รู้จัก “มาตรวัดทางจิตวิทยา”

09 Jun 2022

รศ.สักกพัฒน์ งามเอก

ในช่วงชีวิตของคนเราไม่ว่าจะเป็นวัยเด็ก วัยเรียน หรือวัยทำงานคงต้องมีสักครั้งหนึ่งที่เราได้ผ่านการทดสอบและการประเมินทางจิตวิทยาด้วยมาตรวัดมาแล้วทั้งในลักษณะของการวัดความสามารถทางเชาว์ปัญญา (IQ) การประเมินความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) หรือการทดสอบบุคลิกภาพ (Personality Test) อีกทั้งปัจจุบันนี้มีแบบทดสอบทางจิตวิทยาหลากหลายที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายตาม Social Network อาทิ แบบทดสอบบุคลิกภาพ 16 แบบ (MBTI) อันเป็นที่นิยมอย่างมากในสังคมออนไลน์

 
คงทำให้หลาย ๆ คนสงสัยไม่มากก็น้อยเลยว่าเพียงแค่ตอบคำถามไม่กี่คำถามที่ปรากฎขึ้นบนหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือของเรา จะสามารถทำให้เรารู้จักตัวตนของตัวเองได้มากขึ้นจริงหรือไม่
 
ในการตอบคำถามที่ทุกคนอาจเคยมีความสงสัยนั้น อันดับแรกเรามาเริ่มจากการทำความรู้จักมาตรวัดเพื่อการประเมินทางจิตวิทยากัน
 
แบบทดสอบหรือมาตรวัดทางจิตวิทยานั้นในอดีตถูกใช้เพื่อเป็นเครื่องมือในการคัดเลือกบุคลากรทางการทหาร วินิจฉัยโรคทางจิตเวชและคัดกรองผู้ป่วย ซึ่งการประเมินหรือแบบทดสอบเหล่านี้ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อให้สามารถคัดกรองได้ในหลากหลายมิติและตัวแปรทางจิตวิทยา เช่น สุขภาวะทางจิต ภาวะทางอารมณ์ ความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง เป็นต้น โดยตัวแปรเหล่านี้จะถูกใช้เพื่อวิเคราะห์แนวโน้มของความสามารถของบุคคล ความเป็นไปของโรคและใช้พิจารณาสำหรับการรักษาต่อไป
 
แต่เมื่อเวลาผ่านไปความหลากหลายของแบบทดสอบทางจิตวิทยานั้นเพิ่มขึ้นอย่างมาก แบบทดสอบเหล่านี้จึงถูกใช้ทางด้านการศึกษา การวัดความถนัด การประเมินความบกพร่องด้านต่าง ๆ และการคัดเลือกบุคลากรเข้าทำงานในองค์กรอีกด้วย
 
โดยมาตรวัดทางจิตวิทยานั้นมักประกอบด้วย ข้อคำถามที่มุ่งเน้นการสะท้อนถึงตัวแปรต่าง ๆ ทางจิตวิทยาตามทฤษฎีที่เป็นแกนหลักในการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งแบบทดสอบบุคลิกภาพซึ่งจำเป็นที่จะต้องได้รับคำตอบตามความเป็นจริงที่ตรงกับตัวผู้ถูกประเมินมากที่สุด เพื่อให้แนวโน้มของคำตอบมีความแม่นยำมากขึ้นและสามารถสะท้อนบุคลิกภาพของบุคคลตามทฤษฎีได้นั่นเองค่ะ
 
ศูนย์ประเมินทางจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการให้บริการมาตรวัดทางจิตวิทยาที่หลากหลายทั้งทางด้านการวัดความถนัด ทดสอบบุคลิกภาพ วัดความสามารถทางเชาว์ปัญญารวมไปถึงมาตรวัดทางจิตวิทยาเกี่ยวกับการทำงานอีกด้วย นิสิตนักศึกษาในระดับปริญญาตรี/โท/เอก ที่สนใจมาตรวัดต่างๆสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ : psyassesscu@gmail.com 
 
นอกเหนือจากนี้ยังสามารถทำความรู้จักเกี่ยวกับมาตรวัดทางจิตวิทยาได้ในบทความจากสารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz โดย อาจารย์สักกพัฒน์ งามเอก คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ : https://smarterlifebypsychology.com/2018/01/09/แบบวัดทางจิตวิทยา/
 
 
ขอให้เป็นวันที่ดีของทุก ๆ คนครับ
แชร์คอนเท็นต์นี้