หลังจากที่เพจบริหารชีวิตด้วยจิตวิทยาได้สำรวจความคิดเห็นเรื่อง “คำทักคำถามสุดจี๊ดในวันรวมญาติ”ไว้ตั้งแต่ช่วงปีใหม่โดยคาดหวังว่าจะนำ
มาเผยแพร่ในช่วงสงกรานต์ แต่กลายเป็นว่าปีนี้ สงกรานต์เราก็ถูกเลื่อนไปก่อนด้วยสถานการณ์ไม่ปกติ แต่ก็เริ่มกลับมาทำงานปกติกันได้ 2-3 เดือนแล้ว แล้วก็มีวันหยุดชดเชยให้เริ่มเดินทางไปพบปะญาติมิตรกันตามปกติ รวมถึงงานรับปริญญาที่หลายมหาวิทยาลัยอาจจะถูกเลื่อนก็เริ่มกลับมาแบบ New normal เช่นกัน หลาย ๆ คนก็น่าจะเริ่มได้เดินทางพบปะญาติตามต่างจังหวัด หรือมีญาติเดินทางมาร่วมแสดงความยินดี ได้พบปะทักทายกันเป็นปกติหลังจากกักตัวกันมานาน ก็อยากจะมาชวนดูผลโพล ว่าประสบการณ์ของเพื่อน ๆ หลายคนที่ตอบโพลไว้ก่อนจะมี Covid – 19 ผู้ตอบมักจะกลับบ้านไปเจอคำถามแบบไหนมากวนใจกันบ้าง
สำหรับโพล นี้ก็มีผู้สนใจตอบคำถามทั้งสิ้น 44 คนส่วนมากเป็น เพศหญิง จำนวน 44 คน (73 %) เพศชาย จำนวน 9 คน (20 %) และไม่ระบุเพศอีกจำนวน 3 คน (7 %) ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่อยู่ในช่วงวัย 20-30 ปี และ 31-40 ปี ช่วงอายุละ 16 คน (36%) อายุต่ำกว่า 20 จำนวน 5 คน และอายุมากกว่า 31 จำนวน 7 คน
ข้อคำถามประกอบด้วย
- คำถามยอดฮิตในวันรวมญาติที่คุณเคยเจอ (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
- คำทักทายอะไรที่คุณไม่อยากได้ยิน (ทักแบบนี้อย่าทักดีกว่า) (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
ผลการสำรวจปรากฎดังนี้
คำถามยอดฮิตในวันรวมญาติที่คุณเคยเจอ
สำหรับอันดับ 1 ของคำถามยอดฮิต ในวันรวมญาติพี่พบเจอมากที่สุด ได้แก่ “ทำงานที่ไหน” โดย ผู้ตอบคำถาม 25 คน จากทั้งหมด 44 คน (56.82%) เคยเจอกับคำถามนี้ ซึ่งก็เป็นตัวแทนคำถามเกี่ยวกับหน้าที่การงาน ซึ่งก็สอดคล้องกับอายุกลุ่มตัวอย่างที่มาช่วยตอบโพลนี้ ซึ่งส่วนมากผู้ที่มาตอบก็จะเป็นช่วงวัยที่เริ่มทำงานกันแล้ว คำถามนี้เป็นคำถามพื้นฐานที่ดูไม่คุกคามมากนัก และคำตอบของคำถามสามารถนำมาใช้ประเมินชีวิตการเป็นอยู่ ที่อยู่อาศัย การเดินทาง สถานะทางเศรษฐกิจของผู้ถูกถาม หรือครอบครัวผู้ถูกถาม ฯลฯ เพื่อวิเคราะห์และใช้เป็นข้อมูลนำไปสู่บทสนทนาต่อ ๆ ไปได้ แต่ก็อย่าถามเยอะเกินไปอย่างเรื่องเงินเดือน เจ้านาย ขอส่วนลด เส้นสาย ฯลฯ จะเป็นการเสียมารยาท และทำให้อีกฝ่ายอึดอัดได้
