉันต้องทำเพื่อให้ทันโลกทันสมัย เพราะเรื่องความหลากหลายทางเพศมันเป็นการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่สูงมาก

 

หมอแพท

เรื่องของธุรกิจมันไม่เกี่ยวกับใจ แต่มันเกี่ยวกับนโยบายเกี่ยวกับกลยุทธของเขา บริษัทไหนที่จะมุ่งนโยบายไปทางด้านนี้ อาจจะเพราะเขาเห็นโอกาสทางธุรกิจหรืออะไรก็ตาม เขาไปอยู่แล้วโดยที่ไม่ต้องรอกฎหมาย เพราะฉะนั้นเรื่องการเลือกปฏิบัติหรือเลือกที่จะไม่ปฏิบัติมันเป็นเรื่องของแต่ละหน่วยแต่ละคนด้วยซ้ำไป แต่ถ้าสมมติในระยะยาวจริง ๆ เลย แพทมองว่าเจนถัดไปจะไม่มีคำว่า LGBTQIAN+ อีกต่อไป มันจะเป็น a person หรือทุกคนเป็น person เท่ากันหมดเลย เด็กรุ่นใหม่เขาจะไม่รู้จัก LGBTQ เขาจะมองว่านั่นก็ person นี่ก็ person และอาจจะไม่มีการเลือกปฏิบัติเลยก็ได้ เพราะจะมองว่าทุกคนเท่ากันเหมือนกัน เท่าเทียมกัน

 

แต่ว่า ณ ตอนนี้ ถ้าพูดถึงว่ากฎหมายถ้าออกมาแล้วจะช่วยให้เท่าเทียมขึ้นมั้ย ก็ยังมองอยู่ว่าการเลือกปฏิบัติมันไม่ได้เกี่ยวกับกฎหมาย ใกล้ตัวที่สุด เพื่อน ๆ ผู้หญิงถ้าจะปรึกษาปัญหาหัวใจ ปรึกษาเรื่องการแต่งหน้า ยังปรึกษาเพื่อนกะเทยเลย นี่ก็เป็นการเลือกปฏิบัติ ไม่ไปปรึกษาเพื่อนผู้หญิงด้วยกัน คิดว่าเขาจะมีอคติ ไปปรึกษาเพื่อกะเทยดีกว่าเพราะจะมีความเข้าใจทั้งผู้ชายและผู้หญิง เห็นไหมว่าเรื่องใกล้ตัวที่สุดเรายังเลือกปฏิบัติเลย ต้องมองก่อนว่าการเลือกปฏิบัติ กับการไม่เคารพสิทธิ หรือการที่กดให้สิทธิเขาไม่เท่าเทียมกับเรา มันเป็นคนละเรื่องกัน การเลือกปฏิบัติอาจไม่ใช่เรื่องทางลบหรือเป็นเรื่องที่แย่เสมอไป แต่ว่าการไปริดรอนสิทธิการที่ไปกดทับเอาไว้ไม่ให้เขาเท่ากับเรา อันนั้นต่างหากเป็นเรื่องที่ผิด

 

อ.ภาณุ

การเลือกปฏิบัติ ถ้าในแง่ของอาชีพ สมัยก่อนจะมีคำศัพท์อย่างเช่น glass ceiling effect คือการที่เพศหญิงหรือเพศทางเลือกไม่ได้สามารถที่จะก้าวหน้าทางอาชีพได้เพราะถูกปิดด้วยเรื่องเพศสภาพ แฮมเห็นด้วยกับคุณเฟิร์นว่าเรื่องนี้ กฎหมายสมรสเท่าเทียมมันมีคอนเซปต์ของ power คือมันมีอำนาจเกิดขึ้นในกลุ่มของผู้มีความหลากหลายทางเพศมากขึ้น อำนาจสิ่งนี้มันไม่ได้ส่งผลโดยตรงต่อการเลิกการกีดกันหรืออคติทางเพศ เพราะมันคือสิ่งที่อยู่ห่างกันประมาณหนึ่ง แต่แฮมคิดว่าในระยะยาว เมื่อเรามีอำนาจต่อรองมากขึ้น สังคมก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่ถ้ามองกลับไปที่การกีดกันทางเพศ ในเรื่องอาชีพหรือเรื่องใดก็แล้วแต่ มันก็เกิดขึ้นจากการที่เรามีการรับรู้ว่าสังคมเราเป็นสังคมที่ชายหญิงเป็นใหญ่ เป็น majority สังคมโฮโมเซ็กชวลหรือสังคม LGBTQIAN+ เป็นสังคมที่เป็น minority การที่มันมีพวกมากพวกน้อยอยู่ สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิด power ต่างกัน เมื่อ power ต่างกัน การเหยียด การกีดกัน หรืออคติ ก็ย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ เมื่อไรก็ตามที่สองคำนี้ major-minor มันถูกสลายได้ หรือเป็นเพียง person กันจริง ๆ ทุกคนมีความเท่าเทียมกัน มีอำนาจเท่ากัน การกีดกันทางเพศหรือด้วยลักษณะต่าง ๆ มันก็จะน้อยลงได้เหมือนกัน แต่นั่นก็จะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในระยะยาว ตอนนี้เป็นเพียงการค่อย ๆ เพิ่ม power ให้กับกลุ่มคนที่มีความหลากหลายมากขึ้น เพื่อให้เขาได้มีโอกาสมาต่อรองหรือมีการขยับขับเคลื่อนความหลากหลายมากขึ้นมากกว่า

 

อ.หยกฟ้า

หมายความว่าการขับเคลื่อนเรื่องของความเท่าเทียมกันอาจจะไม่ได้ขึ้นอยู่กับกฎหมาย ถ้าเมื่อไรก็ตามที่คนมองเห็นคนอื่นเป็นคน เป็นมนุษย์เหมือนกัน ไร้อคติ บางทีกฎหมายอาจจะไม่ต้องมีออกมาใหม่เลยด้วยซ้ำ ถ้าสมมติว่ามันเท่าเทียมกันจริง ๆ อยู่แล้ว เรามองอีกคนหนึ่งเป็นเพื่อนมนุษย์ ไม่ว่าเขาจะมีรสนิยมหรืออัตลักษณ์ทางเพศอย่างไร เพียงแต่ ณ ปัจจุบันมันยังเป็นอย่างนั้นอยู่ ซึ่งเราหวังว่าในอนาคตมันไม่มีการแบ่งแยกและตีตรา มองทุกคนเท่ากันหมดจริง ๆ

 

 

การเข้าร่วมใน pride parade ของบางองค์กร บ้างก็ถูกมองว่าฉาบฉวย บ้างก็มองว่าฉาบฉวยก็ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย


 

คุณภีรญา

ความหลากหลายทางเพศเป็นหนึ่งในการขับเคลื่อน GDP ของประเทศไทย ถ้าไปดูรายงานของ economic forum ต่าง ๆ ของ LGBTQ+ ที่เขาทำไว้ ประเทศไทยถ้าเทียบในเอเชียมีมูลค่าสูงมาก สูงที่สุดในเอเชีย และเราก็ติดท้อปพอ ๆ กับของฝรั่งเศส อเมริกา เลย คราวนี้พอค่าการตลาดมันสูง มันไม่แปลกที่ธุรกิจต้องการแย่งชิงพื้นที่ ต้องบอกว่ามันเป็นการจับจองพื้นที่ ใครจะได้ส่วนแบ่งการตลาดมากน้อยไปกว่ากัน ถ้าเริ่มเร็วก็ได้เร็ว
ประเด็นเรื่อง rainbow washing มันก็มีมานานแล้ว เฟิร์นมองว่าการที่แต่ละธุรกิจเข้ามาเปลี่ยนโลโก้สีรุ้ง เราในฐานะผู้บริโภคเราก็ตัดสินไม่ได้หรอก หรือตัดสินได้แค่ผิวเผิน คงไม่ได้รู้ไปทั้งหมด ว่าเขาเป็น rainbow washing มั้ย ในภาพที่เรามองเฉย ๆ มันก็เป็นภาพที่น่ารักดี พอเป็นเดือนของ pride month มองทางไหนก็เป็นสีรุ้งไปหมด แต่เราอาจจะต้องไปดูกันลึก ๆ มากกว่า ในตัวของแบรนด์นั้น ๆ บริษัทนั้น ๆ เองว่ามีการทำนโยบาย หรือมีสวัสดิการเพื่อคนที่มีความหลากหลายทางเพศหรือเปล่า หรือเขาเองมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องสิทธิความหลากหลายทางเพศจริงหรือเปล่า ตอนนี้เมื่อกระแสมันแมสมันกว้างขึ้น ค่าของการขับเคลื่อน GDP มันสูง