สำหรับอันดับ 2 และอันดับ 3 เป็นตัวแทนคำถามจากหมวดความรักและการมีครอบครัว โดยคำถามที่พบเจอมากเป็นอันดับ 2 ของที่ผู้ตอบโพลนี้คือ “มีแฟนหรือยัง” และอันดับ 3 คือ “จะแต่งงานเมื่อไหร่” คำถามในส่วนนี้ก็จะมีความเป็นลำดับขั้นตอนของชีวิตตามที่คนทั่วไปรับรู้ ถ้าโสด ก็จะถามว่า เมื่อไหร่จะมีแฟน ถ้ามีแฟนแล้วเมื่อไหร่จะแต่งงาน เมื่อไหร่จะมีลูก ฯลฯ เป็นขั้นตอนไป โดย “มีแฟนหรือยัง” เป็นคำถามที่สามารถพบเจอได้ตั้งแต่ มัธยมปลาย จนกว่าจะมีแฟน ซึ่งคนโสดอาจจะถูกถาม จนอายุเกือบ 40 ก็เป็นไปได้ หรือหากต้องไปพบผู้สูงอายุที่ความทรงจำไม่ดีแล้วก็มีโอกาสถูกถามซ้ำเรื่อย ๆ เช่นกัน ซึ่งจากกลุ่มผู้ตอบคำถามที่ส่วนมากอยู่ในช่วงอายุ 20-40 ก็ยังไม่พบเจอคำถามที่เลยขั้นของการแต่งงานมากนัก เช่น คำถามที่ว่า “จะมีลูกเมื่อไหร่” “ลูกเรียนที่ไหน”
จาก 3 อันดับแรกก็จะสังเกตได้ว่าจะเป็นคำถามที่ถูกถามบ่อย ๆ จะเป็นคำถามกว้าง ๆ ที่จะถามถึงพัฒนาการ หรือประสบการณ์ทั่วไปที่สังคมคาดหวังจากวัยผู้ใหญ่ (จากช่วงวัยส่วนมากที่ตอบโพลนี้) การเรียนจบมาทำงาน การมีแฟน การมีครอบครัว ก็จะยังเป็นคำถามที่ปลอดภัยระดับหนึ่ง ถึงแม้จะสร้างความกดดันให้คนที่ไม่มีงาน หรือไม่มีแฟนก็ตาม ในขณะที่อันดับต่อ ๆ ไปก็จะเริ่มมีความคาดคั้น กดดัน การเปรียบเทียบมากกว่า เช่น “เรียนจบแล้วจะทำงานอะไร” “เงินเดือนเท่าไหร่” เป็นคำตอบที่อยู่ในอันดับ 4 อีกปัจจัยหนึ่งของคำตอบอันดับท้าย ๆ ก็คือคำถามที่มีความเป็นส่วนตัว มีสถานการณ์จำเพาะมากกว่า กล่าวคือ คำตอบเกี่ยวกับคำถามอันดับท้าย ๆ อาจจะมาจากญาติที่มีความใกล้ชิดกว่าคนที่ถามคำถามอันดับต้น ๆ เช่น รู้ว่าได้งานแล้ว เรียนจบแล้วไม่ทำงานจะเรียนต่อเป็นต้น
คำทักทายอะไรที่คุณไม่อยากได้ยิน (ทักแบบนี้อย่าทักดีกว่า)