 

เฟิร์นขอขยายความว่ามันมี 4 หัวใจหลัก ใน GDP การขับเคลื่อนเศรษฐกิจในความหลากหลายทางเพศ

  1. บันเทิง ผับบาร์ คาบาเรต์ แดร๊ก ร้านเหล่า โชว์ ต่าง ๆ ขาดไม่ได้เลย ใคร ๆ ก็รู้ ต่างชาติที่เข้ามา
  2. อุตสาหกรรมภาพยนตร์ ซีรีส์วาย คอนเทนต์วายคอนเทนต์ยูริต่าง ๆ ปีที่แล้วมูลค่าส่งออกซีรีส์วาย 1,500 ล้านบาท ส่งออกไปจีน ไปนู่นนี่นั่น ต่อให้เกาหลีมี KPOP ก็สู้เราไม่ได้ จีนเกาหลีเขาอนุรักษ์นิยมสุดๆ
  3. การท่องเที่ยว ทัวร์ ต่าง ๆ ประเทศไทยเฟรนด์ลี่มาก คู๋รักชายชายเดินจับมือกันก็ไม่มีใครเดินมาต่อย มาทำร้ายร่างกาย เขาสามารถเข้ามาเที่ยวเข้ามาพักผ่อนได้
  4. medical hub การผ่าตัดแปลงเพศ การศัลยกรรมเสริมความงาม หมอไทยเก่งมาก

ทุกอย่างมูลค่ามันสูงมาก และทำให้เห็นได้ชัดว่าผู้บริโภคไม่ว่าจะเปิดตัวหรือไม่เปิดตัวมันเยอะมาก เป็นเรื่องธรรมดาที่ภาคธุรกิจจะต้องมาแย่งส่วนแบ่งการตลาด เขาพยายามที่จะเข้ามาแย่งชิงพื้นที่ให้ได้

 

ในการจัดงาน Bangkok Pride เราดูแลในส่วนของ partnership ทั้งหมด มันเห็นภาพชัดว่ามีบางองค์กรที่เขาเข้าใจจริง ๆ และพยายามที่จะปรับนโยบายในองค์กรของตนเอง ในการสร้างสวัสดิการให้พนักงาน เวลาเรามองมันก็เห็นได้ว่าต่อให้คุณผลิตสินค้ามาแบรนด์หนึ่งต่อให้มีสโลแกนมาอันหนึ่ง ถ้าคุณไม่ได้มีความเข้าใจจริง ๆ มันก็จะมองดูแล้วตลก ผู้บริโภคเองก็แยกแยะได้ บางแบรนด์ก็อาจจะฉาบฉวยจริง ๆ ก็ต้องยอมรับว่ามีที่แค่มาเพื่อทำการตลาด เฟิร์นมองว่ามันเป็นเรื่องที่ดีด้วยซ้ำ เฟิร์นว่ามันสนุกมากเลยที่ภาคธุรกิจเขาเข้าใจทำอะไรกันแบบนี้ มองว่ามันเป็นการแข่งขัน ซึ่งไม่ได้แข่งขันกันแค่ส่วนแบ่งการตลาด แต่ผู้บริโภค ณ วันนี้ เขาตัดสินใจเองได้แล้ว เขามีสิทธิที่จะเลือกว่าเขาจะใช้บริการเจ้าไหน ซื้อประกันเจ้าไหน กินอาหารร้านไหน แต่ละองค์กรแต่ละบริษัทมันต้องมาแข่งกันที่จะซื้อใจผู้บริโภคในกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ แล้วเขาจะทำอย่างไร มันก็เป็นการเรียนรู้ที่ภาคธุรกิจเองที่ต้องทำความเข้าใจว่าฉันจะต้องทำอย่างไร สิทธิมันมีอะไรบ้าง ความต้องการจริง ๆ ของผู้บริโภคกลุ่มนี้คืออะไร สินค้าแบบไหนที่จะเจาะตลาดได้ เฟิร์นมองว่าเป็นความท้าทายอีกอย่างหนึ่งของภาคธุรกิจที่เฟิร์นมองเห็น และมันทำให้เห็นว่ากลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศก็มี power มาก ๆ ถ้าไม่มี power มากคนจะไม่เข้ามาแย่งกันขนาดนี้

 

หมอแพท

ปกติเราก็รักแม่ทุกวัน แต่พอวันแม่เราก็ให้ดอกมะลิ เราก็มีสัญลักษณ์ของวันแม่ ของสัปดาห์วันแม่ ของเดือนแห่งวันแม่ มันก็เหมือนกัน บริษัทแต่ละบริษัทก็สนับสนุนอยู่แล้ว สนับสนุนในทุก ๆ วัน แล้วทำไมเราจะเอนจอยในช่วงที่มันเป็น pride month ไม่ได้

 

เรื่อง pride parade ได้ติดตามดูก็เห็นเหมือนกันว่าอันนี้นะปกติไม่ได้ทำสักหน่อยนึง มาฉกฉวยเอาสัญลักษณ์สีรุ้งมาใช้ อันนี้ก็ไม่ว่าจะเป็นทางการตลาดหรือทางนโยบายก็ตาม ทุกอย่างเริ่มต้นที่ awareness เราต้องการการตระหนักรู้ pride parade ที่อเมริกาเขาเกิดมาจากการต่อสู้ พอได้ชัยชนะเขาก็เฉลิมฉลอง พอมันเป็นวัฒนธรรมที่เรารับมา เรามาใช้มันเป็นอุปกรณ์หนึ่งเพื่อใช้ในการสร้าง awareness ดังนั้นเมื่อภาคเอกชนเข้ามาร่วม ไม่รู้ล่ะว่าก่อนหน้านี้เขาสนับสนุนหรือไม่สนับสนุน แต่เขาก็มาเข้าร่วม มันเหมือนเป็น KPI ให้เราดูได้เลยว่าเราต้องการ awareness เราก็ได้ awareness อย่างที่อ.แฮมพูดว่า pride parade มันคือรูปธรรมของการเปิดโอกาส เรามีโอกาสที่จะเป็นตัวเราเอง ออกไปลองดูซิว่าเมื่อเป็นตัวเราสังคมเขายอมรับมั้ย มันคือการเปิดโอกาส ทุกคนควรจะเข้าถึงโอกาสนั้นไม่ว่าคุณจะปากว่าตาขยิบมั้ยคุณก็มีโอกาสเข้าถึงตรงนั้นได้หมด อย่างที่คุณเฟิร์นพูด ผู้บริโภคเขาฉลาด ใครที่ผักชีโรยหน้า ผู้บริโภคเขารู้ เพราะฉะนั้น pride parade ทำหน้าที่ของตัวเองเป๊ะเลย คือฉันเปิดโอกาสให้ทุกคน ไม่ว่าจะจริงใจหรือไม่ เชิญมาร่วมในพาเหรดของฉันได้อย่างเต็มที่ คนดูจะเป็นคนตัดสินเอง ถ้าเธอเล่นสมบทบาทมาตั้งแต่ต้นคนดูจะปรบมือให้ ถ้าเล่นไม่สมบทบาทเขาก็ตัดสินได้