สำหรับคำถามที่สองของเราที่ถามว่า คำถามแบบไหนที่ผู้ตอบของเราไม่อยากได้ยิน คำตอบอันดับที่ 1 คือ “อ้วนขึ้นนะ” และอันดับต่อ ๆ มา ได้แก่ “เมื่อก่อนดูดีกว่านี้นะ” “โทรมจัง” “สิวเยอะขึ้นนะ” “ดำขึ้นนะ” ตามลำดับ ก่อนอื่นเลยก็ต้องยอมรับว่าโพลของเรานั้นไม่ได้คิดตัวเลือกไว้ให้หลากหลายเท่าไหร่ แต่เมื่อพิจารณา คำตอบที่มีผู้ตอบมาเพิ่มเติมในช่องอื่น ๆ แล้ว ก็ยังมีกว่าครึ่งที่เป็นคำถามในลักษณะเดียวกัน ได้แก่ “หน้าแก่จัง” “ผอมลงรึเปล่า (จะผอมหรือจะอ้วนก็ไม่ควรทัก)” และ “ทุกคำพูดในเชิงลบ” คำถามเหล่านี้หากจะเหมารวมก็จะได้หมวดหมู่ประมาณ “การแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับรูปลักษณ์ภายนอก” ซึ่งบทความนี้ก็จะมาชวนมองว่ามันเกิดอะไรขึ้นทำไมคนถามถึงถามแบบนี้ แล้วคนที่โดนถามแบบนี้จะรู้สึกอย่างไรได้บ้าง
ในการไปเยี่ยมญาติส่วนมากมักจะเป็นฝ่ายที่ครอบครัวอายุน้อยกว่า (พ่อแม่ลูก) เดินทางไปหาคนอายุมากกว่า (ปู่ย่าตายาย ลุงป้า ฯลฯ) ฝ่ายที่ไปพบปะก็มักจะมีการวางแผน นัดหมาย หรืออาจมีจุดประสงค์บางอย่าง เช่น ตามโอกาสเทศกาล งานบุญ งานศพ หรือป่วยเยี่ยมที่โรงพยาบาล ฝ่ายไปหาก็มักจะมีข้อมูลของผู้ที่จะไปพบอยู่ในระดับหนึ่ง หรืออยู่ในสถานที่ของฝ่ายต้อนรับ การทักทายใด ๆ ก็จะเป็นไปได้เหมาะสมกับสถานการณ์มากกว่า มีสภาพแวดล้อมความเป็นอยู่ให้หยิบยกมาคุยมาถามไถ่กันได้ง่าย กลับกันฝ่ายต้อนรับมักจะมีข้อมูลของคนที่มาเยี่ยมไม่เยอะ หรือรู้แค่สถานะของญาติหรือเพื่อนตรง ๆ คนเดียว แต่ไม่รู้เกี่ยบกับสมาชิกคนอื่นในครอบครัวที่มาด้วยกันนัก รวมถึงการลืมเลือนจากช่วงเวลาและการเสื่อมของความจำของผู้สูงอายุ แต่ด้วยวัฒนธรรมไทย และมารยาทใด ๆ ใครมาก็ต้องต้อนรับทักทาย จะปล่อยให้ลูกหลานนั่งเล่นโทรศัพท์ไปคนเดียวมันจะเสียมารยาทเล็กน้อย และขัดใจหน่อย ๆ ก็เลยต้องทักต้องชวนคุยแต่ก็ไม่มีข้อมูลอะไรจะให้ทักทายถามสารทุกข์ ก็มีแต่ข้อมูลที่ได้จากลูกตาที่มองเห็นกันอยู่ตรงนี้ ก็เลยเป็นการทักทายรูปลักษณ์ภายนอกไปอย่างเคยชิน ซึ่งอาจจะทักด้วยความรู้สึกจริงจัง เป็นห่วง สนใจ ติดตลก ฯลฯ
การทักถึงการเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาการทางร่างกายก็มีมาตลอด ถ้าเป็นเด็ก ๆ ก็จะถูกทักว่า “โตไวจัง ไม่เจอแปปเดียวโตขึ้นขนาดนี้แล้ว” “น่ารักจัง” “สูงขึ้นเยอะเลย” ฯลฯ พอเป็นวัยรุ่นก็อาจจะเริ่มมีการเปรียบเทียบ โตช้า/โตเร็ว เปรียบเทียบกับคนอื่น และก็จะมีค่านิยมเกี่ยวกับลักษณะภายนอกที่ได้รับการยอมรับแตกต่างกันไป