 

ส่วนแต่ละบริษัทที่เขามาร่วม แพทมองตามกลไกทางจิตวิทยา ถ้าตอนแรกเราต่อต้าน เราก็ต้อง tolerance ต้องทนอยู่กับมันให้ได้ ภาคเอกชนที่ต่อต้าน สุดท้ายเขาต้อง tolerance อยู่ดี จากนั้นเขาก็จำเป็นต้อง participant เมื่อเข้าร่วมไปสักพักหนึ่งเขาจะ acceptance เวลาเราสั่งสเต็กมาสักชิ้นหนึ่งเราไม่สามารถตักทั้งชิ้นเข้าปากได้ เราต้องค่อย ๆ สไลด์มันเป็นชิ้นเล็ก ๆ เราต้องเคี้ยวแล้วเราค่อย ๆ กลืนจนสเต็กหมดชิ้น เช่นเดียวกันสังคมหรือกระทั่งพ่อแม่ที่บ้านก็ตาม ตอนที่เรา come out บางคนบอกว่าเนี่ยหนู come out แล้วว่าหนูเป็นเกย์ ทำไมพ่อแม่ไม่ยอมรับหนู สังคมยอมรับแล้วนะ ก็จะอธิบายให้เขาเข้าใจว่านี่มันคือสเต็กชิ้นหนึ่ง เราต้องตัดเป็นชิ้น ค่อย ๆ กิน ถ้าเรากินทีเดียวเราจะติดคอตาย เช่นเดียวกัน แต่ละบริษัทเขาก็จะมีสเตปของเขา เป็นไปได้ที่เขาจะก้าวสเตปพลาด แทนที่จะค่อย ๆ ทำ กลับรีบกระโดดเข้ามาสีรุ้งไปหมด แต่ให้มองด้วยจิตเมตตาว่าเขาก็พยายาม เขาอาจจะก้าวแย่หน่อยหนึ่ง แต่เขาก็พยายามจะเปลี่ยนจาก tolerance ไปสู่ acceptance ณ เวลาหนึ่งจนได้

 

อ.หยกฟ้า

ดังนั้นการจะเปลี่ยนจากคนที่แอนตี้สุด ๆ มายอมรับก็คงต้องใช้ระยะเวลา ๆ กว่าจะค่อย ๆ เปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนเจตคติเขาได้ คงไม่ใช่ชั่วข้ามคืน

 

หมอแพท

ใช่ครับ และในขณะที่เขามีใจ กำลังจะเปลี่ยนมา เราก็ควรจะ appreciate ความพยายามของเขา เขาอาจจะพยายามแล้วพลาดไปบ้าง แต่สิ่งที่จะทำให้เขาแน่วแน่จนเปลี่ยนมา acceptance ได้ คือ positive reinforcement (การเสริมแรงทางบวก) คือการ appreciate จากคนรอบช้าง ฉันเข้าใจนะว่าอย่างน้อยเธอก็พยายาม

 

อ.หยกฟ้า

ให้คำชื่นชม สนับสนุนในสิ่งที่เขาทำ ก็จะช่วยให้สังคมเกิดการยอมรับในภาพกว้างได้ในที่สุด

 

อ.ภาณุ

แฮมรู้สึกว่าไม่ว่าเขาจะทำผิดพลาดหรือยังไง สุดท้ายมันคือการ win-win อย่างแบรนด์ Apple มีการเปลี่ยนสายนาฬิกาให้เป็นสีรุ้ง ในช่วงเดือน pride month และเขาทำอย่างต่อเนื่อง แฮมรู้สึกว่าในแง่ของผู้บริโภค หรือในแง่ของบุคคลคนหนึ่งที่เห็น มันคือการ normalize ว่า กุมภามีวาเลนไทน์ ธันวามีคริสต์มาส ตุลามีฮัลโลวีน การที่เดือนมิถุนาเรามี pride month มีการเฉลิมฉลอง ไม่ว่าจะฉาบฉวยหรือไม่ฉาบฉวยแค่ไหน มันให้เห็นว่าในหนึ่งปี หนึ่ง cycle นี้ เดือนมิถุนาจะเป็นหนึ่งเดือนที่เฉลิมฉลองการเป็น pride มันคือการยอมรับหรือการเพิ่มเติมเพศทางเลือกมากขึ้น จริง ๆ มันไม่ได้หยุดที่เดือนมิถุนา ที่อังกฤษมีการขยายถึงกรกฎาถึงสิงหาด้วย เพียงแต่เดือนที่พีคคือเดือนมิถุนา แฮมมองว่าในแง่ของบุคคลมันคือการ normalize คนว่า ถึงเดือนมิถุนาแล้ว ถึง pride month แล้ว ทุกอย่างต้องมีการเปลี่ยนแปลง มีการขยับเพื่อเฉลิมฉลองเดือนนี้

 

อ.หยก

การที่หน่วยงานธุรกิจ องค์การต่าง ๆ นานา มาร่วมขับเคลื่อน มาจอยกับ pride month ไม่ว่าจะเปลี่ยนเป็นสีรุ้งหรือกิจกรรมใด ๆ ก็ตาม ฉาบฉวยหรือเปล่าไม่รู้ แต่พอทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ แน่นอนการยอมรับในสังคมมันจะค่อย ๆ มากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะมันจะทำให้คนในสังคมรู้สึกว่าเป็นเรื่องปกติ เมื่อคนมองเป็นเรื่องปกติ การยอมรับจะเกิดขึ้นในที่สุด

 

 

การสร้างสังคมที่ปลอดภัยจากอคติ เพื่อให้เกิดความเท่าเทียม ควรเริ่มจากไหน


 

คุณภีรญา

เริ่มจากครอบครัว ถ้าเราจะสร้างสังคมที่ไม่ตีตรา ไม่กีดกัน สถาบันครอบครัวเป็นสถาบันที่สำคัญสุด เพราะมันเป็นสิ่งที่ควบคุมได้ พ่อแม่สามารถที่จะดูแลได้ เพราะเราไม่รู้ว่าเด็กคนหนึ่งเกิดมา ไปโรงเรียนและออกไปเจอโลกภายนอกจะเป็นอย่างไร บางอย่างมันเหมือนอยู่นอกเหนือการควบคุมไปแล้ว เราไม่รู้ว่าจะไปเจอครูแบบไหน เพื่อนแบบไหน สังคมการทำงานเป็นแบบไหน เพราะฉะนั้นสิ่งที่สำคัญคือครอบครัว ต่อให้เราออกไปเจอสังคมข้างนอก ถูกตีตรา ถูกตัดสิน เจ็บช้ำน้ำใจ เรากลับมาบ้านเรายังมีพ่อแม่พี่น้องที่เข้าใจ รับฟัง มีความเห็นอกเห็นใจกัน มันเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่เราสามารถจะเป็นตัวเองได้ บอกเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ถึงความรู้สึกและสิ่งที่เกิดขึ้นได้ อันนี้เป็นรากฐานที่สำคัญมาก และสมมติว่าหลาย ๆ ครอบครัวสามารถที่จะสร้างพื้นที่ปลอดภัยในบ้านของตัวเองได้ เชื่อว่าเรื่องอื่น ๆ มันก็ลดลงได้เอง

 

หมอแพท

สังคมคือคนที่มาอยู่รวมกัน สังคมจะปลอดภัยเมื่อบุคคลเป็นบุคคลปลอดภัย พอบุคคลทุกคนในครอบครัวเป็นบุคคลที่ปลอดภัย ครอบครัวจะเป็นครอบครัวที่ปลอดภัย และเมื่อครอบครัวในชุมชนนั้นแทบทุกครอบครัวเป็นครอบครัวปลอดภัยจะกลายเป็นชุมชนที่ปลอดภัย และเมื่อหลาย ๆ ชุมชนเป็นชุมชนที่ปลอดภัยก็จะกลายเป็นสังคมที่ปลอดภัย และเมื่อสังคมทั้งประเทศเป็นสังคมที่ปลอดภัยจะกลายเป็นประเทศที่ปลอดภัย และสุดท้ายจะกลายเป็นโลกที่ปลอดภัย เพราะฉะนั้นมันเริ่มต้นจากจุดที่เป็นบุคคล แล้วอะไรล่ะที่จะเป็นตัวปลูกฝังบุคคล ก็คือสถาบันครอบครัวอยู่ดี
แพทเจอเยอะมากเพื่อน ๆ ที่มีลูก แล้วแพทถามว่าถ้าลูกเป็นเกย์เป็นเลสเบียนล่ะ ทุกคนจะพูดคล้าย ๆ กันหมดเลยว่าให้เขาเป็นอะไรก็ได้ขอให้เขาเป็นคนดีก็พอ แพทรู้สึกว่า No ไม่ใช่ เรายังคงมา validate ยังสร้างเงื่อนไขอยู่เลยว่า “เป็นอะไรก็ได้ขอให้เป็นคนดีก็พอ” เราควรจะเปลี่ยนความคิดเป็นว่า “เป็นอะไรก็ได้ ขอให้มีความสุข และไม่ทำให้คนอื่นเดือนร้อน” นี่ต่างหากคือ attitude ที่ปลูกฝังลงไปแล้วจะทำให้กลายเป็นบุคคลที่ปลอดภัย หนึ่งตัวเองมีความสุขปลอดภัยต่อตัวเอง สองไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อนคือปลอดภัยต่อคนอื่น แค่นี้พอแล้ว ไม่ต้อง validate ว่าต้องเป็นคนดี เพราะเป็นคนดีมันดูยากเหลือเกิน ด้วยกฎเกณฑ์ไหนล่ะมันมีหลายกฎเกณฑ์หลายศาสนา เราเป็นอะไรก็ได้แต่เป็นตัวเองที่มีความสุขและไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน attitude แบบนี้ถ้าปลูกฝังในตัวเด็กหรือในตัวเราเองก็ได้ ตอนนี้เราขอเป็นตัวเราเอง เป็นอะไรก็ได้ที่เรามีความสุขและไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน มันทีที่เราผ่านความคิดนี้เราจะกลายเป็นบุคคลที่ปลอดภัย และเราจะสามารถส่งต่อ attitude แบบนี้ออกไป แพทเชื่อว่า attitude ที่ดีมันจะมีกลิ่นหอม พอคนได้กลิ่นแล้วเขาก็อยากจะใช้ attitude แบบนั้น และเราก็จะแพร่กระจาย attitude แห่งความปลอดภัยนี้ ทำให้สังคมปลอดภัยได้

 

อ.ภาณุ

ในฐานะนักจิตวิทยาการปรึกษา ใช่ สถาบันที่สำคัญคือสถาบันครอบครัว แต่แฮมรู้สึกว่า ถ้ามองในแง่ครอบครัว บางคนที่เกิดมาครอบครัวเขาอาจจะไม่ได้ยอมรับ ในการที่มาอยู่โรงเรียนเขาอาจเจอเพื่อนที่ยอมรับเขา หรืออาจเจอคุณครูที่ยอมรับ หรือเจอกลุ่มคนบางกลุ่มที่ยอมรับเขา ถ้าในแง่ตัวบุคคล การที่เรามีใครสักคนที่เขายอมรับตัวเราได้อย่างที่เป็นเรา ยอมรับในเพศสภาพ ยอมรับในการเป็นตัวเราโดยที่ไม่ถูกตัดสิน การที่เราเจอคนเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ถ้าเราเห็นว่าเขารับเราได้ รักเราได้ นี่คือการสร้างเกราะป้องกันอันหนึ่งที่ดีที่สุด ถ้าเราสามารถเอาสิ่งนี้กลับเข้ามาที่ตนเองได้ การสร้างเกราะหรือสร้างความรู้สึกว่านี่คือตัวเรา นี่คือตัวฉัน นี่คือเพศสภาพของฉัน นี่คือตัวตนของฉันแล้ว เรารับมันได้ เรารักมันได้ เรามีความภูมิใจหรือ pride กับมันได้ เราหวังว่าสังคมอื่นจะดี แต่ถ้าเราเจอคนที่เขาอาจจะไม่ได้หวังดีหรือคนที่มีความเลวร้ายบางอย่างกับตัวเรา ถ้าเรามีเกราะที่ดีสุดท้ายแล้วไม่ว่าเราจะถูกกระเทือนแค่ไหน เราก็จะแข็งแรงต่อได้ นี่คือภูมิคุ้มกันที่ดีที่สุดซึ่งมันเกิดขึ้นจากตัวเราและจากคนรอบข้างที่เป็นคนซัพพอร์ตเรา

 

ส่วนในเรื่องของสังคม อคติ ทุกอย่าง มันอยู่ในอากาศ มันคือสิ่งที่เราสูดเข้าไปตลอดเวลา ถ้าจะแก้ที่บุคคลแล้ว สังคมก็ต้องขยับหรือแก้ไปด้วยกันเพื่อให้อากาศมันดีขึ้น อากาศดีขึ้นเราก็หายใจได้โล่งขึ้น

 

อ.หยกฟ้า

สรุปแล้วก็คือเราก็ต้องเริ่มจากตัวเราเองด้วย ถ้าเรามีแรงซัพพอร์ตที่ดี ถ้าหาจากครอบครัวไม่ได้ ก้ไปหาแรงซัพพอร์ตจากคนที่เรารู้สึกว่าเขาจะสามารถอยู่ข้าง ๆ เรา และมั่นใจเชื่อมั่นในตัวเรา และเคารพในความเป็นตัวเรา มันก็จะทำให้เราเกิดความเคารพตัวเองในที่สุด นี่คือในส่วนของบุคคล

 

ในส่วนของสังคม หยกเชื่อว่าในการจัดให้มี pride parade หรือ pride month ขึ้นมาทำให้คนเกิดความตระหนักว่าสิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่เราควรจะขยับมาให้ความสำคัญ กับกลุ่มคนที่โดยลิดรอนสิทธิอะไรบางอย่างในสังคม มันก็จะทำให้สังคมโดยถ้วนหน้ารู้สึกว่าเราสามารถทำได้ ตรงนี้ยังเป็นช่องโหว่อยู่ ยังเป็นช่องว่างอยู่ เรามาช่วยกัน เพื่อให้กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศเองเคารพในตัวเองแล้ว ยังรู้สึกว่ามีคนอื่นที่เคารพในตัวฉัน และวันหนึ่งเราก็เคารพซึ่งกันและกัน และในอนาคตไม่ต้องมีตีตรา ไม่ต้อง label ว่า LGBTQIAN+ แต่เป็น person กับ person คุยกัน หยกอยากอยู่ในเห็นถึงวันนั้น อยากเห็นสังคมที่มันเท่าเทียมกันจริง ๆ

 

หนึ่งมันก็ต้องเริ่มจากใจเราด้วย เราก็ต้องเปิดกว้างเพียงพอ คนที่เขายังแอนตี้อยู่เราก็อาจจะต้องเปิดใจให้เขานิดนึง เขาอาจจะต้องกล้ำกลืนนิดนึงกับสิ่งที่เขายึดถือมาเป็นเวลานาน ต้องให้โอกาสเขาสักพักหนึ่งให้เขาค่อยซึมซับ ค่อย ๆ เข้าใจตัวตนของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้และมันก็ไม่ได้แตกต่างอะไรจากชายหญิงทั่วไป ไม่ใช่สิ่งที่ผิดปกติ มันเป็นสิ่งปกติที่เกิดขึ้นได้ในสังคมเพียงแต่มันถูกกดทับ และถูกคนอื่นมองว่ามันไม่ปกติและเกิดการแบ่งแยกกันขึ้นมา

 

แชร์คอนเท็นต์นี้