เช่น อ้วน-ผอม เตี้ย-สูง ขาว-ดำ ซึ่งเด็กล้อกันเองก็สร้างความไม่พอใจระดับหนึ่งอยู่แล้ว ถ้าผู้ใหญ่ทัก เด็กก็มักไม่ได้ตอบโต้อะไร อาจจะได้แค่จำไว้ว่าไม่ชอบผู้ใหญ่คนนี้แล้วไปหลบหลังพ่อแม่ แต่กับวัยผู้ใหญ่ก็จะมีการวิเคราะห์แตกต่างกันออกไป เรารับรู้และเข้าใจเกี่ยวกับร่างกายตัวเองมากขึ้น รู้ว่าเราพอใจ/ไม่พอใจหรือมีภาพในหัวว่าอยากให้เรามีรูปร่างอย่างไร ซึ่งก็จะมีทั้งคนอ้วนที่ไม่ได้อยากอ้วน และคนผอมที่ไม่ได้อยากผอม ทำให้ค่านิยมเกี่ยวกับรูปลักษณ์ภายนอก เป็นเรื่องปัจเจกบุคคลมากขึ้น และมักจะมีโอกาสน้อยที่จะทำให้ผู้ถูกทักพอใจ
นอกจากนี้ก็มีคำถามอื่น ๆ ที่ผู้ตอบโพลพิมพ์เพิ่มเติมเข้ามาให้ได้แก่ “ทำไมไม่ยกมือไหว้” “ทำงานที่ไหน เงินเดือนเท่าไหร่ รับราชการไหม” “บ้านสร้างเสร็จรึยัง” ก็จะเป็นทั้งการสอน การยัดเยียดค่านิยม การถามเรื่องส่วนตัวมากเกินไป และสร้างความกดดันให้กับคนฟัง ซึ่งก็มักจะไม่ได้สร้างบรรยากาศที่ดีในการสนทนาเช่นกัน สิ่งที่ดีและปลอดภัยที่สุดสำหรับการทักญาติที่ไม่ได้สนิท คือ การทักทายกว้าง ๆ ทั่วไป เริ่มจากกล่าว “สวัสดี” ตามมารยาทหรือตามความสนิทสนม และเลือกคำถามกลาง ๆ กว้าง ๆ “ช่วงนี้เป็นยังไงบ้าง” “ช่วงนี้ทำอะไรบ้าง” ให้ผู้ตอบได้มีโอกาสได้เลือกว่าจะหยิบยกเรื่องใดในชีวิตมาแบ่งปันในการสนทนา แต่ถ้าถามหลานแล้วหลานตอบสั้น ๆ เป็นมารยาท นั่งเล่นมือถือ เหมือนไม่อยากคุยด้วยก็แนะนำเปลี่ยนกลับไปคุยกับรุ่นพ่อ-แม่ดีกว่า หรือถ้าสนิทกันหรือมีข้อมูลมากขึ้น ก็อาจเพิ่มความเฉพาะเรื่อง แต่ก็ยังถามกว้าง ๆ เช่น “พ่อแม่เป็นอย่างไรบ้าง” หรือเริ่มจากคุยเรื่องตัวเองก่อนก็ได้ (แต่ไม่ใช่อวด) จะทำให้อีกฝ่ายได้แบ่งปันเรื่องราวในหมวดหมู่เดียวกันได้ง่ายกว่า คำถามในลักษณะเหล่านี้ผู้ตอบจะไม่ได้รู้สึกว่าถูกกดดัน คาดคั้นคำตอบ ก็จะตอบได้ตามที่สบายใจ ไม่รุกล้ำความเป็นส่วนตัวเกินไป รวมถึงการเลือกพูดคุยกับคนที่ยินดีจะคุยด้วยน่าจะดีกับทุกฝ่ายมากกว่า
อย่างไรก็แล้วแต่ถ้าไปเยี่ยมแล้วไปขอเงินนี้ ขอไม่แสดงความคิดเห็นนะครับ ^^
เรียบเรียงโดย คุณณัฐนันท์ มั่นคง
นักจิตวิทยาประจำคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย